อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : แชงกรี-ลา ไดอะล็อกที่สิงคโปร์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หนังสือพิมพ์ของทางการสาธารณรัฐประชาชนจีน China Daily รายงานว่า พลเอก Wei Fenghe รัฐมนตรีกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมประชุม the Shangri-La Dialouge ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ วันที่ 31 พฤษภาคมศกนี้ (1)

นี่นับเป็นการเข้าร่วมประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอันเป็นการประชุมระดับรัฐบาลที่เรียกว่า track one โดยทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนเคยเข้าประชุมครั้งแรกนำโดยรัฐมนตรีกลาโหม พลเอก Liang Guanglie มากล่าวปาฐกถาเมื่อปี 2011

 

ความสำคัญ

แชงกรี-ลา ไดอะล็อก หรือ Shangri-La Dialogue-SLD เป็นเวทีการประชุมระหว่างรัฐบาลต่างๆ ด้านความมั่นคง จัดขึ้นปีละครั้งโดย International Institute for Strategic Studies (IISS) สถาบัน Think Tank ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้เข้าร่วมประชุมคือ รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีหัวหน้าคณะผู้แทนและผู้นำทหารของประเทศเอเชีย-แปซิฟิก 28 ประเทศ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2002

ก่อนหน้านี้การประชุมริเริ่มและมาจากผู้อำนวยการและผู้บริหารของ IISS เซอร์จอห์น ชิปแมน (Sir John Chipman) ในปี 2001 เพื่อตอบสนองการจัดฟอรั่มรัฐมนตรีกลาโหมเอเชีย-แปซิฟิกให้เกิดการเจรจาเพื่อสร้างความมั่นใจ (building confidence) ระหว่างกันและเร่งให้ความร่วมมือการปฏิบัติด้านความมั่นคงของภูมิภาค

ในช่วงเริ่มต้น SLD มีเป้าหมายใหญ่มากที่จะสร้างองค์กรที่เป็น Track One ของรัฐมนตรีกลาโหมเพื่อใช้โอกาสการประชุมแบบพหุภาคี (multilateral) ในรูปแบบข้ามภูมิภาค (transregional format)

ตอนแรกมีการเน้นไปที่ประเทศที่เป็นสมาชิก ASEAN Regional Forum (ARF) อันเป็นฟอรั่มการประชุมด้านความมั่นคงของกลุ่มประเทศอาเซียนก่อน แต่เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นสถาบันมากกว่าเป็นการประชุมประจำปีหรือเป็นครั้งๆ ไป สาธารณรัฐสิงคโปร์ได้เลือกจัดประชุมตั้งแต่แรกและจัดประชุมที่โรงแรม Shangri-La ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์

ในปี 2007 นับเป็นการประชุมระดับสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวคือ รองเสนาธิการกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People”s Liberation Army-PLA) พลเอก Zhang Qinsheng เป็นผู้นำคณะจากเมืองปักกิ่งเข้าร่วมประชุมครั้งนั้น

ต่อจากนั้น ปี 2008 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมียนมา ยกระดับตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมมาเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรี ปี 2009 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามนำโดยรัฐมนตรีกลาโหม พลเอก Phung Quang Thanh เข้าร่วมประชุม

ในปี 2009 นั้นเองนายกรัฐมนตรีประเทศออสเตรเลีย Kevin Rudd เป็นหัวหน้ารัฐบาลเข้าร่วมประชุม SLD และเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม อีกทั้งในปีนี้เองประเทศออสเตรเลียและสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้จัดทำบันทึก Memorandum of Understanding (MOU) อันอนุญาตให้กองกำลังสิงคโปร์เข้ารับการฝึกต่างๆ กับกองทหารออสเตรเลียในทศวรรษต่อมา

ปี 2011 SLD มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นั่นคือ มีการก้าวสู่การถกเถียงประเด็น “ความมั่นคงใหม่” (Non Traditional Security-NTS) และเรื่องทะเลจีนใต้ (South China Sea) นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐมาเลเซียสมัยนั้นได้กล่าวปาฐกถานำกล่าวถึงระบบพหุนิยมใหม่เพื่อจัดการการท้าทายด้านความมั่นคงของภูมิภาค รวมทั้งการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การก่อการร้าย การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์

ที่สำคัญ นับเป็นปีแรกที่ผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นระดับรัฐมนตรีกลาโหม พลเอก Liang Guanglie เข้าร่วมประชุม เขาได้แสดงบทบาทของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในเชิงสันติต่อภูมิภาค

และปรารถนาทำงานร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ปัญหาการแข่งขันกันอ้างอิงกรรมสิทธิ์ดินแดนในทะเลจีนใต้

ดูเหมือนว่าในระยะเวลานั้นสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเท่าไรนัก ทั้งนี้อาจด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ การทำสงครามหลายแห่งพร้อมๆ กันและปัญหาเศรษฐกิจภายในของสหรัฐอเมริกา

ช่วงเวลานั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการต่อการก้าวเข้ามาของสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในแง่อยากให้ทางการจีนเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค


พลวัต

ในช่วงเวลานั้น แม้แต่ผู้นำในการจัดการประชุมและ Think Tank ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง IISS ยังวิเคราะห์และอธิบายว่า การมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเข้าร่วมประชุม SLD แสดงถึงความพยายามของทางการจีนว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้เครื่องมือทางด้านการต่างประเทศในแบบพหุภาคีคือ ร่วมเจรจาหลายฝ่ายพร้อมๆ กัน

อีกทั้ง IISS มองเห็นทางการจีนผ่าน SLD ว่าทางการจีนโดยเฉพาะกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนหรือ PLA ต้องการให้มีภาพลักษณ์อันอ่อนโยน หลังจากที่ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการก้าวย่างหลายอย่างที่ก้าวร้าวเกินไปต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม SLD ในมุมมองของสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลกฟากตะวันตกจะตีความซีรี่ส์ของการผงาดขึ้นมาของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ใช้มหายุทธศาสตร์ “ข้อเริ่มแถบและถนน” (Belt and Road Initiative-BRI) ที่เป็นทั้งเครื่องมือหลักทางการทูต การเชื่อมต่อทางกายภาพ (Physical Connectivity) ของสาธารณรัฐประชาชนทั้งสินค้า บริการ ผู้คนและการเมืองการทหาร อีกทั้งยังเป็นกลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหาการผลิตล้นเกิน (over supply) ของการผลิตเหล็ก ปูนซีเมนต์ รางรถไฟ รวมทั้งรถไฟภายในประเทศจีนเองด้วย

หากนับการไหล (flow) ของคนจีนทั้งในแง่แรงงาน นักศึกษา และพ่อค้าที่เข้ามาประกอบสร้างชุมชนถาวรหรือตั้งถิ่นฐานมากกว่าเพียงแค่ “ย้ายถิ่น” คือเข้ามาแล้วกลับไปดังในอดีต ผมคิดว่า นี่ย่อมเหนือกว่าแชงกรี-ลา ไดอะล็อก มากนัก

ความจริง สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นส่วนสำคัญของความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว

นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง

————————————————————————————————————————–
(1) Zhao Lei, “Wei Fenghe to attend key security Dialogue” China Daily 30 May 2019