ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | มุมมุสลิม |
เผยแพร่ |
อิสลาโมโฟเบีย (Islamophobia) คืออะไร?
มีการนิยามกันอย่างหลวมๆ ว่าอิสลาโมโฟเบียหมายถึงความกลัวอย่างไร้เหตุผล (irrational fear) หรือความเกลียดชังอิสลามซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากคนนอกศาสนา
ถ้อยคำคำนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการสร้างคำที่ถูกนำมาใช้อยู่เสมอจนเป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป เชื่อกันว่าเป็นถ้อยคำที่เก่าแก่มากและย้อนหลังไปอย่างน้อยในทศวรรษ 1980 หากว่าไม่ถอยหลังมากไปกว่านั้น
ถ้อยคำที่ถูกบันทึกเอาไว้นี้ เอ็ดเวิร์ด สะอีด (Edward Said) นักคิดชาวคริสเตียนอาหรับ ได้กล่าวเอาไว้ในบทความของเขาเรื่องการพิจารณาอีกครั้งของลัทธิบูรพานิยม (Oreintalism Reconsidered) ว่า
บันทึกที่มีอยู่ในวารสาร American ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1991 ได้อ้างถึงการต่อต้านชาวมุสลิมที่เป็นปรปักษ์กับสหภาพโซเวียต ตามคำอ้างของ ศ.รอบิน ริชาร์ดสัน (Prof.Robin Richardson) แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮมในอังกฤษ คำว่าอิสลาโมโฟเบียได้ถูกใช้ครั้งแรกใน ค.ศ.1995 โดยฏอริกโมดูด (Tariq Modood) นักวิชาการผู้มีชื่อเสียง
Richardsan เชื่อว่าอิสลาโมโฟเบียมีกำเนิดมาจากฝรั่งเศส
ซึ่งการใช้ครั้งแรกสามารถย้อนกลับไปได้ถึง ค.ศ.1916 โดย Etienne Dinet ซึ่งเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม คำว่าอิสลาโมโฟเบียนั้นเป็นการสร้างวลีใหม่ที่มีตรรกะเดียวกับคำว่าความหวาดกลัวและความไม่ชอบผู้คนที่มาจากที่อื่น (xenophobia)
แต่แน่ละ เมื่อไหร่ที่ไหนและโดยใครและด้วยจุดมุ่งหมายเป็นการเฉพาะอย่างไรและเกี่ยวกับเรื่องอะไรที่อยู่ในใจนั้นยังมีความไม่แน่นอนอยู่
การถกเถียงว่าด้วยที่มาของคำคำนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น แต่มันได้สร้างความจริงสำคัญขึ้นมา มันมิไดเพิ่งมาเป็นปฏิกิริยาต่ออารมณ์การต่อต้านชาวมุสลิมหลังเหตุการณ์ 9/11 ตามที่ได้เชื่อกันโดยทั่วไป
แต่เหตุการณ์ 9/11 ได้ให้พื้นฐานปัจจุบันต่อความตึงเครียดจนเกิดบรรยากาศที่ถูกฉีดไปด้วยยาพิษที่ต่อต้านอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันตก
จากนั้นจึงมีการนำเอาคำคำนี้มาใช้กันอย่างหละหลวมและกลายเป็นคำพูดสั้นๆ เพื่อบรรยาย หรือแม้กระทั่งเป็นการวิพากษ์ชาวมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม (ที่คนตะวันตกบางคนถือว่าเป็นความชอบธรรม)
อย่างไรก็ตาม หากวางเอาไว้เป็นภาพรวมก็เป็นเรื่องถูกต้องเช่นกันที่ชาวมุสลิมผู้แสวงหาการลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งได้รับการต้อนรับโดยผู้คนทั่วไปในตะวันตกอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ หลายคนได้เชิญผู้คนเหล่านี้ให้อยู่ในบ้านของพวกเขาเอง
และเป็นไปได้ว่าในหมู่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหล่านี้อาจได้รับคำถามที่อึดอัด ซึ่งถามเกี่ยวกับอิสลาม
แต่ก็ไม่ได้หมายว่าผู้ที่ให้ที่พักพิงแก่พวกเขาจะเป็นพวกกลัวอิสลาม
การเรียกน้ำย่อยอิสลาโมโฟเบีย
การขายความเกลียดชัง
เรามีปัญหากับคนในประเทศนี้ เรียกพวกเขาว่าพวกยิว
ลองจินตนาการชั่วครู่ว่าถ้าถ้อยคำข้างต้นนี้ถูกเรียกต่อหน้าผู้คนที่มาชุมนุมกันโดยผู้มีคะแนนนำซึ่งเข้าแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีอะไรจะเกิดขึ้น
ลองนึกดูว่าถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวคำว่า พวกยิวคือพวกที่มีปัญหา ออกมาในช่วงของการหาเสียงเพื่อเป็นประธานาธิบดี จะเกิดเสียงคำรามจากกลุ่มการเมืองต่างๆ อย่างไร เช่น จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสาธารณชนโดยทั่วไป
ลองนึกดูว่าความโกรธเคืองจะขยายตัวออกไปสักเพียงใด
แต่เราพบว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในสหรัฐมากนักเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากล่าวร้ายกับชาวมุสลิม
โดนัลด์ ทรัมป์ พูดกระแทกโอบามาที่ Town Hall ว่า คุณก็รู้ว่าประธานาธิบดีของเราไม่ได้เป็นแม้แต่ชาวอเมริกัน นอกจากนี้ เขายังพาดพิงไปถึงชาวมุสลิมด้วยการพูดแบบเหมารวมว่า เรามีค่ายฝึกต่างๆ เพิ่มมากขึ้นซึ่งพวกเขาต้องการสังหารพวกเรา… นั่นเป็นคำถามของผม เมื่อไหร่เล่าที่เราจะกำจัดพวกเขาออกไปได้?
