ศัลยา ประชาชาติ : “คิง เพาเวอร์” โชว์แกร่ง ซิว “ดิวตี้ฟรี” 3 สนามบิน เดินหน้าชิงสัมปทานทั่วประเทศ

การคว้าสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงดิวตี้ฟรีใน 3 สนามบินภูมิภาค ที่ประกอบด้วย ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ มาได้ทั้งหมดในรอบนี้

นับว่ากลุ่ม “คิง เพาเวอร์” สามารถก้าวข้ามความท้าทายในหลายๆ ด้านมาได้อย่างสวยงาม

โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างความมั่นคงต่อเนื่องให้บริษัทด้วยการรักษาฐานธุรกิจเดิมที่รุ่นพ่อ “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา” ได้สร้างขึ้นมาร่วม 30 ปี

รวมทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการพิสูจน์ฝีมือในการบริหารและคอนเน็กชั่นของทายาทรุ่นลูกของตระกูล “ศรีวัฒนประภา” ได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งข่าวในธุรกิจดิวตี้ฟรีรายหนึ่งกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการประมูลทั้งในส่วนดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบนี้ถือเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่สุดของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

เพราะนอกจากพื้นที่สัมปทานเดิมแล้ว รอบนี้สนามบินสุวรรณภูมิยังมีพื้นที่ทั้งในส่วนของดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่อยู่ในส่วนของอาคารแซทเทลไลท์เพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง

ประกอบกับ “ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ” ถือเป็น Corporate Identity หรือสัญลักษณ์ขององค์กรของ “คิง เพาเวอร์” ที่ชัดเจนที่สุด

หากปล่อยให้สัมปทานหลุดไปย่อมทำให้ brand value ของคิง เพาเวอร์ ลดฮวบลงไป

อีกทั้งยังถือว่าเป็นการเสียเอกราชครั้งใหญ่อีกด้วย

“ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ” จึงเป็นทั้งเดิมพันอนาคตขององค์กรและเดิมพันชีวิตของครอบครัว “ศรีวัฒนประภา” อย่างแท้จริง

ไม่เพียงเท่านั้น ชัยชนะในการประมูลรอบนี้ยังเป็นการกำหนดมาตรฐานของสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งยังปลดล็อกข้อครหาในประเด็นที่มาที่ไปของสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ของคิง เพาเวอร์เมื่อครั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเมื่อปี 2548

เพราะเป็นการประมูลที่มีคู่แข่งเป็นดิวตี้ฟรีระดับเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของโลกอย่าง WDEG UK บริษัทลูกของ Dufry Group ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีที่มีรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่กลุ่ม “ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” คือดิวตี้ฟรีสัญชาติเกาหลีที่มีรายได้ทั่วโลกสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

ยังไม่นับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกแถวหน้าของไทยอย่าง “เซ็นทรัล” ที่เข้าร่วมการแข่งขันอย่างดุเดือด

 

ที่สำคัญ การประมูลทั้ง 3 สัญญาในรอบนี้ คือ ดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ, พื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ และดิวตี้ฟรีใน 3 สนามบินภูมิภาค (ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่) มีอายุสัญญาสัมปทานเป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน (ตั้งแต่ 28 กันยายน 2563-31 มีนาคม 2574)

นั่นหมายความว่า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป กลุ่ม “คิง เพาเวอร์” จะมีความมั่งคั่ง มั่นคง ทางธุรกิจยาวไปอีกใน 10 ปีข้างหน้า

โดยในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงสนามบินภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ (สงขลา) สัญญาจะหมดในปี 2574 ส่วนสนามบินอู่ตะเภา (ชลบุรี-ระยอง) สัญญาดิวตี้ฟรีจะหมดในปี 2571 ขณะที่สนามบินดอนเมือง สัญญาดิวตี้ฟรีจะหมดในปี 2565 โดย ทอท.มีแผนจะเตรียมเปิดประมูลใหม่ในปี 2563 นี้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ “ดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี” ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นก็ครอบคลุมเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยในกรุงเทพฯ มี 3 แห่งคือ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ซอยรางน้ำ, คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ศรีวารี ถนนบางนา-ตราด ก.ม.18 และคิง เพาเวอร์ มหานคร ถนนสาทร

