เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | สังคมยายดื้อ

นิทานเก่าได้มาจากสวนโมกขพลารามเรื่อง “ยายดื้อ” เคยเล่าแล้ว ขอเล่าซ้ำอีกครั้ง เรื่องมีว่า

ตากับยายอยู่ด้วยกันรู้นิสัยกันดี ตาแกรู้ว่ายายเป็นคนดื้อ ไม่ยอมฟังใคร โดยเฉพาะตา จนตาแกรำคาญเต็มที ถึงขั้นคิดกำจัดยาย

เช้าวันหนึ่งตาบอกยายว่า

“นี่ยาย วันนี้แกอยู่บ้านนะ”

ยายสวนคำทันที

“ข้าจะไม่อยู่บ้าน”

ตาได้ทีก็ว่าต่อ

“ถ้าแกไม่อยู่บ้าน แกอย่าไปป่านะ”

“ข้าจะไปป่า แกจะทำไม” ยายท้าขึ้นมาทั้งที่วันนี้ไม่คิดจะออกจากบ้านไปป่าหรือไปไหนทั้งนั้น

ตาสวมต่อแผนทันทีเลย

“เออ ถ้าแกไปป่าก็อย่าไปเดินใกล้เหวนะ”

ยายสวนกลับ

“ข้าจะไปเดินใกล้เหว”

เข้าแผนร้ายของตาแล้ว ตาสั่งเป็นคำสุดท้าย

“แกไปใกล้เหวแล้วอย่าแบกหินหนักๆ ใกล้ปากเหวล่ะ”

เหมือนเคย ยายดื้อแกดื้อต่อ

“ข้าจะแบกหินหนักๆ เดินใกล้ปากเหว แกจะทำไม”

ตานี้ตาไม่ตอบ หัวเราะหึๆ กับแผนชั่วร้ายกำจัดยายดื้อ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ

ยายแกออกจากบ้านไปป่าเดินใกล้เหวโดยแบกหินหนักๆ ใกล้ปากเหว

แน่นอนตามแผนตาคือ ยายตกเหว

เรื่องเหมือนจะจบเพียงแค่นี้ แต่มีภาคต่อเชิงสรุปผลร้ายของความดื้อรั้น ดังนี้

ที่ก้นเหวนั้นมียักษ์ร้ายตนหนึ่งถูกสาปให้ตรึงอยู่ก้นเหว จะพ้นคำสาปได้ก็ต่อเมื่อมีคนดื้อตกลงมา ซึ่งเข้าทางพอดีกับที่ยายดื้อตกลงมา

ยักษ์ได้ทีดีใจหัวเราะฮ่าๆ ผุดทะลึ่งผลุงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หัวยักษ์ไปชนกับยอดเขาแตกกระจาย

ผลคือมันสมองยักษ์สาดกระเซ็นไปทุกสารทิศทั่วโลก เศษอณูของสมองยักษ์เข้าแทรกซึมไปในสิ่งเสพติดทั้งหลาย ที่ใครเสพแล้วต้องติด เลิกยากหรือเลิกไม่ได้เลย เช่น ในบุหรี่ เหล้าและเมรัยทุกชนิด

ไม่แน่ว่าจะมีอยู่ในกัญชา กัญชง และใบกระท่อมด้วยหรือไม่ นี่ต้องให้นักวิจัยช่วยวิจัยดูหน่อยนะ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรก็ลองคิดดูละกัน

ที่แน่ๆ คือผลร้ายของการดื้อรั้นดันทุรังชนิดไม่ฟังความกันละ

อย่าว่าแต่เหตุผลเลย แค่เอ่ยแค่แอะก็ไม่ฟังแล้ว นอกจากไม่ฟังก็ยังดื้อรั้นดันทุรังที่จะทำตรงข้าม นัยว่าเพื่อยืนยันตัวตนของตนว่าถูกว่าดีเสมอ

เอาชนะให้ได้นั่นแหละ

โดยเฉพาะผู้สูงวัยหรือวัยสูง

มีคำกล่าวนิยามธรรมชาติของคนสามวัยไว้ว่า

คนสูงวัยหรือวัยสูงนั้นมักเชื่อไปหมด เชื่อในที่นี้รวมทั้งเชื่อชนิดดื้อรันดันทุรังด้วย

คนวัยกลางนั้นมักสงสัยไปหมด นี่ก็เพราะไม่อาจคาดหวังอะไรให้มันแน่นอนตายตัวได้อีกแล้วกระมัง ทั้งประสบการณ์ที่ผ่านพบและอนาคตที่ดูจะอลวนอลหม่านต้านไม่อยู่กันอยู่นี่

ส่วนคนวัยรุ่นนั้นมีธรรมชาติที่มักรู้ไปหมด วิชาแก่กล้า ว่างั้นเถิด

ไม่ว่าจะเชื่อไปหมด สงสัยไปหมด และรู้ไปหมด ก็ไม่สำคัญเท่าต่างยืนยันในความเห็นตนชนิดไม่ยอมกัน ไม่ลงกัน จนถึงไม่ร่วมสังฆกรรมกันไปนั่นเลย

เป็น “ยายดื้อ” กันทั้งสามวัย

อย่างนี้แหละคือทิฏฐิมานะ แปลว่า “สำคัญในความเห็น” หมายถึง ยึดมั่นถือเอาความเห็นของตนสำคัญสุด

ลักษณะนี้มีคำเรียกง่ายๆ ทั่วไปว่า เป็นนิสัยขี้โอ่ ขี้สงสัย และขี้หงุดหงิด อันเป็นลักษณะนิสัยไม่ดีของวัยรุ่นที่ขี้โอ่ วัยกลางขี้สงสัย และวัยสูงขี้หงุดหงิด

คนสามวัยนี้มีในทุกหมู่เหล่าทุกสังคม ถ้าไม่เข้าใจกันถือเอาทิฏฐิมานะเป็นใหญ่ก็จะมีแต่ความแตกแยกแตกร้าววินาศในที่สุด

ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าววาทธรรมไว้ว่า

“คนที่เก่งจริง ไม่เอาความยิ่งใหญ่มาแปลกแยกตัวนี้ แต่เอาพลังร่วมสร้างสรรค์บูรณาการเข้าในสังคม”

คนสามวัยที่ล้วนมีความดีความเก่งอยู่ในตัว ถ้าเข้าใจธรรมข้อนี้ก็จะร่วมกัน “สานพลัง” ให้เป็นประโยชน์สุขมหาศาลแก่สังคมได้

ทิฏฐิมานะคือความสำคัญตนที่เป็นความยึดมั่นในความเห็นตนจนปฏิเสธความเห็นต่าง ก็คือ “การเอาความยิ่งใหญ่มาแปลกแยกตัว” นั่นเอง อันมีแต่จะหายนะและวินาศในที่สุด

ท่านเจ้าคุณอธิบายคำว่า “สมานัตตตา” ในสังคหวัตถุสี่ว่า คำนี้หมายถึงการ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” ซึ่งคือการสลายอัตตาที่ยึดมั่นถือมั่นเข้าไป เข้าใจ-เข้าไปรับรู้ซึ่งกันและกันจนกลายเป็นความสมานฉันท์นั่นเอง

อย่าเป็น “ยายดื้อ” กันอยู่เลย