วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การอ่านภาษาจีนแบบทับศัพท์

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ชีวิตอาจารย์กับจีนศึกษา (ต่อ)

เพราะฉะนั้นแล้ว หากใครได้ไปเยือนทะเลสาบแห่งนี้ก็พึงระลึกไว้เสมอว่า แต่เดิมไม่ได้มีขนาดเท่าที่เห็น หากแต่ใหญ่กว่านี้มากมาย

และหากเห็นใต้น้ำใสของทะเลสาบมีพืชคล้ายสาหร่ายขึ้นเต็มไปหมด ก็อย่าได้เข้าใจว่ามันคือธรรมชาติที่งดงาม หากแต่คือตะไคร่น้ำ (algae) ที่เกิดจากการทิ้งมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รอบๆ ทะเลสาบมานานนับสิบปี

ตะไคร่น้ำนี้จะทำให้ปริมาณธาตุอาหารจำพวกฟอสฟอรัสและไนโตรเจนสูงขึ้น แล้วไปกระตุ้นให้พืชสีเขียวและแบคทีเรียสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น จากนั้นก็เจริญเติบโตแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว จนทำให้ระดับออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง กระทั่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

จากเหตุนี้ ทะเลสาบจึงเน่าเสียและยากแก่การฟื้นฟู ทุกวันนี้รัฐบาลท้องถิ่นได้ห้ามทำอุตสาหกรรมรอบๆ ทะเลสาบแล้ว แต่ก็ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าเมื่อไรทะเลสาบเตียนแห่งนี้จะกลับคืนสู่สภาพเดิม

 

ประสบการณ์ในเรื่องต่อมาคือ การทับศัพท์ภาษาจีน

แต่เดิมเรื่องนี้ไม่สู้จะเป็นปัญหาให้ขบคิดมากนัก ด้วยงานศึกษาเรื่องจีนก่อนหน้านี้กว่าสิบปีมักเป็นเรื่องชาวจีนโพ้นทะเล หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ไทยกับจีน ภาษาจีนที่ทับศัพท์กันนั้นโดยมากจะเป็นภาษาถิ่นจีนแต้จิ๋วหรือถิ่นอื่น หาที่จะเป็นภาษาจีนกลางน้อยมาก

แต่พอมาศึกษาเรื่องเศรษฐกิจการเมืองจีน ซึ่งเป็นเรื่องของจีนในยุคคอมมิวนิสต์โดยตรง การทับศัพท์จึงต้องเป็นภาษาจีนกลาง เช่นนี้แล้วการทับศัพท์จึงควรมีมาตรฐานหรือเกณฑ์ในการทับศัพท์ ซึ่งก็ให้ปรากฏว่าเกณฑ์ดังกล่าวมีอยู่หลายสำนัก และทำให้มีคำจำนวนหนึ่งที่ทับศัพท์แตกต่างกันในแต่ละสำนัก

ปัญหาจึงเกิดแก่ตนเองซึ่งไม่ใช่นักภาษาศาสตร์หรือครูสอนภาษาจีน ว่าจะเลือกเกณฑ์ของสำนักใด เพราะแต่ละสำนักต่างก็มีเหตุผลเป็นของตนเอง

ในที่นี้จะเล่าประสบการณ์ตรงเรื่องหนึ่งเป็นตัวอย่างพอให้ได้เข้าใจ ตัวอย่างนี้จะเล่าผ่านการทับศัพท์ตัวโรมัน (Romanization) ในระบบพินอิน (pin-yin)1 ตัว r หรือตัวอาร์ในภาษาอังกฤษ ตัว r ในระบบนี้จะออกเสียงเป็น ยร (ย กับ ร ควบกล้ำ)

ปัญหาจึงมีว่า เวลาจะทับศัพท์ผ่านอักขระไทยควรจะเป็นตัว ย หรือตัว ร ตัวใดตัวหนึ่ง

 

ปรากฏว่า มีอยู่วันหนึ่งได้มีโอกาสนั่งฟังการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้จากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน แต่ที่ถกเถียงกันหนักคือผู้ทรงคุณวุฒิสองท่าน ท่านหนึ่งเป็นอาจารย์สตรีชาวจีนที่สอนภาษาไทยอยู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน

อีกท่านหนึ่งเป็นปัญญาชนจีนที่เกิดในไทย และเคยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้ายในเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 1940 พอเกิดการรัฐประหารใน ค.ศ.1947 (รัฐประหาร พ.ศ.2490) ประกอบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองได้ใน ค.ศ.1949 ท่านก็รู้สึกไม่ปลอดภัย จากนั้นจึงได้เดินทางไปใช้ชีวิตในจีนโดยทำงานให้กับรัฐบาลจีน