ไม่ต้องบอกก็ได้ว่าการพูดเช่นนี้ไม่มีปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ยังพบอีกว่านักวิเคราะห์ทั้งหลายและนักคิดที่อยู่รายรอบ โดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ไม่ได้ขานรับอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตั้งคำถามของเขา
ที่สำคัญก็คือ มีการตั้งคำถามกันว่า สิ่งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวมานั้นแสดงให้เห็นว่าโอบามาเป็นชาวมุสลิมอยู่ใช่หรือไม่?
การเรียกน้ำย่อยด้วยการนำเอาอิสลาโมโฟเบียมาเป็นประเด็นของพรรครีพับลิกันนั้นเป็นวาระของพวกฝ่ายขวา นอกจากนี้ การเรียกร้องให้มีการ “กำจัด” ผู้คนที่เป็นชาวมุสลิม 2.6 ล้านคน โดยประมาณนั้นอาจได้รับการตอบโต้และเป็นไปได้ที่จะได้รับการประณาม แต่แทนที่จะหยุดพูด ทรัมป์ได้คำรามต่อไปว่า “เรากำลังมองหาความแตกต่างหลายๆ อย่าง… คุณรู้ไหมว่าผู้คนจำนวนมากขึ้นและมากขึ้นกล่าวว่าสิ่งที่เลวร้ายต่างๆ กำลังจะเกิดขึ้น เรากำลังมองดูสิ่งนั้นอยู่ และในอีกหลายๆ เรื่อง”
หลังจากนั้นโฆษกของทรัมป์ก็กล่าวว่า “ทั้งหมดที่เขาได้ยินก็คือคำถามเรื่องค่ายฝึก ซึ่งเขาบอกว่าเราจะต้องตามหา”
หลังจากนั้นก็มีคนอย่าง บ๊อบบี จินดาล (Bobby Jindal) แห่งพรรครีพับลิกันจากหลุยเซียนาซึ่งได้สร้างมายาคติว่าด้วยเขตแดนที่ไม่อาจเข้าไปถึงได้ (no-go zones) ซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้อพยพชาวมุสลิมในกรุงลอนดอน แม้ว่าหลังจากนั้นเขาได้รับการบอกเล่าว่ามันไม่มีเขตแดนดังกล่าวอย่างที่พูดถึงแต่อย่างใดก็ตาม
การโต้อภิปรายใน ค.ศ.2015 ของผู้สมัครที่แข่งขันกันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น พบว่ามีผู้สมัครที่พยายามสร้างให้ชาวมุสลิมเป็นผู้ที่น่าหวาดกลัวขึ้นมา เพื่อที่จะให้ได้รับการยอมรับ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่นักการเมืองเหล่านี้มีการพูดคุยกันก็มีตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศ การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และการอพยพ
ก่อนหน้านี้เราจะพบว่ามีเหตุการณ์ต่างไปจากนี้เล็กน้อย เมื่อ จอห์น แม็กเคน (John McCain) ผู้ท้าทายโอบามาในตำแหน่งประธานาธิบดีบอกกับผู้สนับสนุนเขาที่มาชุมนุมกันว่าโอบามาเป็นคนอาหรับ (Obama was an Arab) แม็กเคนก็เช่นเดียวกับทรัมป์ เขาจะไม่พูดถึงการเป็นคนนอกศาสนาของตัวเอง
ปัจจุบันการนำเอาชนกลุ่มน้อยมากล่าวหาด้วยการบอกว่าพวกเขามีวาระซ่อนเร้นต่อชาวอเมริกัน การหาการสนับสนุนทางการเมืองด้วยการนำเอาชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นมาทำให้หวาดกลัว ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสหรัฐไปเสียแล้วแม้ว่า ในความเป็นจริงหลายประเทศของตะวันตกก็เริ่มทำเช่นนี้เหมือนกัน
นับเป็นศตวรรษมาแล้ว ที่ชาวคาทอลิกอเมริกันได้รับการพิจารณาโดยชนกลุ่มใหญ่ที่เป็นชาวอเมริกันโปรเตสแตนต์ว่าเป็นแนวที่ 5 ที่ให้ความจงรักภักดีต่อพระสันตะปาปา (Pope) สูงกว่าความภักดีที่มีต่อสหรัฐ
โดยเฉพาะกลุ่มคู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan) ได้ประณามความเป็นคาทอลิกว่า “เข้ากันไม่ได้กับความเป็นประชาธิปไตย”
ต่อเมื่อสงครามเย็นได้เริ่มต้นแล้วเท่านั้นที่ฝ่ายโปรเตสแตนต์ได้ขึ้นมาต่อต้านคอมมิวนิสต์แทนการต่อต้านฝ่ายคาทอลิก
การสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้ (Kennedy) ที่เป็นคาทอลิกก็เกิดขึ้นในช่วงการรณรงค์หาเสียงของเขาเช่นกัน
จะพบว่าในเวลานั้นตัวของประธานาธิบดีได้พยายามเอาตัวเองออกห่างจากศาสนจักร จนถึงกับประกาศว่า “ผมไม่ใช่ผู้สมัครประธานาธิบดีที่เป็นคาทอลิก ผมเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ซึ่งกลายมาเป็นคาทอลิกด้วย”
อย่างไรก็ตาม เคนเนดี้ได้คะแนนร้อยละ 75 จากร้อยละ 80 ของชาวคาทอลิกที่ออกเสียงให้ เช่นเดียวกับที่ Obama ได้เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากคนปากีสถาน
หลังจากนั้นชาวคาทอลิกก็ได้รับการยอมรับมากกว่าจำนวนของผู้นับถือศาสนานี้และมีอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มขึ้น แต่ในกรณีของชาวมุสลิมอเมริกันที่ในเชิงเปรียบเทียบแล้วยังมีจำนวนและมีการรวมตัวกันน้อยนั้นดูเหมือนจะยังคงเป็นลูกกำพร้าทางการเมืองต่อไป
กระนั้นผู้ใช้อิสลาโมโฟเบียหาเสียงก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จเสมอไป ดังรายงานของ Centre of American Progress ในหัวข้อ ความหวาดกลัว (Fear) ว่า การเลือกตั้งของเมืองนิวยอร์กใน ค.ศ.2010 นั้นพบว่า คาร์ล ปาลาดิโน (Carl Paladino) ผู้สมัครพยายามหาเสียงด้วยวาทกรรมอิสลาโมโฟเบียและต่อต้านการมีศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่เป็นที่ตั้งของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไม่ได้รับการเลือกตั้งอย่างที่เขามุ่งหวังไว้แต่อย่างใด
แน่ละ ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการเลือกตั้งที่มีหลายประเด็นมาเล่น แต่ประเด็นอิสลาโมโฟเบียก็ดูเหมือนว่าสามารถนำมาประยุกต์กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เป็นอย่างดี อันเป็นช่วงเวลาที่ชุมชนมุสลิมทั้งชุมชนกำลังตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถตัดสินอะไรได้เลย
จึงอาจกล่าวได้ว่า จนถึงเวลานี้อิสลาโมโฟเบียยังคงเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยบนเมนูของฝ่ายขวามาโดยต่อเนื่อง
อาหารจานนี้ถูกนำมาบริการเนื่องจากสาธารณชนต้องการให้มีการเรียกน้ำย่อยเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้จากความจริงที่ว่าในระยะเวลาสั้นๆ ได้มีแผนการขับเคลื่อนต่อต้านอิสลามอยู่ราว 24 กลุ่มในรัฐต่างๆ ของสหรัฐ
ดังนั้น ในขณะที่การใช้ลูกบอลอิสลาม อาจจะไม่สั่นคลอนการเลือกตั้งมากนักนอกจากในระดับท้องถิ่น
แต่แนวโน้มนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่ไปไหนในช่วงระยะเวลาใกล้ๆ นี้ และดูเหมือนการใช้อิสลาโมโฟเบียจะเพิ่มขึ้นหากว่าพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีความพยายามในเรื่องนี้ล้มเหลวที่จะท้าทายพรรคเดโมแครตที่อยู่ในตำแหน่งและจำเป็นต้องปกป้องการสนับสนุนที่หดตัวและฐานการเมืองที่สั่นคลอนเอาไว้ให้ได้
อย่างไรก็ตาม เราจะพบว่าในบางประเทศได้มีการใช้ศาสนาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเช่นกัน พร้อมๆ ไปกับการแข่งขันทางการเมือง
พรรคการเมืองบางพรรคได้ใช้ความเกลียดชังมากกว่าความหวาดกลัว เพื่อระดมคะแนนเสียงทางการเมือง
นอกจากนี้ เรายังได้พบว่ามีความพยายามที่จะใช้สำมะโนประชากรมุสลิมมาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองอยู่เสมอเช่นกัน อย่างเช่นในกรณีของอินเดีย ยุโรป และสหรัฐ