วิเคราะห์ : หนึ่งปี ทรัมป์-คิม ซัมมิต ข้อตกลงบนเส้นขนาน

ภาพประวัติศาสตร์ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จับมือกับคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือที่ประเทศสิงคโปร์ ถูกเผยแพร่ผ่านสายตาชาวโลกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนปีก่อน

มาพร้อมกับคำมั่นของผู้นำทั้งสองที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม ภาพประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความหวังที่อาจนำไปสู่สันติภาพ เวลานี้กลับกลายเป็นความไม่แน่นอนไปแล้วหลังความล้มเหลวในการหารือกันครั้งที่สองระหว่างทรัมป์และคิม ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

การหารือครั้งแรกที่สิงคโปร์ ที่นับเป็นการพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำเกาหลีเหนือ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

โดยผู้นำคิมได้ลงนามในข้อตกลงอันคลุมเครือเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ข้อตกลงซึ่งทรัมป์ระบุว่าเป็น “พัฒนาการครั้งประวัติศาสตร์”

ทว่าในการหารือครั้งที่สองที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เมื่อผู้นำจากสองชาติไม่สามารถที่จะตกลงกันได้เกี่ยวกับสิ่งที่เกาหลีเหนือต้องยอมแลกกับการผ่อนคลายการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา

 

อันเดร ลันคอฟ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยกุกมิน ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ระบุว่า หลังจากการหารือสุดยอดผู้นำที่สิงคโปร์ เกิดความคาดหวังในแบบที่ดูไม่สมจริงและเกือบจะเป็นเรื่องตลกขบขันเกิดขึ้น ก่อนที่จะกลายเป็นความชัดเจนในภายหลังว่า เกาหลีเหนือนั้นไม่ต้องการที่จะยอมวางอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองลง

คิม จอง อึน ประกาศยกเลิกการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการหารือระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือซึ่งปูทางไปสู่การเจรจาระดับผู้นำสูงสุดที่สิงคโปร์ได้

ทว่าหลังจากการหารืออันล้มเหลวที่ฮานอย เกาหลีเหนือกล่าวหารัฐบาลสหรัฐว่า “ไม่จริงใจ” และให้เวลาสหรัฐให้เปลี่ยนท่าทีภายในสิ้นปี

ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นไปตามที่เกาหลีเหนือต้องการ

จนกระทั่งเกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นับเป็นการยิงขีปนาวุธครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2017

 

หลังการหารือที่กรุงฮานอย เกาหลีเหนือแสดงออกชัดเจนถึงความนิ่งเงียบ เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐระบุว่า ไม่ได้มีการติดต่อระหว่างกันในระดับเจ้าหน้าที่เลยนับแต่นั้น และความนิ่งเงียบของเกาหลีเหนือก็สร้างความผิดหวังให้กับสหรัฐเช่นกัน

กลายเป็นทางเกาหลีเหนือที่ให้ข่าวผ่านสื่อกระบอกเสียงของรัฐ แสดงความไม่พอใจด้วยการเรียกร้องให้สหรัฐปลดผู้ช่วยใกล้ชิดทรัมป์ อย่างไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติออกจากตำแหน่ง

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนว่าเป็นสาเหตุของความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้นำสองชาติก็คือ เป้าหมายของการทำข้อตกลงที่แตกต่างกัน กล่าวคือ สหรัฐต้องการการ “แลกเปลี่ยน” แบบ “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” แต่เกาหลีเหนือต้องการในแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป”

รัฐบาลสหรัฐกล่าวหารัฐบาลเกาหลีเหนือว่า มีความต้องการให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด แลกกับการปลดอาวุธบางส่วน ขณะที่เกาหลีเหนือระบุว่า เกาหลีเหนือต้องการให้มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน แลกเปลี่ยนกับการปิดโรงงานผลิตนิวเคลียร์ ในนิคมอุตสาหกรรมยองบยอนของเกาหลีเหนือทั้งหมด

แน่นอนว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจะสิ้นสุดลงได้หากสองชาติมองหาจุดร่วมที่ตรงกัน ซึ่งไม่ใช่ความต้องการสุดโต่งด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

ด้านกลุ่มยูเรเซีย บริษัทที่ปรึกษาด้านการเมืองระบุว่า ผู้นำจากสองประเทศจะต้องออกจากสถานการณ์คุมเชิงระหว่างกันนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่พยายามมาตั้งแต่ต้นล้มเหลวลงทั้งหมด พร้อมทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่า มีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่จะเกิดการหารือระดับสุดยอดผู้นำครั้งที่ 3 ขึ้นในปีนี้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐได้เสนอที่จะมีการหารือในระดับเจ้าหน้าที่กับเกาหลีเหนือ แต่ก็ยังไม่มีการวางแผนกันถึงขั้นที่จะมีการจัดให้มีการพบกันระหว่างผู้นำในเร็วๆ นี้

ขณะที่ท่าทีของทรัมป์เองที่ระบุว่า ตน “ไม่รีบ” และแสดงออกถึงความต้องการคงสถานะในเวลานี้เอาไว้ ทำให้นักวิเคราะห์มองเช่นกันว่า กลับกลายเป็นฟากฝั่งของเกาหลีเหนือที่ต้องตัดสินใจ

โก มยอง ฮยุน นักวิเคราะห์จากสถาบันอาซานด้านนโยบายศึกษาในเกาหลีใต้ระบุว่า เมื่อมาตรการคว่ำบาตรยังคงอยู่ สหรัฐอเมริกาคาดว่าแรงกดดันจะส่งผลให้เกาหลีเหนือยอมถอยและยื่นข้อเสนอบางอย่างเข้ามา

แต่โกก็เตือนด้วยเช่นกันว่า เกาหลีเหนือเองก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่ากำลังมุ่งหน้ากลับไปสู่วงจรแห่งการยั่วยุแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาเช่นกัน

ด้านลันคอฟระบุว่า การทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้เป็นเหมือนกับสัญญาณเตือนอย่างเป็นมิตรจากเกาเหลีเหนือไปยังโดนัลด์ ทรัมป์ ว่า เกาหลีเหนือยังคงอยู่และพร้อมที่จะเจรจา และว่า เกาหลีเหนือเองก็แสดงออกชัดเจนว่าพร้อมที่จะเริ่มต้นทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง เว้นแต่ว่า สหรัฐจะยอมรับเงื่อนไขของเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยกุกมินยังคงมองว่า ข้อตกลงระหว่างสองประเทศนั้นยังคงเป็นเหมือนกับเส้นขนานที่ไม่มีทางที่จะมาบรรจบกันได้

“ฝ่ายอเมริกาจะไม่ยอมรับเกาหลีเหนือที่มีนิวเคลียร์ และเกาหลีเหนือเองก็จะไม่มีทางอยู่โดยไม่มีอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน” ลันคอฟระบุ