ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : อะลาดิน กับตะเกียงที่ถูกขโมยจากสุสาน เมื่อครั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

มักจะเข้าใจกันว่า “อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ” นั้น เป็นนิทานเก่าแก่เรื่องหนึ่ง ที่รวมอยู่ในชุดเรื่องเล่านิทานที่เรียกกันว่า “พันหนึ่งราตรี” หรือ “อาหรับราตรี” ซึ่งแปลมาจากชื่อ “One Thousand and One nights” หรือ “Arabian Nights” ในโลกภาษาอังกฤษ

ซึ่งก็ไม่ใช่ความเข้าใจที่ผิดพลาดอะไรหรอกนะครับ เพราะเรื่องของอะลาดินก็ถูกบันทึกอยู่ในนิทานชุดพันหนึ่งราตรีจริงๆ

เพียงแต่นี่ก็ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นที่สุด เพราะความจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องราวเกี่ยวกับอะลาดินนั้น ไม่ได้มีอยู่ในพันหนึ่งราตรีฉบับดั้งเดิมในภาษาอาหรับ

แต่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาเมื่อมีการแปลออกเป็นภาษาที่ยุโรปชนใช้อ่านกันต่างหาก

 

“พันหนึ่งราตรี” เป็นชุดนิทานที่ถูกรวบรวมขึ้นจากนิทานพื้นบ้านเรื่องต่างๆ ที่เล่ากันอยู่ในช่วงยุคทองของศาสนาอิสลาม เมื่อระหว่างราว พ.ศ.1250-1850 (คริสต์ศตวรรษที่ 8-14)

โดยใช้กลวิธีการเล่าเรื่องละอันพันละน้อยด้วยการสร้างเรื่องว่า พระเจ้าชาห์ริยาห์ (Shahriyah) แห่งจักรวรรดิสัสสานิด (Sassanid Empire) พบว่าชายามีชู้ก็จึงแค้นใจแล้วสั่งประหาร

แต่ถึงจะทำเพียงนั้นก็ยังไม่ทำให้ไฟแค้นที่มีต่อสตรีเพศของพระองค์มอดลง

จึงสั่งให้นำสาวงามมาแต่งงานกับพระองค์ คืนละหนึ่งคน และพอถึงรุ่งสางแล้วก็จะประหารทิ้ง เป็นอย่างนี้อยู่ทุกวัน

และเมื่อเป็นอย่างนี้ สาวงามในเมืองก็ค่อยลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็หาไม่ได้

อำมาตย์ผู้ทำหน้าที่จัดสรรสาวงามไปให้กับพระราชาจึงร้อนใจเป็นที่สุด เพราะหญิงสาวในลิสต์ที่จะต้องจัดส่งไปห้องเชือดคนต่อไปนั้นก็คือ ลูกสาวของตนเองที่มีชื่อว่า ชาห์เรซาด (Sheherazade)

แต่ธิดาอำมาตย์กลับบอกกับพ่อของตนเองว่า จะขอแต่งงานกับพระราชา

และเมื่อเข้าพบพระราชา แทนที่ชาห์เรซาดจะบำรุงบำเรอพระองค์อย่างสาวงามคนอื่นๆ นางกลับเล่านิทานให้พระราชาชาห์ริยาห์ฟังจนพระองค์ถึงกับเคลิบเคลิ้ม

และก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่านิทานแต่ละเรื่องจะถูกนางเล่าให้ไม่จบภายในหนึ่งคืน ในใจของพระราชาเมื่ออยากรู้ตอนจบก็จึงสั่งละเว้นการประหาร แล้วก็เล่ากันอยู่อย่างนี้จนครบ 1,000 ราตรี คือเกือบๆ 3 ปี

จนไฟแค้นของพระราชาเองก็คงจะมอดดับไปจนหมดแล้วนั่นแหละ

 

ด้วยกลวิธีการเล่าอย่างนี้เอง ใครต่อใครจึงสามารถเอานิทานอะไรไปจับยัดว่าเป็นเรื่องที่ชาห์เรซาดเล่าให้กับพระราชาฟังเมื่อไหร่ก็ได้

ดังนั้น จึงมีการนำเอานิทานโน่นนี่มาเพิ่มเติมไว้ในไม้ใหญ่อย่างพันหนึ่งราตรี จึงเป็นเรื่องที่คงเกิดขึ้นเป็นระยะ โดย “พันหนึ่งราตรี” ปรากฏอยู่ในเอกสารภาษาเปอร์เชีย ในชื่อทำนองเดียวกันอย่าง “พันเรื่องเล่า” มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.1490 แล้ว

ซึ่งก็คงจะมีการเพิ่มเติมนิทานเรื่องเล่าต่างๆ มาอยู่เรื่อยๆ และต้องรอจนกระทั่งมีการแปลออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก จึงค่อยไม่มีการเพิ่มเติมนิทานอื่นๆ สอดแทรกเข้ามาอีก

พันหนึ่งราตรีถูกถ่ายถอดออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศสครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2247 ในชื่อ “Les mille et une nuites: Contes Arabes” ซึ่งจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกทอด ในอีกสองปีถัดมาภายใต้ชื่อว่า “The Thousand and One Nights or Arabian”s Night Entertainments”

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ในโลกภาษาไทยจะเรียกได้ทั้งพันหนึ่งราตรี และอาหรับราตรี

แต่หนังสืออาหรับราตรีฉบับที่พิมพ์ออกมาในครั้งนั้น เป็นหนังสือชุดขนาด 12 เล่มจบ เล่มที่พิมพ์ออกมาในปี พ.ศ.2247 เป็นเพียงเล่มที่ 1 เท่านั้น โดยกว่าเล่มสุดท้ายคือเล่มที่ 12 จะตีพิมพ์ออกมาก็ต้องรอจนถึง พ.ศ.2260 เลยทีเดียว

 

ชาวฝรั่งเศสผู้แปลพันหนึ่งราตรีออกมาเป็นครั้งแรกมีชื่อว่า อ็องตวน กัลลองด์ (Antoine Galland, พ.ศ.2189-2258) ซึ่งถูกนิยามเป็นทั้งนักโบราณคดี นักภาษาศาสตร์ และอีกสารพัดนักเลยนะครับ

แต่ชีวประวัติที่น่าสนใจยิ่งกว่าของนายคนนี้ก็คือ เขาเคยอยู่ในคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล หรือเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในปัจจุบัน (ในทำนองเดียวกับที่คณะของซิมง เดอ ลา ลูแบร์ มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์ ในช่วงสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เหมือนกัน) เมื่อ พ.ศ.2213 ด้วยเหตุผลที่เขามีความเชี่ยวชาญในภาษากรีก

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่สามปีต่อมาตรงกับ พ.ศ.2216 เขาก็ได้เดินทางไปดินแดนที่คาบเกี่ยวกับประเทศตุรกีในปัจจุบันอีกหนคือ แถบพื้นที่ที่เรียกว่าลีแวนต์ (Levant) คือพื้นที่ชายฝั่งทางด้านตะวันออกเมดิเตอเรเนียน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งในประเทศตุรกี ประเทศซีเรีย ประเทศเลบานอน และประเทศอิสราเอล (แน่นอนว่าผมหมายรวมถึงปาเลสไตน์ด้วย)

โดยได้ไปทำสำเนาของจารึกในพื้นที่บริเวณนั้นมาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับที่ได้สเกตซ์ภาพโบราณวัตถุสถานต่างๆ ไว้ รวมถึงได้เคลื่อนย้ายเอาโบราณวัตถุกลับไปฝรั่งเศสในบางกรณี

ดังนั้น ด้วยประวัติความสนใจของใครคนที่ชื่อว่า “กัลลองด์” ที่ว่านี้ การที่เขาจะแปลหนังสืออย่าง “พันหนึ่งราตรี” ออกมาก็จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรนัก?

 

กัลลองด์ใช้เอกสารโบราณที่เขียนขึ้นในช่วง พ.ศ.1850-1950 จากซีเรีย 3-4 ชิ้น (3 ชิ้นในนั้นยังสืบค้นได้จากหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส) เป็นหลักในการเรียบเรียงพันหนึ่งราตรี ฉบับตีพิมพ์ครั้งนั้นออกมา แต่ก็เป็นเฉพาะในช่วง 7 เล่มแรกเท่านั้น ในเล่มที่ 8 ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2252 เขาก็เริ่มใช้วัตถุดิบจากเอกสารในคอลเล็กชั่นตุรกีของเขาเข้าไปสอดแทรกในการเรียบเรียง ซึ่งมีหลักฐานว่า เป็นเพราะสำนักพิมพ์ต้องการที่จะให้มีนิทานรวมอยู่ในชุดพันหนึ่งราตรีมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็ทำให้กัลลองด์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญในการเพิ่มเติมนิทานต่างๆ เข้าไปในพันหนึ่งราตรีไม่ต่างไปจากใครต่อใครก่อนหน้า

แต่ที่สำคัญก็คือ นิทานที่โด่งดังในพันหนึ่งราตรีอย่าง อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ, กะลาสีเรือซินแบดผจญภัย และอาลีบาบากับโจรทั้ง 40 นาย เป็นเรื่องที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใน พันหนึ่งราตรีเล่มที่ 9-12

และหากจะนับเฉพาะเรื่องของ “อะลาดิน” นั้น ก็ไม่มีเอกสารชิ้นไหนในโลกเลย ที่ได้เล่าเรื่องของเขากับตะเกียงวิเศษไว้ก่อนหน้าพันหนึ่งราตรี ฉบับของกัลลองด์ ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2255 อันเป็นปีที่ตีพิมพ์ทั้งเล่มที่ 9 และ 10

 

กัลลองด์ไม่เคยบอกว่า เขาไปเก็บเอาเรื่องราวของอะลาดินมาจากไหน?

แถมอะลาดินฉบับที่เก่าแก่ที่สุดนี่ก็มีเนื้อหาบางอย่างแตกต่างจากที่เราในทุกวันนี้รู้จักกันมากทีเดียวนะครับ

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวของอะลาดินนั้นเกิดขึ้นในจีน เป็นต้น

(ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรนักถ้าจะนับจากการที่ กัลลองด์อธิบายไว้พันหนึ่งราตรีอยู่แล้วว่า จักรวรรดิสัสสานิดนั้น ปกครองทั้งอินเดียและจีน แต่คำว่า “จีน” ในที่นี้น่าจะหมายถึงดินแดนที่อยู่ไกลจนสุดขอบโลกอีกฟากของชาวตะวันตกยุคโน้น มากกว่าที่จะหมายถึงจีนจริงๆ เพราะเมื่อพิจารณาจากวัฒนธรรมที่อยู่ในเรื่องเล่าของอะลาดินแล้ว ก็คงจะอยู่ในละแวกภูมิภาคตะวันออกกลางนี่แหละ)

น่าสนใจว่า ในไดอารี่ของกัลลองด์ มีข้อความลงวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2252 ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับที่กัลลองด์ได้เพิ่มนิทานจากคอลเล็กชั่นตุรกีลงไปในพันหนึ่งราตรี เพื่อสนองความต้องการของสำนักพิมพ์นั้น

เขาได้ฟังนิทานจากนักเล่านิทานชาวซีเรีย จากเมืองอเลปโป ที่ชื่อว่า ฮันนา ดิยัป (Hanna Diyab) ซึ่งนั่นก็ทำให้นักวิชาการสายวรรณกรรมอาหรับ เชื่อกันมานานหลักร้อยปีแล้วว่า อะลาดิน เป็นเรื่องที่ดิยัปเล่าให้กัลลองด์ฟัง

แต่นั่นก็ยังไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า แล้วดิยัปไปฟังเรื่องอะลาดินมาจากไหนหรอกนะครับ เพราะก็ยังไม่มีหลักฐานเรื่องอะลาดินในเอกสารที่เก่ากว่าพันหนึ่งราตรีของกัลลองด์อยู่ดี และเอาเข้าจริงแล้วกัลลองด์ก็ไม่เคยให้เครดิตกับดิยัปในงานของเขาเลยด้วยซ้ำ

 

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2536 ได้มีนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งค้นพบบันทึกของดิยัป อยู่ในหอสมุดแห่งวาติกัน และเพิ่งจะเขียนบทความแปลบันทึกที่ว่านี้ออกมาเมื่อ พ.ศ.2558 นี้เอง

บันทึกดังกล่าวไม่ใช่เพียงทำให้นักประวัติศาสตร์มั่นใจได้ว่า ดิยัปเป็นผู้เล่าเรื่องของอะลาดินให้กับกัลลองด์ฟังเท่านั้น แต่ยังทำให้หลายท่านเชื่อตรงกันด้วยว่า เรื่องของอะลาดินก็คือเรื่องราวของตัวดิยัป นักเล่านิทานชาวเมืองอเลปโปคนนี้นี่แหละ

ไดอารี่ของกัลลองด์ทำให้เรารู้ว่า เขารู้จักกับดิยัปผ่านนักสำรวจ ควบตำแหน่งนักล่าสมบัติชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า ปอล ลูกาส์ (Paul Lucas) ที่ได้จ้างดิยัปไว้เป็นทั้งล่าม และผู้ช่วยล่าสมบัติต่างๆ เพื่อนำมาขายให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งพ่อนักล่าสมบัติคนนี้เชื่อว่า ดิยัปมีความสามารถทางด้านเวทมนตร์คาถา

แต่บันทึกของดิยัปที่เพิ่งพบใหม่ช่วยให้เรารู้เพิ่มเติมด้วยอีกว่า ภายในสุสานแห่งแรกที่ดิยัปกับลูกาส์ได้ล่าสมบัติด้วยกันนั้น เขาได้ค้นพบทั้ง ตะเกียงโบราณ และแหวน ซึ่งก็ชวนให้นึกไปถึงสมบัติวิเศษทั้งสองอย่างของอะลาดิน

เรื่องของอะลาดินนอกจากจะไม่ได้มีอยู่ในพันหนึ่งราตรีฉบับดั้งเดิมของพวกอาหรับแล้ว ยังอาจจะเป็นแค่จินตนาการของนักเล่านิทานจากเมืองอเลปโป ที่สร้างตัวเองให้เป็นพระเอก ในยุคเดียวกันกับที่เริ่มมีการแปลวรรณกรรมฉบับนี้ออกมาสู่โลกตะวันตกนั่นแหละครับ