หน้าที่หนึ่งที่ท่านได้รับมอบหมายให้ทำก็คือ การอำนวยการแปลสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงจากภาษาจีนสู่ภาษาไทย

ดังนั้น ท่านจึงเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทับศัพท์อยู่ไม่น้อย

 

ประเด็นที่ผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านถกเถียงกันคือ ท่านแรกเห็นว่า คำดังกล่าว (ตัว r) ควรทับศัพท์ด้วยอักษร ร พร้อมกับยกเหตุผลทางภาษาศาสตร์มาอ้างอิงได้อย่างน่าฟัง ส่วนท่านที่สองเห็นว่าควรทับศัพท์ด้วยอักษร ย แต่เหตุผลที่ท่านยกมากลับมิใช่เหตุผลทางภาษาศาสตร์ แต่ก็เป็นเหตุผลในทางปฏิบัติ

ท่านเล่าว่า เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าวแล้วก็พบปัญหาการทับศัพท์จำนวนหนึ่ง และหนึ่งในปัญหานั้นก็คือตัว r ท่านจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือโจวเอินไหล

เมื่อโจวรับทราบปัญหาก็แนะนำว่า ให้เชิญชาวเป่ยจิง (ปักกิ่ง) แท้ๆ มาจำนวนหนึ่งให้มาออกเสียงให้ฟังว่าเสียงจริงของตัว r คือเสียงใดแน่ เมื่อรู้แล้วก็ให้ทับศัพท์ตามนั้น ที่ว่าต้องเป็นชาวเป่ยจิงแท้ๆ ก็เพราะว่าเสียงภาษาจีนกลางที่ใช้กันในทุกวันนี้เป็นเสียงตามมาตรฐานของจีนเป่ยจิง

ส่วนที่ว่าชาวเป่ยจิงแท้นั้นก็คือ ต้องเป็นผู้ที่เกิดและโตที่เป่ยจิงมาหลายชั่วคน สำเนียงภาษาที่ใช้จะไม่มีสำเนียงถิ่นอื่นมาปะปน

หลังจากนั้นจึงได้เชิญชาวเป่ยจิงนับสิบคนตามคุณสมบัติดังกล่าวมาเข้าห้องแล็บ ซึ่งคนที่เรียนภาษาต่างชาติเป็นภาษาที่สองจะรู้จักห้องนี้ดี เพราะเป็นห้องที่ใช้ฟังและฝึกออกเสียงให้ตรงกับเสียงจริงของภาษาที่ตนเรียน

วิธีการทดสอบเป็นไปโดยให้ชาวเป่ยจิงแต่ละคนออกเสียงตัว r ผ่านคำจีนจำนวนหนึ่งแล้วบันทึกเอาไว้ เมื่อแล้วเสร็จก็จะมาฟังว่าจริงๆ แล้วเสียงตัว r คือเสียงใดแน่ โดยใช้วิธีบังคับให้แถบบันทึกเสียงเดินช้าลง เสียงที่ออกมาก็จะช้าลงจนฟังได้อย่างชัดเจน

จากนั้นท่านก็เล่าต่อว่า ผลที่ออกมาพบว่าเป็นเสียงตัว ย นำเสียง ร นับแต่นั้นมาคณะผู้แปลภายใต้การอำนวยการของท่านจึงทับศัพท์ตัว r ด้วยอักขระ ย เรื่อยมา

จากเหตุนี้ เวลาทับศัพท์คำจีนผ่านตัวโรมันคำว่า ren ที่แปล;jk คนหรือมนุษย์ จึงทับว่า เหยิน ไม่เป็นเหริน เป็นต้น

 

เรื่องที่ท่านเล่าข้างต้นนี้ทำให้ที่ประชุมนิ่งเงียบ เพราะเป็นการนำเอาการปฏิบัติจริงมายืนยัน ซึ่งสำหรับตนเองที่ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์หรือนักสัทศาสตร์แล้วจึงต้องนิ่งเงียบ จะมีที่ไม่นิ่งเงียบก็คือผู้ทรงคุณวุฒิท่านแรก ที่ยังคงไม่ยอมรับเรื่องเล่าจากการปฏิบัติจริงดังกล่าว ทั้งนี้มิใช่เพราะมีทิฐิมานะ แต่เพราะท่านมีเหตุผลทางวิชาการของท่าน

อย่างไรก็ตาม ตราบจนทุกวันนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายจีนจะทับศัพท์ด้วย ร มากกว่า ส่วนที่ทับศัพท์ด้วย ย มักจะปรากฏในงานเขียนหรืองานแปลเรื่องจีนของนักเขียนหรือนักแปลไทยที่ไม่ใช่นักวิชาการ

ในกรณีที่ฝ่ายจีนทับศัพท์ด้วย ร นี้ทำให้เห็นว่า การเรียนการสอนภาษาไทยในจีนใช้เกณฑ์ทางวิชาการดังที่ผู้ทรงคุณวุฒิท่านแรกเสนอ

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ท่านเป็นนักเรียนจีนรุ่นแรกที่เรียนภาษาไทยในระดับปริญญาตรี ตอนนั้นนักเรียนรุ่นแรกนี้มีอยู่ไม่กี่คน และเป็นการเรียนที่ริเริ่มโดยโจวเอินไหลเช่นกัน

ด้วยอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้เห็นว่า ต่อไปจีนจะมีความสัมพันธ์กับไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีชาวจีนที่รู้ภาษาไทยเป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากดำรินี้แล้วอีกหลายปีไทยก็ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนใน ค.ศ.1975 ส่วนนักเรียนจีนที่เรียนภาษาไทยรุ่นแรกเหล่านี้ต่อมาได้เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยในจีน ซึ่งก็ถือเป็นอาจารย์รุ่นแรกเหมือนกัน

ปัจจุบันยังคงมีบางท่านที่ทำงานอยู่ในไทยหลังจากเกษียณแล้ว

 

ส่วนตนเองที่มิใช่นักภาษาศาสตร์หรือนักสัทศาสตร์ แต่จำเป็นต้องใช้ภาษาจีนเพื่อศึกษาจีนนั้น ก็หาทางออกสำหรับปัญหาการทับศัพท์ตัว r ให้ตัวเองด้วยการใช้ตัว ญ นับแต่นั้นมา

ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากใครมาอ่านงานเรื่องจีนของตัวเองแล้วเห็นคำทับศัพท์เป็น ญ ก็ขอให้เข้าใจด้วยว่าคือตัวโรมันตัว r ตามระบบพินอิน และเป็นการใช้ด้วยเพราะได้รับฟังข้อถกเถียงดังกล่าวแล้วไปไม่ถูก

แต่กระนั้นก็พบว่ามีผู้ใช้ตัว ญ ดังที่ตัวเองใช้เช่นกัน แต่ไม่มากเท่าผู้ที่ใช้ ร กับ ย

ปัญหาการทับศัพท์ดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีปัญหาการทับศัพท์อีกไม่น้อยในแวดวงจีนศึกษาในไทย ทั้งนี้สุดแท้แต่ใครจะเลือกระบบการทับศัพท์ของสำนักใด

พ้นไปจากปัญหานี้แล้วก็ยังมีเรื่องของการทับศัพท์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน (consistency) เป็นอีกปัญหาหนึ่งด้วยเช่นกัน ที่ว่าทับศัพท์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันนี้หมายถึง หากเราเลือกที่จะทับศัพท์ด้วยอักขระและการสะกดใดแล้วก็ให้ยึดตามที่เลือกนั้นให้ตลอด

เช่น หากทับศัพท์ชื่อสถานที่ที่จีนใช้ประกอบรัฐพิธีสำคัญว่าเทียนอันเหมินแล้ว เวลาที่จะทับศัพท์ชื่อเมืองโบราณอันเป็นที่ตั้งของสุสานจักรพรรดิฉินสื่อ (จิ๋นซีฮ่องเต้) แล้วก็ต้องทับศัพท์ว่าซีอัน ไม่ควรทับเป็นคำว่าอาน ในพยางค์ที่สอง

และเมื่อเลือกที่จะสะกดคำนี้ด้วยวิธีนี้แล้ว การทับศัพท์ในคำอื่นก็ควรใช้วิธีเดียวกันด้วย เช่น คำที่หมายถึงกษัตริย์ควรทับศัพท์เป็นหวัง

ไม่ควรทับว่า หวาง เป็นต้น

——————————————————————————————————————————-
(1) พินอิน (pin-yin) เป็น 1 ใน 4 ระบบการทับศัพท์ภาษาจีน ที่เหลืออีกสามระบบคือ เวดและไจล์ (wade-jile) เยล (yale) และจู้อินฝูเฮ่า ระบบหลังนี้เป็นของจีนมาแต่ดั้งเดิม โดยสามระบบแรกจะใช้ตัวโรมันทับศัพท์แตกต่างกันไปในแต่ละระบบ ปัจจุบันนี้พินอินถือเป็นระบบที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย