จรัญ มะลูลีม : การเมืองตามอุดมคติของโคมัยนี

จรัญ มะลูลีม

อิมามโคมัยนีกับแนวคิดทางการเมือง

นอกเหนือไปจากศักราชของศาสดามุฮัมมัด (ค.ศ.610-632) แล้วอิมามโคมัยนีพิจารณาว่าประวัติศาสตร์อิสลามที่ “ถูกต้อง” นั้นห้อมล้อมไปด้วยระยะเวลาสั้นๆ ของเคาะลีฟะฮ์ (กาหลิป) ท่านที่สี่ของซุนนี ได้แก่ ช่วงของอิมามท่านแรกของชีอะฮ์ คือ อะลี อิบนุ อะบี ฏอลิบ (ค.ศ. 656-661) จากนั้นการผละจากศาสนาก็เริ่มต้น และดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับอิมามโคมัยนีระยะเริ่มต้นของญาฮิลียะฮ์ (ยุคสมัยแห่งความเขลา) นั้น ผูกโยงกับการขึ้นมาของรัฐอุมัยยะฮ์ (Umayyah) ใน ค.ศ.661 อย่างแน่นอน ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่และการควบคุมถูกทอดสมอลงในคนชั้นสูงที่เป็นผู้นำอาหรับโดยเฉพาะ

ลัทธิชาตินิยมอาหรับใดฉีกทึ้งความเป็นปึกแผ่นของมุสลิมอุมมะฮ์และเป็นตัวประกอบพื้นฐานที่ในที่สุดนำไปสู่ความผุกร่อนของอิสลาม และกลับมาสู่ “ยุคสมัยของความเขลา”

ตามความคิดของอิมามโคมัยนี พวกอุมัยยะฮ์เปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐบาลของพระผู้เป็นเจ้าและจิตวิญญาณไปสู่เรื่องของโลก การปกครองของพวกเขาวางอยู่ที่อาหรับนิยม (Arabism) หลักการในการส่งเสริมให้ชาวอาหรับอยู่เหนือผู้คนอื่นๆ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ขัดกับพื้นฐานหลักของอิสลามที่ปรารถนาจะยกเลิกการถือเชื้อชาติและรวมมนุษยชาติเข้าอยู่ในชุมชนเดียวภายใต้ยุคสมัยของรัฐรัฐหนึ่ง โดยไม่สนใจในเรื่องของเผ่าพันธุ์และผิวสี

อิมามแลเห็นว่าจุดมุ่งหมายของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ได้เฉไฉไปจากอิสลามโดยสมบูรณ์ ด้วยการฟื้นฟูอาหรับนิยมแห่งยุคของความเขลาก่อนอิสลามขึ้นมาอีก และจุดมุ่งหมายเดียวกันยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้ผู้นำอาหรับบางประเทศ ผู้ซึ่งประกาศความปรารถนาของพวกเขาอย่างเปิดเผยว่าจะฟื้นฟูอาหรับนิยมของอุมัยยะฮ์ขึ้นมาอีก ซึ่งไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าอาหรับนิยมของญาฮิลียะฮ์ Khomeini, Islam and Revolution : The Writing and Declaration of Imam Khomeini, London : Kegan Paul, 2002 p.322-323

เป็นที่ชัดเจนว่านักอิสลามนิยมต่อต้านลัทธิชาตินิยมสมัยใหม่อย่างเหนียวแน่นในเรื่องอุดมการณ์แห่งคำสอน ดังนั้น พื้นฐานการปฏิบัติของลัทธิชาตินิยมจึงตรงข้ามกับลัทธิสากลนิยมของมุสลิมอุมมะฮ์ ซึ่งได้ระบุไว้ในเรื่องอัตลักษณ์อิสลาม

ลัทธิชาตินิยมก่อให้เกิดลัทธิโลกวิสัย ซึ่งทำอันตรายให้กับวิถีชีวิตอิสลาม ลัทธิชาตินิยมยังกีดกันความเป็นปึกแผ่นและความเข้มแข็งของมุสลิมอุมมะฮ์อีกครั้งและปล่อยให้อิสลามเป็นที่อยู่อาศัยแห่งการแบ่งแยกไปในที่สุด

 

ญิฮาดในมุมมองของอิมามโคมัยนี

การก่อรูปทางทฤษฎีของอิมามว่าด้วยญิฮาดเป็นเรื่องของการได้รับอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าในการใช้ความรุนแรงต่อต้านศัตรูของอิสลามทั้งในประเทศและนอกประเทศ

อิมามได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเนื้อหาที่มาจากแนวคิดชะฮาดัตหรือการสละชีพเพื่อศาสนา (martyrdom) ในประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชีอะฮ์

ที่ซึ่งญิฮาดแสดงให้เห็นการครุ่นคำนึงถึงผู้อื่นและการเสียสละตัวเองของอิมามท่านแรกๆ คือ อัล-ฮะซัน อิบนุ อะลี (ค.ศ.624-669) และอิมาม อัล-ฮูเซน อิบนุอะลี (ค.ศ.626-680) ในการขัดขืนการปกครอง “ที่กดขี่และรวบอำนาจ” ของอุมัยยะฮ์

ในมุมมองนี้ญิฮาดจึงมีขึ้นเพื่อคืนสิทธิของอำนาจทางการเมืองให้กับผู้นำที่ชอบธรรมและได้รับการคัดสรร นั่นคือบรรดาอิมามที่ได้รับทางนำและผู้นำทางศาสนาของชีอะฮ์ ซึ่งเป็นตัวแทนโดยตรงของอิมามรูปแบบอื่นๆ ของรัฐบาลที่มิได้อยู่ภายใต้การนำของนักการศาสนาที่ปกป้องอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบกษัตริย์ สำหรับอิมามโคมัยนีแล้วนับเป็นความชอบธรรมที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมที่จำเป็นต้องโค่นรัฐบาลดังกล่าวลงไป

อิมามโคมัยนีสนับสนุนนักการศาสนาของอิหร่านให้เป็นผู้นำในการต่อสู้ต่อต้านมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ผู้ปกครองทางโลกที่กดขี่

และก่อตั้งรัฐอิสลามที่แท้จริงภายใต้การปกครองโดยตรงจากคนของศาสนาที่โดดเด่น ตามที่ได้มีความแจ่มแจ้งอยู่ในหลักการของอิมามวิลายะตุลฟะกีฮ์อยู่แล้ว

ด้วยการนำเอาอำนาจอิสระของชนชั้นนำที่นักการศาสนาในลัทธิชีอะฮ์ (Shiism) มาใช้แล้ว อิมามโคมัยนียังได้เอาอำนาจดังกล่าวมาใช้ในฐานะกองกำลังต่อต้านที่เป็นตัวแทนมวลชน และจัดระเบียบอำนาจที่เป็นอิสระของนักการศาสนาขึ้นเพื่อใช้เป็นปฏิบัติการทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล

ตรงกันข้ามกับการจัดลำดับขั้นตอนทางศาสนาของซุนนี ซึ่งส่วนใหญ่มีความร่วมมือกันระหว่างรัฐกับผู้เชื่อฟังรัฐ พวกนักการศาสนาที่เรียกกันว่ามุลลอฮ์ (mullah) ในอิหร่านได้ปรากฏตัวขึ้นในฐานะกองกำลังของสังคมที่ไม่ลงรอยกับรัฐ ทำงานอย่างเป็นอิสระและต่อต้านรัฐ

อิมามปลุกเร้าเนื้อเรื่องทางประวัติศาสตร์ของชีอะฮ์ในเรื่องการสละชีพในหนทางศาสนาโดยเรียกร้องให้ประชาชนชีอะฮ์เดินตามท่านอิมามฮะซันและอิมามฮูเซนที่เป็นตัวอย่างการต่อสู้ในการต่อต้านทรราชย์ผู้กดขี่และอยุติธรรม

อิมามเชื่อว่าสารนี้จะแสดงกำลังของตัวเองที่ไม่สามารถขัดขืนได้ออกมาและรวมชาวอิหร่านนับล้านคนเข้าด้วยกันเพื่อภารกิจนี้

ด้วยการสนับสนุนของบรรดามุลลอฮ์ คนนับล้านเหล่านี้จะรวมกันออกมายังท้องถนนเพื่อท้าทายมืดและปืนไรเฟิล จากกองกำลังของชาฮ์พร้อมกับศรัทธาในอัลลอฮ์ของพวกเขาผู้กลายเป็นผู้สละชีพในทางศาสนาหรือชะฮีด (shahid)

โดยชะฮีดจะล้มลงติดต่อกันไปและได้รับการฝังโดยสาธารณชน ได้รับเกียรติสำหรับความอาจหาญและปรารถนาที่จะได้สถานที่อันสูงส่งในญันนะฮ์ (Jannah) หรือสวรรค์

ในความคิดของอิมามการกล่าวคำว่าอัลลอฮุอักบัร (Allahu Akbar) หรืออัลลอฮ์ผู้ทรงเกรียงไกรออกมา ได้ส่งเสียงสะท้อนไปทั่วอาณาจักรของชาฮ์และอาณาจักรของมารร้ายสองแห่งคือสหรัฐและรัสเซีย โดยอาณาจักรทั้งสองจะถูกทำให้พ่ายแพ้

เมื่อจำนวนของผู้สละชีพในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าเพิ่มขึ้น ผู้ก้าวร้าวก็จะอ่อนแอและล้มลง ผู้คนที่เชื่อในอัลลอฮ์และไว้วางใจในการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามก็จะรวมตัวเข้าด้วยกันเพื่อต่อต้านความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะนำไปสู่การขยายความแตกแยกหรือการบีบบังคับพวกเขาให้ยินยอม

ทฤษฏีวิลายะตุลฟะกีฮ์ (wilayat al-faqih) คือการปกครองโดยนักศาสนวิทยา-นักกฎหมายอิสลามของอิมามโคมัยนี และการเน้นไปที่การดำเนินกิจการทางการเมือง กระตุ้นให้เกิดการยึดอำนาจในอิหร่าน

พวกมุลลอฮ์ (mullah) ซึ่งหมายถึงนักการศาสนาได้กลายมาเป็นนักรบของการปฏิวัติ เป็นผู้ช่วงชิงอำนาจและเป็นรัฐบุรุษ นักการศาสนาเหล่านี้ได้ล้มเลิกประเพณีที่นักการศาสนาชีอะฮ์ไม่สนใจการเมืองและไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ ชัยชนะของมุลลอฮ์ในอิหร่านแสดงถึงพัฒนาการของลัทธิชีอะฮ์ (Shiism) จากการนิ่งเงียบ การยอมจำนน หรือแม้แต่การว่านอนสอนง่ายมาสู่การดำเนินการทางการเมืองและความมั่นใจ ดู Foud Ajami, The Vanished Imam : Musa al-Sadr and the Shia of Lebanon, Ithaca Cornell University Press, 1966, p.199

ผลที่ตามมาก็คืออิมามได้นำการเมืองกลับมาสู่อิสลาม และใส่การเปลี่ยนผ่านลงไปสู่การปฏิบัติโดยผ่านวงจรการปกครองของมุลลอฮ์ทั้งหลาย ซึ่งกลายมาเป็นชนชั้นนำในการปกครองสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ความคิดของอิมามโคมัยนีแตกต่างไปจากอบุล อะลา เมาดูดีย์ ซัยยิด กุฏบ์ และนักคิดที่เป็นนักอิสลามนิยมคนอื่นๆ ซึ่งเป็นซุนนีที่ปฏิเสธความคิดเรื่องรัฐอิสลามที่ปกครองโดยผู้นำนักการศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว

ในการต่อต้านรัฐบาลของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ปาห์ลาวี ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในการลี้ภัยของอิมามนั้น อิมามสนับสนุนผู้นำทางศาสนาของชีอะฮ์ให้เข้าทำหน้าที่ในการปฏิวัติและยึดการควบคุมจากรัฐบาล

เขาใช้ความพยายามของเขาโดยตรงในการเกณฑ์เอานักการศาสนาหนุ่มๆ และนักศึกษาซึ่งจะยอมอุทิศชีวิตของพวกเขาให้กับปฏิบัติการทางการเมืองมารวมตัวกัน

แนวหน้าทางศาสนาของอิมามจึงสร้างบทบาทที่ถาวรให้กับนักการศาสนาและการปกครองที่สมบูรณ์ของนักกฎหมายอิสลามในอิหร่านในเวลาต่อมาอย่างเห็นได้ชัดเจน

คำสอนของเขาเรื่องวิลายะตุลฟะกีฮ์ได้นำเสนอว่านักการศาสนาของชีอะฮ์ที่เด่นๆ ควรจะเข้าครองตำแหน่งผู้นำสูงสุดในการตัดสินในรัฐอิสลามในฐานะที่เป็นตัวแทนของอิมามท่านสุดท้ายหรืออิมามที่สิบสอง โดยทันทีโดยผ่านการซ่อนตัว (ghayba) ของท่านอิมามที่สิบสองนั่นเอง ดู Gordan D.Newby, A Concise Encyclopedia of Islam, Oxford : One world Publication, 2002 p.109,110,115

สำหรับอิมามผู้ปกครองที่กดขี่ ประหัตประหารและคับแคบมิเคยเอาชนะทหารของอิสลามได้เลย ดู Mary-Jane Deep, Militant Islam and the Politics of Redemption, Annals of the American Academy of Political and Social Science, November 1992, p.52-65

เสียงเรียกของอิมามให้แรงบันดาลใจต่อชาวอิหร่านที่ปรารถนาที่จะโอบกอดการพลีชีพเพื่อพระผู้เป็นเจ้าเอาไว้เพื่อขับไล่ชาฮ์ ในที่สุดอิมามโคมัยนีก็โค่นบัลลังก์มยุรา (Peacock Throne) ลงไปได้และสถาปนารัฐอิสลามแห่งอิหร่านขึ้นใน ค.ศ.1979