นอกจากนี้ ยังมีคิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ พัทยา (ชลบุรี) ซึ่งจับตลาดในภาคตะวันออก และคิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ภูเก็ต ที่จับตลาดเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ตและจังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียงในพื้นที่ภาคใต้

เรียกได้ว่า คิง เพาเวอร์สามารถปักธงธุรกิจดิวตี้ฟรีในพื้นที่สนามบินหลักๆ ของประเทศซึ่งเป็นด่านแรกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย รวมทั้งลูกค้าคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับ “ดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี” ที่ก็ครอบคลุมพื้นที่เมืองหลัก-เมืองท่องเที่ยวครบสูตร

 

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจดิวตี้ฟรีรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า ท่ามกลางการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่องชัดเจนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจดิวตี้ฟรีและรีเทลในพื้นที่สนามบินต่างๆ กลายเป็น “ขุมทรัพย์” ที่ทุกคนจับตามอง ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีด้วยกันเอง และผู้ประกอบการในกลุ่มค้าปลีก

หากประเมินตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวย้อนหลัง 10 ปี (ตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) พบว่า ในปี 2552 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14.15 ล้านคน สร้างรายได้มูลค่า 5.1 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็นเท่าตัวหรือ 29.9 ล้านคนในปี 2558 สร้างรายได้มูลค่า 1.45 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป็น 38.5 ล้านคน และสร้างรายได้มูลค่า 3.04 ล้านล้านบาทในปี 2561 ที่ผ่านมา

สำหรับในปี 2562 นี้คาดว่าน่าจะมีจำนวนถึง 40-41 ล้านคน และสร้างรายได้มูลค่าที่ราว 3.3-3.4 ล้านล้านบาท

ขณะที่ “วิชิต ประกอบโกศล” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า หากประเทศไทยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวได้เฉลี่ยที่ราว 10% ต่อเนื่อง คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้านี้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 60 ล้านคน

โอกาสการเติบโตของธุรกิจ “ดิวตี้ฟรี” จึงพุ่งตามแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

 

จากข้อมูลของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ (มีบริษัทในเครือมากกว่า 10 บริษัท) มีรายได้รวมกว่า 1.13 แสนล้านบาท

โดยกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลักคือ ธุรกิจดิวตี้ฟรี หรือธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากร

โดยบริษัทในกลุ่มดิวตี้ฟรีที่ทำรายได้สูงสุดคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี และบริหารสื่อโฆษณาในสนามบินหลายแห่ง มีรายได้รวมปี 2560 จำนวน 50,684 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,944 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรีและให้บริการจุดส่งมอบสินค้า หรือ Pick up Counter มีรายได้รวมปี 2560 จำนวน 35,633 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,838 ล้านบาท และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ผู้รับสัมปทานจาก ทอท. (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) มีรายได้รวมในปี 2560 ที่ผ่านมา 4,200 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,764 ล้านบาท

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ “สมบัตร เดชาพาณิชกุล” รองประธานกรรมการ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้สัมภาษณ์ถึงแผนธุรกิจต่อไปหลังจากที่กวาดสัมปทานใหม่ไปเรียบทุกสัญญาแล้วว่า เป้าหมายต่อไปของคิง เพาเวอร์คือการเข้าร่วมประมูลจุดส่งมอบสินค้า หรือ Pick up Counter สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ ทอท.มีแผนจะเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2563

รวมถึงสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรี สนามบินดอนเมือง ที่มีแผนจะเปิดประมูลต่อในปี 2563 นี้ เพื่อหาผู้ประกอบการรายใหม่แทนรายเก่าที่กำลังจะหมดสัญญาในปี 2565

นี่คือสไตล์การทำงานของ “คิง เพาเวอร์” ที่เตรียมพร้อมตลอดเวลาสำหรับรับมือกับ “การประมูล” ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับการประมูลครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

และยังคงเดินหน้าเข้าประมูลเพื่อชิงโอกาสทางธุรกิจในทุกสนาม ไม่ว่าจะเป็นดิวตี้ฟรี สนามบินดอนเมือง หรือจุดส่งมอบสินค้า หรือ Pick up Counter สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เชื่อว่าการแข่งขันจะยังคงดุเดือดไม่น้อยไปกว่ากันนั่นเอง