เพ็ญสุภา สุขคตะ : ปกรณัมฮินดู มอง “หมู” เป็น “ผู้ปราบมาร”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เรื่องราวของ “หมู” ได้กลายมาเป็นกระแสฮือฮาในสังคม สืบเนื่องมาจากวรรณกรรมเรื่อง Animal Farm ที่นายกรัฐมนตรีแนะนำให้คนไทยทั้งประเทศไปหาอ่าน

โดยคงคาดหวังว่า เมื่อคนไทยอ่านแล้วน่าจะตีความถึง “หมูหนุ่มๆ” ผู้เห่อเหิมอยากได้ความเสมอภาคถึงกับลงทุนขับไล่เจ้าของฟาร์ม สุดท้ายก็กลายเป็นเผด็จการเองซะงั้น ในเชิงลบกระมัง

จึงรีบดักทางขัดขายังเติร์กเหล่านั้นไว้ในทำนองว่า “อย่าไปฝากความหวังใหม่อะไรกับพวกเขาเลย วันหนึ่งเมื่อเขามีอำนาจ เขาก็จักกลายเป็นเผด็จการด้วยเหมือนๆ กันนั่นแหละ!”

ไม่เป็นที่แปลกใจว่าทำไม “จอร์จ ออร์เวลล์” ผู้ประพันธ์จึงเลือกที่จะใช้ “หมู” สัตว์บ้านพื้นๆ มาเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลกระหายอำนาจ เนื่องจากมโนทัศน์ของชาวตะวันตกมักมองว่า “หมู” คือความสกปรก ตะกละตะกลาม ละโมบโลภมาก ถึงกับที่ชาวฝรั่งเศสบริภาษคนเลวคนชั่วว่า “ไอ้หมู!” (C”est Cochon! อ่านว่า เซ โกชง!) ไม่ใช่เรียก ไอ้หมา! อย่างคนไทย

เมื่อมองย้อนกลับไปยังตำนานเทพปกรณัมทั้งฝ่ายคริสต์และฮินดูแล้ว พบว่ามีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหมูน้อยนิดมาก คือแทบไม่มีการนำหมูมาเป็นพาหนะให้เทพเจ้าองค์ไหนเลย

จะมีก็แต่ในวัฒนธรรมจีนที่กำหนดให้หมูเป็น 1 ใน 12 ปีนักษัตร คือปีกุน แต่ก็มิได้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศอุษาคเนย์ที่รับอิทธิพลจากจีนหลายกลุ่ม เช่น ชาวล้านนา ล้านช้าง พม่า ไทใหญ่ กลับเปลี่ยนหรือเลี่ยงที่จะใช้ปีหมู ไปเป็นปีช้าง (กุน = กุญชร) เสียอีก

อย่างไรก็ดี มีเรื่องราวของหมูในเทพปกรณัมฮินดู ปรากฏอยู่ในพระนารายณ์ 10 ปางโดยปางที่ 3 อวตารเป็น “หมูป่า”

 

ความหมายของคำว่า “อวตาร”

คําว่า “อวตาร” คืออะไรกันแน่ ไฉนคำคำนี้ปัจจุบันจึงได้กลายมาเป็นศัพท์ยอดฮิตในโลกออนไลน์ ประมาณว่าใครก็แล้วแต่ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามหรือตัวตนที่แท้จริง ก็จะถูกเรียกว่า “เพจอวตาร” “เฟสอวตาร” “ไลน์อวตาร” ฯลฯ

ในความเป็นจริงนั้น “อวตาร” เป็นศัพท์โบราณ สะท้อนแนวความคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับเทพปกรณัมของศาสนาฮินดูที่เชื่อว่า

“เมื่อใดก็ตามที่โลกเกิดภาวะวิกฤต ธรรมะเสื่อมลง อธรรมผุดพรายขึ้น เมื่อนั้นพระเป็นเจ้าผู้ทรงสถิตผู้เบื้องบนจักอวตารลงมาสู่โลกเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ที่กำลังเดือดร้อน” (จากคัมภีร์ภควัทคีตา)

ดังนั้น ในความหมายนี้ “อวตาร” = การแบ่งภาคของเทพเจ้ามาเกิดในโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ให้เสร็จสมบูรณ์ หาใช่เป็นแค่ “การจำแลงแปลงกาย เล่นแร่แปรธาตุ สุดท้ายก็ล่องหนอย่างไร้ร่องรอย” ตามที่เข้าใจกันแบบผิดๆ ในทุกวันนี้เท่านั้นไม่

เรื่องราวการ “อวตาร” ของเทพเจ้าที่คนทั่วไปรับรู้ก็คือ การอวตารของพระวิษณุหรือพระนารายณ์เพื่อมาปราบมารในยุคเข็ญ โดยมีทั้งหมด 10 ปาง การที่สังคมไทยจดจำเรื่องนี้ได้ขึ้นใจก็เพราะมีการบัญญัติเรื่อง “ลิลิตนารายณ์สิบปาง” ไว้ในแบบเรียนวรรณคดีไทยให้เราศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยม อันเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

จะน้อยหรือมาก จะตื้นหรือลึก เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ย่อมต้องรู้จักกับอวตารสำคัญปางหนึ่งนั่นคือ “พระราม” ส่วนปางอื่นๆ อีก 9 ปางนั้นอาจไม่ค่อยคุ้นชินกันมากนัก

พระนารายณ์ 10 ปางประกอบด้วย มัตสยาวตาร (ปลา) กูรมาวตาร (เต่า) วราหาวตาร (หมูป่า) นรสิงหาวตาร (นรสิงห์) วามนาวตาร (คนแคระ) ปรศุรามาวตาร (คนถือขวาน) รามาจันทราวตาร (พระราม) กฤษณาวตาร (พระกฤษณะ) พุทธาวตาร (พระพุทธเจ้า) และกัลยกยาวตาร (บุรุษขี่ม้าขาว)

ในบทความนี้ ดิฉันอยากโฟกัสให้เห็นปางที่ 3 คือ “หมูป่า” เนื่องจากสังคมไทยกำลังอยู่ในกระแสความสนใจเรื่อง “หมูครองเมือง” หรือ “เผด็จการหมู” กันอยู่ จึงอยากนำเสนอเรื่องราวของหมูในอีกมิติหนึ่งว่า เคยถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของการปราบมารในปกรณัมฮินดูด้วยเช่นกัน

 

พัฒนาการของ “อวตาร”
สัตว์น้ำ สัตว์บก ครึ่งคนครึ่งสัตว์
สู่มนุษย์ที่สมบูรณ์ผู้อารยะ

การอวตารลงมาปราบมารของพระวิษณุในรูปบุคคลต่างๆ แต่ละปางนั้น ล้วนนำเสนอด้วย “สัตว์ อมนุษย์ หรือมนุษย์” ที่มีความแตกต่างกันไป โดยบุคคลที่อวตารมานั้นมีพัฒนาการจาก “ต่ำ” ไปสู่สภาวะที่ “สูง” ขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มจากปางแรกๆ เป็นสัตว์น้ำหรือสัตว์ชั้นต่ำ พวกปลาพวกเต่า จากนั้นจึงค่อยๆ กลายเป็นสัตว์บกที่มีอยู่จริง (หมูป่า) กระทั่งเป็นสัตว์ในจินตนาการ ครึ่งคนครึ่งสิงห์ (อมนุษย์) และกลายเป็นมนุษย์ในที่สุด

เห็นได้ว่าตั้งแต่ปางที่ 5 พระวิษณุเริ่มอวตารมาเป็นมนุษย์ในลักษณะ “พราหมณ์เตี้ยหรือคนแคระ” (วามนาวตาร) จากนั้นในปางที่ 6 พัฒนาเป็น “คนป่าถือขวาน” (ปรศุราม) กระทั่งปางที่ 7 เป็น “พระราม” หรือมนุษย์ที่เจริญแล้ว สะท้อนภาพของผู้นำที่มีอุดมทรรศน์ เป็นสามีในแบบฉบับ

ปางที่ 8 “พระกฤษณะ” ยิ่งอยู่ในขั้นของ “คลังสมองของแผ่นดิน” เป็นครูบาอาจารย์คอยชี้แนะสัจธรรมให้แก่พี่น้องตระกูลปาณฑพ ปางที่ 9 นั้นไม่ต้องพูดถึง การอวตารมาเป็น “พระพุทธเจ้า” ยิ่งแสดงถึงความเป็นสัพพัญญู รู้แจ้งแทงตลอดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ปางสุดท้ายสิน่าฉงนใจ “กัลยกยาวตาร” บ้างแปลว่าบุรุษในชุดขาว บ้างแปลว่าเทพบุตรขี่ม้าขาว สร้างคำถามอย่างมากว่า ยังจะมีสิ่งใดเหนือกว่าหรือยิ่งใหญ่ไปกว่า “พระพุทธเจ้า” ในปางที่ 9 อีกล่ะหรือ?

วราหาวตาร มารถูกปราบด้วยหมูป่า

คําว่า “วราหะ” แปลว่า “หมูป่า” (boar) หมายถึงหมูกำยำที่มีพละกำลังสูง ไม่ใช่ “สุกร” ที่แปลว่า “หมูบ้าน” (pig) ทั่วๆ ไป

เมื่อนำมาสนธิกัน “วราหะ” + “อวตาร” จึงได้คำว่า “วราหาวตาร” เป็นการอวตารมาปราบโลกเข็ญปางที่ 3 ของพระวิษณุ

เรื่องของเรื่องเกิดจากยักษ์ (แทตย์) ตนหนึ่งนามว่า “หิรัณยากษะ” เคยมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ฝึกฝนร่ำเรียนวิทยาอาคมจากพระศิวะอย่างทะลุปรุโปร่งทุกกระบวนวิชชา จนถึงขั้นกำเริบเสิบสานคิดว่าตนมีอำนาจเหนือกว่าผู้ใด หวังจะครอบครองโลกแต่เพียงผู้เดียว จึงใช้อิทธิฤทธิ์ของตนม้วนแผ่นดินทั้งโลกแล้วหนีบไว้ใต้รักแร้แล้วกระโจนลงไปแฝงกายในโลกบาดาล

ยังผลให้มนุษยโลกระส่ำระสาย ร้อนถึงพระวิษณุที่ต้องอวตารแบ่งภาคลงมาในร่างของ “พญาหมูป่า” ตัวฉกรรจ์ เรือนร่างสีเผือกขาวโพลนดังสำลี มีเขี้ยวโง้วยาวคมกริบประดุจเพชร ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วราหะ”

วราหะลงไปท้ารบกับหิรัณยากษะถึงถ้ำบาดาล ทั้งสองต่อสู้กันอย่างดุเดือด หิรัณยากษะมัวแต่ห่วงแผ่นดินที่ตนหนีบไว้ ทำให้ยกแขนกางกรต่อสู้แบบไม่ถนัดนัก พลาดท่าเสียทีถูกหมูป่าขวิดถึงแก่ความตาย โดยหมูป่าใช้จมูกแซะคุ้ยทูนแผ่นดินขึ้นมาด้านบน จากนั้นใช้เขี้ยวเพชรคลี่แผ่นดินออกให้โลกกลับคืนสู่สันติสุขอีกครั้ง

ภาพประกอบในที่นี้เป็นภาพที่เราไม่ค่อยคุ้นตากันเท่าใดนัก เนื่องจากในสยามประเทศไม่มีตัวอย่างงานของวราหาวตารให้ชมกันเลย เหตุที่ลัทธิไวษณพนิกายในละแวกอุษาคเนย์ช่วงที่เฟื่องฟูมากที่สุด (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16) นั้น เน้นหนักไปในการสร้างรูปเคารพพระวิษณุภาคปกติแบบ 4 กรมากกว่า แม้แต่ปางอวตารสำคัญๆ เช่น พระรามหรือพระกฤษณะก็ยังพบน้อยมากในงานศิลปกรรมยุคก่อน

ภาพประกอบทั้งหมดจึงเป็นศิลปกรรมจากประเทศอินเดีย แสดงภาพหมูป่าผู้ทรงพลังอาจหาญ บางภาพเป็นหมูป่าท่อนบน ท่อนล่างเป็นลำตัวมนุษย์ ยืนเหยียบพญานาคไว้ใต้อุ้งเท้า อันเป็นสัญลักษณ์ของการทะลวงโลกบาดาล บางรูปตามลำตัวของหมูป่าเต็มไปด้วยช่องเล็กๆ ที่สลักเรื่องราวของบุคคลในโลกมนุษย์ที่ได้รับการปลดปล่อยหลังจากคลี่แผ่นดิน

ปากหมูป่าคาบสตรีนางหนึ่งชื่อ “ภูมี” หรือนาง “ภูมิเทวี” ซึ่งหมูป่าแซะออกมาจากแผ่นดิน ชูนางไว้เป็นสักขีพยานแห่งชัยชนะที่มีต่อหิรัณยากษะ และก่อนที่วราหะจะแปลงกายกลับไปรวมภาคกับพระวิษณุตามเดิมนั้น เขาได้เสพสังวาสกับนาง ทำให้พระวิษณุมีชายา 2 องค์คือ ลักษมีเทวี และภูมิเทวีอีกองค์

 

แง่คิดจาก Animal Farm
ถึงวราหาวตาร

ในโลกแห่งวรรณกรรมหรือโลกแห่งจินตนาการ ไม่ว่าชาวตะวันตกจักมองหมูในแง่ลบ หรือชาวตะวันออกจะมองหมูในแง่บวก คือเป็นปางหนึ่งของวิษณุในฐานะผู้ปราบมาร หรือเมธีจีนสร้างตัวละคร “ตือโป๊ยก่าย” ในเรื่อง “ไซอิ๋ว” ให้หมูเป็นกลุ่มลูกศิษย์สหายธรรมร่วมทางกับพระถังซำจั๋งก็ตาม

ในยุคของเราเกิดเผด็จการคนแล้วคนเล่า เชื่อว่าคงไม่มีใครเฝ้ารอ “วิษณุอวตาร” มาปราบยุคเข็ญอีกแล้ว ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีหรอก “วีรบุรุษขี่ม้าขาว” หากมันสมองและสองมือสองเท้าของประชาชนไม่เคลื่อนขยับ ไม่ลุกขึ้นมาปลดแอก

ทั้งจาก Animal Farm และเรื่องราวอวตารที่ครอบงำเรามาอย่างช้านาน …มันนานเกินไปแล้ว