สุจิตต์ วงษ์เทศ/ คลองเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน เส้นทางการค้านับพันปีมาแล้ว

แผนที่แสดงทางน้ำลำคลองเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน [โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ พฤษภาคม 2562]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

คลองเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน

เส้นทางการค้านับพันปีมาแล้ว

 

แม่กลอง-ท่าจีน เป็นบริเวณมีชุมชนบ้านเมืองเก่าแก่ที่สุดของลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง

[มีคำอธิบายพร้อมหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีมากมายนับไม่ถ้วนในงานค้นคว้าวิจัยของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม]

 

การค้าอินเดีย-จีน

 

อินเดียกับจีน มีการค้าทางทะเลต่อกัน ต้องขนถ่ายผ่านดินแดนสุวรรณภูมิบริเวณพม่ากับไทย ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ.500

โดยเรือแล่นเลียบชายฝั่งอ่าวเบงกอล จากอินเดียเข้าถึงพม่า (ภาคใต้) บริเวณอ่าวเมาะตะมะ สินค้าถูกขนขึ้นฝั่งท่าเรือเมืองทวาย

จากนั้นเดินบกเข้าไทย ผ่านช่องเขาต่างๆ เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ ฯลฯ เพื่อล่องตามลำน้ำแควน้อย ถึงปากแพรก (กาญจนบุรี) บริเวณแควน้อยไหลรวมแควใหญ่เป็นแม่น้ำแม่กลอง

เข้าแม่น้ำแม่กลอง ออกอ่าวไทยโดยตรง หรือแยกไปแม่น้ำท่าจีนก่อนแล้วออกอ่าวไทยก็ได้ โดยมีชุมชนสถานีการค้าอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองเรียกพงตึก (ไม่ใช่เมืองโบราณตามที่มีป้ายบอกไว้คลาดเคลื่อน) และมีแลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์เรียก พระแท่นดงรัง (อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี)

แม่น้ำแม่กลองมีคลองแยกไปแม่น้ำท่าจีน ผลักดันเกิดบ้านเมืองใหญ่เท่าที่พบขณะนี้ 3 แห่ง ตามลำดับจากเหนือลงใต้ ได้แก่ เมืองอู่ทอง, เมืองกำแพงแสน, เมืองนครปฐม

[ลำน้ำเชื่อมระหว่างแม่กลองกับท่าจีน ทุกวันนี้ส่วนมากตื้นเขิน หลายแห่งไม่เหลือร่องรอยแล้ว แต่บางแห่งถูกบูรณะกว้างขวาง มีน้ำไหลถ่ายเทใช้ประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันเพื่อเกษตรกรรม]

 

คลองเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน

 

เส้นทางลำคลองเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน อย่างน้อย 3 สาย [ได้ข้อมูลจากงานค้นคว้าวิจัยที่สำคัญมาก ชื่อ เมืองอู่ทอง ของ มานิต วัลลิโภดม ในหนังสือโบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2509 หน้า 71-101 และ ลุ่มน้ำแม่กลอง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ในหนังสือเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง (อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี) พ.ศ.2536]

คลองเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน เป็นเส้นทางมีคุณค่าสูงยิ่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ถ้าบูรณะให้ใช้งานได้สะดวกและปลอดภัย เชื่อมโยงถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แควน้อย-แควใหญ่ กาญจนบุรี (ดูแผนที่ประกอบด้วยจะช่วยความเข้าใจมากขึ้น) จะมีมูลค่ามากทางการเกษตรและการท่องเที่ยว

  1. ท่าม่วง-อู่ทอง

แม่กลองจากบ้านท่าม่วง (อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี) มีลำน้ำแยกไหลทวนขึ้นไปทางทิศเหนือ เรียกลำน้ำทวน ผ่านพนมทวน, ดอนตาเพชร (อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี)

แล้วเข้าสู่เขตสุพรรณบุรี เรียกลำน้ำจรเข้สามพัน ไหลไปลงแม่น้ำท่าจีน (อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี)

กระตุ้นให้เกิดเมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี)

  1. ท่าเรือ-กำแพงแสน

แม่กลองจากบ้านท่าเรือ (อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี) มีลำน้ำท่าสาร แยกไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านกำแพงแสน (จ.นครปฐม) ไหลไปลงแม่น้ำท่าจีน ที่บ้านบางปลา (อ.บางเลน จ.นครปฐม)

กระตุ้นให้เกิดเมืองกำแพงแสน (อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม)

  1. ท่าเรือ-นครปฐม

แม่กลองจากบ้านท่าเรือ (อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี) มีลำน้ำท่าสารแยกไหลไปทางทิศตะวันออก แล้วแยกอีกสายหนึ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านนครปฐมเรียกลำน้ำทัพหลวง, ลำน้ำบางแก้ว ไหลไปลงแม่น้ำท่าจีน (อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม)

กระตุ้นให้เกิดเมืองนครปฐม (อ.เมือง จ.นครปฐม)