วิเคราะห์ : รัฐบาลใหม่ การบ้านเก่า-โจทย์เดิม!

ผ่านมติในรัฐสภาออกมา ทำให้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง บรรดาสื่อนอกทั้งหลายก็นำเสนอข่าว ข้อเขียนต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันครึกครื้นตั้งแต่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนใหญ่มักเน้นไปที่เงื่อนปมทางด้านการเมืองหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “รัฐบาลพลเรือนจำแลง” ในนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว

หรือ “ประชาธิปไตยจอมปลอม” ที่ไม่ควรได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาอีกต่อไปของวอชิงตัน โพสต์ เป็นอาทิ

มีแต่รอยเตอร์สเมื่อบ่ายวันที่ 6 มิถุนายน ที่นำเสนอความเห็นเชิงวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในเวลานี้คือโจทย์สำคัญที่รอรับหน้า วัดฝีมือรัฐบาลใหม่อยู่ในเวลานี้

แต่เรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันถึงและสร้างความกังวลทางด้านเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้นสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมานั่นแหละ

รอยเตอร์สตั้งข้อสังเกตว่า บรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั้งหลายเป็นกังวลกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งเลือกตั้งแล้วก็คือ กลัวกันว่าปัญหาความเสี่ยงทางการเมืองยังจะไม่ยุติลง ถูกตอกย้ำ ชัดเจนจากผลการเลือกตั้งและผลการลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ ในสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐบาลได้เสียงสนับสนุนมากกว่าฝ่ายค้านอยู่ฉิวเฉียดแค่ 4 คะแนนเท่านั้นเอง

ความวิตกที่ว่า การผ่านกฎหมายหรืองบประมาณใดๆ อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด จะส่งผลต่อเนื่องถึงการเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งหลายเกิดสะดุดล่าช้า กันนักลงทุนทั้งหลายให้ออกห่างออกไปอีก

 

ชานนท์ บุญนุช นักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักวิจัยของโนมูระในสิงคโปร์บอกว่า สถานการณ์ดูเปราะบาง เพราะความเสี่ยงซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใหม่ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควรและอาจอายุสั้นอย่างที่คาดกัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการสะดุด ไม่ต่อเนื่องในเชิงนโยบายขึ้น “ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงอยู่ในระดับสูง และยังคงเป็นตัวฉุดภาพรวมการเติบโตในอนาคตอยู่ต่อไป”

ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อภาคเอกชน และลดโอกาสการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐลง ทำให้นักวิเคราะห์จากหลายสำนักพากันปรับลดอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ลง ตัวอย่างเช่น นักวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เคยประเมินไว้แต่เดิมอยู่ที่ 3.8 ปรับลดลงมาเหลือ 3.2 เปอร์เซ็นต์

จีดีพีในปี 2018 ที่ผ่านมาของไทย ขยายตัวอยู่ที่ 4.1 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 6 ปีเลยทีเดียว แต่เมื่อนำไปเทียบกับเพื่อนบ้านทั้งหลายแล้วยังคงอยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ ที่ 6.2 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซีย 5.17 เปอร์เซ็นต์อยู่ห่างไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินมาตรการเป็นขั้นตอนอย่างระมัดระวังเพื่อยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นการใช้มาตรการระยะสั้น และการอุดหนุนเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย

แต่รัฐบาลใหม่อาจจำเป็นต้องทำมากกว่านั้น หากจะยังคงคาดหวังให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องต่อไป

 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อาจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกกับรอยเตอร์สว่า ถ้าหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับ 3.5 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลใหม่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “มูลค่าไม่น้อยกว่า 30,000 ล้าน ถึง 50,000 ล้านบาท”

ในขณะที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า ถึงแม้รัฐบาลใหม่จะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักดันให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น แต่ถ้าหากตัวรัฐบาลเองยังไม่มีเสถียรภาพ ความรู้สึกของตลาด ของนักลงทุนก็ยังจะไปไหนไม่ไกลอยู่ดี

ภาคอุตสาหกรรมของไทยเอง ก็คาดหวังถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่ว่าอยู่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดัชนีวัดความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือนเมื่อเดือนพฤษภาคม

 

สิ่งที่รอยเตอร์สตั้งข้อสังเกตไว้และชวนคิดอย่างมากก็คือ ปัญหาที่รัฐบาลเผชิญอยู่ในเวลานี้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด

แต่เป็นเรื่องเก่า ปัญหาเดิม ว่าด้วยเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง เรื่องความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งส่งผลต่อการลงทุน การผลิตและการใช้จ่ายของภาคเอกชนมาโดยตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

หรือเราไม่ได้ก้าวไปไหนเลยในช่วงหลายปีมานี้?