ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 เมษายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
เมื่อท่านผู้นำของประเทศออกมาแนะนำให้ คนไทยให้ดูซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง Descendants of the Sun เพราะสอดแทรกเรื่องความรักชาติ และรู้จักหน้าที่ของตนเอง ซ้ำท่านยังตกปากรับคำอีกเสียด้วยในทำนองที่ว่า
“ใครอยากสร้างละคร (ให้คนรักชาติ) แบบนี้บ้างให้บอก จะออกทุนให้”
(แน่นอนว่า Descendants of the Sun เป็นซีรี่ส์สัญชาติเกาหลีใต้นะครับ ถึงแม้ถ้าใครไม่เคยดู แถมเพิ่งเคยได้ยินอาจจะเข้าใจผิดได้ว่าเป็นซีรี่ส์ของเกาหลีเหนือก็เถอะ)
แต่เอาเข้าจริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยเสียหน่อย
และก็ไม่ใช่เพิ่งมาประดิษฐ์ขึ้นใหม่เอาเมื่อมีโทรทัศน์กันให้เกร่อไปหมดทุกบ้านแล้วเสียด้วย
ในสมัยที่สยามประเทศไทย ถูกปลุกกระแสรักชาติ-ชาตินิยม ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และยุคต่อเนื่อง ที่กระแสดังกล่าวถูกโหมสะพัดให้เชี่ยวกรากยิ่งขึ้นในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยแรก (16 ธันวาคม พ.ศ.2481-1 สิงหาคม พ.ศ.2487) ได้มีการแต่งทั้ง “บทเพลง” และ “บทละคร” ที่ปลุกใจ เน้นความรักในประเทศชาติ และเผ่าพันธุ์อันสุดแสนจะยิ่งใหญ่ของคนไทย ออกมาเป็นจำนวนมาก
หัวหอกของงานนี้จะเป็นใครคนอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “หลวงวิจิตรวาทการ” คนไทยเชื้อสายจีน ผู้มีบทบาทในการสร้างความเป็นไทย คนสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมาคนหนึ่ง เท่านั้น
นับเฉพาะบทละคร งานประพันธ์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมของหลวงวิจิตรวาทการในช่วงเวลาที่ว่า ก็มีตั้งแต่เรื่องแรก “เลือดสุพรรณ” (พ.ศ.2479) “เจ้าหญิงแสนหวี” (พ.ศ.2481) “น่านเจ้า” (พ.ศ.2482) และเรื่องสุดท้าย “พ่อขุนผาเมือง” (พ.ศ.2483)
แต่อันที่จริงแล้ว ตลอดช่วงระยะตั้งแต่ พ.ศ.2479-2483 นั้น ยังมีบทละครของหลวงวิจิตรวาทการ ที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าทั้ง 4 เรื่องดังกล่าว อีกถึง 5 เรื่อง นับรวมเป็นทั้งหมด 9 เรื่องเลยทีเดียว
บทละครทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็น “นิยายอิงประวัติศาสตร์” ซึ่งง่ายต่อการถ่ายทอด และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ชม ด้วยเรื่องของวีรชนชาติไทย ทั้งบุรุษ และสตรี ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชและเผ่าพันธุ์ไทย ผ่านบทพูด และการแสดงประกอบเพลง มีการนำท่ารำเก่าแก่มาดัดแปลงให้น่าดูน่าชมตามสมัยนิยม
ในขณะเดียวกัน บทละครของหลวงวิจิตรวาทการเหล่านี้ก็มอบความทันสมัยให้กับผู้ชม ไม่ได้ซ้ำซาก หรือให้ความรู้สึกโบราณคร่ำครึสำหรับคนไทยในสมัยนั้นเลยแม้เพียงสักนิด ละครของหลวงวิจิตรวาทการจึงได้รับการต้อนรับอย่างแพร่หลายในพระนคร
ที่สำคัญก็คือ รัฐบาลก็ได้สนับสนุนให้มีการส่งบทละครไปยังโรงเรียนต่างๆ ในต่างจังหวัด เพื่อให้มีการแสดงละครที่ส่งเสริมความ “รักชาติ” และก่อให้เกิดแนวคิดแบบ “ชาตินิยม” ทำนองนี้กันอย่างแพร่หลาย
และถึงแม้ว่า จอมพล ป. ท่านจะถูกสอยลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเลือกข้างผิด เพราะไปประกาศจุดยืนประเทศร่วมอยู่กับฝ่ายอักษะ ซึ่งแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต้องไปติดแหง็กอยู่ในซังเตอยู่นาน
แต่เมื่อท่านได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม ในเรือน พ.ศ.2491 ซึ่งท่านสวมหัวโขนนายกรัฐมนตรียาวนานกว่าครั้งก่อน คืออยู่จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2500 โน่นเลยทีเดียว
ในช่วงปลายของรัฐบาลจอมพล ป. ครั้งหลังนี้เอง ที่หลวงวิจิตรวาทการได้ประพันธ์บทละครชุดใหม่ที่ชื่อว่า “อานุภาพพ่อขุน” ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งก็ยังได้เสียงตอบรับอย่างดีเหมือนเคย
บทละครชุดอานุภาพพ่อขุน ก็ไม่ต่างอะไรไปจากบทละครทั้ง 9 บทที่มีมาก่อนหน้า คือเป็นบทละครอิงประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยวีรชนชาติไทย และปลูกฝังความรักชาติ และชาตินิยมผ่านบทละคร
บทละครของหลวงวิจิตรวาทการทั้งสองสมัย จึงไม่ต่างอะไรกับที่ท่านผู้นำคนปัจจุบัน อยากจะส่งเสริมให้ผลิตละครที่สอดแทรกเรื่องความรักชาติ เหมือนอย่างในซีรี่ส์เกาหลีนักหรอกนะครับ
ในขณะเดียวกันก็จะเห็นได้ว่า ลักษณะการส่งเสริมให้ “รักชาติ” ในทำนองนี้ เกี่ยวพันอยู่กับสิ่งที่เรียกกันว่า “ชาตินิยม” อย่างแยกกันไม่ขาด และเราก็เอามาจากฝรั่งเขาทั้งคู่
อย่างน้อยที่สุด จินตกรรมถึง “ชาติ” ที่มีอาณาเขตแน่นอนอยู่บนแผนที่ (จนไม่สามารถให้ใคร ชาติอื่น เข้ามารุกล้ำอธิปไตยของเราได้ ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่มาก่อนที่สยามจะมีแผนที่เป็นของตัวเองก็เถอะ!) แบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่สยามไม่เคยมีมาก่อนช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ที่เราสามารถตกลงทำสัญญาปักปันเขตแดนบริเวณภาคอีสานกับฝรั่งเศสได้เป็นผลสำเร็จแน่
แต่ทั้งคำว่า “รักชาติ” และคำว่า “ชาตินิยม” กลับให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างลิบลับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ อาจดูได้จากส่วนหนึ่งในปาฐกถาของ ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gualle, พ.ศ.2433-2513) รัฐบุรุษ ควบตำแหน่งนายพล อดีตประธานาธิบดี อดีตนายกรัฐมนตรี และอะไรอีกหลายอย่างของประเทศฝรั่งเศส ได้กล่าวเอาไว้ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตหนึ่งปีว่า
“ความรักชาติคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณรักประชาชนของตนเองเป็นอันดับแรก ส่วนชาตินิยมคือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณคำนึงถึงความเกลียดชังต่อประชาชนคนอื่น ที่ไม่ใช่คนของคุณเองก่อนเป็นอย่างแรก”
อย่างไรก็ตาม คำว่า “ความรักชาติ” นั้น ไทยเราแปลมาจากศัพท์ฝรั่งว่า “patriotism” ที่มีรากมาจากคำ “patri?t?s” หรือ “patrios” ในภาษากรีกโบราณ ซึ่งมีความหมายดั้งเดิมว่า “ที่มีพ่อคนเดียวกัน” อีกทอด
จึงไม่แปลกอะไรนักที่ฝรั่งจะมีคำว่า “แผ่นดินของพ่อ” (fatherland) ควบคู่ไปกับ “แผ่นดินของแม่” (motherland)
และความรักชาติแบบนี้ย่อมไม่ค่อยจะเผื่อแผ่มารัก ลูกคนละพ่อกับตัวเองสักเท่าไหร่
ส่วนคำว่า “ชาตินิยม” ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเราแปลมาจากศัพท์ “nationalism” ของฝรั่ง ที่ตามพจนานุกรม Merriam-Webster ซึ่งเป็นพจนานุกรมมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับฉบับหนึ่งของโลก ให้จำกัดความไว้ว่า ความภักดีและการอุทิศตนให้แก่ชาติ จนทำให้รู้สึกว่าชาติของตนเองมีฐานะเหนือกว่าชาติอื่นๆ จึงมีการเน้นย้ำและยกระดับให้วัฒนธรรมและสิ่งต่างๆ ของชาติตนเองขึ้นมาเพื่อต่อต้านชาติ หรือกลุ่มนานาชาติอื่นๆ
ดังนั้น เมื่อไทยเราผูกศัพท์คำว่า “ชาตินิยม” ขึ้นมา สำหรับให้ความหมายคำว่า “nationalism” คำว่าชาตินิยมจึงไม่สามารถมีความหมายที่ดีไปได้เสียหมด เพราะเนื้อแท้ในภาษาอังกฤษหมายถึงการ “ยกตนข่มท่าน” ซ้ำยังเป็นการข่มกันแบบหลอกๆ เสียด้วย การที่มีผู้คิดว่าชาตินิยมอาจจะเป็นเรื่องที่ดีได้ ถ้านำไปใช้ให้เหมาะให้ควรจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เมื่อพิจารณาถึงเนื้อแท้ จากรากดั้งเดิม
ในทัศนะของกลุ่มนักคิดแบบสมัยใหม่ (modernist) ชาตินิยมเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับ “ประดิษฐ์” อัตลักษณ์ของชาติ
แต่การประดิษฐ์ที่ว่าไม่ได้หมายถึงการ “สร้าง” ขึ้นใหม่เพียงอย่างเดียว เพราะในการประดิษฐ์อัตลักษณ์ของชาตินั้นจะต้องมีทั้งการ “ตัด” และ “ทอน” ความหลากหลายของสิ่งที่โดนประกอบเข้ามาเป็น “ชาติ” อยู่ด้วยเสมอ
ดังนั้น ในขณะที่แนวคิดชาตินิยมกำลังสร้างความเป็น “ชาติ” ขึ้นมา แนวคิดดังกล่าวก็กำลังผลักให้คนหลายๆ กลุ่ม (ที่ถูกประกอบเข้ามาเป็นชาติด้วยเหมือนกัน) กลายเป็นคนชายขอบหรือคนกลุ่มน้อย เพียงเพราะว่ามีลักษณะทางวัฒนธรรมไม่ต้องตรงกับลักษณะที่ถูก “เลือก” ให้เป็นอัตลักษณ์ของชาติ
ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ มุสลิมที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะรู้สึกว่าเขาเป็นคนไทยได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธอย่างคนภาคกลางส่วนใหญ่ และไม่ได้ใช้ภาษาไทยกรุงเทพฯ เป็นหลัก ในการสนทนากับผู้คนรอบๆ ตัวในชุมชนท้องถิ่นของเขา? (เช่นเดียวกับในอีกหลากหลายท้องที่ของประเทศ ไม่ได้มีเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น)
และก็อย่างที่ก็เห็นหลักฐานทนโท่อยู่ในปัจจุบันว่า การบังคับให้พวกเขาสวมร่างความเป็นไทย แบบที่มักจะจำกัดความกันมันก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงสักเพียงไหน?
ความรักชาตินั้นทำให้มีข้อดีก็ได้ แต่มักจะทำกันได้ไม่ดี และก่อให้เกิดความรักชาติแบบผิดๆ ที่รังเกียจเดียดฉันท์ความเป็นอื่น และถ้าจะสร้างซีรี่ส์ให้รักชาติแบบผิดๆ อย่างที่เคยเป็นมาแล้ว ก็อย่าไปทำมันเลยจะดีกว่า เพราะความรักชาติ ที่รังเกียจความเป็นอื่นนั้น ไม่เคยให้คุณใดๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับชาติใดในโลก