คำ ผกา | โอกาสที่ดีที่สุด

คำ ผกา

ในที่สุดเราก็ได้นายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

และมันสำคัญมากที่เราจะต้องบันทึกเอาไว้ด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกจากการทำรัฐประหาร ภายใต้สโลแกน “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

แต่คำว่า “ไม่นาน” นั้น กินเวลายาวถึง 5 ปี

ในเวลา 5 ปีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ได้เป็นผู้ควบคุมหางเสือการทำงานของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ, สนช. ดูแลการแต่งตั้งสมาชิกขององค์กรอิสระ (ที่ supposed ว่า มีไว้เพื่อตรวจสอบการทำงานของข้าราชการและนักการเมือง) ไปจนถึงการแต่งตั้ง กกต. เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะต้องมีขึ้น

แล้วจุดสูงสุดของเรื่องนี้คือ ตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งขึ้นมาคือพรรคพลังประชารัฐ

โดยถูกครหามาโดยตลอดว่า เป็นแคนดิเดตที่มี ส.ว. 250 เสียงตุนอยู่ในกระเป๋าก่อนเข้าสภา

ก่อนจะมีการโหวตเลือกนายกฯ หลายต่อหลายคนบอกว่า ส.ว. ได้รับการแต่งตั้งมาจากองคาพยพของ คสช. ก็จริง แต่ ส.ว.ทุกท่านมีเกียรติ มีวิจารณญาณของตนเอง แม้ถูกสรรหามาจากกิ่งก้านของ คสช. ก็ไม่ได้แปลว่าพวกท่านต้องโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์นี่นา?

ยังไงท่านทั้งหลายก็ต้องโหวตโดยเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักอยู่แล้ว

มิไยที่ทั้งนักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายไม่เอาการต่ออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์จะวิงวอน เรียกร้องสปิริตจากทั้งนักการเมืองด้วยกันและเหล่า ส.ว. ว่า วันนี้อนาคตของประเทศชาติอยู่ในมือของพวกท่านแล้ว เพียงแค่ท่านงดออกเสียง ทำตัวเป็นกลาง แล้วปล่อยให้การเลือกนายกฯ เป็นของสภาผู้แทนราษฎร เพียงเท่านี้ ประเทศชาติจะมีความหวังและกลไกของระบอบประชาธิปไตยจะได้ฟื้นคืนชีพ

และแล้วก็อย่างที่เราเห็นว่าในที่สุด ส.ว.ทั้ง 250 คนก็โหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีใครแตกแถวออกมาแม้แต่คนเดียว

และนั่นเองที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วยคะแนนเสียง ส.ว. 249 เสียง บวก ส.ส. 251 เสียง ส่วนธนาธรนั้นคะแนนจาก ส.ว. 0 เสียง จาก ส.ส. 244 เสียง

ถ้าดูจากคะแนน ส.ส.อย่างเดียว ตัดคะแนน ส.ว.ออกไปเลย เพราะเป็นคะแนนที่ “ห่อ” มาจากบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนเสียงมากกว่าธนาธรแค่ 5 เสียงเท่านั้น

มิพักต้องพูดว่า ขนาดมีทุกอย่างอยู่ในมือแล้ว ทั้งกติกา อำนาจ งบประมาณ ยังชนะมาได้แค่ 5 เสียง จะเรียกว่าชนะก็ไม่เต็มปาก เอาเป็นว่า เหมือนคนที่แพ้ แต่ได้ไปต่อ เพราะวิธีพิเศษ

หรืออาจพูดว่า นี่คือการดันทุรัง ยักแย่ยักยันเดินไปสู่เก้าอี้นายกฯ รู้ว่าไปไม่ได้ ก็เข็นกันไปจนได้แบบทุลักทุเล และถึงที่สุด แม้จะต้องจากสายตาของฝ่ายอนุรักษนิยม

ฉันยังมองไม่เห็นประโยชน์ของการดันทุรังอันนี้

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กระแสไม่เอา “ประยุทธ์” และการที่พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถชนะการเลือกตั้งมาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งๆ ที่กุมความได้เปรียบในทุกมิติ ไม่ได้เกิดจากประชาชนฝ่ายต้านรัฐประหาร ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ และต้องการให้ประเทศกลับคืนสู่หลักการประชาธิปไตยและการเลือกตั้งบนกติกาที่ไม่บิดเบี้ยว (แปลว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ)

เนื่องจากคนกลุ่มนี้มองเรื่อง “อุดมการณ์” เป็นหลัก ไม่ได้ดูที่ตัวบุคคล ดังนั้น และเป็นกลุ่มที่ค่อนข้าง “นิ่ง” คือ ถ้ามีคนกลุ่มนี้สัก 10 คน มันก็ 10 คนอยู่อย่างนั้น เสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลง

และถ้าแปลงคนกลุ่มนี้ออกเป็นคะแนนเสียง คือกลุ่มที่จะโหวตให้พรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติที่ถูกยุบพรรคไป และคะแนนที่น่าจะเป็นของไทยรักษาชาติ จึงต้องไหลไปที่อนาคตใหม่, เสรีรวมไทยแทน

เห็นตัวอย่างชัดเจน จากกรณีเลือกตั้งซ่อมเขต 8 เชียงใหม่ ที่เมื่อ ส.ส.เพื่อไทยได้ใบส้ม คนก็หันไปเลือกคนจากพรรคอนาคตใหม่แทน

ตัวเลขคนกลุ่มนี้นิ่งมาตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงวันนี้ ก็นิ่งอยู่อย่างนั้น ไม่ขยับ

เพราะตกผลึกเรื่องหลักการไปแล้ว และไม่ยึดติดที่ตัวบุคคล เพราะฉะนั้น จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่เป็น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ประเด็น จะเป็นนายกฯ ก.ไก่ ข.ไข่ หากมากับหนทางที่ไม่ใช่ ปชต. ยังไงคนกลุ่มนี้ก็ไม่ซื้อ

คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ลดลงนั้น ลดลงมาจากกลุ่มคนที่เคยเป็นกลุ่มที่ไม่สนใจการเมือง ที่คิดว่าการเมืองไม่ส่งผลกระทบต่อตนเอง

คนรุ่นใหม่ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย เพื่อนฝูง กลุ่มคนที่อาจบังเอิญไปเจอการ์ตูนเกรียนๆ ที่หยอกล้อเรื่องการเมือง แล้วเกิดอาการ เอ๊ะ จากนั้นก็ไปตามอ่านต่อ

คนรุ่นใหม่ที่ติดตามดารา นักร้อง เซเลบ อ่านข่าวบันเทิงอยู่ดีๆ มีดาราไปคอมเมนต์เรื่องการเมือง แล้วเกิดเป็นดราม่า เข้าไปตามอ่านต่อ คราวนี้จุดประกายให้ติดตามการเมืองต่อ

คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่ใช่คนที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วยซ้ำ จำนวนไม่น้อยเรียนมัธยมปลาย หรือเด็กกว่านั้น

ที่น่าสนใจที่สุด แนวร่วมที่หายไปของ “ลุงตู่” คือกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนรัฐประหาร คนที่เคยสนับสนุนสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยสนับสนุน กปปส. กลุ่มคนที่ไม่รังเกียจการสืบทอดอำนาจ ไม่ได้แคร์หลักการประชาธิปไตย แต่คนกลุ่มนี้แคร์ “เปลือก” ของประชาธิปไตย นั่นคือ กลุ่มคนที่ชอบคนแบบจำลอง ศรีเมือง, ชอบคนแบบอานันท์ ปันยารชุน คนกลุ่มนี้ไม่รังเกียจเผด็จการ ถ้าเผด็จการนั้นเป็นคนแบบจบมหาวิทยาลัยไอวี่ลีก พูดภาษาอังกฤษสำเนียงผู้ดีเป๊ะๆ ปังๆ มีชาติตระกูลดี พูดจาไพเราะ มารยาทงาม แต่งตัวดี มีภรรยาที่วางตัวดี

และคนกลุ่มนี้จะอ่อนไหวกับเรื่องคอร์รัปชั่นมากถึงมากที่สุด อันฉันจะเรียกว่าเป็นกลุ่มสลิ่มคลั่งความสะอาด และสุขอนามัย

คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เกลียดแม้ว เกลียด “อีปู” เกลียดนักการเมืองแบบแรมโบ้ หรือกลุ่มสามมิตร ที่พลังประชารัฐไปรับมา

ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้หน้าบาง รับไม่ได้กับการคอร์รัปชั่น ในแบบที่สนใจเรื่องการโกงด้วยตัวของมันเองมากกว่าสนใจการวางระบบการตรวจสอบถ่วงดุล

เวลาพูดเรื่องคอร์รัปชั่น คนกลุ่มนี้จะเห็นว่าวิธีแก้คือจับคนโกงติดคุก -จบ- แต่ไม่สนใจว่าปัญหาในตัวระบบได้รับการแก้ไขหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในครึ่งหลังของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้นมีผลงานไม่เข้าตาคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่

ประจวบกับการอยู่นานแล้วไม่มีผลงานด้านเศรษฐกิจให้คึกคักบริบูรณ์ จึงเกิดภาวะเบื่อหน่าย

กลุ่มคนที่เคยหันหลังให้ประชาธิปไตย สนับสนุนให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร เริ่มรู้สึกว่า เออ…น่าจะมีการเลือกตั้ง เปลี่ยนถ่ายอำนาจให้คนที่ “เก่ง” กว่ามาทำงานแทนได้แล้วนะ

ตรงนี้เองที่กระแสเรื่อง “การสืบทอดอำนาจ” เริ่มจุดติด ไม่ได้จุดติดที่กลุ่มคนกลุ่มเดิมๆ แต่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มใหม่ที่ไม่ได้อะไรกับ “ประชาธิปไตย”

แต่อยากให้ลุงไปพักผ่อน

การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ก็มารองรับภาวะสุญญากาศของคนกลุ่มนี้ที่กำลังมองหาพรรคการเมืองและนักการเมืองแบบ “ใหม่” ไม่อยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบเดิมๆ ไม่ใช้เงินในการหาเสียง เพราะประชาธิปไตยที่ “ดี” ของคนกลุ่มนี้คือต้อง “สะอาด” ปราศจากมลทิน ปลอดซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนโดยสิ้นเชิง

เมื่อคนกลุ่มนี้มีพรรคการเมืองที่มารองรับ “ความฝัน” ของพวกเขา พวกเขาเลยเริ่มรู้สึกว่าลุง พรรคของลุง ที่มี “นักการเมืองเก่า” อยู่ซะเยอะเชียว บวกกับระบบของลุงที่เมื่อเอามาตรฐานเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องน้องพี่มาเป็นมาตรวัดแล้ว คนกลุ่มนี้เริ่มคิดว่า ลองมาฝากความหวังไว้กับพรรคการเมือง “ดีๆ” น่าจะดีกว่า

พูดให้ง่ายและสั้น ฉันกำลังจะบอกว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ บวกประชาธิปัตย์ บวกภูมิใจไทย บวกชาติไทยพัฒนา ไม่ใช่สมการที่ถูกใจ “สลิ่ม” อันเป็นแนวร่วมเดิมของลุงและการรัฐประหารเมื่อสองครั้งที่ผ่านมา

เสถียรภาพของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะไม่ถูกสั่นคลอนจากฝ่ายประชาธิปไตย เพราะฝ่ายนี้เขย่ามานานมาก แต่เป็นเสียงที่ไม่มีน้ำหนัก

เพราะเป็นเพียง “ฟายแดง” แต่น่าจะถูกสั่นคลอนจาก “สลิ่ม” มากกว่า

แต่รัฐบาลประยุทธ์ 2 จะอยู่นานหรือไม่นานยังไม่สำคัญเท่ากับทำอย่างไรจะให้สังคมไทยเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่ดีไม่ได้เท่ากับภาวะคอร์รัปชั่นของนักการเมืองเป็น 0 หรือประชาธิปไตยที่ดี หมายถึงนักการเมืองระดับชาติลงไปถึงระดับท้องถิ่นต้องดีงาม เลิศเลอ ไร้ที่ติ

ขณะเดียวกัน นักการเมืองในยามที่ประชาชนพร้อมให้อภัยพวกคุณทุกอย่างเพียงเพื่อให้คุณเป็นนักการเมืองฝ่ายที่หนุนประชาธิปไตยก็ไม่ควร เห็นประชาชนเป็นของตายว่า ไม่ต้องทำงานมากก็ได้ แค่เลือกข้างประชาธิปไตย คนก็พร้อมจะรัก คนก็พร้อมจะเลือกอย่างไม่มีเงื่อนไข

ก็ได้แต่หวังว่า ระหว่างที่รัฐบาลประยุทธ์ 2 กำลังทำงานอยู่นี้ สังคมไทยจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งฝ่ายหนุนประชาธิปไตยฟายแดง ทั้งกลุ่มที่ขออนุญาตเรียกว่าสลิ่มกลับใจ ทั้งนักการเมืองรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ผู้จะได้ฉวยใช้โอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลอำนาจนิยมกำลังเสื่อมความนิยมนี้กลับมาทำงาน

พิสูจน์ตัวเองให้สังคมเห็นว่า นักการเมืองที่ดี ที่ทำงานเป็น ที่มีชีวิต ผลประโยชน์ ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชนนั้นเป็นอย่างไร

ไม่มีโอกาสไหน หรือจังหวะไหนที่จะดีกว่านี้อีกแล้ว