วิเคราะห์ : เมืองน่าอยู่หน้าตาเป็นยังไง?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ดูคลิปของคุณอิทธิพล เพชรพิบูลย์พงศ์ ขี่มอเตอร์ไซค์ช่วยเด็กกำลังชักเกร็งอยู่ในรถเก๋งที่ติดไฟแดง จ.พิษณุโลก ไปส่งโรงพยาบาลเยียวยาช่วยชีวิตได้ทันเวลา

แม้ระหว่างทางคุณอิทธิพลซิ่งจนน่าหวาดเสียว แต่เข้าใจได้ว่าต้องเร่งให้ถึงโรงพยาบาลเร็วๆ

ถ้าไม่มีคุณอิทธิพล ก็ไม่อยากคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก เพราะการจราจรในวันนั้นดูจากคลิปแล้วติดขัด

ยากที่คุณพ่อของเด็กจะฝ่าการจราจรอันยุ่งเหยิงไปถึงที่หมายในเวลาอันรวดเร็ว

ก็ขอชื่นชมในน้ำใจงามของเด็กหนุ่มคนนี้

 

คลิปของ “อิทธิพล” เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ทั้งของไทยและต่างประเทศ มีผู้คนเข้าไปดูนับเป็นล้านครั้ง

แสดงให้เห็นว่า สังคมร่วมรับรู้ถึงการทำความดีของคุณอิทธิพล

วันนี้เราต้องยอมรับว่าในสังคมเมืองที่แก่งแย่งดิ้นรนทำมาหากิน ปากกัดตีนถีบ

การได้ยินคนทำดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ยากกว่าการได้ยินได้ฟังเรื่องร้ายๆ

เมื่อได้ยินคนทำดี จึงเปรียบเหมือนได้ยินเสียงจากสวรรค์

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เห็นในคลิปของคุณอิทธิพล คือสภาพเมืองพิษณุโลก

จากเมืองที่ไม่ได้มีสภาพใหญ่โตมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ แต่กลับมีปัญหาการจราจรไม่ต่างจากเมืองใหญ่

สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาจราจรติดขัดแผ่ขยายจนกลายเป็นปัญหาหลักของประเทศไปแล้ว

สาเหตุน่าจะมาจากการวางนโยบายเรื่องการขนส่งมวลชนและระบบผังเมืองของไทยล้มเหลว

ระบบผังเมืองห่วยแตก ปล่อยให้เมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทางมานาน

เมื่อประชากรมากขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว แน่นอนการขนส่งมวลชนขยายตัวตาม เพราะผู้คนต้องเดินทางสัญจร

แต่ทั้งสองระบบไม่ได้ปรับเปลี่ยนสอดประสานกับความเป็นจริง

เมืองจึงเติบโตอย่างไร้ระเบียบ เขตธุรกิจ บ้านที่อยู่อาศัย หน่วยราชการ ปะปนกันมั่วไปหมด

รถยนต์ส่วนตัวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอมารองรับ

การควบคุมระบบการจราจรให้รถวิ่งได้คล่องไร้ประสิทธิภาพ

คนใช้รถไร้วินัย วิ่ง-จอดตามใจฉัน สุดท้ายลงเอยรถติดมหาวินาศ เกิดอุบัติเหตุเป็นรายชั่วโมง มีคนเจ็บ-ตายทุกวัน

 

ขอยกตัวอย่างความไร้ระบบในการวางผังเมืองจากประสบการณ์ที่เห็นมา

เมื่อราว 30 ปี ผมมาอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งแถวๆ ถนนรามคำแหง แขวงและเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร

ช่วงนั้นถนนยังใช้ชื่อสุขาภิบาล 3 เป็น 2 เลน แล่นสวนกัน

การเดินทางสะดวกมาก รถวิ่งคล่องปรื๋อ อาจจะเป็นเพราะรถยนต์ยังมีไม่มากนัก

จะติดบ้างก็ถนนลาดพร้าวเชื่อมกับแยกบางกะปิ

จากบ้านไปที่ทำงานมติชน นั่งรถเมล์ 3 สายราว 45 นาที

ต่อมาชุมชนในแถบสุขาภิบาล 3 เติบโตอย่างรวดเร็ว หมู่บ้านใหม่ผุดโผล่ตลอดเส้นทาง เขตปกครองก็เปลี่ยนจากเขตบึงกุ่มมาขึ้นกับเขตสะพานสูง

ถนนขยายเป็น 4 เลน สองข้างทางและเกาะกลางปลูกต้นไม้ร่มรื่น

แต่การเดินทางไปมาเริ่มมีปัญหา รถติดมากขึ้น ชุมชนขยายอย่างไร้ขีดจำกัด คนหันมาซื้อรถยนต์ส่วนตัวกันมาก

น่าจะเป็นเพราะทนไม่ไหวกับระบบขนส่งมวลชนที่ย่ำแย่ มีรถเมล์วิ่งผ่านไม่กี่สาย นานๆ ทีถึงจะมา

รถเมล์แต่ละคันคนแน่นเอี้ยดต้องโหน บางวันเจอคนขับซิ่ง ไม่จอดป้ายรับผู้โดยสาร

ผมเองก็กัดฟันผ่อนรถเก๋งส่วนตัว ผ่อนไปบ่นไปเพราะใช้ไม่คุ้มค่า แค่วิ่งจากบ้านไปถึงปากซอยหมู่บ้าน ก็ใช้เวลา 20 นาที ทั้งที่ระยะทางแค่ 2 กิโลเมตร

เท่ากับ 10 นาที วิ่งได้แค่ 1 กิโลเมตร

บางวันขับรถไปแถวๆ ซอยอารีย์ พหลโยธิน ใช้เวลาจากบ้านร่วม 2 ชั่วโมง

สบถกับตัวเองว่า “บ้าไปแล้ว”

ระยะทางไม่ถึง 20 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่ง 120 นาที

ค่าน้ำมันปาเข้าไปอาทิตย์ละเกือบ 2 พันบาท เฉลี่ยทั้งเดือน 8 พันบาท

 

สภาพการจราจรติดขัดมโหฬารเช่นนี้จึงไม่น่าแปลก รถยนต์ในกรุงเทพฯ เผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงมากและมีมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่ามาตรฐาน

ถามคนฝรั่งที่เป็นเพื่อนสนิทมานานว่า เมืองไทยเป็นยังไงมั่ง

น่าเที่ยวมากกว่าน่าอยู่

น่าเที่ยวเพราะอากาศดี ถึงจะร้อนในหน้าร้อน แต่ไม่ทำให้คนไทยล้มตาย เหมือนเมืองหนาวที่หนาวเหน็บทะลุกระดูก

เมืองไทยมีของกินตลอดทั้งวัน ต่างกับเมืองอื่นในยุโรป อเมริกา มีเวลากำกับให้หากินได้แค่ไม่กี่ชั่วโมง

มีตังค์แต่ไม่มีที่กิน ไม่มีที่จะซื้อของได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แถมบางแห่ง วันอาทิตย์ปิดทั้งเมือง จะกินได้แค่ฟาสต์ฟู้ด เครื่องดื่มของมึนเมาไม่มีที่ให้ซื้อกิน

เพื่อนบอกว่า เมืองคริสต์ กติกาทางสังคมกลับแรงกว่าเมืองพุทธ

มันน่าแปลกดีแฮะ

 

พูดถึงความเป็นเมืองน่าอยู่ในความหมายที่ผู้คนมีการศึกษา มีงานทำรายได้เฉลี่ยสูงกว่าค่าครองชีพ มีระบบสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมดี

การเมืองที่มีเสถียรภาพ ความปลอดภัยสูง ผู้คนเป็นมิตร มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน

ผังเมืองจัดวางให้บ้านพัก ที่ทำงาน สวนสาธารณะ สนามกีฬาอยู่ในรัศมีที่สามารถเดินหรือขี่จักรยานไปถึง ในเวลาไม่เกิน 10 นาที

สถานที่ทำงาน สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬา หรือที่ทำการของรัฐแต่ละแห่งได้รับการออกแบบให้พนักงานได้ทำงานอย่างสะดวกสบาย

ภายในที่ทำงานมีห้องสันทนาการ ห้องออกกำลัง มีห้องเลี้ยงเด็กเล็ก ห้องสมุดและปลูกสวนหย่อมต้นไม้ล้อมรอบ

ระบบการขนส่งสาธารณะ สามารถเข้าถึงแหล่งที่พักอาศัย ที่ทำงานหรือสถานที่ของรัฐ โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว

ล่าสุดมีการสำรวจเมืองน่าอยู่ ตามคำนิยามดังกล่าว 231 เมืองทั่วโลก

ปรากฏว่า กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กลายเป็นเมืองน่าอยู่ที่ติดอันดับหนึ่งของโลกอีกครั้ง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะกรุงเวียนนามีระบบการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ

ภายในเมืองมีโรงละคร พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ให้ผู้คนได้ชื่นชมตลอดเวลา

ใจกลางเมืองมีพื้นที่สาธารณะกว้างขวาง เปิดให้เป็นถนนคนเดิน ซื้อข้าวของได้อย่างปลอดโปร่ง ไม่มีรถยนต์วิ่งตัดหน้าแซงหลังให้กวนใจ

ร้านรวงตกแต่งประดับประดาสีสันสวยงาม มีร้านอาหารสะอาดควบคุมคุณภาพเข้มข้น

ระบบดูแลความปลอดภัยยอดเยี่ยม สถิติการเกิดอาชญากรรมต่ำมาก

ประชากรในกรุงเวียนนามีราว 2 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละ 12 ล้านคน

เมื่อถามนักท่องเที่ยวว่าทำไมจึงพอใจกับการเที่ยวกรุงเวียนนา ส่วนใหญ่ตอบว่าเพราะเป็นเมืองน่าอยู่นั่นเอง