‘อรรถพล ใหญ่สว่าง’ ประธาน ก.อ.เลือกตั้งครั้งแรก ไอเดียเสริมเขี้ยวเล็บ “อัยการ”

หลังจากพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “อรรถพล ใหญ่สว่าง” อดีตอัยการสูงสุดคนที่ 11 เป็นประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 ที่มีการแก้ไขใหม่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561

ที่กำหนดว่า ประธาน ก.อ.จะต้องมาจากการเลือกตั้งอัยการทั่วประเทศ

จากเดิมตำแหน่งนี้อัยการสูงสุด (อสส.) จะนั่งควบเก้าอี้นี้อยู่ แต่กฎหมายใหม่ ประธาน ก.อ. จะต้องไม่เป็นข้าราชการอัยการ

ในการเลือกตั้งประธาน ก.อ.ครั้งแรกประวัติศาสตร์อัยการ จากบัตรลงคะแนนจำนวน 3,061 ใบ ปรากฏ “อรรถพล” ได้คะแนน 1,810 เป็นคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้เลือกตั้งทั้งหมด

การแก้ไขร่างกฎหมายขององค์กรอัยการในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ ที่มองว่ามีข้อดีที่ไม่ได้เป็นการรวบอำนาจการสั่งคดีและการบริหารงานบุคคลเอาไว้ที่คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว

อีกทั้งประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่กฎหมายอัยการฉบับใหม่นี้มีบทบัญญัติให้ข้าราชการอัยการจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของข้าราชการอัยการทั้งหมด เข้าชื่อถอดถอนประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิออกจากตำแหน่งได้ด้วย

ทันทีที่มีการประชุม ก.อ.ครั้งแรก นายอรรถพล หรือคุ้นเคยเรียกว่า “พี่ใหญ่” เสนอปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กรอัยการ 2 เรื่องเร่งด่วน

คือ เสนอให้มีรอง อสส. เพื่อมาแบ่งเบาภาระ อสส.เพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีเรื่องที่รอชี้ขาดคดีอยู่หลายร้อยคดี เพราะแม้กรณีชี้ขาดคดีจะไม่ได้จบที่รอง อสส. เพราะกฎหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ อสส. แต่ถ้าได้มือกลั่นกรองมาดี เรื่องก็จะพิจารณาได้เร็วขึ้น เนื่องจากความยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วไม่ใช่ล่าช้า

โดยตามโครงสร้างแล้ว รอง อสส.กับผู้ตรวจราชการอัยการ เป็นอัยการชั้นเดียวกันคือชั้น 7 ซึ่งผู้ตรวจฯ มี 9 ตำแหน่ง คือภาค 1-9 จึงเห็นว่าภารกิจนั้นน้อยไป ควรแบ่งใหม่เป็น 2 ภาคต่อ 1 คน เหลือส่วนกลางไว้ 1 คน รวมเป็น 5 คน ก็จะปรับไปเป็นรอง อสส.เพิ่มอีก 4 คน รวมเป็น 12 คน

“ที่ผมเห็นต้องเพิ่มไม่ใช่มาช่วยชี้ขาดคดีอย่างเดียว แต่ต้องมีภารกิจอื่นด้วย ซึ่งการปรับที่ว่านี้ไม่ต้องไปแก้กฎหมายให้เพิ่มรอง อสส.เลย เพราะทั้ง 2 ตำแหน่งได้ค่าตอบแทนเท่ากันอยู่แล้ว”

ประธาน ก.อ.ยังได้เผยถึงภารกิจที่เตรียมผลักดันเรื่องที่ 2 คือ

1. การปรับการสั่งคดีของอัยการต่อไปควรเป็นรูปแบบองค์คณะ 3 คนเหมือนศาล ประกอบด้วยหัวหน้าองค์คณะ 1 คน อัยการอีก 2 คน ซึ่ง 1 ใน 2 คน อาจจะกำหนดว่าต้องเป็นอัยการอาวุโสซึ่งเคยผ่านตำแหน่งบริหารระดับสูงมาแล้วมาพิจารณาคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่ถึง 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งองค์คณะนี้จะมีอำนาจสั่งคดีได้โดยไม่ต้องเสนออัยการจังหวัดหรืออัยการพิเศษฝ่ายพิจารณา แต่จะเป็นการเสนอเพื่อรับทราบเท่านั้น ตรงนี้เป็นการแบ่งเบาภาระของอัยการจังหวัด ดังนั้น ที่ประชาชนเป็นห่วงว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม อัยการว่าความคนเดียวก็จะตัดออกไป

2. การไปว่าความว่าที่ศาล ควรจะมีอัยการอย่างน้อย 2 คน เนื่องจากปัจจุบันนี้คดีที่ยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ มีจำนวนมาก อย่างทนายความบางคดีไปกันเป็นทีมอย่างคดีใหญ่ๆ อย่างคดีกบฏ กปปส. จะเห็นได้ว่าถ้าอัยการไปว่าความคนเดียวหัวเดียวกระเทียมลีบ ฝ่ายจำเลยก็มีทีมทนายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจำเลยก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสังคมด้านต่างๆ ต่อไปอัยการก็ต้องทำงานเป็นทีมไปช่วยกัน

“เรื่องนี้ต้องฝากทางด้านรัฐบาลหรือผู้ดูแลงบประมาณว่าอัยการจำเป็นต้องมีเพิ่มเติมขึ้นด้วยอย่างน้อย 1,000 คน ปัจจุบันมีอัยการ 3,000-4,000 คน แต่อัตรา 1,000 คนไม่ได้ขอทีเดียว จะทยอยปีละ 200 คน 5 ปีครบ ประสิทธิภาพในการทำงานจะดีขึ้น”

นอกจากนี้ ประธาน ก.อ.ยังได้เผยถึงเกณฑ์การพิจารณาการโยกย้ายครั้งใหญ่เนื่องจากปีนี้จะมีข้าราชการเกษียณ ทั้ง อสส.และผู้บริหารระดับสูงหลายตำแหน่งเป็นครั้งหนึ่งในประวัติการณ์ ความเห็นส่วนตัวในฐานะประธาน ก.อ.เห็นว่า การที่จะพิจารณาเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง อสส., รอง อสส., ผู้ตรวจฯ นั้น อธิบดี ก.อ.ในฐานะเลขานุการ ก.อ.จะเสนอเรื่องผ่านรอง อสส. จนถึง อสส. มายังตนในฐานะประธาน ก.อ.ก็ต้องดูว่าผู้ที่จะได้ขึ้นเป็น อสส.นั้นผ่านการประเมินหรือไม่

ระบบการบริหารงานบุคคลของอัยการใช้หลักเดียวกับศาลคือแพ้คัดออก นั่นหมายความว่า ถ้าคนไหนไม่ผ่านหลักเกณฑ์ก็ตก คนไหนผ่านหลักเกณฑ์ก็เอาหลักเกณฑ์นั้นมาพิจารณา

เช่น ตำแหน่งอัยการสูงสุดที่มีตำแหน่งเดียว แต่เวลาประเมินเข้าหลักเกณฑ์นี้อาจจะต้องมีจำนวนมาก แต่จะมากเท่าไหร่แล้วแต่การนำเสนอ แล้วที่ประชุม ก.อ.ก็จะพิจารณาว่าผ่านหลักเกณฑ์หรือไม่ แล้วค่อยมาพิจารณาอีกวาระหนึ่งว่าบุคคลที่ควรจะได้เป็นอัยการสูงสุดคือลำดับที่เท่าไหร่

“เท่าที่ทำมามักจะนำบุคคลที่อาวุโสแล้วไม่มีประวัติด่างพร้อยขึ้นมาเป็นอัยการสูงสุด และรอง อสส. ถึงผู้ตรวจฯ พูดกันง่ายๆ ว่าตามคิว” ประธาน ก.อ.แง้มสเป๊กว่าที่อัยการสูงสุด

พร้อมกล่าวว่า แต่คราวนี้ ถ้าทาง ก.อ.คนอื่นมีความเห็นอีกแบบ เช่น อาจจะให้แสดงวิสัยทัศน์เพื่อไว้พิจารณาก็ต้องว่ากันอีกที

พี่ใหญ่ให้ข้อมูลอีกว่า ครั้งนี้มีที่แปลกพิเศษ คือ ผู้ที่จะได้รับพิจารณาเป็น อสส. จะมาจากระดับอธิบดี เนื่องจากระดับรอง อสส. และผู้ตรวจฯ อายุพ้นตำแหน่งบริหารกันหมด ครั้งนี้มีตำแหน่งที่ต้องเคลื่อนมากเป็น 100 ตำแหน่ง ซึ่งการพิจารณาแต่งตั้งของ ก.อ.ในครั้งนี้จะหนักมาก ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมกัน บัตรสนเท่ห์มาเลย แต่ถ้ากล้าเขียนมาก็ขอให้ลงชื่อมาด้วยจะสอบให้ เพื่อจะได้เกิดความเป็นธรรม

สุดท้ายนี้ในฐานะประธาน ก.อ. อยากเน้นย้ำหลักสำคัญที่อัยการไม่ถูกรังแก เพราะอัยการมีหลักประกันความเป็นอิสระ เพื่อที่จะได้กล้าทำงานอย่างถูกต้องตามหลักประมวลจริยธรรม และให้ความเป็นธรรมกับราษฎร ก.อ.จะต้องทำหน้าที่พิจารณาความดีความชอบ หรือในกรณีที่ทำผิดก็จะพิจารณาตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จะไม่มีการนำความรู้สึก ความสนิทส่วนตัวเข้ามา

แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะหมดปัญหา