รอมฎอนเลือด กระแสและข้อเสนอไม่เกิดความรุนแรงของผู้นำมุสลิม

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นความขัดแย้งทางอาวุธที่ดำเนินการยืดเยื้อมายาวนานถึง 15 ปี ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

แฟ้มภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อเป้าหมายอ่อน ช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนอันมีเกียรติ

(ระหว่าง 24 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2562)

กล่าวคือ วันที่ 26 พฤษภาคม มีระเบิดที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำให้สตรีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุระเบิดที่ตลาดนัด ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้ส่งผลให้มีเป้าหมายอ่อนที่เป็นเด็กเสียชีวิตจากเหตุการณ์ด้วย

วันที่ 30 พฤษภาคม คนร้ายไม่ทราบกลุ่ม/จำนวน ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิด/ขนาด ยิงนางซูไฮลา โต๊ะหาด อายุ 34 ปี ภูมิลำเนาเลขที่ 1 บ.ลูโบ๊ะ ม.6 ต.ผดุงมาตร อ.จะแนะ จ.นราธิวาส (อาชีพลูกจ้างที่ว่าการอำเภอจะแนะที่ศูนย์เยียวยาของ อ.จะแนะ/ขายของ) เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เหตุเกิดขณะที่นางซูไฮลากำลังขายอาหาร/ของหวาน เพื่อเปิดละศีลอด ตั้งอยู่ริมถนน 4115 (ดุซงญอ-สุคิริน) บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 89 บ.ริแง ม.3 ต.ผดุงมาตร อ.จะแนะ จ.นราธิวาส

วันที่ 31 พฤษภาคม คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง อส. แต่ลูกหลงโดนนางอัสมะฮ์ อับดุลอาลีม อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1/2 ม.7 ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นพนักงานจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลสะดาวา ทำหน้าที่ดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านศาลาสอง ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ถูกยิงเข้าที่ลำคอ 1 นัด แต่เนื่องจากเสียเลือดมาก และกระสุนปืนถูกอวัยวะสำคัญ

จึงเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ทุกเหตุการณ์มีเป้าหมายอ่อน อันเป็นผลให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ทำให้องค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ รวมทั้งนักกิจกรรม นักวิชาการในพื้นที่ ออกมาแถลงการณ์แสดงความเสียใจและเรียกร้องให้ทบทวนปฏิบัติการดังกล่าว

โดยเฉพาะที่ตลาดและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เพราะผิดทั้งหลักการอิสลาม หลักทุกศาสนธรรม หลักการสากลภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” (International Humanitarian Law : IHL) แม้ในสถานการณ์การสู้รบ (สงคราม)

แฟ้มภาพ

อาจารย์อับดุลรอมาน ก้อพิทักษ์ นักวิชาการอิสลามชาว กทม. ได้แสดงความรู้สึกต่อเรื่องนี้ว่า #รอมฎอนต้องหลั่งน้ำตาอีกหน ขอประณามการกระทำของบุคคลที่ใจเยี่ยงสัตว์ร้าย และขอพระองค์อัลลอฮ์จงรับนางเป็นส่วนหนึ่งของชาวสวรรค์ด้วย

การสังหารชีวิตของคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียวเท่ากับการสังหารมนุษย์ทั้งมวล จากจุดนี้เอง พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงสั่งห้ามผู้ศรัทธาไว้อย่างรุนแรงไม่ให้สังหารผู้บริสุทธิ์โดยเจตนา ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระองค์ได้ตรัสว่า

“?ผู้ใดสังหารชีวิตหนึ่งโดยมิใช่เป็นการชดเชยอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากการบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้สังหารมนุษย์ทั้งมวล?”

ในอีกโองการหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชี้ถึงผลตอบแทนและการลงโทษอย่างรุนแรงไว้สำหรับบรรดาผู้ที่จงใจสังหารผู้ศรัทธา โดยที่พระองค์ตรัสว่า

“และผู้ใดสังหารผู้ศรัทธาโดยเจตนา ดังนั้น การตอบแทนของเขาก็คือนรกญะฮันนัม โดยที่เขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล และอัลลอฮ์ก็ทรงกริ้วโกรธเขา และทรงสาปแช่งเขา (คือขับออกจากความเมตตาของพระองค์) และทรงเตรียมการลงโทษอันใหญ่หลวงไว้แล้วสำหรับเขา”

นายอับดุลกอเดร์ มัสแหละ นักวิชาการอิสลามอีกคน สะท้อนเรื่องนี้ว่า “ใจคอไม่ยอมให้รอมฎอนจากไปอย่างสงบเชียวหรือ..??”

การก่อเหตุยิงสตรีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต…ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเหตุความไม่สงบ หรือขัดแย้งส่วนตัว มันก็คือการฆ่าชีวิตคนในเดือนรอมฎอน ในช่วงสิบวันสุดท้าย อันเป็นช่วงที่มุสลิมต่างก็ตั้งใจในการทำความดี และเป็นช่วงที่มุสลิมเตรียมตัวต้อนรับวันอีดฟิตร์…

ลักษณะการฆ่าตามข่าว ถือว่าเลือดเย็นมากคือการประกบยิง ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเสมอๆ ในเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้…ก็เข้าอีหรอบเดิมคือ ผู้ก่อเหตุคือใคร คงไม่ต้องบอกว่าทำเพื่ออะไร การฆ่าชีวิตคน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ในอิสลามถือว่าเป็นบาปใหญ่ ยิ่งการฆ่าผู้บริสุทธิ์ด้วยแล้ว…

สิ่งที่น่าสังเกตุคือ ช่วงนี้เป้าหมายที่อ่อนแอ ไร้ทางสู้ จะตกเป็นเป้าใหญ่ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังซึ่งไม่ทราบว่าใครมีเป้าหมายที่ลึก เพื่อให้เกิดข้อสันนิษฐานในมุมกลับ ว่าใครเป็นผู้กระทำ และใครอยู่เบื้องหลัง

สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลาได้เรียกร้องผู้กระทำว่า อย่าล้ำเส้น ฆ่าผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งสมาคมจะร่วมแก้ปัญหาชายแดนอย่างสันติวิธีผ่านการศึกษา และขอเรียกร้องขอพื้นที่สาธารณะปลอดภัยช่วงรอมฎอนและตลอดไป

และในวาระ 10 วันสุดท้ายรอมฎอนและวันตรุษอีดิ้ลฟิตร์ ทางสมาคมยังขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศของสันติภาพให้กลับคืนมาทดแทนความรุนแรงที่สร้างรอยร้าวและบาดแผลมาอย่างยาวนานให้กลับคืนมา

ในขณะที่อาจารย์โซรายา จามจุรี หญิงนักปกป้อง สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นนักวิชาการในสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวด้วยความท้อเเท้ว่า “แล้วจะเหลือใคร? วันนี้ผู้หญิงโดนยิงเสียชีวิตที่นราธิวาส โดยเมื่อปี 2556 สามีเธอก็โดนยิงเสียชีวิต”

ส่วนอาจารย์ ดร.พัทธ์ธิรา นาคอุไรรัตน์ ผู้ทำงานสันติภาพชายแดนใต้กว่า 10 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ระบายว่า “แถลงการณ์จนไม่รู้จะเขียนอะไรแถลงแล้ว” ถึงจะไม่มีถ้อยคำใดจะรังสรรค์ แทนความอึดอัดคับข้องเศร้าเสียใจ ถึงแม้จะไม่มีน้ำตาจะไหล แต่ก็จะเดินหน้าต่อไปเพื่อจะทวงคืนสันติภาพและความเป็นธรรมกลับคืนมา”

ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ประธานฝ่ายวิชาการและการศึกษา คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้มุสลิมเองต้องช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยตนเองผ่าน 3 ปัจจัยคือ ความรู้ ความอดทน และการสักการะต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าอย่างถูกต้อง โดยท่านส่งบทการอ่านศาสนธรรมให้ทุกชุมชนมุสลิมได้อ่าน วันตรุษอิดิ้ลฟิตร์ซึ่งตรงกับ 4/5 มิถุนายน 2562 มีใจความพอสรุปได้

ดังนี้

อันการที่สังคมหนึ่งๆ จะมีความสุขสงบโดยรวมได้นั้น ผู้คนในสังคมดังกล่าวต้องมีวิถีชีวิต มีแนวคิดที่ไม่สุดโต่ง และไม่หย่อนยานเกินไป

พูดอีกนัยหนึ่งคือ มีความคิด และวิถีชีวิตอยู่บนทางสายกลาง หรือความพอดีนั่นเอง และทางสายกลางนี้จะเกิดขึ้นได้จริงต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ ความรู้ ความอดทน และการสักการะต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าอย่างถูกต้อง

1.ความรู้

แม้มนุษย์จะเป็นสิ่งถูกสร้างที่ประกอบด้วยสติปัญญาอันล้ำเลิศ แต่การใช้สติปัญญาเพียงลำพังเพื่อค้นหาความจริงและความถูกต้อง ย่อมไม่อาจทำให้บุคคลบรรลุสู่ทางสายกลางแห่งชีวิตจริงๆ ได้ เพราะสติปัญญาย่อมมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการมองเห็นภายนอกของเราที่มีข้อจำกัด และต้องมีตัวช่วยในการมองเห็น

ตัวช่วยที่จะทำให้ปัญญามองเห็นทางสายกลางได้คือ ความรู้ที่มาจากองค์พระผู้ทรงสร้างมนุษย์ และผู้ทรงประทานทางสายกลางมาให้ ซึ่งก็คือความรู้จากอัลกุรอาน และซุนนะฮฺนั่นเอง

เป็นองค์ความรู้ที่มิใช่เพียงทฤษฎีตัวอักษร แต่ได้ผ่านการพิสูจน์เชิงปฏิบัติมาแล้วว่าสามารถสร้างสันติสุขและความร่มเย็นขึ้นได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติโดยบรมศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ นบีมุหัมมัด?

ดังอัลลอฮฺได้ทรงมีพระดำรัสไว้ในซูรอฮฺ อาล อิมรอน : 164

“แท้จริงอัลลอฮฺทรงมีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อปวงผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพระองค์ส่งศาสนทูตมายังพวกเขา มาทำหน้าที่เผยแพร่โองการแห่งอัลลอฮฺให้พวกเขาฟัง ขัดเกลาพวกเขา และสอนพวกเขา ให้รู้วิถีชีวิตตามคัมภีร์รวมถึงวิทยปัญญาต่างๆ แม้ก่อนหน้านั้นพวกเขาจะอยู่ในภาวะของความหลงผิดอย่างชัดเจนก็ตาม”

การเรียนรู้วิถีชีวิตที่บรมศาสนทูตได้ปฏิบัติตามคำสอนจากคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิม หาไม่แล้วมุสลิมคงหาทางสายกลางไม่เจอ และการหาทางสายกลางไม่เจอ ก็ทำให้มุสลิมมีสถานภาพเป็นผู้หลงทาง 2 แบบ

คือ หากไม่เป็นผู้ลุ่มหลงทางโลกจนกลายเป็นคนที่ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดเพียงเพื่อความสุขฉาบฉวย ก็อาจกลายเป็นคนหลงทางในการเดินไปสู่สวรรค์ได้เช่นกัน

การหลงทางที่นำสู่สวรรค์อาจพบได้ทั้งในรูปแบบของการใช้ความรุนแรง สังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เห็นด้วยกับตนในนามของการญิฮาด หรือการปฏิบัติศาสนกิจที่มุ่งหวังสวรรค์ในอาคิรอฮฺ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของตนบนโลกนี้ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ความรู้ที่นำไปสู่การยึดมั่นต่ออัลกุรอานและซุนนะฮฺจึงจำเป็น และการขาดความรู้ในเรื่องดังกล่าวก็มีแต่ที่ให้เราหลงทิศผิดทางมากขึ้น ดังที่ท่านบรมศาสนทูตยืนยันว่า “ฉันได้ทิ้งสองอย่างไว้แก่พวกท่าน ซึ่งหากพวกท่านยึดมั่นสองอย่างนี้ไว้ ก็จะไม่มีวันหลงทาง คัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และวัตรปฏิบัติแห่งศาสนทูตของพระองค์”

2.ความอดทน

การบรรลุสู่เป้าหมายดีๆ ในชีวิต ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว

อุปสรรคสำคัญส่วนใหญ่อยู่ที่จิตใจของเราเอง ซึงมักยึดความสุขสบายจนไม่อยากต่อสู้ โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อความมั่นคงทางศาสนา เพื่อให้ได้มาซึ่งสวรรค์อันสถาพร ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺวางแนวทางไว้ว่า บุคคลจะบรรลุสู่สวรรค์ได้นั้น จะต้องผ่านบททดสอบของพระองค์เสียก่อน

“พวกเจ้าคิดหรือว่าจะได้เข้าสวรรค์ โดยที่อัลลอฮฺยังไม่ทรงทำให้ประจักษ์ว่าผู้ใดได้ต่อสู้บ้าง และผู้ใดที่อดทนบ้าง”

ทางสายกลางในชีวิตตามแบบฉบับอิสลาม ยามที่โลกคุกรุ่นด้วยไฟแห่งความลุ่มหลงในมายาคติ เป็นสิ่งแปลกหน้า ที่ผู้คนบางกลุ่มพากันต่อต้านอย่างรุนแรง และใช้วิธีการอันหลากหลาย

“พวกเขาปรารถนาจะให้พวกเจ้าปฏิเสธ เหมือนที่พวกเขาปฏิเสธ พวกเจ้าก็จะได้เท่าเทียมกัน(กับพวกเขา)?”

