รู้จักตัวตน “ชลน่าน ศรีแก้ว” ฉายแววในสภา กับ “ต้นแบบ” ในช่วงเวลาที่มี “ส.ส.ทำตัวไม่เหมาะสม”

“อดีตผมมีความฝันอยากเป็นหมอผ่าตัด เรียนจบแล้วกะว่าจะขอทุนไปเรียนต่อเฉพาะทาง 3 ปี ตั้งใจอยากจะเป็นหมอผ่าตัดอยู่ที่น่าน แต่ว่าจังหวะนั้น ผมเองต้องเปลี่ยนวิถี เพราะผมขอทุนไปเรียนต่อไม่ได้ ส่วนทุนที่อื่นๆ ก็ต้องไปใช้ทุนนอกจังหวัด ต้องไปโรงพยาบาลอื่น ผมไม่อยากจะออกจากจังหวัดตัวเอง ก็เปลี่ยนงานมาทางสายการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล”

“ปรากฏว่า ในประเทศช่วงนั้นมีเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 เป็นแรงผลักดันสำคัญสู่ถนนสายการเมือง ผมอาสาไปเป็นผู้ประสานงานองค์กรกลาง ตรวจสอบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าพูดถึงความสนใจการเมือง ถ้าจะให้ย้อนไปตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ช่วงปี 2529 ผมก็สมัครสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเคยจะให้โอกาสผมลงเล่นการเมืองช่วงปี 2538 แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างไม่อำนวย”

“จนกระทั่งต่อมาเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เริ่มเปิดกว้าง จนเดือนกันยายน 2543 เป็นจังหวะชีวิตที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อลงเลือกตั้งปี 2544 จึงได้เลือกเข้ามาอยู่พรรคไทยรักไทย และลงเลือกตั้งตั้งแต่นั้นมา แล้วก็เป็นผู้แทนมา 5 สมัย”

นี่คือเส้นทางชีวิตคร่าวๆ ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เพื่อไทย จ.น่าน ที่ครองใจคนพื้นที่มาอย่างยาวนาน

หมอชลน่านเล่าว่า สาเหตุที่ไม่เคยคิดย้ายพรรคเลย เพราะมองว่ากระแสความต้องการพี่น้องประชาชน ที่ตนเองยึดเป็นหลัก ยากมากที่การเป็น ส.ส.ภาคเหนือ จะย้ายพรรค

ประการต่อมา ด้วยความละอาย หากเราถูกตราหน้าว่าเป็นคนขายอุดมการณ์

“ผมเป็นคนหน้าบางในเรื่องนี้ ผมก็ยืนยันจะสู้กับพรรคนี้ไม่ว่าสถานภาพจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ของพรรคและตอบโจทย์ประชาชนคนส่วนใหญ่ ที่นโยบายเข้าถึงพี่น้องลืมตาอ้าปากได้”

กระแสความนิยมชมชอบ นพ.ชลน่าน ใน Social Media ถึงการทำหน้าที่ในการอภิปรายในสภาที่มุ่งเน้นข้อบังคับไม่ให้ร้ายใคร และใช้ภาษาสื่อสารได้เข้าใจง่ายน่าฟัง หมอชลน่านเผยความรู้สึกว่าไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญเลย แถมกลับคิดว่าเป็นภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในสภาด้วยซ้ำ

“แต่ก็มีหลายคนเข้ามาพูดกับผมว่าคุณหมอต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะเริ่มตกเป็นเป้าแล้ว ห่วงว่าจะมีอันตรายจากนี้ ผมว่าหลายคนที่เขาไม่กล้าพูด เพราะไม่อยากโดดเด่นในสายตาของอีกฝั่งนึงมาก แต่ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นผมก็ทำเต็มที่ ในหน้างาน ยิ่งในยุคนี้ต้องยอมรับว่า มีภาพสะท้อนจากพี่น้องประชาชนมาโดยตรงเวลารับชมอภิปรายสภาผ่านไลฟ์สดกันแล้ว ด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ยุคดิจิตอลแบบนี้ เสมือนว่าเรามีคนหลายสิบล้านคนมาประชุมร่วมกันได้ โดยผ่านตัวกลางคือผู้แทนของเขาที่อยู่ตรงนั้น”

ฉะนั้น การตัดสินใจประเด็นต่างๆ ภายในสภา ถ้าฝืนความรู้สึกของประชาชน สมมุติมีการลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งภายหลังจากการฟังการอภิปรายเรียบร้อย มันเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก ถ้าผู้แทนฯ จะไปลงมติสวนกับความรู้สึกประชาชน

มีแรงกดดันจาก Social Media พรรคการเมืองเหล่านั้นก็เตรียมตัวตายได้หากยังฝืนความรู้สึก เพราะว่าวันนี้กระบวนการการมีส่วนร่วมมันเกิดขึ้นแล้ว นี่คือภาพของความเป็นประชาธิปไตย

“จากกรอบความคิดเดิมๆ ที่ว่าเมื่อมอบอำนาจให้กับผู้แทนฯ ไปแล้วก็เอาไปปู้ยี่ปู้ยำจะทำอย่างนั้นไม่ได้อีกแล้ว คำกล่าวที่บอกว่าประชาชนมีส่วนร่วมเพียงแค่กาบัตรเลือกตั้งไม่กี่นาทีประชาธิปไตย 1 นาทีแค่นั้นไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว”

หมอชลน่านกล่าว

ในฐานะดาวสภา-นักการเมืองน้ำดีคนหนึ่ง

หากมีพฤติกรรม ส.ส.รุ่นน้องที่ทำไม่เหมาะสมจะแนะนำอย่างไร?

ผมขอยกตัวอย่าสมัยเรียนต้องมี “ต้นแบบ” เป็นโมเดลในการที่จะทำให้เขาเห็นและสิ่งที่ผมพยายามจะต่อสู้และทำหน้าที่ภายในสภา ผมหวังว่าจะมี ส.ส.ที่เห็นสิ่งที่ผมพยายามแสดงออก จนบางทีผมก็ถูกแซว

ล่าสุดมีหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งเข้ามาทัก หลังจากผมไปนั่งพักทานข้าวระหว่างการประชุมสภา เขาเดินเข้ามาแตะที่ไหล่ผม แล้วพูดว่า 5 ปีที่ผ่านมา หมอไม่มีงานทำ ไปนั่งจ้องแต่ข้อบังคับของสภาอย่างเดียวหรือ เขาพูดประโยคนี้กับผมเหมือนจะเป็นคำชม แต่จะมองว่าด่าก็ได้

“ส่วนตัวมองว่าการรักษากติกา รักษาสภา รักษาอำนาจประชาชนให้เกียรติผู้คนเขา ไม่ว่าจะเห็นต่าง-เห็นด้วยเลยต้องทำให้มันถูกต้อง สังเกตได้เวลาผมจะอภิปรายผมจะไม่ให้กล่าวถึงตัวบุคคล ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันเป็นข้อห้ามด้วย”

“ประการต่อมาผมหวังว่าแต่ละพรรคจะมีกระบวนการจัดการในการที่จะฝึกอบรมชี้แนะชี้นำให้เห็น ให้รุ่นพี่อบรมรุ่นน้อง พรรคเพื่อไทยก็ทำ อย่างพรรคอนาคตใหม่เขาก็ทำ มีการเปิดคอร์สติวเข้มทักษะในการอภิปราย ทักษะในการแสดงออก สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่จะกล่อมเกลาแนะนำรุ่นน้องได้”

“ผมเองไม่เห็นด้วยที่จะมีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียไปออกวิพากษ์วิจารณ์พูดถึงคนอื่นในมุมลบ มันไม่ใช่วิสัย ยิ่งการที่เราเข้ามาเป็นผู้แทนฯ ของพี่น้องประชาชน ถ้าเราพูดอะไรออกไปมันแปลว่าประชาชนพูดด้วยหรือไม่? เราจะไปด่าคนนั้นคนนี้ว่าอย่างนั้น ประชาชนเขาก็จะมีความรู้สึกว่าผู้แทนฯ คนนี้เป็นตัวแทนของเราทำไมต้องพูดแบบนี้”

“ในอดีตสมัยท่านประธานอุทัย พิมพ์ใจชน (ผมเป็น ส.ส.ครั้งแรก) ท่านพูดคำนึงจนผมจำติดหูเลยนะว่าการทำหน้าที่ในสภามันเหมือนกับการแสดงโขน เหมือนกับการเล่นละคร แต่เป็นละครจริง เขากำหนดให้เราเป็นยักษ์ก็ต้องเป็นยักษ์อย่าเป็นพระราม ให้เล่นตามอำนาจหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด พอจบการเล่นแล้วก็ถอดหัวโขนออก”

“ในห้องประชุมคือการทำหน้าที่ นอกห้องประชุมก็เป็นเพื่อนกันกินข้าวกันได้ พูดคุยกันได้ ต้องเข้าใจว่าบางทีที่เขาพูดถึงเราเขาไม่ได้โกรธเรา ไม่ได้เกลียดเรา พวกผมเองจะเล่นกีฬาผมก็จะมีพรรคพวกที่มาจากหลายพรรค ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยเข้ามาเล่นกีฬาด้วยกันตลอด”

“ยิ่งการอยู่ในสภาอันทรงเกียรติ คำว่าทรงเกียรติมาจากพี่น้องประชาชน คำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ผมเป็นผู้แทนราษฎรเขต 2 จังหวัดน่านก็จริง แต่ผมก็เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยทั้งหมด ตัวแทนของคนทุกภาคทุกจังหวัด จิตสำนึกในการทำหน้าที่ต้องคำนึงถึงอำนาจที่ได้มาจากคนไทย การจะรักษาสภาให้ทรงเกียรติได้ คุณต้องคำนึงถึงผู้ให้อำนาจมาอยู่ตลอดเวลา”

“ไม่ใช่ว่าพอได้อำนาจมาแล้ว คุณไม่เห็นหัวเขาเลย แถมไปทำอะไรที่ทำให้เขาเสียหายอีก พึงระลึกว่าหากใครทำตัวไม่ดีมีสิทธิถูกถอดถอนได้ในอนาคต ถูกเล่นงานทางจริยธรรมได้ ฉะนั้น สภาอันทรงเกียรติ มันอยู่ที่การให้เกียรติพี่น้องประชาชนในการมาทำหน้าที่”

งูเห่า 2019

“ยุคนี้ก็ยอมรับว่าผมเองมีความหนักใจพอสมควร จริงอยู่ว่ามันเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน สภาเรามีสมาชิกหน้าใหม่เข้ามาถึงราวๆ 250 คน คนเก่าอีกครึ่งหนึ่ง แล้วด้วยสภาวการณ์ที่มันมีเสียงปริ่มน้ำนี่คือข้อจำกัด ถ้าไม่มีสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้น หรือเงื่อนไขบีบบังคับงูเห่าก็อาจจะไม่เกิด เขายังมีจิตสำนึก มีหิริโอตตัปปะ ยิ่งยุคนี้มีกล้องคอยจับอยู่ ด้วย Social Media เป็นเครื่องมือสำคัญที่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของคนในสภาด้วย”

“แต่การที่อีกฝ่ายหนึ่งเขาทรงพลังอำนาจ มันสามารถโน้มน้าวชักจูง ให้คนที่ไม่เห็นด้วยมาเห็นด้วยได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลตอบแทนสิทธิประโยชน์ สภาพความเป็นอยู่วิถีชีวิต พูดง่ายๆ คือถ้าคุณไม่ช่วยฉันคุณก็อยู่ไม่ได้ ต้องตัดแขนตัดขาตัดลิ้นตัวเองเพื่อให้มีชีวิตรอด คนรักอุดมการณ์ก็บอกว่า ถ้าต้องยอมทำอย่างนั้นสู้ยอมตายเสียดีกว่า อุดมการณ์เช่นนี้ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นน้อยมาก”

“ปรากฏการณ์งูเห่า จึงเป็นไปได้เสมอ” อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่านย้ำว่าในซีกของฝ่ายเราเองก็จะตรวจสอบกันเองอย่างเข้มข้นด้วยเช่นกัน

บทบาทฝ่ายค้านในวันที่ตัวเก๋าๆ ไม่ได้เข้าสภา

เชื่อว่าไม่กระทบต่อปัญหาการทำงานเพราะว่าการทำงานในสภามันมีกฎหมายมีข้อบังคับระเบียบรองรับชัดเจน กระบวนการที่เราวางวิธีการทำงานไว้ สมมุติถ้าเราเป็นฝ่ายค้าน เราจะมีวิปไว้ปรึกษาหารือ กำหนดวิธีการ มอบงานวาระต่างๆ คงต้องมีการฝึกอบรมติวเข้มกัน ซึ่งกว่า 80% มันเตรียมงานล่วงหน้าไว้ได้ แต่อีก 20 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานที่ต้องไปเจอ

ส่วนตัวผมมั่นใจว่าเราจะไม่ค้านแบบตีรวน กฎหมายอันไหนที่คุณเสนอมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเราก็จะยกมือให้ ซึ่งมันจะเป็นมติด้วย ทั้ง 7 พรรคก็คุยกันออกมาเป็นแนวนี้อยู่แล้ว อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนพร้อมเสมอ ถ้ามีกฎหมายดีๆ มาทั้งฉบับหนึ่งถ้าเกิดเพื่อไทยไปค้าน คนตายก็คือพวกเราเอง ส.ส.จะทำงานในพื้นที่ลำบาก แต่ถ้าเป็นกฎหมายไม่ดีเราต้องทำหน้าที่และค้านให้ถึงที่สุด

ทิ้งท้ายความหวังของฝั่งประชาธิปไตย นพ.ชลน่านเปิดใจว่า

“แต่ถึงจะสิ้นหวังก็ไม่ได้มีความเสียหายใดๆ ถ้าเราเป็นฝ่ายค้านก็ต้องตรวจสอบให้ถึงที่สุดเช่นกัน”

รับชมสัมภาษณ์เปิดใจหมอชลน่านได้ที่