หนุ่มเมืองจันท์ | บทเรียนชื่อ “ป๋าเปรม”

วันที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เสียชีวิต

ผมนึกถึงภาพ “ป๋าเปรม” ในวันที่เคยติดตามทีม “มติชน” ไปบ้านสี่เสาเทเวศร์

ไม่แน่ใจว่าเป็นการไปคุยเรื่องหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ที่สำนักพิมพ์มติชนเคยจัดพิมพ์หรือเปล่า

แต่จำได้แน่ชัดว่าวันนั้นผมตั้งใจเข้าไปนั่งฟังและสังเกตทุกอิริยาบถของ “ป๋าเปรม”

พยายามจำรายละเอียดทั้งหมดเท่าที่เห็นในบ้าน

ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาเขียนในคอลัมน์ “X คลูซีฟ” ใน “มติชนสุดสัปดาห์”

แต่อีกมุมหนึ่งเป็นความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว

เพราะ พล.อ.เปรม คือผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองมาอย่างยาวนาน

ทั้งตอนที่ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี

ในห้องรับแขกที่เรานั่งคุยกับ “ป๋า” มีรูปภาพวางไว้ตามชั้นต่างๆ เต็มไปหมด

ตามประสานักข่าว ก่อนที่ “ป๋าเปรม” จะเข้ามาในห้อง

ผมเดินไปดูภาพต่างๆ อย่างละเอียด

ส่วนใหญ่เป็นภาพ พล.อ.เปรมกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี

มีหลายภาพที่ไม่เคยเห็น

นอกจากภาพที่แสดงถึงความจงรักภักดีของ “ป๋าเปรม” แล้ว

มีภาพหนึ่งที่เด่นมากคือ ภาพ พล.อ.เปรมกับนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในยุคนั้น

“ป๋าเปรม” เป็นคนพูดน้อย พูดช้า และระมัดระวังตัวมาก

มีคนถามถึงคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.เปรมพูดถึง “ทักษิณ” ในแง่ดีหลายเรื่อง

แต่พอถามถึงประเด็นด้านลบที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน

แทนที่จะตอบแบบสนับสนุนหรือแสดงความไม่เห็นด้วย

“ป๋าเปรม” กลับฟุตเวิร์กออกจากมุมแบบนิ่มนวล

“พวกท่านน่าจะรู้ดีกว่าผม”

ประโยคเดียวเข้าใจเลยว่าทำไมถึงเป็นนายกรัฐมนตรีได้ยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน

และทรงอิทธิพลทางการเมืองมาจนถึงวันที่สิ้นลมหายใจ

“ป๋าเปรม” เป็นบุรุษในตำนาน

และ “ตำนาน” นั้นก็ยาวนานมาก

ภาพของ “ป๋าเปรม” ในใจของคนแต่ละยุคแต่ละสมัยจึงแตกต่างกัน

ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์

“ป๋าเปรม” เป็นนายกรัฐมนตรี

ช่วงนั้นเป็นยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

บรรยากาศคล้ายๆ กับช่วงนี้ แต่หนักกว่าเพราะไม่มี “รูระบาย” ทาง “โซเชียลมีเดีย”

สถานีโทรทัศน์ก็เป็นของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์อะไรไม่ได้

กองทัพมีบทบาทหนุนหลัง พล.อ.เปรมอย่างเปิดเผย

นักการเมืองคนไหนวิพากษ์วิจารณ์ “ป๋าเปรม”

ผู้นำเหล่าทัพจะตบเท้าให้กำลังใจทันที

บางครั้งก็ถึงกับพาทหารไปล้อมบ้าน

ตอนนั้นผมเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ.

เป็นรุ่นที่ก่อตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

แน่นอน เราย่อมไม่พอใจบรรยากาศของ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

ออกมาประท้วงก็หลายครั้ง

ผมยังเคยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนคัดค้านหลายเรื่อง

ภาพของ พล.อ.เปรมในวันนั้น โดยรวม ย่อมไม่ใช่ “ภาพบวก” อย่างแน่นอน

มีเพียงเรื่องเดียวที่น่าชื่นชมคือ การออกนโยบาย 66/23 จุดเริ่มต้นของการยุติสงครามประชาชน

แต่เมื่อเรียนจบ มาเป็นนักข่าวที่ “ประชาชาติธุรกิจ”

ภาพในใจของผมต่อ พล.อ.เปรมเริ่มเปลี่ยนไป

เรื่องความเป็น “ประชาธิปไตย” ยังคงเหมือนเดิม

แต่ที่แทรกขึ้นมาเป็นภาพของ พล.อ.เปรมในฐานะผู้วางรากฐานเศรษฐกิจไทย

ยิ่งฟัง “อาจารย์โกร่ง” ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เล่าเบื้องหลังการถ่ายทำในวันที่ “ป๋าเปรม” ต้องเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ มากมาย

ผมยิ่งชื่นชมความเป็น “ผู้นำ” ของ “ป๋าเปรม”

จนเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พล.อ.เปรมกลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญทางการเมือง

ความขัดแย้งกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ในช่วงท้ายๆ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเมืองไทย

การแต่งชุดทหารเดินสายไปตามกองทัพของ พล.อ.เปรม ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

จากนั้น “ป๋าเปรม” ก็ถูกโจมตีอย่างหนักจากคนที่ชื่นชอบ “ทักษิณ”

และคนที่เชื่อมั่นว่าทุกความขัดแย้งทางการเมืองควรจะแก้ปัญหาด้วยระบอบประชาธิปไตย

ไม่ใช่รัฐประหาร

แน่นอน ภาพในช่วงนี้ของ “ป๋าเปรม” ย่อมมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ

คนที่รักและเกลียด

ยิ่งความขัดแย้งในสังคมไทยบาดลึกและยาวนาน

ความรู้สึกของคนในสังคมไทยต่อ พล.อ.เปรม จึงแตกต่างกันตามจุดยืนทางการเมือง

จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

มีคนบอกว่า “ชีวิต” ก็เหมือนกับ “นิยาย” เรื่องหนึ่ง

ตราบใดที่เรายังหายใจ นิยายเรื่องนั้นก็ยังไม่จบ

จนเมื่อเราหลับตาและจากโลกไป

นั่นคือ บรรทัดสุดท้ายของนิยาย

ระหว่างที่เราอ่านนิยาย ความรู้สึกเราจะเคลื่อนไปตามชีวิตของตัวละคร

จนบางครั้งก็ลืมเลือนเรื่องราวในช่วงที่ผ่านไป

แต่เมื่อถึงบรรทัดสุดท้ายของนิยาย

เราจะเริ่มรำลึกถึงเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือ

ยิ่งอ่านทวนยิ่งรู้สึก

คงคล้ายๆ กับชีวิตของคนเรา

ทันทีที่คนใดคนหนึ่งจากโลกนี้ไป

จุดฟูลสต็อปของชีวิตจะทำให้เราจะเริ่มทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านไป

แล้วจะพบว่าทุกคนมีทั้งเรื่องที่ดีงามและเลวร้าย

เคยทำสิ่งที่ถูกต้องและผิดพลาด

ชีวิตของทุกคนจึงเป็น “บทเรียน”

และบทเรียนที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นบทเรียนหนึ่งที่มีคุณค่ายิ่งของสังคมไทย

ที่คนที่ยังมีลมหายใจทุกคนควรเรียนรู้