มนัส สัตยารักษ์ | บ้านป๋าเปรม และ ท่าทีของบุคคลต่างๆ

บ้านป๋าเปรม

อ่านพบข่าวว่าจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ยกย่อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี คือผู้มีคุณูปการของแผ่นดิน พร้อมกราบขออโหสิกรรม

รายละเอียดในเนื้อข่าวมีว่า นายจตุพรไปกล่าวปราศรัยท่ามกลางสมาชิก นปช. หรือคนเสื้อแดง วาระแรกพูดถึงอสัญกรรมของป๋าเปรมซึ่งเป็นข่าวสำคัญของเช้าวันนั้น มีเสียงปรบมือฮือฮามาจากลุ่มผู้ฟัง นายจตุพรอึ้งไปครู่หนึ่งก่อนจะยกมือห้ามแล้วชี้แจงว่า ตนเป็นชาวพุทธ เป็นคนไทยที่สามารถแยกแยะทุกอย่างได้

คุณูปการ พล.อ.เปรมมีหลายเรื่องที่คนไทยต้องไม่ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ซึ่งเป็นการยุติการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลไทย สามารถลดความตายในแต่ละปีเป็นจำนวนนับพัน ประกาศนี้ได้นำคนไทยที่เข้าป่าไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ประชาชน กลับมาร่วมกันพัฒนาชาติไทย

อีกเรื่องก็คือคำว่า “ผมพอแล้ว” จากปากท่าน อันเป็นสัจธรรมทางอำนาจที่นักการเมืองในยุคหลังควรถือเป็นแบบอย่าง

ผมอ่านข่าวนี้แล้วเชื่อทันทีโดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ และมั่นใจยิ่งขึ้นเมื่อพบคลิปข่าวภาพนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวมทั้งนายจตุพร แสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย พล.อ.เปรม และกราบขออโหสิกรรม

ไม่น่าเชื่อว่า อสัญกรรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สะท้อนความคิดและการกระทำเชิงลบจากคนที่เกลียดชังท่าน แสดงอาการเหมือนดีใจหรือสะใจกับความตายของคนอื่น ซึ่งอาจารย์พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า “…แสดงว่าบางส่วนในตัวเรากำลังตายไปด้วย ส่วนนั้นคือความเป็นมนุษย์…”

ผมไม่ค่อยอยากจะพูดถึงจุดนี้ เพราะเหตุผล 2 ประการ ประการแรก ผมยังไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริง หรือปลอม หรือเป็นเรื่องที่ถูกบิดเบือนมา

อีกประการหนึ่งก็คือ เพราะมีคนพวกหนึ่งเขาไม่สนใจว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ผิดกฎหมายหรือไม่ผิด ขอให้ได้มีการเผยแพร่เอาไว้ก่อนก็แล้วกัน

อย่างไรก็ตาม ผมมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความคิดและการกระทำที่ผิดเพี้ยน บ้างก็ได้รับความชื่นชมจากคนพวกหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ได้รับคำตอบโต้จากผู้เสียหาย

ตัวอย่างแรกจากพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ประธานสหภาพนักเรียนนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่เคยได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นคนรุ่นใหม่ เพนกวินสะท้อนความยินดีต่ออสัญกรรมของ พล.อ.เปรม โดยพาดหัวกระแหนะกระแหนว่า

“บ้านหลวงว่างแล้ว มีใครอยากเข้าไปอยู่ไหมครับ น้ำฟรีไฟฟรีจากภาษีประชาชน”

แต่คราวนี้ได้รับเสียงโจมตีว่าเป็นคนไม่มีรากเหง้า ไม่เข้าใจบริบทและมีอคติ ป๋าเปรมเป็นคนหลวง (ประธานองคมนตรี) อยู่บ้านหลวง เป็นรัฐบุรุษที่เหมือนไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ พาดหัวในโพสต์ R.I.P. ป๋าเปรม แต่รายละเอียดเนื้อในเป็นเรื่องยกย่องนักศึกษา ม.รามคำแหงที่ชกป๋า และลงท้ายว่า อดีตนักศึกษาผู้นั้นถึงแก่ความตายในโรงพยาบาลเพราะถูกคนป่วยด้วยกันจับกดน้ำ

มีคำถามจากโซเชียลว่า “สุชาติต้องการจะบอกอะไรแก่สังคม?”

ต่อมาได้มีญาติของอดีตนักศึกษาออกมาตอบโต้และชี้แจงว่า ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ ได้รับการดูแลอย่างดีจากญาติพี่น้องหลังจากออกจากโรงพยาบาล ตลอดจนได้รับการให้อภัยและความห่วงใยจาก พล.อ.เปรมด้วย

ล่าสุดมีข่าวว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี ลบโพสต์ของตนออกแล้ว แต่เรื่องจะจบหรือไม่คงอยู่ที่ผู้เสียหาย หรือทางการ หรือสังคมจะเรียกร้องความรับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร

ผมโชคดีที่ได้เต้นร็อกแอนด์โรลให้ป๋าเปรมดู และได้รับคำทักทายจากท่าน แต่วาสนาไม่ดีเพราะหลังจากนั้นก็ไม่มีโอกาสได้พบหรือแม้แต่เข้าใกล้ท่านอีกเลย เรื่องโชคดีของผมเป็นเรื่องเพียงเสี้ยวนาทีเดียว แต่เป็นเรื่องที่ผมเล่าแล้วเล่าอีกได้เหมือนโม้

ในยุคที่ผมยังหนุ่มนั้น มีนิตยสารหลายฉบับแบ่งกันครองตลาดนักอ่านอย่างคึกคัก นิตยสารรายเดือนที่ติดตลาดก็คือ ชาวกรุง กะดึงทอง และยานเกราะ

นิตยสาร “ยานเกราะ” มีพี่อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (พลโท) ซึ่งขณะนั้นมียศ พ.ต. เป็นบรรณาธิการ รับผิดชอบในฐานะเป็นนักเขียนดัง นามปากกา “กระจกฝ้า” และพี่อุทารเอาเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของผมไปตีพิมพ์

นอกจากจะมีค่าเขียนแล้ว พี่อุทารยังให้รางวัลเพิ่มเติมด้วยการพาไปงานอะไรสักอย่างของสถานีวิทยุยานเกราะ (ซึ่งดังกว่านิตยสาร) ประเภท tea dance หรือ happy hour ทำนองนี้

หัวหน้าใหญ่ของสถานีวิทยุยานเกราะขณะนั้นคือ พ.อ.เล็ก สุนทรศร (พล.ต.) ซึ่งสื่อเรียกท่านว่า “เจ้าพ่อยานเกราะ” ผู้การเล็กให้ความรักต่อผมแบบเดียวกับพี่อุทาร

เวลาบ่ายที่สถานีวิทยุยานเกราะ ผมได้พบ พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์ นายพลทหารม้าหนุ่มโสดจากศูนย์การทหารม้า สระบุรี ท่านยืนหลังพิงเคาน์เตอร์บาร์ดูนายตำรวจตัวเล็ก เหมือนจิ๊กโก๋วัยรุ่น เต้นร็อกกับสาวยานเกราะอย่างอารมณ์ดี

พอเพลงจบท่านกวักมือเรียกผมไปโอบไหล่และถาม “เป็นนักเรียนนายร้อยหรือเปล่า?”

ผมตอบรับ ท่านพยักหน้าพอใจแต่ไม่พูดหรือถามอะไรต่อ ผมมาคิดได้ภายหลังว่าท่านน่าจะถามว่าผมเป็นเด็กจากที่ไหน เพื่อท่านจะได้ใช้ภาษาใต้ถามต่อว่าเรียนมัธยมที่ไหน ซึ่งจะทำให้ผมมีเรื่องคุยได้ว่าผมเป็นเด็กสงขลาและเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ตามหลังท่านมา 17 ปี

ครั้งรับหน้าที่เป็น สวญ.สน.คันนายาว ตำรวจได้พาผมผ่านไปรู้จักสถานที่สำคัญและบ้านวีไอพี จุดหนึ่งที่เขาพาไปคือ “บ้านป๋าเปรม” ดูเหมือนจะเรียกกันว่า “คุ้มขุนพล” หรืออะไรที่ขลังด้วยพลังทำนองนี้แหละ แต่ตลอด 3 ปีที่ผมอยู่ที่นี่ ไม่ปรากฏว่าท่านมาที่บ้านหลังนี้เลย

เมื่อชาวสงขลารวบรวมเงินสร้างบ้านพักให้ป๋าเปรมบนเชิงเขาใกล้ทางแยกเข้าเมืองสงขลากับแยกจะไปสะพานเปรม ติณสูลานนท์ ผมเคยขับรถขึ้นไปชม 2 ครั้ง มองลงมาเห็นเกาะยอและสะพานเปรมฯ เป็นมุมที่มีทิวทัศน์สวยงาม อากาศดี เหมาะสำรับคนในวัยหลังเกษียณอายุ

แต่ไม่ปรากฏว่าป๋าเปรมไปแสวงหาความสุขสงบของที่นี่ ในที่สุดท่านได้ยกให้กรมศิลปากรจัดทำเป็นห้องสมุดแห่งชาติสำหรับชาวสงขลา

บ้านหลังเดิมของบรรพบุรุษ เมื่อปีที่แล้วผมได้ผ่านไปชมและถ่ายรูปไว้

ทุกหลังที่ผมรู้จักน่าอยู่กว่าบ้านสี่เสาเทเวศร์ แต่บ้านสี่เสาเทเวศร์ปลอดภัยสำหรับคนต่อสู้กับคอร์รัปชั่น เหมาะสมกับรัฐบุรุษผู้กอปรด้วยคุณูปการและไม่เคยทำประเทศเสียหาย แต่ถูกเกลียดชังจากบางคนโดยไม่ทราบสาเหตุและเหตุผล