การศึกษา / เหตุใด ‘พรรคการเมือง’ เมิน ‘ศธ.-อว.’ ‘งบเยอะ-ทำงานยาก-แถมเปลืองตัว’??

การศึกษา

 

เหตุใด ‘พรรคการเมือง’ เมิน ‘ศธ.-อว.’

‘งบเยอะ-ทำงานยาก-แถมเปลืองตัว’??

 

เรียบร้อยโรงเรียน “บิ๊กตู่” ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าพิธีรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล กลายเป็นนายกฯ คนที่ 29 สมัยที่ 2 ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ชนะ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ด้วยคะแนน 500 ต่อ 244 คะแนน

แม้ประเทศไทยจะมีนายกฯ คนใหม่ หน้าเดิม แต่ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ การเจรจาเพื่อจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ยังไม่จบไม่สิ้น!!

เพราะหลังการโหวตเลือกนายกฯ ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต่างออกไป จากที่ดูเหมือนจะตกเป็นรองก่อนหน้านี้ สถานการณ์กลับพลิกขึ้นมา เดินเกมต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ พร้อมดึงกระทรวงเกรดเอกลับเข้ามาไว้ในมือ

แน่นอนพรรคร่วมรัฐบาลต่างแสดงท่าทีไม่พอใจ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ต้องการกระทรวงเกรดเอ เพื่อสานต่อนโยบายที่เคยให้สัญญาไว้กับประชาชน อีกทั้งกระทรวงเกรดเอเหล่านี้ ต่างเกี่ยวข้องกับงบประมาณมหาศาล

จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคการเมืองต่างๆ จ้องตาเป็นมัน!!

แต่เป็นที่น่าเสียดาย กระทรวงด้านสังคม กลับถูกจัดลำดับให้เป็นกระทรวงเกรดรองๆ ลงมา ที่เห็นได้ชัดเจนคือ “กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” และ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)” ที่มีหน้าที่ในการดูแลจัดการศึกษา และให้ความรู้กับเยาวชน รวมถึงคนไทยทั้งประเทศ

กลับ “ไม่ได้” เป็น “ตัวเลือก” อันดับต้นๆ ในการต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรี ของเหล่าพรรคร่วมรัฐบาลแม้แต่น้อย!!

 

ที่พรรคการเมืองต่างๆ แม้กระทั่งพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่าง พปชร.ยังเมิน ศธ. แม้จะเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ 2562 ศธ.ได้รับงบฯ ทั้งสิ้น 489,789,574,500 บาท จากวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งมากที่สุดในบรรดากระทรวงทั้งหมด

ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับ 373,519,664,700 บาท กระทรวงการคลัง 242,845,984,600 บาท กระทรวงกลาโหม 227,671,419,500 บาท เป็นต้น

ประเด็นนี้ นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มองว่า แม้ ศธ.จะเป็นกระทรวงที่ใหญ่ และได้รับงบฯ จำนวนมาก แต่อาจจะไม่มีใครอยากเข้ามาบริหาร เพราะเป็นงานที่ยาก เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จะทำผลงานที่ออกมาเป็นรูปธรรมยาก เพราะการพัฒนาการศึกษาต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลรูปธรรม

เช่นเดียวกับ นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) สะท้อนว่า แม้ ศธ.จะได้รับงบฯ มาก แต่เป็นงบฯ ที่ต้องใช้จ่ายประจำ เช่น จ่ายเงินเดือนครูไปกว่า 80% ส่วนงบฯ ลงไปที่นักเรียนน้อยมาก

“การศึกษาเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ยากที่จะสร้างทำให้คนจำนวนมากมีความเข้าใจตรงกัน ที่ผ่านมาสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.แต่ละคนไม่ค่อยมีผลงานที่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานที่ฉาบฉวย” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เท่าที่ดูสถานการณ์การเมือง กลายเป็นว่า ศธ.เป็นกระทรวงที่พรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญ ถูกเหวี่ยงไปมา สะท้อนให้เห็นว่า พรรคการเมืองเองก็เห็นแล้วว่า ศธ.เป็นกระทรวงที่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ พรรคการเมืองเริ่มมอง ศธ.เป็นกระทรวงที่เข้ามาทำงานยาก เข้ามาแล้วเปลืองตัว เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ทั้งที่เป็นกระทรวงที่ได้รับงบฯ มาก มีครู และมีเด็กที่ต้องดูแลจำนวนมาก

นอกจากนี้ ศธ.ถือเป็นงานยาก ไม่สามารถสร้างผลงานได้ แบกรับความหวังของคนจำนวนมาก แม้จะได้รับงบฯ มาก แต่เป็นงบฯ ที่ใช้จ่ายประจำ ไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้เท่าใดนัก!!

อีกทั้งแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะให้ความสำคัญกับการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่พ้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อดีตรัฐมนตรี ศธ.ที่มาจากสายทหารและหมอนั้น ไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษามากพอ เพราะไม่ได้มาจากแวดวงการศึกษาโดยตรง ทำให้บริหารงานผิดพลาด

ทิ้งปัญหาต่างๆ ไว้รอการแก้ปัญหาจำนวนมาก

เรียกได้ว่าหลายพรรคการเมือง คงไม่อยากจะ “เปลืองตัว” เข้ามาบริหาร และรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่เป็นมรดกของรัฐบาลชุดก่อน!!

 

ด้านกระทรวงน้องใหม่อย่าง อว. ซึ่งนายภาวิชมองว่า เป็นกระทรวงที่ท้าทาย เพราะเป็นกระทรวงใหม่ที่รวมงานการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และวิจัย เข้ามาไว้ด้วยกัน ถ้าไม่ตั้งหลักให้ดี กระทรวงจะอ่อนแอในระยะยาว

อีกทั้งขณะนี้ อว.ยังไม่ลงตัวอีกมาก เพราะอุดมศึกษาก็มีปัญหาของตนเอง การวิจัยของประเทศยังคงมีปัญหา เพราะไม่สามารถส่งเสริมศักยภาพของประเทศได้มากพอ

แม้ อว.จะเริ่มนับหนึ่งใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การเตรียมการต่างๆ อาจจะยังไม่เข้ารูปเข้ารอยมากนัก ถือเป็นงานใหญ่อีกชิ้นที่รัฐมนตรีว่าการ อว.จะต้องเข้าไปดูแลงานอุดมศึกษา และวิทยาศาสตร์ ที่ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน

ฝากฝั่งคนในอย่าง นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัด อว. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของกระทรวงใหม่ว่า การทำงานของ อว.ขณะนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้ากระทรวงใหม่ ซึ่งภาพรวมไม่มีปัญหา งานทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ และเข้าใจว่าขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังรอดูทิศทางการเมือง

ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ อว.ก็พร้อมที่จะทำงานด้วย แต่อยากให้เป็นคนที่รู้จักอุดมศึกษา พร้อมผลักดันงานวิจัย

เพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง!!

 

แม้ขณะนี้การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรียังไม่ลงตัว ท่ามกลางกระแสข่าวลือมากมายว่า พปชร., ปชป. หรือ ภท.จะเข้ามาคุม ศธ.และ อว.

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ อีกสมัย การจัดสรรคนให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศชาติ ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของนายกฯ เช่นกัน!!

ในประเด็นนี้ นายภาวิชมองว่า แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าพรรคการเมืองใด หรือใคร? จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และรัฐมนตรีว่าการ อว. แต่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์วางการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข และพัฒนาเป็นอันดับแรก

“ขอให้เลือกคนที่เข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวงให้ดี ต้องเป็นคนที่มีความรู้ เข้าใจการศึกษา พร้อมพัฒนาขับเคลื่อนการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า และอยู่ในตำแหน่งนี้ให้นาน ไม่ควรเปลี่ยนคนไปมา” นายภาวิชกล่าว

เช่นเดียวกับนายศุภเสฏฐ์ ตัวแทนจากภาคเอกชน กล่าวว่า อยากให้นายกฯ เข้ามาช่วยดูแลเช่นกัน เพราะขณะนี้ครูและผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนไม่มีทิศทางในการดำเนินงาน อยากให้การศึกษาเอกชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานักเรียนและครู เพื่อเป็นกำลังของประเทศได้

ทั้งหมดนี้ คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษา ที่กังวลว่าพรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญกับงานด้านการศึกษาเท่าที่ควร

แต่ก็คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมุ่งหน้าหาบุคคลที่มีความเหมาะสม มีความรู้ความสามารถ เป็นคนดี คนเก่ง มารับหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศ

โดยมองประโยชน์ของนักเรียน ครู โรงเรียน และการพัฒนาการศึกษาของประเทศเป็นหลัก…

      ไม่ใช่แค่การจัดสรรปันส่วน หรือต่อรองเก้าอี้ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือพรรคพวก!!