สุรชาติ บำรุงสุข : 2016 จุดจบระเบียบ ‘โลกเสรี’ 2017 กำเนิด ‘ประชานิยมขวา’

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
Photo taken on December 30, 2016 shows a woman selling "Happy New Year 2017" headwear on a busy shopping street in Sydney. Global terror attacks have cast a pall over New Year celebrations but Sydney was on December 31, 2016 set to defy the threats and ring in 2017 with a firework extravaganza on the glittering harbor. / AFP PHOTO / PETER PARKS

“เมื่อมีใครสักคนท้าทายเรา ต้องสู้กลับ ต้องโหดเหี้ยม และต้องเด็ดขาด”
โดนัลด์ ทรัมป์

 

หากมองย้อนกลับไปดูพัฒนาการของปี 2016 แล้ว เราจะเห็น “เหตุปัจจัย” ที่เป็นดังจุดเปลี่ยนของการเมืองโลก 2 เหตุ ได้แก่ การส่งเสียงของประชาชนอังกฤษที่ต้องตัดสินใจว่าประเทศของพวกเขาจะ “อยู่” หรือจะ “ออก” จากสหภาพยุโรป (หรือกรณี Brexit) ในช่วงแรกของปี

แทบไม่น่าเชื่อว่าผลของเสียงที่ต้องการออกจากสหภาพเป็นฝ่ายชนะ…

แล้วปลายปีก็เห็นถึงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้สมัครที่นำเสนอแนวนโยบายแบบ “ขวาจัด” ได้รับเลือกตั้ง

เป็นไปได้อย่างไรกับชัยชนะของปีกอนุรักษนิยมทั้งในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกาพร้อมๆ กัน

ในอีกด้านของมหาสมุทรแอตแลนติก การต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้อพยพเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก และการขยายตัวของการก่อการร้าย ยุโรปบนภาคพื้นทวีปก็เริ่มขยับตัวไปทางขวามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และเยอรมนี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนของเสียงสนับสนุนต่อพรรคการเมืองขวาจัด ที่มี มารีน เลอแปง เป็นตัวแทน

จากเบร็กซิท… สู่การเมืองยุโรป… สู่การเมืองอเมริกัน ทิศทางของการเมืองแบบขวาจัดดูจะปรากฏตัวชัดเจนขึ้น

แน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่พวกขวาแบบเดิมของยุคสงครามเย็น หากแต่พวกเขามีลักษณะเป็นขวาในแบบประชานิยม

จนอาจจะต้องเรียกกระแสชุดใหม่ที่กำลังเกิดในเวทีโลกปัจจุบันว่า “ประชานิยมกระแสขวา”

หรืออาจจะเรียกว่า “ขวาประชานิยม” ก็แล้วแต่ (Right-wing Populism) ซึ่งทิศทางของกระแสชุดนี้ดูจะกลายเป็น “ลมตะวันตก” ที่กำลังพัดแรงในการเมืองโลกร่วมสมัย

AFP PHOTO / ANP / Koen van Weel / Netherlands OUT
AFP PHOTO / ANP / Koen van Weel / Netherlands OUT

ระเบียบโลกเสรีนิยม

ถ้าเช่นนั้นการปรากฏตัวของกระแสชุดนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการจัดระเบียบโลก เพราะระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นระเบียบที่มีทิศทางของความเป็น “เสรีนิยม” อย่างชัดเจน หรือกล่าวในทางทฤษฎีว่าเป็น “Liberal International Order”

ซึ่งทิศทางเช่นนี้กำหนดความเป็นไปของการเมืองระหว่างประเทศมาอย่างน้อยตั้งแต่ “ยุคอุดมคติ” ของประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน ของสหรัฐ ในช่วงหลังจากการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา

อีกทั้งหากย้อนกลับไปสู่การต่อสู้ทางความคิดในการจัดระเบียบโลกหลังจากนโปเลียนพ่ายแพ้สงครามวอเตอร์ลู อันเป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของ “ยุคนโปเลียน” (The Napoleonic Era) แล้ว จะเห็นได้ถึงบทบาทของนักกฎหมายระหว่างประเทศในยุโรป

พวกเขาพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้การเมืองโลกหลุดพ้นจากสงคราม และการขยายอำนาจของจักรวรรดิ

ความพยายามเช่นนี้เป็นความหวังที่จะกำหนด “กฎแห่งสงคราม” (The Rules of War) เพื่อควบคุมพฤติกรรมของรัฐ การต่อสู้ทางความคิดเช่นนี้ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นพวก “สากลนิยม” (Internationalism)

ซึ่งความเป็นสากลนิยมเช่นนี้มิได้มีนัยเช่นในความหมายของบรรดานักสังคมนิยม ที่เป็นสากลในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ

บรรดานักคิดเหล่านี้ควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกให้กิจการระหว่างประเทศสมัยใหม่ตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นเสรีนิยม และพวกเขาได้แสดงบทบาทของการเป็น “ผู้ปกป้องลัทธิเสรีนิยม” ในเวทีการเมืองโลกในขณะนั้น จนได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ว่าพวกเขาเป็น “สุภาพบุรุษแห่งปี ค.ศ.1873”

ดังนั้น กระแสจากการต่อสู้ของนักคิดเหล่านี้ได้สืบทอดมาจนถึงประธานาธิบดีวิลสัน และตกทอดมาจนปัจจุบัน ล้วนเป็นกระแสที่อยู่ภายใต้ทิศทางของความเป็นเสรีนิยม

ไม่ว่าจะตีความอย่างไรก็ตาม แต่เราอาจกล่าวได้ว่าชัยชนะจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สู่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงสงครามเย็นนั้น ล้วนเป็นชัยชนะของลัทธิเสรีนิยม

 

AFP PHOTO / RAMZI HAIDAR
AFP PHOTO / RAMZI HAIDAR

แม้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นถึงการแข่งขันอย่างรุนแรงระหว่างสังคมนิยมกับเสรีนิยม แต่เมื่อสงครามเย็นยุติลงก็เห็นได้ชัดว่าเป็นชัยชนะของลัทธิเสรีนิยม

การแข่งขันของอุดมการณ์ 3 ชุดในเวทีโลกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นการต่อสู้ระหว่างลัทธิฟาสซิสต์ สังคมนิยม และทุนนิยม (เสรีนิยม) ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของลัทธิฟาสซิสต์ และสงครามเย็นยุติลงด้วยการถดถอยของลัทธิสังคมนิยม อุดมการณ์หลักที่หลงเหลืออยู่ในการเมืองโลกจากการต่อสู้เช่นนี้ก็คือ “เสรีนิยม/ทุนนิยม”

ฉะนั้น กระแสโลกาภิวัตน์จึงมีคุณลักษณะของความเป็นกระแสเสรีนิยมในตัวเองอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้

และส่วนหนึ่งที่เป็นประจักษ์พยานของการขับเคลื่อนของกระแสชุดนี้ก็คือ การพังทลายของระบบการปกครองของทหารภายใต้แนวคิดของ “ระบบรัฐราชการอำนาจนิยม” (Bureaucratic Authoritarian Regime) ดังเช่นที่เป็นกระแสการเมืองหลักในภูมิภาคละตินอเมริกา

และปรากฏการณ์พังทลายคู่ขนานอีกส่วนก็คือ การสิ้นสุดของรัฐบาลอำนาจนิยมภายใต้วาทกรรมของ “ระบบสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ” ในสหภาพโซเวียตและในยุโรปตะวันออก

การสิ้นสุดของสองแบบแผนของรัฐเผด็จการในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงชัยชนะของลัทธิเสรีนิยมที่ส่งผลให้ประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักในการเมืองโลกไปโดยปริยาย

และทำให้เกิด “กระบวนการสร้างประชาธิปไตย” ขึ้นในประเทศที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ

และการเกิดเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์หลักของการขับเคลื่อนของกระแสโลกหรือ “โลกาภิวัตน์” ในเวลาดังกล่าว และในบริบทของการเมืองโลกก็คือการตอกย้ำถึงความเข้มแข็งของ “ระเบียบโลกแบบเสรีนิยม” ที่ไม่เพียงพัดพากระแสประชาธิปไตย กระแสการค้าเสรี กระแสเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลก

และเห็นเป็นประจักษ์ได้ถึงการพังทลายของระบบเผด็จการในหลายประเทศ

จนนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันอย่าง แซมมวล ฮันติงตัน เรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่าเป็นดัง “การปฏิวัติประชาธิปไตย”

ที่นำพา “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” เคลื่อนตัวอย่างไม่อาจต้านทานได้ไปสู่ทุกมุมโลก

AFP PHOTO / YAMIL LAGE
AFP PHOTO / YAMIL LAGE

ระเบียบโลกประชานิยม

แต่สถานการณ์ในปี 2016 (พ.ศ.2559) ดูจะส่งสัญญาณถึงการปรากฏตัวของ “กระแสใหม่” และแน่นอนว่ากระแสเก่าได้แสดงถึงการสิ้นสุดลง ปี 2016 ได้เห็นการอสัญกรรมของ “ฟิเดล คาสโตร” ผู้นำการปฏิวัติคิวบา ที่เป็นดัง “มหาบุรุษฝ่ายซ้าย”

เราคงต้องถือว่าคาสโตรเป็น “ผู้นำคนสุดท้ายของสงครามเย็น” ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกจากยุคสงครามเย็นไปสู่ยุคหลังสงครามเย็น

แต่ขณะเดียวกันโลกก็ได้เห็นถึงรูปลักษณ์ของผู้นำยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำอำนาจนิยมในแบบรัสเซียคือประธานาธิบดีปูติน

หรือแบบจีนคือประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง

หรือแบบตุรกีคือประธานาธิบดีเออร์ดูกัน

หรือแบบฟิลิปปินส์คือดูแตร์เต เป็นต้น

และในขณะเดียวกันก็เห็นถึงการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำสายอนุรักษนิยมในอังกฤษคือ เทเรซา เมย์ พร้อมๆ กับการขยายตัวของกระแสขวาในการเมืองยุโรป ที่ต้องยอมรับว่าการเมืองยุโรปบนภาคพื้นทวีปเอียงไปทางขวามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เราอาจจะกล่าวโทษถึงปัจจัยใหม่ๆ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนกระแสขวาในยุโรป

ไม่ว่าจะเป็นความกลัวใน “วิกฤตการณ์ผู้อพยพ” ที่เห็นถึงการทะลักของผู้อพยพจากโลกมุสลิมเข้าสู่ยุโรปเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

พร้อมๆ กับการขยายปฏิบัติการก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุในรูปแบบของ “หมาป่าคอกเดียว” (lonewolf”s den) ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้โครงสร้างขององค์กรจัดตั้ง หรือจะเป็นการก่อการร้ายในแบบเครือข่ายจัดตั้งที่เป็น “เซลล์นอนหลับ” (sleepers cells) ที่รอคอยเวลาและโอกาสในการปฏิบัติการเพื่อทำลายล้าง

ตลอดรวมถึงโลกาภิวัตน์ที่กลายเป็น “ปัจจัยลบ” ต่อชีวิตทางเศรษฐกิจของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการตกงาน หรือการย้ายฐานการผลิตออกไปสู่แหล่งจ้างงานราคาถูก

โดยรวมแล้ว ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่ปัญหาประการเดียวในทางจิตวิทยาก็คือ “ความกลัว”

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ผู้คนในสังคมเช่นนี้จะร้องหา “ผู้นำใหม่” ที่จะเข้ามาจัดการกับสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นปัจจัยที่ทำลายความมั่นคงทั้งของชีวิตตนเองและชีวิตของประเทศ

และอาจจะดูประหลาดที่พวกเขาเหล่านี้เรียกร้องหา “ความเปลี่ยนแปลง”

เพราะคนเหล่านี้มองว่าระเบียบเก่าเป็นความล้มเหลวทั้งทางศีลธรรมและทางกายภาพ ที่ไม่อาจรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ได้

และที่สำคัญก็คือ พวกเขามองว่าระเบียบแบบเก่ากำลังสิ้นสภาพลงทั้งในบริบทของการเมืองภายในและการเมืองโลก

สภาพและความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูก “กดดัน” ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและความมั่นคง จนกระทั่งทุกคนเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกจาก “ปรากฏการณ์ทรัมป์”

หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อาจจะเปรียบได้กับ “ปรากฏการณ์ดูแตร์เต” ซึ่งก็ดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

หรือในยุโรปก็อาจจะเปรียบได้กับ “กระแส มารีน เลอแปง” ซึ่งหลังจากวิกฤตผู้อพยพและการก่อการร้ายในปี 2015 แล้ว กระแส “ประชานิยมขวา” พุ่งสูงขึ้นในฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

มารีน เลอแปง (AFP PHOTO / ALAIN JOCARD)
มารีน เลอแปง (AFP PHOTO / ALAIN JOCARD)

ในอีกด้านหนึ่ง กระแส “ประชานิยมซ้าย” ในละตินอเมริกากลายเป็นความล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด

เช่นในกรณีของเวเนซุเอลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ

ดังจะเห็นได้ว่าวันนี้คนไปซื้อของที่ตลาดต้องแบกกระเป๋าขนาดใหญ่ใส่เงินไป เพราะกระเป๋าสตางค์ปกติใส่ไม่พอ หรือน้ำมันมีราคาถูกกว่าน้ำ

แต่ภาพเหล่านี้ก็คือสัญญาณว่า ยุค “ประชานิยมซ้าย” ที่มาพร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของ ฮิวโก ชาเวซ ในปี 1999 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ปัญหานี้จะไม่นำไปสู่ “ระบบทหารขวาจัด” เพราะรัฐบาลทหารได้รับการพิสูจน์มาแล้วถึงความล้มเหลวในภูมิภาค และรัฐบาลทหารก็ล้าหลังเกินไปกับปัญหาในเวทีโลกปัจจุบัน แต่อาจนำไปสู่การมีผู้นำใหม่ในแบบ “ประชานิยมขวา”

กระแสเช่นนี้ไม่ใช่พวกขวาในแบบยุคสงครามเย็นอีกต่อไป หากแต่ประชานิยมขวาเป็นการผสมผสานความเป็น “คณาธิปไตย” (Oligarchy) เข้ากับลัทธิชาตินิยม

ดังเช่นกรณีของประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย หรือดูแตร์เตแห่งฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ การปกครองแบบคณาธิปไตย หมายถึง การปกครองโดยคนส่วนน้อยที่เป็นชนชั้นนำ หรือที่เรียกว่า “government by the few”

และกระแสชุดนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับว่าจะเป็นกลไกในการรับมือกับการมาของปัญหาใหม่ในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ และขณะเดียวกันสภาพเช่นนี้ก็บ่งบอกถึงการถดถอยของกระแสซ้าย เช่น พวก “สังคมประชาธิปไตย” (social democrats) ในยุโรป

ดังกรณีของ เปโดร ซานเชส ผู้ลงสมัครแข่งขันในการเมืองของสเปน

หรือกรณีปัจจุบันอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ ในการเมืองอเมริกัน

แม้พวกเขาจะไม่พอใจต่อระบบทุนนิยม แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าอะไรคือระบบใหม่ที่เหมาะสมสำหรับอนาคต

และหากจะมีรัฐบาลฝ่ายซ้ายเหลืออยู่บ้างในเวทีโลกก็คงจะเป็นที่กรีซ แต่ก็ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเกินกว่าจะมีบทบาทอะไรอื่น

ในสภาพเช่นนี้ การเมืองยุโรปในภาพรวมจึงเป็นการเมืองแบบ “หันขวา” แม้บางส่วนจะไม่ขวาจัดแบบประชานิยม แต่ก็เป็นรัฐบาลฝ่ายขวาเช่นในสเปน

แต่ทิศทางเช่นในฝรั่งเศสหรือการขับเคลื่อนของกระแสขวาอย่างในออสเตรียกลายเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงการขับเคลื่อนของกระแสขวาอย่างชัดเจน

และเมื่อถูกตอกย้ำด้วยชัยชนะของ “เบร็กซิท” ที่ต้องการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และย้ำอีกครั้งด้วยชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งสหรัฐแล้ว ก็เป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมในตัวเองถึงการมาของชุดความคิดใหม่ที่เป็น “กระแสประชานิยมขวา”

และกระแสเช่นนี้ไม่ใช่ทุนนิยมแบบเดิมเช่นกัน จนนักคิดบางคนถึงกับเสนอว่า “จุดจบของระบบทุนนิยมได้เริ่มขึ้นแล้ว” พร้อมกันนี้ ชุดความคิดแบบซ้ายเดิมก็ล้มเหลวเช่นกันดังจะเห็นได้จากความพ่ายแพ้ของกลุ่มการเมืองปีกซ้ายในยุโรป… ขวาแบบเดิมก็แพ้ ซ้ายแบบเดิมก็แพ้

การเมืองชุดใหม่กำลังบ่มเพาะขึ้นแล้ว

โลกใหม่?

การขับเคลื่อนของกระแสประชานิยมขวาชุดใหม่เช่นนี้ท้าทายอ

ย่างมากต่อระเบียบโลกแบบเสรีนิยม

จนอาจคาดการณ์ในอนาคตได้ว่า ผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้การเมืองโลกขยับไปสู่การเป็นระเบียบแบบขวามากขึ้น

เช่น สมมติว่าองค์ประกอบของรัฐมหาอำนาจใหญ่ 5 ชาติที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีตัวบุคคลที่เป็นผู้นำ ดังนี้ ทรัมป์ (สหรัฐอเมริกา) ปูติน (รัสเซีย) สี จิ้น ผิง (จีน) เมย์ (อังกฤษ) และเลอแปง (ฝรั่งเศส)

ถ้าเป็นเช่นนี้จริง เราอาจเห็นสหประชาชาติที่มีทิศทางขวามากขึ้น

หรือเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงฝ่ายขวา” จนอาจกลายเป็น “ชมรมมหาอำนาจขวา” ของโลก

ฉะนั้น หากปี 2016 จะเป็นสัญญาณถึงการค่อยๆ สิ้นสุดลงของระเบียบโลกแบบเสรีนิยมแล้ว ปี 2017 ก็บ่งบอกถึงการกำเนิดของระเบียบโลกใหญ่ที่เป็นประชานิยมของฝ่ายขวา…

ระเบียบเช่นนี้ท้าทายต่อความเป็นไปของการเมืองโลกในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง!