วิรัตน์ แสงทองคำ : ดีลเบียร์ช้าง-สตาร์บัคส์ในมิติอื่น

แผนการเข้าสู่ธุรกิจกาแฟครบวงจรของธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย อาจมีความหมายมากกว่าที่คิด

ดูเผินๆ กรณี Fraser and Neave, Limited หรือ F&N (ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มทีซีซี) ในฐานะบริษัทร่วม (associated company) ของไทยเบฟเวอเรจ หรือไทยเบฟ (มักเรียกกันว่าเบียร์ช้าง) เข้าดำเนินกิจการเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ในประเทศไทย เป็นโมเดลธุรกิจคล้ายกับดีล KFC เมื่อ 2 ปี (สิงหาคม 2560)

“ไทยเบฟ ได้บรรลุข้อตกลงซื้อขายสินทรัพย์กับ Yum Restaurants International (Thailand) เพื่อเข้าซื้อกิจการ KFC กว่า 240 แห่งในประเทศไทย ประมาณการว่าจะใช้เงิน 11,300 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการธุรกิจอาหาร”

เครือข่ายร้าน KFC ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2527 ด้วยความสัมพันธ์กับกลุ่มเซ็นทรัลสาขาแรกเปิดที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ปัจจุบันเซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ป หรือ CRG บริหารเครือข่ายร้าน KFC ประมาณ 230 แห่ง

เครือข่ายสาขา KFC อีกส่วนหนึ่ง ดำเนินการเองโดยเจ้าของแบรนด์จนมาถึงช่วงเวลาหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงแนวทางธุรกิจครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้น ตามแผนขายสาขา ให้กับคู่สัญญาถือสิทธิ์รายใหม่ ล็อตแรกให้กับ Restaurants Development (RD) ราวปี 2549

RD เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยและอาเซียน ได้รับการสนับสนุนโดย Asian Industrial Growth Fund Pte Ltd (AIGF) กองทุนซึ่งก่อตั้ง ณ ประเทศสิงคโปร์ (ปี 2548) โดยธนาคารญี่ปุ่น Mitsubishi Corporation และ Development Bank of Japan กับกลุ่มธนาคารมาเลเซีย (CIMB Group)

ปัจจุบัน RD บริหารเครือข่ายร้าน KFC มากกว่า 150 แห่ง

ส่วนดีล KFC มาจากแผนการขายสาขาล็อตสุดท้ายจำนวน 240 สาขา เปิดฉากขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2560 เพื่อปรับการบริหารร้าน KFC เป็นระบบแฟรนไชส์ (Franchise) 100% เช่นเดียวกัน

ตั้งแต่ต้นปี 2561 เครือข่าย KFC ราวๆ 600 สาขา กับคู่ค้า 3 รายในประเทศไทยพร้อมเดินหน้าตามโมเดลใหม่อย่างเต็มกำลัง ประหนึ่งเป็นการแข่งขันทางธุรกิจโดยนัย โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจใหญ่ 2 รายอย่างกลุ่มทีซีซีกับกลุ่มเซ็นทรัล พร้อมกับโจทย์ทางธุรกิจที่ตั้งไว้ ในแผนการความพยายามให้ธุรกิจเติบโตต่อไป

“ตามเป้าหมายจะมีกว่า 800 สาขาภายในปี 2563” ซึ่งถือว่าเป็นแผนการเชิงรุก

 

ส่วนกรณีดีล Starbucks มีโครงสร้างธุรกิจแตกต่างไปบ้าง เครือข่ายสาขาในประเทศไทย 372 แห่ง บริษัทผู้มีสิทธิ์ในแฟรนไชส์มีเพียงรายเดียว จุดแตกต่างอย่างน่าสนใจคือ Coffee Concepts Thailand ผู้ดำเนินการรายใหม่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือข่ายธุรกิจใหญ่ระดับภูมิภาค ระหว่างไทยกับฮ่องกง ดังรายละเอียดนำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว โดยสรุปไว้ว่า

“โครงสร้างผู้ถือหุ้น อำนาจในการบริหาร Starbucks ในประเทศไทย ระหว่างฝ่ายไทยกับฮ่องกงมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน หากพิจารณาทางคณิตศาสตร์อย่างเจาะจงมากขึ้น จะพบว่าฝ่ายฮ่องกงดูจะมีน้ำหนักมากกว่า”

ฝ่ายฮ่องกงย่อมมีน้ำหนักมากขึ้นในฐานะมีความสัมพันธ์กับ Starbucks มานานเกือบ 2 ทศวรรษ ในฐานะผู้ถือสิทธิ์บริหารเครือข่ายร้าน Starbucks ในหลายประเทศ ทั้ง Hong Kong Macau Singapore Vietnam และ Cambodia

ทั้งนี้ Maxim”s Group แห่งฮ่องกง นอกจากมีความสัมพันธ์กับ Starbucks แล้ว ถือว่าเป็นผู้นำเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างหลากหลาย ทั้งภัตตาคารอาหารจีน เอเชีย ยุโรป รวมไปถึงธุรกิจอาหารจานด่วน (quick service restaurants) และร้านเบเกอรี่มากกว่า 1,300 แห่งใน Hong Kong, Macau รวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่, Vietnam, Cambodia, Singapore และไทย ว่าไปแล้วโมเดลธุรกิจดูคล้ายคลึงกับไทยเบฟ และ F&N

มองในภาพใหญ่ทั่วๆ ไป ถือว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจในระดับภูมิภาค หากมองอย่างเป็นจริง ยุทธศาสตร์การแข่งขันและร่วมมือทางธุรกิจมักคู่ขนานกันไป ดีลระหว่างเครือข่ายธุรกิจใหญ่มัก เป็นความร่วมมือกันอย่างเจาะจงมากขึ้นเป็นกรณีๆ ไป ใช้ความชำนาญที่แตกต่างเสริมกัน แสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ภายใต้ความสัมพันธ์เฉพาะ ในพื้นที่เฉพาะ แต่ละฝ่ายที่เกื้อกูลกัน อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในบ้านเรา ดังตัวอย่างกรณีเซ็นทรัล-ดุสิต ในโครงการพัฒนาใหม่หัวถนนสีลม ทั้งๆ ที่กลุ่มเซ็นทรัลมีธุรกิจโรงแรมเช่นเดียวกันกับดุสิต

อันที่จริง Maxim”s Group แห่งฮ่องกง มีความสัมพันธ์โดยตรงกับไทยเบฟ อย่างเจาะจงที่เมืองไทยมาก่อน มาบ้าง ดังกรณีร่วมทุนก่อตั้งเครือข่ายร้าน MX Cakes & Bakery และเปิดร้านอาหารญี่ปุ่น Genki Sushi

ภาพความสัมพันธ์ที่ใหญ่ขึ้น Maxim”s Group เป็นกิจการหนึ่งอยู่ในเครือข่าย Dairy Farm ผู้นำธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในภูมิภาค ก่อตั้งที่ฮ่องกง โดยหมอผ่าตัดชาวสก๊อตมากว่าศตวรรษแล้ว มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายธุรกิจ จากร้านอาหารสู่ Supermarkets / Hypermarkets Convenience stores และอื่นๆ มีเครือข่ายรวมกันมากกว่า 9,700 แห่งในหลายประเทศ รวมทั้งถือสิทธิ์ 7-Eleven ใน Hong Kong, Macau, Singapore และจีนตอนใต้ ถือสิทธิ์ IKEA ใน Hong Kong, Indonesia, Macau และ Taiwan

ภาพนั้นย่อมสัมพันธ์และเทียบเคียงกับกลุ่มทีซีซี ในฐานะ holding company เครือข่ายธุรกิจใหญ่หลากหลาย รวมทั้งเป็นผู้นำเครือข่ายค้าปลีกระดับภูมิภาครายใหม่ด้วย เพิ่งบุกเบิกสู่ค้าปลีกอย่างจริงจังมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เปิดฉากขึ้นเมื่อต้นปี 2559 ด้วยดีลมูลค่าราว 200,000 ล้านบาทซื้อเครือข่าย Big C ในประเทศไทยมากกว่า 120 สาขา ในช่วงเดียวกันกับดีลมูลค่าเกือบๆ 3 หมื่นล้านบาท ซื้อ METRO Cash & Carry (มีสาขาค้าส่งแบบบริการตนเองที่เรียกว่า Cash & Carry ทั้งสิ้น 19 สาขา) ในประเทศเวียดนาม

สิ่งที่เป็นไปได้ กลุ่มทีซีซีมองภาพใหญ่กว่านั้น อาจจะก้าวขึ้นไปเทียบเคียงกับ holding company ที่ใหญ่ครอบ Dairy Farm ซึ่งต่อมาอีกทอดถึง Maxim”s Group นั่นคือ Jardine Matheson Group

อันที่จริงกลุ่มทีซีซีมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงบางระดับไปถึง Jardine Matheson Group แล้ว นอกจากเฉพาะกับ Maxim”s Group แล้ว โดยมีฐานะหุ้นส่วนร่วมกันในกิจการสำคัญในเวียดนาม

Vinamilk ธุรกิจเกี่ยวกับนมซึ่งใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นในช่วงปี 2560 ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนาม [State Capital Investment Corporation (SCIC)] ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 36% รองลงมาคือ Fraser and Neave, Limited หรือ F&N ในเครือข่ายทีซีซีในสัดส่วน 21% และ Jardine Cycle & Carriage แห่งสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นกิจการในเครือข่าย Jardine Matheson ถือหุ้นในสัดส่วน 10%

กลุ่มทีซีซี โดยเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้มีประสบการณ์ธุรกิจมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม กว่าจะก่อตั้งกลุ่มทีซีซีอย่างจริงจัง อย่างเป็นรูปเป็นร่างก็หลังสงครามเวียดนามแล้ว เรื่องราวของเขาน่าสนใจเป็นพิเศษ ในฐานะผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจ จากระบบสัมปทานแบบเก่าที่หลงเหลืออยู่ “เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างฐานธุรกิจมาด้วยความยากลำบาก เป็น “คนสุดท้าย” ในระบบเศรษฐกิจเก่า ที่มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์และสัมปทาน” ผมเขียนถึงเจริญ สิริวัฒนภักดี ในทำนองนี้หลายครั้งหลายครา

กลุ่มทีซีซียังอยู่ในยุคก่อตั้ง กำลังมีความพยายามอย่างเต็มกำลังในแผนการส่งผ่านธุรกิจสู่รุ่นที่สอง พร้อมๆ กับการปรับตัว พลิกโฉมหน้าธุรกิจ ให้พ้นร่องรอยจากยุคสัมปทานเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สู่ธุรกิจยุคใหม่ หลากหลายมากขึ้น ความพยายามของกลุ่มทีซีซีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตื่นเต้น เร้าใจ เป็นตำนานหน้าหนึ่งยุคใหม่สังคมธุรกิจไทย หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจ ได้นำเข้าบริษัทหลักแห่งหนึ่ง-ไทยเบฟเวอเรจ หรือไทยเบฟ เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (SGX) เมื่อปี 2549 จากนั้น (ปี 2555) ก้าวสู่บทบาทระดับภูมิภาคอย่างคึกคักมากขึ้นด้วยdkiซื้อกิจการสำคัญในสิงคโปร์-Fraser and Neave หรือ F&N

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบบางมิติกับ Jardine Matheson ยังดูห่างไกล ในฐานะ Jardine Matheson อยู่อย่างมั่นคงมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม เกือบจะ 2 ศตวรรษแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่การสิ้นสุดยุคผูกขาดการค้ากับจีนโดย East India Company การก่อร่างสร้างตัว สร้างอาณาจักรธุรกิจของชาวยุโรปในแผ่นดินจีนหรือเกาะฮ่องกง

กลายเป็นตำนานนักธุรกิจที่เรียกกันว่า Tai-Pan เชื่อมโยงกับนวนิยาpยอดนิยมแห่งยุค Tai-Pan by James Clavell (1966)

 

บทเรียนและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจในความหมายกว้างขึ้นกว่าอดีต จากยุคสัมปทานรัฐไทย จากสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐ ในเชิงภูมิศาสตร์ที่กว้างขึ้น ไปสู่นามธรรมมากขึ้น ว่าด้วยความรู้ บทเรียนและโมเดลธุรกิจ

อ้างอิงอย่างกว้างๆ กับโมเดลและยุทธศาสตร์ธุรกิจ Jardine Matheson คงอยู่รอดและเติบโตได้ ท่ามกลางโอกาสที่พลิกผัน กับสถานการณ์ที่ผันแปรอย่างมากมาย ภายใต้การปรับตัวอย่างยืดหยุ่น เxHนประสบการณ์เข้มข้นอันอุดมมากกว่ากลุ่มทีซีซีนัก ขณะที่ดูไปแล้วโครงสร้างธุรกิจมีส่วนคล้ายคลึงกลุ่มทีซีซีเครือข่ายธุรกิจเยาว์วัย นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีธุรกิจสำคัญอื่นๆ อีก โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรม

บทเรียนที่น่าสนใจกว่านั้น สำคัญกว่านั้น อาจว่าด้วยการดำรงอยู่ของธุรกิจครอบครัว ไม่ว่า Jardine Matheson มีเครือข่ายธุรกิจมากมาย กิจการหลักๆ ส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งฮ่องกงและลอนดอน แต่การบริหารยังอยู่ในกำมือของตระกูล Tai-Pan อย่าง Keswick family ผู้มีบทบาทในการบริหาร Jardine Matheson อย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคก่อตั้งสู่รุ่นที่ 5 แล้วในปัจจุบัน

กลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ในช่วงทศวรรษแห่งการขยายอาณาจักรอย่างครึกโครม ยังมีกระบวนการสำคัญซ่อนอยู่ เพื่อการสานต่อ ส่งต่อธุรกิจทายาทรุ่นที่ 2 ในฐานะธุรกิจครอบครัวอันทรงทรงพลังและเข้มข้น ดูจะมุ่งมั่นมากกว่าธุรกิจครอบครัวใดในสังคมไทย

บทเรียนแห่งสายสัมพันธ์ กับ Jardine Matheson อาจมีคำตอบให้ ก็เป็นได้