บทวิเคราะห์ : สัญญาภาค 2 นายกฯ ตู่ คนที่ 29 ปรับลุค อ่อนโยน ลดก้าวร้าวได้ ?

“พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทุกสาขาอาชีพ ทุกช่วงวัย”

“เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ”

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 สมัยที่ 2 กล่าวตอนหนึ่งหลังทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ

ถือเป็นสัญญาแรกแต่ภาค 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีต่อสาธารณะหลังเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ

เป็นที่น่าสนใจว่า พล.อ.ประยุทธ์เล็งเห็นถึงอนาคตทางการเมืองไม่น้อยในโหมดปกติ ที่จะไม่มีคำสั่ง คสช. หรือ ม.44 เป็นดาบอาญาสิทธิ์ได้อีก

ดังนั้น การเปิดรับฟังจึงเป็นพื้นฐานที่จะสร้างเสถียรภาพต่อรัฐบาลให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ในสภาวะที่การเมืองกลับมามี “ฝ่ายค้าน” ในสภาอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ไม่นับรวมการเมืองภาคประชาชนที่จะเข้มแข็งมากขึ้น ตามสถานการณ์ประเทศที่กลับสู่ปกติมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เคยออกมาสะกิดเตือน พล.อ.ประยุทธ์ถึง 2 ครั้ง ในห้วงปี 2560-2561

โดยครั้งแรกปลายปี 2560 ได้ออกมาเตือนเรื่อง “กองหนุนลด”

ต่อมาเมื่อปลายปี 2561 พล.อ.เปรมได้สะกิดเตือนให้มองคนเห็นต่างอย่างเป็นมิตร

ด้วยสายตาที่ยาวไกลของ “ป๋าเปรม” ที่เคยผ่านวิกฤตการเมืองมาบ่อยครั้งและเข้าใจสภาวะทางการเมืองดี จึงทำให้ พล.อ.เปรมรู้ถึงอนาคตที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญทั้งเรตติ้งที่ลดลงหลังอยู่ยาวมา 5 ปี และห้วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมตัวลงเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พปชร.ก็ได้ Popular Vote มาเป็นอันดับที่ 1 ก็สะท้อนผลต่างๆ ที่ออกมาได้

แต่คะแนนก็ไม่ได้ทิ้งห่างจากพรรคเพื่อไทยเท่าใดนัก จึงทำให้เกิดสภาวะ “รัฐบาล-สภาปริ่มน้ำ” ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ก็ทราบดีถึงเรื่องอารมณ์ของตัวเองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความฉุนเฉียวต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์มักจะกล่าวกับสื่อว่าจะพยายามยิ้มและอารมณ์ดีเสมอ แต่ก็มีหลุดออกมาบ้าง

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์มีภาพลักษณ์ที่ผิดไปจากช่วงเป็นนายกฯ แรกๆ อย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งหลายคนมองว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความเป็น “นักการเมือง” มากขึ้น

แม้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามปฏิเสธการนำเสนอตัวเองหรือสร้างตัวตนแบบนักการเมือง แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธสายธารนี้ได้ เมื่อต้องลงมาสู่สนามการเมืองบ้าง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยขึ้น #ตู่ดิจิตอล เพื่อใช้โซเชียลด้วยตนเองและมีทีมงานดูแลทั้งเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมให้ โดยช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น ทางทีมงานและ พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามอัพภาพและข้อความง่ายๆ สบายๆ อยู่เป็นระยะ แต่เริ่มแผ่วเบาลงช่วงหลังเลือกตั้งเป็นต้นมา อีกทั้งภาพถ่ายที่ลงหลายภาพเป็นมุม พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ค่อยเห็นได้บ่อยนัก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ที่บ้านพักใน ร.1 รอ. ที่มักไม่เปิดให้ใครเข้าไปพบง่ายๆ

ทั้งนี้ เมื่อ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ก็ทักทายสื่อหลังทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ส่งท้ายเมื่อพูดคุยกับสื่อว่า “นะจ๊ะ” หลายครั้ง

รวมทั้งย้ำว่า “เราจะมีแต่รอยยิ้มให้กัน”

คำว่า “นะจ๊ะ” ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งมาใช้ตอนเป็นนายกฯ แต่ใช้มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเป็นนายทหารใน ทบ. จนได้รับฉายาว่า “ตู่นะจ๊ะ”

บุคลิกพื้นฐานของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่คนใกล้ชิดพูดเป็นเสียงเดียวตรงกันคือเป็นคนจริงจังกับงานและเป็นคนตลก จนเป็นที่มาตอนหลังว่า “นายกฯ เป็นคนตลก” นั่นเอง

ห้วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ช่วงปี 2549 จนมาเป็น เสธ.ทบ., รอง ผบ.ทบ. และ ผบ.ทบ.ช่วงปี 2553 ช่วงรอยต่อคาบเกี่ยวรัฐบาลอภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ สถานการณ์ทางการเมืองช่วงปี 2549-2553 และช่วง 2556-2557 เป็นห้วงระยะเวลาที่กองทัพ โดยเฉพาะ ทบ. ในฐานะกองทัพที่คุมกำลังใหญ่ที่สุด ถูกทั้ง “แรงกดดัน-เสียดทาน” ทางการเมืองไม่น้อย ทั้งฝั่งที่สนับสนุนและต้านกองทัพ เช่น กลุ่ม พธม.-นปช.-กปปส.

สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแบกรับหลายสิ่งไม่น้อย และแสดงวิวาทะต่างๆ ผ่านสื่อมาตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. เพื่อปรามฝ่ายการเมืองที่มาพาดพิงกองทัพ ทำให้เป็นภาพจำต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นภาพที่ขึงขังดุดันมาตลอด

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำถึงการรับฟัง “คนรุ่นใหม่” ด้วย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่ของสังคมที่ใช้สื่อโซเชียลมากที่สุด

แต่เป็นฐานเสียงที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเจาะไม่ได้เท่าฟากฝั่งขั้วที่ต่อต้าน คสช.

เพราะหลังการเลือกตั้งมีการวิเคราะห์ฐานเสียง มีการมองว่า “สังคมออฟไลน์” คือส่วนที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ก็มีภาพที่สนับสนุนพรรคที่ไม่สนับสนุน คสช. อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญในอนาคตอีกอย่างคือการโต้เถียงในสภา หนึ่งในนั้นคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือถูกซักฟอกในสภา แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเคยเปิดใจกับสื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า “เธอหาว่าฉันควบคุมตัวเองไม่ได้หรือ มันเป็นธรรมดา ช่วงไหนที่วุ่นวายฉันก็เครียด จะตัดสินใจอะไร มันจะดีพอหรือไม่ จะถูกหรือเปล่า และอะไรที่ทำไปแล้วมันติดขัดตรงไหน ก็ย้อนกลับไป ไม่มีจบ นี่คืองานของนายกฯ”

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์เปิดใจถึงแนวทางการทำงานใน ครม.ชุดใหม่ว่า ก็ต้องพูดคุยกันให้มากขึ้นและให้เกียรติคนที่ทำงาน

แต่หากดูท่าทีของตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลที่พบ พล.อ.ประยุทธ์อย่างเป็นทางการหลังประกาศร่วมรัฐบาล ในการร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ก็จะเห็นได้ว่าบรรดานักการเมืองมีท่าทีที่ยังไม่คุ้นชินกับ พล.อ.ประยุทธ์อยู่บ้าง อีกทั้งนายกฯ ก็แสดงบทความเป็นผู้นำออกมาบ้างในการจัดแถว-พูดคุยระหว่างถ่ายภาพรวมตัวแทน 18 พรรคที่บันไดตึกไทยคู่ฟ้า อีกทั้งการจัดโผ ครม.ก็มีการระบุว่า สุดท้ายแล้วรายชื่อทั้งหมดจะต้องผ่านมือและสายตา พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นปราการสุดท้ายด้วย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็กล่าวเบื้องต้นถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลว่า ทุกอย่างเข้ามาตามกระบวนการประชาธิปไตยเต็มร้อย มาจากการเลือกตั้ง เมื่อมาอย่างไร วิธีการปฏิบัติเป็นอย่างไร ตนก็ต้องปรับการทำงานเหมือนกัน ไม่ใช่ผมตัดสินใจคนเดียวเหมือนเดิม ไม่ได้แล้ว

แต่ผมจะมีอำนาจตัดสินใจอีกครั้งเมื่อเป็นนายกฯ

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการปรับทัพเพื่อเข้าสู่การเป็น “รัฐบาลประชาธิปไตย” มากขึ้น

แม้เสียงจากฝ่ายต่อต้าน คสช. หรือฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “ประชาธิปไตยจอมปลอม”

ซึ่งล้อมาจาก นสพ.วอชิงตันโพสต์ ที่เผยแพร่บทความ “ประชาธิปไตยจอมปลอมของไทย ยังไม่ควรได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐ”

โดยมองว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ยุติธรรม รวมทั้งการใช้ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มาเป็นเสียงในการโหวตเลือกนายกฯ กับ 500 ส.ส. ด้วย

ก่อนหน้านี้ก็มีวิวาทะของ “เสรี สุวรรณภานนท์” ส.ว. ที่ได้สร้างวิวาทะนิยม “เผด็จการประชาธิปไตย” ตอบโต้พรรคเพื่อไทยว่าเป็นพวกนิยม “ประชาธิปไตยจอมปลอม” ด้วย

แต่อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมี 250 ส.ว.เป็นองครักษ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งคำสั่ง ม.44 หลายฉบับที่ถูกแปรไปเป็นกฎหมายปกติ อีกทั้งงานจัดระเบียบสังคมของ กกล.รส. ในนาม คสช. ที่ไปอยู่ในโครงสร้าง กอ.รมน. หรือ ศปป.1-5 ด้วยนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ผ่องถ่ายไว้ทั้งหมด

นี่เป็นการ “ปรับลุค” ให้เป็น “นักการเมืองในอุดมคติ” มากขึ้นของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้เป็นที่รักของประชาชนในคอนเซ็ปต์ “อ่อนโยน ลดก้าวร้าว”

ผสมกับการผ่องถ่ายแผนงานและโครงสร้างทางอำนาจต่างๆ ไว้ ก็จะสามารถขับเคลื่อนรัฐบาลไปได้

แต่สิ่งที่จะต้องเผชิญคือรอยร้าวใน ครม. ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จากอิทธิฤทธิ์ของบรรดานักการเมืองที่ไม่สามารถสั่งให้ซ้ายหัน-ขวาหัน-แถวตรงได้เหมือนเช่นในยุคที่ คสช.เรืองอำนาจมา 5 ปี สัญญาที่ให้ไว้ในการเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 จะถูกนำมาทวงในอนาคตด้วย

เราจะทำตามสัญญา จะทำได้จริงไหม?