“เจ้าหญิงแห่งดอกไม้” กัมพูชา ผู้มีสิริโฉมประหนึ่งนางอัปสรา กับรักที่สังเวยแด่…ความอาดูร

พระธิดาองค์โตในพระบาทนโรดม สีหนุ-พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศพระองค์ก่อน เคยได้ชื่อว่า เป็นพระเจ้าลูกเธอที่ทรงสิริโฉมองค์หนึ่งของกัมพูชา (หรืออาจจะของโลกเพลานั้น)

ทรงภารกิจเคียงข้างพระชนกนโรดม สีหนุ บ่อยครั้ง จนเกือบจะเรียกว่าทดแทนตำแหน่งสมเด็จราชินีที่เว้นลง โดยสมเด็จเทวีสีโสวัตถิ์ พงศานมณี นั้น ไม่ทรงออกงานเคียงข้างพระสวามีตลอดระยะเวลาที่อภิเษก (2485-2494)

หลังจากเว้นว่างเวลานั้น ผู้ที่กลับออกงานราชพิธีสำคัญๆ กลับเป็นพระองค์เจ้าหญิงบุปผาเทวี ที่ฉายแววมีพระสิริโฉมงดงาม จนได้รับการกล่าวขวัญลือเลื่อง

โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 60-70 ขณะที่พระชนม์ 20 ชันษาต้นๆ ทรงมีความงามสะพรั่ง ในชุดผ้าไหมนวลทองและต้องกันกับเครื่องอลังการ อาทิ มงกุฎเศียรอัปสราที่ขับกับผิวกายเนียนคล้ำแต่เปล่งปลั่งดั่งเปลวเทียนดังภาพฉายาลักษณ์ขาวดำที่ปรากฏ ทรงมีรอยยิ้มปริศนา ไม่ต่างจากภาพประติมากรรมนูนต่ำเหล่านางอัปสราบนปราสาทหินนครวัด

นั่นไฉน ทำไมผู้คนจะไม่หลงใหลในบุปผาเทวี “เจ้าหญิงแห่งดอกไม้” องค์นี้เล่า?

เพราะลำพังชื่อเสียงของพระบาทนโรดม สีหนุ จะเป็นที่เลื่องลือแล้ว พระองค์ก็ยังมีพระธิดา นาม “เจ้าหญิงบุปผาเทวี” ผู้มีสิริโฉมงดงามประหนึ่งนางอัปสรา ที่สร้างปรากฏการณ์ให้ราชวงศ์เขมรินทร์เป็นที่โจษจัน ถึงความงามอันเกิดจากลักษณะที่วิจิตร

โดยเฉพาะในยามที่พระองค์แต่งเครื่องทรงเป็นนางละคร

หม่อมเนียะมะเนียงพัต กุลฑล ก็เหมือนคนอื่นๆ คือเป็นสตรีในวังที่ได้รับการเอ็นดูจากสมเด็จพระชนนีโกสะมัก ในฐานะที่ให้กำเนิดพระธิดาบุปผาเทวี (พ.ศ.2486) แต่ดูเหมือนหน้าที่ของหม่อมห้ามก็ดูจะหยุดลงแค่จุดนั้น

ขณะที่พระธิดาบุปผาเทวีก็เจริญวัย โชคดีที่หม่อมสามารถกราบบังคมทูลลา ออกไปตั้งต้นเริ่มชีวิตใหม่นอกวังอย่างปกติและอิสระ

ส่วนบุปผาเทวีนั้น สำเร็จการศึกษามัธยมต้นที่ลิเซ่นโรดมกรุงพนมเปญ

อายุ 15 ปี ทรงออกงานพระราชพิธีรำถวายต่อหน้าพระพักตร์และอาคันตุกะต่างชาติ

อายุ 18 ปี ก็ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวนางรำเอกแห่งวังหลวงอย่างเป็นทางการ

จากนั้น ภารกิจในฐานะขัตติยนารีแห่งราชสำนักกำโพชที่โดดเด่นแห่งยุคก็เริ่มย่างเป็นลำดับ

ทรงได้ชื่อว่า เป็นสตรีสร้างชื่อเสียงสรฺกขะแมร์มากที่สุดคนหนึ่ง

นอกจากสิริโฉมงดงามแล้วยังมาจากความสามารถและคุณสมบัติด้านศิลปะการแสดง ที่มาจากพรสวรรค์และการฝึกฝนอย่างหนักตามระเบียบแห่งราชสำนัก

