ฉัตรสุมาลย์ : ตำแหน่งมหานายก รูปหนึ่งของอมรปุระที่ใกล้ชิดไทยมากที่สุด

ในปาฐกถาที่ท่านอาจารย์พรหมวังโสแสดงในงานประชุมนานาชาติชาวพุทธอาเซียน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 ที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้ได้นำเสนอเนื้อหาสาระในปาฐกถาของท่านไปแล้ว

ในปาฐกถานั้น ท่านแตะเรื่องตำแหน่งมหานายกของพระภิกษุในศรีลังกาที่เห็นว่าน่าสนใจ เลยหยิบยกมาพูดอีกครั้งหนึ่ง

ท่านพูดทิ้งท้ายไว้ว่า ในพุทธศาสนาดั้งเดิมนั้น พระสงฆ์ไม่มีตำแหน่งใดๆ และเคารพกันด้วยอายุพรรษา คุณสมบัติทางธรรมวินัยเท่านั้น สำหรับในศรีลังกาก็รักษารูปแบบเดิมไว้ได้ตลอดมา

จนกระทั่งอังกฤษเข้าครอบครองในช่วงสุดท้าย

 

ศรีลังกาถูกต่างชาติถึงสามชาติปกครอง เริ่มจากพวกฮอลันดา ต่อมาเป็นสเปน และสุดท้ายถึงมาเป็นอังกฤษ ใช้เวลายาวนาน 400 ปี

ในช่วงที่อังกฤษปกครองนี้เอง ที่อังกฤษเห็นถึงความมั่นคงในศรัทธาที่ชาวบ้านชาวเมืองมีต่อพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และคนที่มีอิทธิพลต่อการรักษาพระศาสนาและรักษาความศรัทธาของชาวพุทธก็คือพระสงฆ์นี่เอง

อังกฤษวางแผนแยบยลที่จะปกครองชาวพุทธโดยผ่านองค์กรสงฆ์ นั่นคือการให้ยศถาบรรดาศักดิ์ และฐานทางเศรษฐกิจแก่พระเถระองค์ที่สำคัญ โดยมอบตำแหน่งสูงสุดคือมหานายกให้ ปกครองพระสงฆ์ตามภูมิประเทศที่อยู่ ในที่สุด อังกฤษก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมและสั่งการพระมหานายกที่ตนเองเป็นคนถวายตำแหน่งต่างๆ นั้นเอง

ท่านอาจารย์ให้ข้อมูลว่า มาจากการศึกษาวิจัย ในส่วนที่ผู้เขียนทราบคือ ตอนแรกที่พระสงฆ์นิกายสยามวงศ์เป็นใหญ่นั้น อุปสมบทให้เฉพาะวรรณะโควิ ซึ่งเป็นเกษตรกรมีที่ดินมาก ร่ำรวย

เมื่อมีชาวพุทธวรรณะอื่นไปอุปสมบทมาจากอมรปุระ แล้วมาตั้งนิกายใหม่เป็นอมรปุระ พระมหานายกของสยามวงศ์ก็ทำเรื่องร้องเรียนไปยังอังกฤษที่ปกครองอยู่

อังกฤษก็ส่งเรื่องไปที่นักวิชาการพุทธศาสนาชาวอังกฤษ นักวิชาการ ยืนยันมาว่า เดิมศาสนาพุทธนั้น ไม่มีวรรณะ และพระพุทธองค์เองทรงปฏิเสธวรรณะเสียด้วยซ้ำ

มหานายกของสยามวงศ์จึงไม่อาจจะยับยั้งการเกิดขึ้นของนิกายใหม่ คือนิกายอมรปุระ ซึ่งมาจากพม่า

ในขณะที่นิกายเดิมคือ นิกายสยามวงศ์นั้น สืบสายมาจากอยุธยาในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประมาณ พ.ศ.2296

ต่อมานิกายอมรปุระเองก็แตกออกไปอีกเป็นนิกายรามัญญะ มาจากมอญซึ่งอยู่ในพม่า แต่ต่างชาติพันธุ์กัน เหตุที่แตกออกไป เพราะกลุ่มพระในนิกายอมรปุระ ตีความพระวินัยอย่างเคร่งครัด และกล่าวหาว่า อมรปุระ ที่ตนสังกัดอยู่เดิมนั้น ไม่เคร่งในพระวินัย (พอ) จึงไปแสวงหาการอุปสมบทซ้ำกับคณะสงฆ์มอญในพม่า

ตกลงในศรีลังกามีสามนิกาย คือ สยามวงศ์ อมรปุระ และรามัญญะ

 

ตอนที่อังกฤษปกครอง ทั้งสามนิกายอยู่ในอาณัติของอังกฤษ โดยผ่านตำแหน่งมหานายกที่อังกฤษเป็นคนมอบให้นั่นเอง

ถ้าจะให้เทียบกับระดับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยน่าจะเป็นระดับสมเด็จ แต่ในขณะที่คณะสงฆ์ไทยมีอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อศรีลังกาไม่มีกษัตริย์ จึงไม่มีสมเด็จพระสังฆราช มหานายกเป็นตำแหน่งสูงสุด ของในแต่ละนิกาย ทั้งสามนิกายที่กล่าวมาแล้วนั้น มีมหานายกทั้งสิ้น

นิกายรามัญญะเป็นนิกายเล็กที่สุด ทราบว่า มีมหานายกเพียงรูปเดียว นิกายอมรปุระที่ผู้เขียนทราบว่ามี 20 รูป แล้วก็เลือกผู้ที่พรรษาสูงสุดและทรงความรู้ทางธรรมวินัย เป็นประธานของมหานายกอีกที

วันนี้ จะเล่าถึงพระมหานายกรูปหนึ่งของอมรปุระที่มีความใกล้ชิดกับไทยมากที่สุด

 

เล่าย้อนความไปตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเจ้านายไทยที่ไปบวชในนิกายนี้ คือ พระองค์เจ้าปฤศฎางค์ ซึ่งเป็นพระโอรสในรัชกาลที่ 3

พระองค์เจ้าปฤศฎางค์ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศมีความรู้ความสามารถอย่างยิ่ง แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการเมือง ทำให้ท่านหาทางออกโดยการออกไปบรรพชาอุปสมบทที่ศรีลังกา

พระอาจารย์ของท่านคือพระอาจารย์วัสกาดุเว ที่ได้รับความเคารพยกย่องเป็นพิเศษจากชาวอังกฤษและต่างชาติที่เข้ามาติดต่อกับศรีลังกาในสมัยนั้น

พระองค์เจ้าปฤศฎางค์บรรพชาที่วัดวัสกาดุเว นอกเมืองโคลอมโบ อาคารที่ท่านบรรพชานั้น เมื่อ พ.ศ.2548 ก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์ ผู้เขียนยังได้เห็นเส้นพระเกศาของท่านเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึกด้วย

ได้อุปสมบทอยู่นานถึง 15 ปี แล้วพระอาจารย์ส่งไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดทีปทุตตมารามในโคลอมโบ

วัดนี้ เรียกว่า วัดไทยด้วย เพราะพระองค์ท่านได้จัดระบบการศึกษาในวัดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาที่เรียกว่า ปริเวณะในศรีลังกา

ชาวศรีลังกาจะชื่นชมพระองค์มาก

 

เรียกว่า วัดทั้งสองแห่งนี้ คือวัดทีปทุตตมารามในโคลอมโบ และวัดวัสกาดุเว ซึ่งพระอาจารย์ของท่านเป็นเจ้าอาวาสนั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์ของเจ้านายไทย

