จิตต์สุภา ฉิน : ท่องเที่ยวไปในยุคอินสตาแกรมเป็นใหญ่

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สัปดาห์ที่แล้วซู่ชิงไปเป็นวิทยากรให้กับงาน Thailland Travel Mart Plus 2019 (TTM+2019) ที่จัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อรวมผู้ซื้อ-ผู้ขายจากทั่วโลกให้มาเจอกัน

หัวข้อที่ซู่ชิงเลือกไปพูดก็คือโซเชียลมีเดียกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

และได้เลือกระบุให้แคบกว่านั้นด้วยการยกโซเชียลมีเดียหนึ่งแพลตฟอร์มซึ่งก็คือ “อินสตาแกรม” มาตั้งโจทย์ว่ามันส่งผลอย่างไรต่อการท่องเที่ยวในยุคนี้

เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจไม่น้อยก็เลยคิดว่าน่าจะนำมาเปลี่ยนเป็นการเขียนบทความให้ผู้อ่านมติชนรายสัปดาห์ได้อ่านกันค่ะ

 

ถ้าถามว่าโซเชียลมีเดียยอดฮิตในเมืองไทยประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ลำดับต้นๆ ก็น่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มคนทุกเจเนอเรชั่น

แต่ถ้าเราลองซูมดูเข้าไปใกล้ๆ กว่านั้นจะพบว่าในหมู่เบบี้บูมเมอร์และเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ ซึ่งช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะไม่ค่อยนิยมแพลตฟอร์มแชร์รูปภาพอย่างอินสตาแกรมกันสักเท่าไหร่ กลุ่มคนที่ชื่นชอบการใช้งานอินสตาแกรมคือกลุ่มเจเนอเรชั่นวายลงไปเสียมากกว่า

อินสตาแกรมนี่แหละที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งก็รวมถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวด้วย

ผลการสำรวจหนึ่งที่สอบถามคนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริการะบุชัดว่านักท่องเที่ยวสมัยนี้ไม่ได้เลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่พวกเขาจะไปด้วยวิธีเดิมๆ อีกต่อไป

แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือสถานที่ที่จะไปนั้นจะถ่ายรูปออกมาแชร์บนอินสตาแกรมได้ “สวย” แค่ไหน

ดังนั้น สถานที่ไหนที่อาจจะดีต่อใจแต่ถ่ายภาพออกมาไม่สวย ก็จะถูกคนกลุ่มนี้เมินไปอย่างน่าเสียดาย

 

คนรุ่นใหม่ช่วงวัย 18-35 ปี ในอีกการสำรวจระบุว่าการท่องเที่ยวได้กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับชีวิตของตัวเอง และถ้าหากมีใครสักคนมายื่นข้อเสนอว่าจะให้ท่องเที่ยวฟรีๆ เป็นเวลานาน 6 เดือน แลกกับการยอมเสียสละอะไรบางอย่างในชีวิต คนกลุ่มนี้ก็ตอบกลับไปทันควันว่าจะยอมทิ้งกิจกรรมต่างๆ อย่างการนอนดูเน็ตฟลิกซ์ ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ หรือแม้กระทั่งการมีเซ็กซ์ ไปแบบไม่ต้องคิดซ้ำรอบสอง

หนึ่งในสามของคนกลุ่มนี้บอกว่า หากวางแผนไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง พวกเขาจะใช้เวลามากถึงสี่ชั่วโมงในการไล่ดูภาพบนอินสตาแกรมหรือดูคลิปบนยูทูบเพื่อหาแรงบันดาลใจว่าไปเที่ยวไหนดีที่สุด

ไม่น่าประหลาดใจเลยว่าอินสตาแกรมได้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลที่คนรุ่นใหม่ใช้ก่อนที่จะตัดสินใจว่าเงินที่หามาอย่างยากลำบากนั้นจะนำไปใช้กับการไปเที่ยวที่ไหนดีถึงจะคุ้มค่าที่สุด

และโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมก็ทำให้การท่องเที่ยวในบางพื้นที่บูมขึ้นมาได้พร้อมๆ กัน

 

ตัวอย่างล่าสุดคือมินิซีรี่ส์เรื่อง Chernobyl ของ HBO ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เชอร์โนบิลและได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ชมทั่วโลกก็ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างรวดเร็ว

ถ้าลองเสิร์ชบนอินสตาแกรมจะพบว่าภาพที่ถ่ายในบริเวณเมืองพรีเพียต แคว้นเคียฟ หรือภาพที่ติดแฮชแท็ก Chernobyl นั้นมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ละคนล้วนไปโพสท่าถ่ายภาพอยู่เบื้องหน้าซากปรักหักพังที่เมื่อไม่นานมานี้ไม่ได้รับความนิยมในฐานะการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขนาดนี้

คำถามต่อไปที่ตามมาคือ เมื่อโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมสามารถส่งนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลไปที่ใดที่หนึ่งได้พร้อมๆ กันจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นได้บ้าง

หนึ่งในนั้นคือปัญหาการมีนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป

เมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก อย่างเวนิซ หรือบาร์เซโลนา เข้าใจปัญหาข้อนี้ดีที่สุด ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปทำให้นักลงทุนกว้านซื้อที่อยู่อาศัย ตึก อพาร์ตเมนต์ เพื่อนำมาทำที่พักรองรับนักท่องเที่ยว จนค่าครองชีพพุ่งสูง คนท้องถิ่นไม่สามารถทนได้อีกต่อไป ต้องออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านนักท่องเที่ยว

เวนิซที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่สุดโรแมนติก หากไปตอนนี้ก็อาจจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีน

 

เมื่อนักท่องเที่ยวมากเกินไปก็กระทบกับความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น ฮ่องกงเจอปัญหานักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันแห่มาเที่ยวพร้อมๆ กัน โดยเทรนด์การเที่ยวฮ่องกงเทรนด์ใหม่ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือการลัดเลาะซอกซอนเข้าไปตามตรอกซอยที่คนฮ่องกงอยู่อาศัยเพื่อไปหามุมถ่ายรูปฮิปๆ ต่อแถวกันยาวเหยียดเพื่อจะได้ไปถ่ายภาพเซลฟี่โดยมีพื้นหลังเป็นตึกทาสีเขียว แดง เหลือง ที่ซีดจางหายไปตามกาลเวลา

ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่งพักผ่อน เล่นไพ่ เดินไปหาทักทายเพื่อนบ้าน ก็ต้องคอยมาหลบหลีกฝูงนักท่องเที่ยวที่ไม่เกรงกลัวแม้แต่รถยนต์ที่ขับผ่านไปอย่างเฉียดฉิว

การไปเที่ยวและถ่ายภาพเพื่อจุดประสงค์ของการแชร์บนอินสตาแกรมล้วนๆ ยังก่อให้เกิดแนวความคิดว่า “ถ้าไม่ได้ถ่ายลงอินสตาแกรม ก็ถือว่าไม่เคยมา”

วัฒนธรรมเซลฟี่นำมาซึ่งการทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพเซลฟี่ ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่สุดแสนจะอันตรายเพื่อภาพเซลฟี่เท่ๆ หรือการใช้อุปกรณ์อย่างไม้เซลฟี่ซึ่งเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์จากสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งและต้องถูกแบนไปในที่สุด

วิธีรับมือกับนักท่องเที่ยวมากเกินไปน่าสนใจคือวิธีที่อัมสเตอร์ดัมใช้ นายกเทศมนตรีเขาบอกว่าอัมสเตอร์ดัมจะไม่เลือกใช้วิธีปฏิเสธนักท่องเที่ยวเพราะนั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาระยะยาว

สิ่งที่พวกเขาทำคือติดตั้งชิพเอาไว้ในบัตร City Card ซึ่งเป็นบัตรที่นักท่องเที่ยวจะต้องซื้อมาใช้ในการเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ และใช้ระบบขนส่งสาธารณะภายในเมือง ชิพนี้จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อสำรวจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว

ข้อมูลเป็นประโยชน์ที่ได้มาก็อย่างเช่น เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงอัมสเตอร์ดัม ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะพุ่งตรงไปที่พิพิธภัณฑ์แวนโกะห์ในตอนเช้า และไปล่องเรือคาแนลช่วงบ่าย พฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ทำให้ทั้งสองสถานที่แออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คน เมืองจึงแก้ปัญหาด้วยการให้พนักงานขาย City Card ให้คำแนะนำกับนักท่องเที่ยวทันทีที่พวกเขาเดินเข้ามาซื้อบัตร

เช่น แนะนำให้ทำกิจกรรมสลับกัน คือไปล่องเรือช่วงเช้า แล้วค่อยไปพิพิธภัณฑ์ช่วงบ่าย เพื่อการได้ประสิทธิผลสูงสุดก็ยังติดตั้งหน้าจอแสดงภาพจากกล้องวงจรปิดของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้ดูตามเวลาจริงเลยว่าคิวยาวจริงไม่กลิ้งกลอก

 

นอกจากนี้ก็ยังรีแบรนด์สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวกล้าไปสำรวจมากขึ้น อย่างการเปลี่ยนชื่อ Zandvoort ที่อยู่ห่างออกไป 18 ไมล์ ให้กลายเป็นชื่อ Amsterdam Beach เพื่อที่นักท่องเที่ยวเห็นแล้วจะได้รู้สึกว่าไม่ไกลจนเกินไปและกล้าที่จะเดินทางไปเที่ยว ก็จะช่วยกระจายนักท่องเที่ยวให้ออกห่างจากจุดศูนย์กลางได้มากขึ้น

และยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างการทำแอพพลิเคชั่นเพื่อส่งคำเตือนให้ว่า ณ เวลานั้น สถานที่ท่องเที่ยวไหนคนเยอะกว่าปกติ พร้อมกับเสนอทางเลือกให้ หรือใช้ปัญญาประดิษฐ์มาแนะนำว่าดูจากตัวตนบนโซเชียลมีเดียแล้วใครน่าจะชอบเที่ยวที่แบบไหนบ้าง

ใครที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยว หากทำความเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียส่งผลอย่างไรบ้างต่อใจของนักท่องเที่ยว ก็น่าจะทำให้คิดหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ลองดูนะคะ