โดยมีสมเด็จย่าโกสะมัก ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระชนนี คอยเคี่ยวกรำพระเจ้าหลานเธอที่ฉายแววทั้งสรีระ หน้าตาและทรวดทรง มือ เท้า แขน ขาที่เหมาะจะเป็นนางรำ

และด้วยเหตุนี้เอง จึงยอมแหกกฎ ยอมเอาลูกหลานหลวงมาเป็นนางละคร “พระราชตร็อป”

แต่ก็ทรงทำสิ่งที่มากกว่า นั่นคือ ได้ทรงสร้างเครื่องอลังการเศียรชฎาขึ้นมาใหม่ในแบบ “นางอัปสราแห่งนครวัด” ที่สวยงามและโดดเด่นแก่บุปผาเทวี จนกลายเป็นเครื่องทรงของนางละครที่ถูกจดจำ และเป็นแบบพิมพ์ที่คลาสสิคที่สุด และรุ่งเรืองเฟื่องฟูถึงขีดสุดยุคหนึ่งของวงการละครโบราณกัมพูชา

นั่นคือ ยุคที่ใบหน้าของบุปผาเทวี คือสัญลักษณ์ที่ถูกจดจารประหนึ่งงานศิลปะร่วมสมัย

 

ศิลปะร่วมสมัยชิ้นนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่จดจำแต่ความวิจิตรด้านการแสดงเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสมบัติร่วมสมัยทางจารีตของสิ่งที่เรียกว่าราชสำนักอีกด้วย

นั่นคือ จารีตแห่งราชสำนักที่ได้ปฏิบัติสืบทอดมายาวนานในหมู่วงศ์เทวัญ และการสมรสระหว่าง “สีโสวัตถ์-นโรดม” และเป็นเหมือนการสืบทอดประเพณีดังกล่าว ในหมู่สมาชิกที่เป็นเสมือน “ญาติวงศ์” ขณะยังทรงพระเยาว์

อันเป็นปรกติธรรมเนียมที่โลกภายนอกอย่างตะวันตกอาจไม่คุ้นเคย และไม่ทราบว่า เจ้าหญิงบุปผาเทวี ที่พวกเขาคลั่งไคล้นั้น ก็อยู่ในจารีตดังกล่าวด้วย

โดยในปี พ.ศ.2507 เมื่อกษัตริย์นโรดมสีหนุเสด็จเยือนฝรั่งเศส และดูเหมือนจะเป็นราชประเพณีนิยมไปแล้วตั้งแต่รัชกาลพระบาทสีโสวัตถิ์ ที่ต้องมีคณะละครหลวงติดตามไปด้วย

การเสด็จประพาสครั้งนี้ ทำให้พระเจ้าลูกเธอบุปผาเทวีได้รับการกล่าวขวัญในหมู่นักการทูต สื่อมวลชนยุโรปที่ตีพิมพ์ภาพเจ้าหญิงบุปผาเทวีขณะมีพระชนมายุได้เพียง 21 ชันษา ว่า สิริโฉมงดงามนัก

ขณะเดียวกันก็ตกตะลึงว่า มีเรื่องลับๆ ของชาววังที่ชาวบ้านๆ ทั่วไป ไม่อาจเข้าใจหรือรับทราบ กระทั่งเมื่อเจ้าหญิงบุปผาเทวี (ในฐานะนางรำ) ได้พบรักกับบุตรชายนักการทูตหนุ่มรูปงามที่ชื่อ มร.บูรโน ฌัก ฟอร์ซินแน็ตตี

ฟ้าลิขิตเบาๆ ให้พวกเขามาพบกันที่ฝรั่งเศส และเป็นเหตุการณ์ที่รักอำพรางข้ามฐานันดรได้เกิดขึ้นนั่น

ทั้งสองตกหลุมรักกันเหมือนเทพนิยายแห่งความฝัน เป็นความรักอย่างฉับพลัน รึอาจจะเป็นรักแรกของทั้งสองเลยทีเดียว

ทว่า ตอนนั้น พระองค์หญิงผู้เพิ่งจะผลิวัยสาวสะพรั่ง ทรงมีลูกเป็นธิดาน้อยน่ารักแล้วถึง 2 คน คือ หม่อมเจ้าหญิงสีโสวัตถิ์ มุนีกุสกุมะ (2503) และ หม่อมเจ้าหญิงสีโสวัตถิ์ กัลยาณเทวี (2504)

ว่ากันว่าทรงแต่งงานครั้งแรกตั้งแต่อายุ 15 ปี (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวกัมพูชาที่แต่งงานแต่อายุยังน้อย) ขณะที่เทิร์นโปรเป็นนางรำอย่างเต็มตัว

การสมรสครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2502 กับหม่อมเจ้านโรดม นรินทรวรมัน แต่ทรงเลิกรากันไปในปีถัดมาและไม่พบว่ามีบุตร

กระทั่ง ทรงมาสมรสกับพระสวามีองค์ที่ 2 ในปี พ.ศ.2503 กับพระองค์เจ้าสีโสวัตถิ์ มุนีชีวัน และมีพระธิดา 2 องค์ดังกล่าว

 

เจ้าหญิงบุปผาเทวีทรงมีชีวิตนอกจารีตในต่างแดนเป็นครั้งแรก ทรงออกเดตและใช้ชีวิตคู่กับพระสวามีคนที่ 3 มร.บูรโน ฟอร์ซินแน็ตตี ระหว่างออนทัวร์การแสดงในปี 2507

ไม่แน่ชัดว่า ทรงเลิกร้างกับพระองค์เจ้าสีโสวัตถิ์ มุนีชีวัน ในปี พ.ศ.2505 ก่อนจะพบกับฟอร์ซินแน็ตตีหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ยังเป็นความรักที่เต็มไปด้วยอุปสรรค กึ่งปิดบังอำพราง

กระนั้นก็ตาม ทั้งสองก็มีพยานรักน้อยๆ เป็นอนุสรณ์คล้องใจคือ เด็กหญิงแก้ว จินสตา ฟอร์ซินแน็ตตี (2508)

ซึ่งทั้ง แก้ว จินสตา ฟอร์ซินแน็ตตี และบิดาดูจะเป็นบุคคลที่ไร้ตัวตนในสังคมกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2510 พระเจ้าลูกเธอก็ทรงสมรสใหม่อีกครั้งภายในพระราชวัง เนื่องจากพระสวามีลำดับที่ 4 มีฐานะเป็นถึงสมเด็จกรมขุนสีโสวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์

ทรงมีทายาทตามลำดับ 2 องค์ คือ หม่อมเจ้าสีโสวัตถิ์ ชีวันฤทธิ์ (2511) และ หม่อมเจ้าสีโสวัตถิ์ วัชรวุธ (2516) ทว่า ก็จบลงที่การหย่าร้าง (2532)

สมรสครั้งที่ 5 กับบุคคลที่ทรงใกล้ชิดในวังมายาวนานอย่าง เอกอุดมเก็ก วันดี ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาในพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนและองค์ปัจจุบัน

เป็นอดีต ส.ส. 2 สมัย และผู้มีความใกล้ชิดกับฟุนซินเปกมานาน แต่กลางปี พ.ศ.2555 เก็ก วันดี ก็ล้มป่วยถึงแก่กรรม

และทิ้งให้สมเด็จพระเรียมบุปผาเทวีเป็นม่าย

 

สมเด็จพระเรียมบุปผาเทวี ซึ่งเป็นคำเรียกแทนฐานันดรศักดิ์ ตำแหน่งพระพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนมุนี ผู้ทรงทุ่มเททำงานเพื่อบ้านเมืองด้านวัฒนธรรม

เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรม (2551-2555) เคยผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนสืบสานภารกิจด้านการละครพระราชตร็อปอย่างต่อเนื่องยาวนานร่วม 2 ทศวรรษ

ทรงนำละครชุดอัปสราออกแสดงทั่วยุโรป-อเมริกาจนประสบความสำเร็จ ทัดเทียมกับสมัยที่ทรงเคยเป็นนางรำตัวเอก

ดังที่กล่าวว่า ภายใต้เครื่องถนิมพิมพาภรณ์อลังการที่เคยแต่งบูชาองค์รำถวายทวยเทพ กาลเวลา ได้ฝังความยิ่งใหญ่ในเกียรติศักดิ์ ที่มาพร้อมกับมนตราแห่งคำสาปในรักที่สังเวยแด่…ความอาดูร