ฉัตรสุมาลย์ : มารยาทผู้ดี

ท่านธัมมนันทาสอนลูกศิษย์ที่ขอเข้ามาบวชเป็นสามเณรีบ่อยๆ ว่า นักบวชในพุทธศาสนานั้นต้องเป็นผู้ดี

ท่านอธิบายง่ายๆ ว่า “อ้าว ก็พระพุทธเจ้าที่เป็นสมเด็จพระพุทธบิดรของเรานั้น ท่านเป็นผู้ดีนะ”

เมื่อเราออกบวช เขาก็เรียกพระภิกษุว่า ศากยบุตร เราเป็นผู้หญิง ก็เรียกว่า ศากยธิดา เมื่อเราเข้ามาสู่ตระกูลของท่าน เราจึงต้องเป็นผู้ดี

ในสายของมหายานนั้น ทันทีที่บวช จะมีคำว่า “ศากยะ” นำหน้าฉายา ซึ่งเป็นชื่อเมื่อบวชแล้ว ของจีนก็จะเป็นฉือ (Shih) ของเวียfนามก็เป็นทิค (Thich) ที่เราเรียกด้วยความไม่รู้ว่าติช ที่ถูกควรเป็นทิค ทิคที่เราเรียกบ่อยๆ คือ หลวงพ่อทิคนัทฮัน (Thich Naht Hanh) ที่มีชื่อเสียงนั่นไง

ทันทีที่เราเข้าสู่ตระกูลของท่าน เราก็ต้องเคารพท่าน โดยการแสดงออกทางกายวาจาให้สุภาพเป็นผู้ดีของสังคมนั้นๆ คำหลังก็สำคัญ เพราะการปฏิบัติบางอย่างที่ถือว่าสุภาพในสังคมหนึ่ง อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับของอีกสังคมหนึ่งได้

พระพุทธองค์ท่านทรงรอบคอบ และทรงล่วงรู้ว่าในอนาคตเมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่ออกไปไกลสู่สังคมอื่น พระสงฆ์ต้องมีการปรับตัว จึงทรงอนุญาตสงฆ์เอาไว้ว่า ในอนาคต หากสงฆ์เห็นสมควร ก็อาจจะยกอาบัติเบาออกเสียได้ แต่เถรวาทไม่ยกค่ะ มิหนำซ้ำยืนยันที่จะไม่เพิกถอนของเดิม และไม่มีการเพิ่มเติมของใหม่

นี่ก็เป็นเรื่องของเถรวาทละ

 

นอกจากนั้น พระพุทธองค์ยังทรงให้ความสำคัญกับเจ้าบ้านผ่านเมืองที่พระสงฆ์จะไปอยู่ ให้พระสงฆ์อนุวัตรตามพระราชา

อนุชานามิ ภิกขเว ราชานัง อนุวัตตันติ

ตามที่ปรากฏในพระบาลีทีเดียว

ทำไมพระสงฆ์ต้องมีมารยาทดี

เออ นั่นเป็นที่มาของความศรัทธาทีเดียว เหตุที่วางพระวินัยนั้นมี 10 ข้อ ข้อหนึ่งก็เพื่อความศรัทธาที่ชาวบ้านที่ยังไม่ศรัทธาให้เกิดศรัทธาในสงฆ์ ชาวบ้านที่ศรัทธาอยู่แล้วก็ให้ศรัทธายิ่งขึ้น

เราต้องไม่ลืมโจทย์เดิม คือ พระสงฆ์อยู่ได้ด้วยศรัทธาจากญาติโยมจริงๆ

 

ในพระปาฏิโมกข์ คือ ข้อศีลสิกขาที่พระภิกษุต้องถือ และสวดขึ้น 15 ค่ำ และแรม 14 หรือ 15 ค่ำนั้น มี 227 ข้อ พระภิกษุณีมี 311 ข้อ

พระสงฆ์ท่านจะถือได้หรือไม่ ไม่ต้องไปกังวลแทนท่าน

มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านธัมมนันทาไปเสนอผลงานบนเวทีใหญ่ในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ท่านอาจารย์พรหมวังโสท่านเป็นเจ้าภาพ เวทีนี้เป็นเวทีปราบเซียนที่ชอบพูดเกินเวลา มีผู้เข้าร่วมฟัง 500 คน ท่านผู้บรรยายบนเวทีมีกำหนดเวลาให้บรรยาย เกินกว่านั้นไม่ได้ วิธีการที่เขาปราบเซียนชะงัดคือ พอพูดเกินเวลา เขาปิดเสียงไมโครโฟนของผู้พูดท่านนั้นค่ะ

เจ๋งจริง

ท่านผู้ฟังคนหนึ่งถามท่านธัมมนันทาว่าภิกษุณีจะถือศีลได้หรือ 311 ข้อ ท่านธัมมนันทาท่านไม่มีเวลาที่จะตอบยาว ท่านตอบเพียงว่า “นั่นเป็นความรับผิดชอบของภิกษุณี อย่าไปกังวลแทนท่านเลย เอาแค่ศีล 5 ของคุณโยมก่อน รักษาไว้ให้มั่น”

โดนใจผู้ฟังท่านอื่นค่ะ

 

กลับมาในพระปาฏิโมกข์ที่ว่านี้ ทั้งของพระภิกษุและภิกษุณี จะมีหมวดหนึ่งเรียกว่า เสขิยะ คือข้อพึงศึกษา มี 75 ข้อเท่ากัน และเหมือนกันในทั้งสองสงฆ์

ลองศึกษาดู มิใช่อะไรอื่นเลย คือมารยาทผู้ดีที่ว่านี้แหละ แต่ในบริบทที่เกี่ยวกับความเป็นพระ หลายข้อ ฆราวาสที่มารยาทดีก็ทำอยู่แล้ว

เวลาฉัน ไม่ทำเสียงจั๊บ จั๊บ

เวลาฉัน ไม่สูดปากดังซู้ดๆ

ที่ว่าไปนั่น 2 ข้อแล้วนะคะ

การแต่งกาย ไม่ย้วยหน้าย้วยหลัง สมัยที่ยังเป็นฆราวาสนุ่งผ้าถุง ผู้ใหญ่ก็สอนให้นุ่งผ้าหน้าหลังให้เท่ากัน

มารยาทในการเข้าไปในบ้านเขา คือบ้านคนอื่น ไม่เดินดูสมบัติเขา ให้นั่งให้เรียบร้อย เป็นพระก็ประมาณนั้น และยังสอนต่อไปด้วยสำหรับพระที่หัวหมอ คือนั่งเรียบร้อย แต่สายตากวาดไปทั่ว ก็ไม่งามตามพระวินัยเหมือนกัน

สำหรับเสขิยะ 75 ข้อนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับการอบรมจากทางบ้านและทางโรงเรียนมาดี เรียกว่า มีสังคมที่ดีมา การรักษาเสขิยะ 75 ข้อ ก็เหมือนเป็นสิ่งที่ได้ทำมาแล้วเป็นปกติ

เมื่อออกบวชแล้ว มีแนวคิดเรื่องการให้ความเคารพแก่อาวุโส คือผู้ที่บวชมาก่อน มีพรรษามากกว่า เช่น การนั่ง จะไม่นั่งเหนือผู้ที่อายุพรรษามากกว่า

เมื่อตอนที่พระปวัตตินี คือท่านอาจารย์ของท่านธัมมนันทามาอยู่ด้วย 2 พรรษา ก็ออกบิณฑบาตด้วยกัน ตามพระวินัยต้องให้พระอาจารย์เดินก่อน แต่ท่านธัมมนันทาเป็นเจ้าบ้าน รู้เส้นทางบิณฑบาต ก็เลยต้องขออนุญาตเดินนำไปก่อน

แต่ตรงนี้ก็ต้องอธิบายให้อาจารย์ท่านทราบนะคะ แต่พอถึงตอนรับบาตร ท่านก็จะบอกญาติโยมว่าท่านนี้เป็นอาจารย์ของท่าน ให้ใส่บาตรอาจารย์ก่อน แสดงความเคารพตรงนี้

ทีนี้คนไทยก็จะเกร็ง รักษามารยาท ไม่เดินนำพระ เมื่อนิมนต์พระไปก็ไม่กล้าเดินนำ เอ่อ แล้วพระจะเดินไปถูกไหมเนี่ยะ

บ่อยครั้ง ท่านธัมมนันทาจะต้องเอ่ยปากอนุญาตว่า “ขอให้เดินนำ” การรักษามารยาท หรือการแสดงความเคารพ แต่หากไม่เหมาะกับกาลเทศะ บางทีก็ไม่เวิร์กนะคะ

 

ทีนี้สายการบินก็จะมีเรื่องขำๆ เสมอ พนักงานผู้หญิงไม่คุ้นกับภิกษุณี พอเห็นพระมาก็จะสtดุ้ง ตอนที่ตรวจสอบบัตรเลขที่นั่งบนเครื่อง แม้ส่งเอกสารให้ พนักงานก็ไม่ยอมรับค่ะ ให้วางที่เคาน์เตอร์ ตรงนี้ก็เลยไม่รู้ว่า พระรักษาพระวินัยหรือพนักงานที่เป็นโยมจะรักษาพระวินัยกันแน่

ตลกนะ ไม่ขำด้วยก็ไม่ว่ากัน

ทีนี้พอถึงเวลาอาหาร บางทีก็คลาดเคลื่อนไป พนักงานสายการบินไทย ขออนุญาตออกชื่อ เพราะสายการบินอื่นไม่เป็น บางครั้งก็จะเป็นคนรักษาพระวินัยให้พระ คือ เลยเวลาแล้ว ไม่เสิร์ฟอาหาร

พระก็อดมาตั้งแต่เมื่อเช้าแล้วล่ะ ก็มาเจอพนักงานรักษาพระวินัยแทนพระ พระก็เลยอดอีก

นิมนต์ท่านธัมมนันทาไปอบรมให้ได้ค่ะ ยินดีช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

มีอยู่คราวหนึ่ง เดินทาง 20 กว่าชั่วโมง ท้องฟ้าก็มืดตลอดเส้นทาง ฟ้ายังไม่สาง ถือเคร่งตามพระวินัยก็ฉันไม่ได้เลยนะ

คราวนี้สจ๊วตผู้ใหญ่ มีประสบการณ์มาเรียนพระว่า จะขอถวายอาหาร ตามเวลาที่เสิร์ฟผู้โดยสารคนอื่น

เรียกว่ามีประสบการณ์จริงๆ การรักษาพระวินัย ก็ต้องเข้าใจในความต้องการพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ธรรมดาด้วย ก่อนจะเป็นพระ ก็เป็นมนุษย์ธรรมดานั่นแหละ

เวลานิมนต์พระมาฉันที่บ้าน ฆราวาสเคยนึกไหมคะ หากท่านเป็นพระใหม่ พระท่านจะเขินมาก ต้องมานั่งฉันให้โยมดูประมาณนั้น ตรงนี้แหละที่มารยาทสำคัญ มารยาทการฉันอาหารที่พระพุทธเจ้าสอนมาแล้วทั้งนั้น

ไม่เสิร์ฟข้าวเข้าปากคำโตเกินไป ให้ฉันโดยสำรวม ควรใช้คำว่าตักข้าวนะ แต่สมัยก่อน ฉันด้วยมือ ก็เลยเลี่ยงไปใช้คำว่าเสิร์ฟแทน ไม่ฉันแล้วก็หันไปมองบาตรของพระรูปที่นั่งข้างๆ เป็นต้น

 

ในอินเดียเวลาไปฉันในงานที่มีคนมาก เขาให้นั่งเป็นแถว หันหน้าเข้าหากัน คนเดินเสิร์ฟจะได้เสิร์ฟง่าย บางครั้งไม่ได้ใช้บาตร สมัยก่อนใช้ใบไม้แห้งมาเย็บด้วยไม้กลัดติดกันเป็นถาด คนที่เสิร์ฟข้าวก็เฉพาะข้าว คนที่เสิร์ฟแกงก็เฉพาะแกง ต้องเสิร์ฟข้าวก่อน พูนเป็นภูเขาลูกย่อมๆ เลย แขกกินข้าวเยอะค่ะ จำพระเจ้าปเสนทิได้ไหม เขาว่าท่านเสวยข้าวเป็นทะนานทีเดียว ว่าตามเขานะ ไม่ได้เห็นกับตา

คนที่เสิร์ฟแกงก็จะตักแกงราดลงบนข้าว อาจจะมีของทอดเป็นชิ้นๆ ตรงนี้มีเรื่องขำในเสขิยะ คือพระบางรูปอยากได้อีก เลยเอาที่เขาเพิ่งถวายนั้นซุกเข้าไปในข้าว คนที่เสิร์ฟของทอดนึกว่ายังไม่ได้ ก็มาเสิร์ฟซ้ำอีก ก็เลยเกิดพระวินัยห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้น อ่านเรื่องราวที่มาของกฎเกณฑ์แต่ละข้อก็จะเห็นบริบทสังคมอินเดียได้ชัดเจน

ที่ห้ามเลียนิ้ว เลียมือ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งสิ้น มารยาทผู้ดีจะได้ฝึกก็ตอนที่เป็นพระนี่แหละ

ค่านิยมของสังคมสมัยก่อนจึงเป็นเช่นนั้น เขาจะยกลูกสาวให้ ก็เพราะได้บวชได้เรียน กิริยามารยาทได้รับการขัดเกลาโดยพระวินัย และโดยการอยู่ร่วมกันในสงฆ์ แต่ถ้าบวชนานๆ ออกมา ทำงานแบกจอบแบกเสียมไม่ค่อยเป็น

นั่นเป็นคนละประเด็นกัน คนที่บวชจะได้รับการขัดสีฉวีวรรณให้มีมารยาทดีด้วยการปฏิบัติตามพระวินัยจริงๆ

สามเณรีรุ่น 22 คือรุ่นล่าสุด ให้ฟีดแบ็กว่า จะออกไปบอกเพื่อนๆ ว่า วัตรทรงธรรมฯ เป็นโรงเรียนฝึกมารยาท ประมาณนั้น

เป็นลูกพระพุทธเจ้าต้องมารยาทดี