จึงไม่ประหลาดใจเลยว่า หากเราไปที่วัดทั้งสองแห่งนี้ จะมีเรื่องราวเจ้านายไทยที่ทางวัดเองตั้งใจรักษาไว้เป็นเกียรติทั้งแก่ราชวงศ์ของไทย และเป็นเกียรติแก่วัดทั้งสองแห่งนี้ด้วย

วันนี้ ขณะที่เขียนต้นฉบับ (16 ธันวาคม) เป็นวันที่พระมหินทวังสะมหานายกของอมรปุระ ผู้เป็นเจ้าอาวาสครองทั้งสองวัดนี้ที่ว่านี้ มาเยือนประเทศไทย โดยจะเข้ารับรางวัล World Dad ที่สถาบันจุฬาภรณ์ ตอน 13.00 น.

นอกจากมหานายกรูปนี้ จะดูแลทั้งสองวัดแล้ว ท่านยังให้ความกรุณารับนิมนต์มาให้การอุปสมบทให้ภิกษุณีไทย 8 รูป เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 และทราบว่า ท่านธัมมนันทา เป็นภิกษุณีไทยรูปแรกที่รับการอุปสมบทมาจากศรีลังกาขณะนั้น ครบ 12 พรรษาแล้ว ท่านถือเป็นหน้าที่ จึงประกาศแต่งตั้งให้เป็นปวัตตินี ในวันเดียวกันนั้นเอง ท่ามกลางสองสงฆ์ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ 20 รูป ภิกษุณีสงฆ์ 12 รูป

ชาวศรีลังกาโดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการที่ทราบความเป็นมาของการก่อตั้งวิทยาลัยพุทธศาสนาในบริเวณวัด แม้จนทุกวันนี้ ก็ยังสรรเสริญคุณของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่วางมาตรฐานการศึกษาพุทธศาสนาให้กับศรีลังกา จนนำไปสู่อิสรภาพของประเทศได้ในที่สุด

ขณะเดียวกัน ด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นของคณะสงฆ์ทั้งสองประเทศในช่วงหลายร้อยปีในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น เรารักษาความสัมพันธ์ที่ดีด้วยกันมาโดยตลอด ชาวพุทธด้วยสามัญสำนึกจึงย่อมทำความเข้าใจได้ว่า เมื่อศรีลังกาเป็นประเทศแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้สืบสายภิกษุณีสงฆ์มาจากอินเดียโดยตรง เมื่อประเทศไทยไม่ได้โชคดีที่จะอยู่ในฐานะเช่นนั้น เหมือนศรีลังกา

บัดนี้ มีภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทแล้ว ก็สมควรที่จะช่วยกันสืบสาน ทำให้มั่นคงยิ่งขึ้น

 

ประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการรับการอุปสมบทจากศรีลังกาตั้งแต่ต้นสุโขทัย เป็นที่มาของลังกาวงศ์ เมื่อพระศาสนาในศรีลังกาถูกเบียดเบียนจนรักษาคณะสงฆ์ไว้ไม่ได้ คณะสงฆ์ไทยในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ไปช่วยสืบพระศาสนาให้ ทำให้เกิดสยามวงศ์ขึ้น

การช่วยกันประดิษฐานพระสงฆ์นี้เป็นไปโดยธรรมชาติ และเป็นความงดงามที่เราได้เห็นมาโดยตลอดในการศึกษาประวัติของทั้งสองประเทศ

ความเป็นอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ทั้งในศรีลังกาและประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ท่านให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ การทำงานสืบสานพระศาสนานั้น มิใช่งานที่ทำได้ง่ายๆ หากไม่มีองค์ความรู้ วิจารณญาณ และการปฏิบัติธรรมที่จะช่วยกันรักษาพระศาสนาให้ถาวรต่อไป

เป็นสิ่งที่เราเห็นได้อย่างงดงามในงานของท่านที่ปรากฏแล้ว เป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ และเป็นหน้าใหม่ที่ถูกต้องที่ทั้งชาวพุทธไทยและชาวพุทธศรีลังกาจะภาคภูมิใจทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต