การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่ไม่ให้ความหวังกับสังคม | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สองเดือนกว่าๆ หลังการเลือกตั้งผ่านไป ในที่สุดคนไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่แกนนำเป็นคนหน้าเดิมจากรัฐบาลที่แล้วทั้งหมด คนสำคัญของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจแล้วตั้งตัวเองเป็นรัฐมนตรียังคงเป็นรัฐมนตรีโดยต่อเนื่อง ส่วนรัฐมนตรีหน้าใหม่ก็ได้ตำแหน่งเฉพาะกระทรวงที่คนหน้าเก่าไม่ต้องการ

แน่นอนว่ารัฐบาลใหม่ไม่ใช่รัฐบาลจากการรัฐประหารต่อไป และโดยรัฐธรรมนูญที่หัวหน้าคสช.อำนวยการผลิต คณะรัฐประหารจะสิ้นสภาพทันทีที่รัฐบาลใหม่ทำหน้าที่แทนรัฐบาลเก่าอย่างครบถ้วน แต่ด้วยองค์ประกอบคณะรัฐมนตรีดังนี้ ความรู้สึกว่าประเทศเข้าสู่ยุคใหม่พร้อมรัฐบาลใหม่ไม่มีทางเกิดขึ้นเลย

จริงอยู่ว่ารัฐมนตรีส่วนใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้มาจากพรรคการเมือง แต่ด้วยเหตุที่ตำแหน่งนายก, รัฐมนตรีกลาโหม และรัฐมนตรีมหาดไทยยังเป็นคนเดิม แกนนำ คสช.จึงคุมกลไกหลักด้านการเมืองการปกครองเหมือนรัฐบาลที่แล้ว หรือเท่ากับสามนายพลฉายากลุ่ม “3 ป.” ยังมีอิทธิพลเหนือประเทศดังที่เป็นมาต่อไป

ภายใต้คณะรัฐมนตรีที่มีคนหน้าใหม่จากพรรคการเมือง แกนนำที่แท้จริงของรัฐบาลคือพลเอกกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ที่ทวีอิทธิพลตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงบัดนี้ก็เป็นเวลา 13 ปีแล้ว และหากพลเอกประยุทธ์คราวนี้เป็นนายกจนครบวาระในปี 2566 ก็เท่ากับนายพลกลุ่มนี้จะมีอิทธิพลเหนือประเทศติดต่อกันเกือบ 20 ปี

แม้พลเอกประยุทธ์จะตั้งรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” โดยมีรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา รวมทั้งพรรคการเมืองอื่นๆ อำนาจสูงสุดในคณะรัฐบาลก็ยังคงผูกขาดที่คนกลุ่มเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง ต่อให้รัฐบาลชุดนี้จะไม่มีนายพลผู้ก่อรัฐประหารเป็นรัฐมนตรีมากเท่าชุดที่แล้วก็ตาม

โดยปกติแล้วรัฐมนตรีจะสร้างความนิยมให้กับรัฐบาลได้จากองค์ประกอบสามส่วนด้วยกัน หนึ่งก็คือเป็นคณะรัฐมนตรีที่สังคมเห็นว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง สองก็คือมีรัฐมนตรีใหม่ที่สังคมเชื่อว่าเก่งและดีจนฝากความหวังไดั และสามคือมีนโยบายที่สังคมขานรับเพราะเป็นประโยชน์กับประเทศจริงๆ

ด้วยองค์ประกอบของรัฐบาลที่พรรคการเมืองอยู่ใต้อำนาจทหารหน้าเก่าซึ่งมีอิทธิพลเหนือประเทศมากว่าสิบปี ประเทศไทยใต้รัฐบาล “ประยุทธ์ ๒” ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางที่ต่างจากทุกวันนี้แน่ๆ เพราะใบหน้าของสามพลเอกกลุ่ม “3 ป.” เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงมากกว่าเปลี่ยนแปลง

ในเงื่อนไขที่ทหารหน้าเก่ามีอิทธิพลเหนือรัฐบาลดังเดิม รัฐมนตรีจากพรรคการเมืองคือตัวแปรที่ควรทำให้สังคมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลประยุทธ์ ๒ จะทำให้ประเทศหลังปี ๒๕๖๒ เดินหน้าสู่พัฒนาการที่ดีขึ้น แต่รายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นรัฐมนตรีล้วนเป็นคนหน้าเก่าๆ ที่จุดประกายความหวังได้ริบหรี่เหลือเกิน

เพื่อความเป็นธรรมกับ ส.ส.ซึ่งได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน โดยพื้นฐานแล้วทุกคนล้วนมีคุณสมบัติส่วนบุคคลและประสบการณ์การบริหารที่คู่ควรแก่ตำแหน่งทั้งสิ้น แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่หัวหน้าพรรคและเลขาพรรคเป็น “คนหน้าเก่า” แทบทุกราย ความรู้สึกว่าประเทศจะมีอะไรใหม่ๆ ยากที่จะบังเกิดขึ้นมา

ถ้ายอมรับว่าประเทศไทยหลังปี 2549 โดยเนื้อแท้นั้นมีทหารเป็นผู้มีอำนาจตัวจริง สิบสามปีภายใต้ระบอบการปกครองที่ทหารมีอำนาจโดยรัฐประหารหรือ “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” คือช่วงเวลาที่พรรคการเมืองถูกทำลายโอกาสเป็นผู้นำประเทศ ผลก็คือทุกพรรคสร้างผู้นำทางการเมืองไม่ได้เกือบจะโดยสิ้นเชิง

ในบรรดาพรรคหลักของรัฐบาล “ประยุทธ์ ๒” ทั้งสี่ราย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นเพียงสองพรรคที่มีบทบาทตั้งแต่ก่อนปี 2549 จนสามารถสร้างผู้นำพรรคให้ประชาชนยอมรับเป็นผู้นำประเทศจากการเลือกตั้งในที่สุด แต่หลังจากนั้นทั้งสองพรรคล้วนไม่มีเงื่อนไขให้เกิดผู้นำแบบนั้นอีกเลย

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำประชาธิปัตย์และชาติไทยกอนทหารจะรัฐประหารจนประเทศถอยหลังลงคลองในปี 2549 คุณชวน หลีกภัย และคุณบรรหาร ศิลปอาชา สะสมบารมีผ่านการเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งการเมืองสำคัญๆ ต่อเนื่องเกือบสองทศวรรษ ขณะที่โอกาสแบบนี้ไม่เกิดผู้นำทั้งสองพรรคในปัจจุบัน

ด้วยความต่อเนื่องของประชาธิปไตยรัฐสภาในทศวรรษ2520-2530 คุณชวนและคุณบรรหารมีโอกาสสั่งสมความนิยมถึงขั้นชนะเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยคะแนน100,000-200,000 คน ส่วนคุณจุรินทร์และคุณกัญจนาไม่มีโอกาสสะสมบารมีดังนี้ในยุคที่ทหารครอบงำประเทศจนนักการเมืองคือตัวประกอบมาสิบสามปี

เมื่อคำนึงว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนายุคนี้มีจำนวน ส.ส.ถดถอยเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจนน่าตกใจ ทั้งสองพรรคการเมืองจึงไม่มีต้นทุนทางสังคมมากพอจะเป็นแรงส่งความนิยมไปให้รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้มากนัก ต่อให้จะมีจำนวน ส.ส.มากพอจะช่วยทหารจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม

พลังประชารัฐและภูมิใจไทยเกิดขึ้นไม่นาน และในเงื่อนเวลาที่พรรคถือกำเนิด ผู้นำของทั้งสองพรรคไม่มีโอกาสสะสมบารมีจนเป็นผู้นำทางการเมืองระดับประเทศได้อยู่แล้ว สิบปีของภูมิใจไทยเป็นสมัยที่ทหารปกครองประเทศไปเกือบครึ่ง ส่วนพลังประชารัฐเป็นพรรคเพื่อผู้มีอำนาจยิ่งกว่าจะมุ่งสร้างผู้นำของตัวเอง

ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ให้กำเนิดพลังประชารัฐและภูมิใจไทย คุณอนุทินและคุณอุตตมยังไม่มีต้นทุนทางสังคมพอจะเป็นแรงส่งให้รัฐบาล “ประยุทธ์ 2” มีคะแนนนิยมในประชาชนเพิ่มขึ้น ขณะที่คุณจุรินทร์กับคุณกัญจนามีปัญหานี้ เพิ่มเติมด้วยความถดถอยของพรรค จนยิ่งไม่สามารถอุ้มรัฐบาลนี้ไดเ้ลย

ภายใต้สภาพการเมืองดังที่กล่าวไป พรรคการเมืองมีโอกาสได้คนหน้าใหม่ที่เก่งๆ เข้ามาทำงานน้อยมาก พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนาไม่สามารถเสนอรัฐมนตรีใหม่ที่โดดเด่นจนสร้างคะแนนนิยมให้รัฐบาลได้มากนัก ต้นทุนทางสังคมของ “ประยุทธ์ ๒” จึงไม่มีทางดีกว่าที่ผ่านมา

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น พรรคการเมืองสมัยที่ประชาธิปไตยรัฐสภารุ่งเรืองก่อนปี 2549 สามารถตั้งรัฐบาลโดยมีรัฐมนตรีหน้าใหม่อย่างศุภชัย พานิชภักดิ์,ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร,ทักษิณ ชินวัตร, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์,สุรินทร์ พิศสุวรรณ,สุรเกียรติ์ เสถียรไทย หรือชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะที่รัฐบาลนี้ทำแบบนี้ไม่ได้เลย

ท่ามกลางความเบื่อหน่ายที่ประชาชนมีต่อระบอบการปกครองที่สามนายพลมีอิทธิพลเหนือประเทศมากกว่าสิบปี พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลไม่มีผู้นำหรือรัฐมนตรีที่พอจะเติมความนิยมหรือ “กระแส” ไปยังรัฐบาล ต้นทุนทางสังคมของพลเอกประยุทธ์ในการสืบทอดอำนาจจึงต่ำมาก ต่อให้จะชนะสภา 500 ก็ตาม

“ตัวช่วย” ที่จะสร้างความนิยมให้รัฐบาลประยุทธ์ 2 ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยนักคือนโยบาย แต่ปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้คือพลเอกประยุทธ์ทำการสืบทอดอำนาจโดยไม่ร่วมแสดงวิสัยทัศน์หรือประกาศนโยบายอะไรทั้งสิ้น จึงไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินนโยบายอะไรแม้แต่นิดเดียว

ถ้าพลเอกประยุทธ์เลือกสืบทอดอำนาจโดยทำแต่นโยบายที่รัฐบาลประยุทธ์ ๑ เคยทำ นโยบายต่างๆ ที่พรรคร่วมรัฐบาลหาเสียงอย่างค่าแรง 425 บาท, ประกันราคาข้าวเกวียนละ 10,000 บาท, ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ฯลฯ ก็จะเป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่าไปทั้งสิ้น และนั่นจะทำให้รัฐบาลมีปัญหาความน่าเชื่อถือทันที

เมื่อคำนึงถึงว่ารัฐบาลนี้เกิดจาก 18 พรรคซึ่งแต่ละพรรคมี ส.ส.เพียงนิดเดียว ความเป็นไปได้ที่พรรคจะต่อรองให้พลเอกประยุทธ์ทำนโยบายที่พรรคหาเสียงย่อมมีน้อยมาก การจัดตั้งรัฐบาลอาจดำเนินไปโดยแทบไม่คำนึงถึงนโยบายพรรคใดเลยก็ได้ และนั่นหมายถึงโอกาสสร้างความนิยมด้วยนโยบายที่จะหดแคบลง

เท่าที่เป็นข่าวตอนนี้ ภาพลักษณ์การตั้งรัฐบาลมีแต่การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณสูงกว่ากระทรวงอื่นๆ หรือมีโครงการต่างๆ ให้รัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ส่วนกระทรวงที่งบประมาณน้อยหรือแทบไม่มีโครงการอะไรก็ได้รับความสนใจน้อยมาก ต่อให้จะสำคัญต่อประเทศก็ตาม

ในเมื่อข่าวตั้งรัฐบาลมีแต่เรื่องแย่งกระทรวงซึ่งลุกลามเป็นการโจมตีคนในพรรคเดียวกันและพรรคร่วมรัฐบาล ความรู้สึกว่า “ประยุทธ์ ๒” มีแต่แย่งชิงผลประโยชน์ก็ยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อข่าวไปถึงขั้นที่คุณอุตตมควบคุมพรรคไม่ได้จนต้องให้พลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแทนไปเลย

คสช.และพลังประชารัฐกลุ่มสายตรงทหารพยายามสร้างภาพว่ารัฐมนตรีจากพรรคอื่นและพลังประชารัฐกลุ่มอื่นเป็น “นักการเมืองเลว” แต่รายชื่อรัฐมนตรีกลุ่มสายตรงชี้ว่า “ประยุทธ์ 2” เกิดจากการผสมพันธุ์ของคสช.และกปปส. ซึ่งทำให้รัฐบาลดูเป็นฝ่ายตรงข้ามคนส่วนใหญ่จนขยายความนิยมยากขึ้นเป็นทวีคูณ

วิธีตั้งรัฐบาลแบบนี้ไม่ให้ความหวังกับสังคม มิหนำซ้ำรายชื่อคณะรัฐมนตรีตอนนี้ยังทำให้สังคมสิ้นหวังกับรัฐบาลมากขึ้นไปอีก กลไกในการจรรโลงความอยู่รอดของรัฐบาลจึงเหลือแต่การใช้วุฒิสภาคุ้มครองให้นายกอยู่รอดในรัฐสภาให้ได้ รวมทั้งใช้กองทัพและผู้มีอิทธิพลปกป้องนายกจากประชาชนและสังคม

ชัยชนะในรัฐสภาทำให้พลเอกประยุทธ์อยู่บนทางสองแพร่งว่าจะถูกคนรุ่นหลังจดจำอย่างไร ทางแพร่งที่หนึ่งคือพลเอกประยุทธ์เป็นเหมือนพล.อ.เปรม ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ซื่อสัตย์สุจริตและบริหารประเทศอย่างดี ส่วนทางที่สองคือเส้นทางแบบจอมพลถนอมหรือพลเอกสุจินดาที่จบด้วยการขับไล่โดยประชาชน

ไม่มีใครชี้อนาคตของประเทศใต้รัฐบาลนี้ได้มากกว่าพลเอกประยุทธ์ แต่การที่ชะตากรรมของประเทศขึ้นต่อคนเพียงคนเดียวยิ่งทำให้อนาคตมืดหม่นลงไปอีก ชีวิตของประเทศขึ้นอยู่กับผู้นำที่อาจโง่หรือฉลาดไม่ได้ และห้าปีที่ผ่านมานี้ก็นานพอจะสรุปได้ว่าการปล่อยให้คนเพียงคนเดียวคุมประเทศนั้นเป็นอันตรายกับทุกคน