การเรียนรู้ให้เข้าใจทางสายกลาง และลงมือปฏิบัติจริง จึงมีความจำเป็นต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูง การขาดความอดทนอาจทำให้เป็นผู้ขาดความรู้ หรือรู้ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งย่อมกลายเป็นเหยื่อได้

ไม่เป็นเหยื่อของแนวคิดสุดโต่งบางอย่าง ก็เป็นเหยื่อของกระบวนการ “ทำให้ปฏิเสธ” อิสลามได้

แม้จะมีความรู้แล้ว แต่ขาดความอดทน เราก็คงไม่อาจสร้างทางสายกลางขึ้นในสังคมนั้นได้

เพราะการสร้างทางสายกลางดังกล่าวจะต้องต่อสู้กับหลายๆ อุปสรรค ทั้งจากมุสลิมกันเอง บางกลุ่มที่ทำตัวขัดขวางการเติบโตของอิสลามเสียเอง เพราะความโฉดเขลาเบาปัญญา หรือเพราะหวงอำนาจยศถาที่ตนดำรงอยู่

ดังที่เราเห็นได้จากการที่อุละมาอฺสายกลาง หลายท่านในโลกอาหรับต้องเผชิญกับการถูกจับกุมคุมขังทรมาน และถึงขั้นประหารชีวิต โดยไม่มีข้อหาใด นอกจากไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจในการทำให้อิสลามหรือมุสลิมเสียหาย

ขณะที่ในศรีลังกา มุสลิมกำลังถูกไล่ล่าสังหารจากผลการกระทำของขบวนการก่อการร้ายไอซิส

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า การสถาปนาทางสายกลางมิใช่เรื่องง่าย แต่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม

ซึ่งเราจะต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูง จึงจะประสบชัยชนะ

กระนั้นก็ตาม แม้จะยากเย็นเพียงใด เราต้องมั่นใจในชัยชนะเสมอ

เพราะอัลลอฮฺทรงสัญญาไว้ว่า

“โอ ผู้มีศรัทธาทั้งหลาย จงมีความอดทนในส่วนตัวของพวกเจ้า จงอดทนในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จงตื่นตัวพร้อมระวังภัยจากศัตรูอยู่เสมอ และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด เพื่อพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จแท้จริง”

3.การสักการะต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าอย่างถูกต้อง

การทุ่มเทสรรพกำลัง โดยหวังแค่ความสุขทางโลก ทำให้ความสมดุลของชีวิตและสังคมเบี่ยงเบนไป

การถือวัตถุเป็นสรณะของชีวิต ทำให้ความความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเปราะบางและห่างเหิน ซ้ำยังสามารถทำร้ายกันได้ตลอดเวลา ด้วยวิธีการต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความอธรรม

ความเลวร้ายนี้แผ่ลามไปยังสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการบริโภคที่เกินพอดีสร้างเศษซากที่ถูกทิ้งสู่ระบบนิเวศมากมาย

ซ้ำร้ายความโลภโมโทสันก็ยังกระตุ้นให้คนเรารุกเข้าทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง แม้ทรัพยากรเหล่านั้นจะเป็นปัจจัยหลักในการดำรงอยู่ของตนก็ตาม

การทำให้สังคมกลับสู่ความสมดุลระหว่างมิติทางวัตถุกับมิติทางจิตวิญญาณจึงมีความจำเป็น และสามารถทำได้ด้วยการสร้างพื้นที่ให้คนเรามีความตระหนักและสำนึกว่าเรามิได้อยู่เพื่อแสวงหาวัตถุ แต่อยู่เพื่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า และวัตถุก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้เราเดินไปสู่เป้าหมายนั้น

พื้นที่แห่งจิตสำนึกเช่นนี้ มีอยู่เต็มเปี่ยมในการประกอบศาสนกิจต่างๆ ที่อิสลามกำหนดขึ้น ตั้งแต่การกล่าวปฏิญาณตน การละหมาด การซะกาต การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์

ทุกศาสนกิจที่กล่าวถึงล้วนเป็นเป็นสิ่งที่ช่วยตอกย้ำ ผลิตซ้ำ อุดมการณ์แห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับอัลลอฮฺเป็นหลัก คอยฉุดดึงผู้ปฏิบัติมิให้หลงเพริดไปกับค่านิยมต่างๆ ที่ทำให้หลงลืมพระองค์ ตลอดจนวางระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เปี่ยมด้วยวิทยปัญญา อันบุคคลสามารถนำไปเป็นวิถีชีวิตของตนได้ ซึ่งจะก่อเกิดคุณประโยชน์อันมหาศาล ทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติเองและสังคมส่วนรวมด้วย

การรู้จักนำระเบียบแบบแผนแห่งการอิบาดะฮฺมาเป็นแบบแผนแห่งการดำเนินชีวิต ถือได้ว่าเป็นการนำฮิกมะฮฺที่อัลลอฮฺทรงสอน และศาสนทูตได้ปฏิบัติมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง สมดังที่องค์อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “ทรงสอนพวกเจ้าให้รู้จัก (กฎเกณฑ์ใน) คัมภีร์ และ (ทรงสอนให้รู้จัก) วิทยปัญญา”

ระบบศาสนพิธีหรืออิบาดะฮฺ (การสักการะต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าอย่างถูกต้อง) เช่นนี้ จึงเป็นการสร้างสมดุลขึ้นในวิถีชีวิตของคนเรา มิให้เป็นทาสของความสุขทางโลกจนหลงลืมโลกหน้า/อาคิรอฮฺ

ขณะเดียวกันก็มิได้กำหนดให้ต้องขวนขวายสู่โลกหน้า/อาคิรอฮฺ โดยละทิ้งภาคผลทางโลกไปอย่างสิ้นเชิง แต่สามารถหาความสุข ความรื่นเริงบนโลกได้ ในกรอบของการสร้างความเข้มแข็ง

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ 23 องค์กรได้เสนอเรื่องพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ผู้หญิง และผู้บริสุทธิ์

“ให้พื้นที่สาธารณะ อันได้แก่ ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ปลอดภัยมากที่สุด

เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวมีเด็กและผู้หญิงเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในการเดินทางสัญจรไปมา เป็นแหล่งทำมาหากิน จับจ่ายใช้สอย จัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว เป็นจุดนัดพบ พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ที่แสดงถึงอัตลักษณ์และให้คุณค่าต่อจิตวิญญาณของผู้หญิง

รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุตร-หลานด้วย”

ดังนั้น คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้จึงขอเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยและผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย รวมทั้งคนในชุมชนสังคม ดังนี้

1.ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้เด็ก ผู้หญิง และผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบที่นำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และขาดพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงและทุกคนในครอบครัว

2.ขอให้ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายหาทางออกโดยวิธีการทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธ ที่ทำให้เด็ก ผู้หญิง ผู้บริสุทธิ์ และกลุ่มเป้าหมายเปราะบางได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดและไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ และ

3.ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรมกันในรูปแบบประชาหารือสานเสวนา เพื่อหาทางออกในวิถีทางสันติ พร้อมลงมือดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ผู้หญิง ผู้บริสุทธิ์ และทุกคนในชายแดนใต้

#พื้นที่ปลอดภัย

#IHL

#รอมฎอน

หมายเหตุอ่านเพิ่มเติม

1.https://voicefromthais.files.wordpress.com/?/e0b8a5e0b887e0?

2.ข้อเรียกร้องของเครือข่ายสตรีเรื่องพื้นที่ปลอดภัย

เปิดข้อเรียกร้อง – เจาะลึกจุดยืน “สตรีชายแดนใต้” หลังนายกฯ ประยุทธ์ปลดล็อกและเป็นนักการเมือง

3.อ่านคุฏบะฮฺวันอีดิลฟิฏริ (บทการอ่านศาสนธรรม) ประจำปี ฮ.ศ.1440 (ฉบับเต็ม)

รายงานพิเศษ “ทางสายกลางแห่งชีวิต พิชิตความรุนแรง”คุฏบะฮฺวันอีดิลฟิฏริ ประจำปี ฮ.ศ.1440