วงค์ ตาวัน | คุ้มหรือไม่-ปชป.ร่วมบิ๊กตู่

มีการวิเคราะห์กันหลายแง่มุมถึงการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ว่า “คุ้มค่าหรือไม่” ในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ร่วมหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

เพราะหลังลงมติเข้าร่วมกับขั้วบิ๊กตู่ ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1

โดยแถลงในรุ่งเช้าก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นการลาออกเพื่อจะได้ไม่เข้าไปร่วมยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

เพราะนายอภิสิทธิ์เป็นผู้ชูแนวทางก่อนการเลือกตั้งว่าประชาธิปัตย์จะไม่หนุนหัวหน้า คสช. ไม่เอาด้วยกับการสืบทอดอำนาจ

ก็เลยต้องทิ้งเก้าอี้ ส.ส. เพราะไม่สามารถร่วมไปกับมติพรรคได้

“ถือเป็นการลาออกครั้งที่ 2 หลังจากหนแรกลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อชดใช้ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ซึ่งประชาธิปัตย์คะแนนลดวูบ กลายเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.แค่ครึ่งร้อย”

นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองรุ่นใหม่อีกหลายรายตบเท้าลาออก เพราะไม่สามารถยอมรับกับมติของพรรคที่ไปร่วมขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้

แม้ว่าผู้ที่ลาออกไป เป็นคนหน้าใหม่ ไม่มีฐานะเป็น ส.ส. อาจส่งผลสะเทือนต่อประชาธิปัตย์ไม่ได้มาก

แต่ในแง่กระแสทางการเมือง ถือว่าการที่คนในพรรคแสดงออกอย่างเปิดเผย ไม่ยอมรับการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ ก็เปิดประเด็นให้สังคมภายนอกวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปัตย์อย่างหนักหนาสาหัสต่อท่าทีเรื่องนี้

“อีกทั้งโดยรวมของกระแสสังคม เห็นได้ชัดว่า มีความเห็นในทางลบต่อประชาธิปัตย์อย่างมาก ที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับฝ่ายสืบทอดอำนาจ คสช.”

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารใหม่ เข้าสู่ยุคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นผู้นำ โดยมีผู้สนับสนุนที่สำคัญคือนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน

จังหวะที่ยังไม่สรุปท่าที ได้เกิดความคิดเห็นหลากหลายจากแวดวงต่างๆ เรียกร้องให้ประชาธิปัตย์ตัดสินใจอย่างรอบคอบ

“โดยจุดสำคัญสุดก็คือ จะฟื้นศรัทธาจากประชาชนคืนมาได้อย่างไร จะทำให้กลับมาเป็นพรรคมี ส.ส.เกินร้อยเสียงได้ ก็ต้องทำให้ประชาชนกลับมานิยมชมชอบอีกครั้ง”

สำคัญสุด ประชาธิปัตย์น่าจะตระหนักดีว่า กระแสสังคมโดยรวมนั้น วันนี้คือขาลงของกลุ่มอำนาจ คสช.

การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลที่มีหัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ นั้น จึงเกิดคำถามว่าเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่าสำหรับประชาธิปัตย์หรือไม่!?

ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ที่ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้อย่างหมดรูป จนนายอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงภายในประชาธิปัตย์เองว่าความผิดพลาดที่นำมาสู่การพังพ่ายนั้น มาจากอะไรกันแน่!?!

ขั้ว กปปส.ภายในพรรค โทษนายอภิสิทธิ์เต็มๆ กับแนวทางการหาเสียงที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่านี่แหละที่ทำให้ประชาชนในส่วนที่ไม่เอาเพื่อไทย ก็เลยปฏิเสธประชาธิปัตย์ไปด้วย

แต่ซีกอื่นในพรรค เห็นว่าประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในหลายสนาม เพราะโดนพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอำนาจเต็มมือทุกรูปแบบเล่นงานอย่างหนัก

“ในแง่นี้ ไม่เชื่อว่าแพ้เพราะวางยุทธศาสตร์เลือกตั้งผิดพลาด แต่พ่ายเพราะโดนอำนาจลับมากกว่า!”

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำ กปปส.ในประชาธิปัตย์คนหนึ่ง ซึ่งผลักดันให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เคยยืนยันว่า แนวทางของนายอภิสิทธิ์นั้น นำมาซึ่งความพ่ายแพ้การเลือกตั้งยับเยิน

“ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการยืนยันว่า พวกผมมองอนาคตได้ถูก แต่ผิดเพียงว่าพวกผมมาก่อนเวลาเท่านั้นเอง” หมอวรงค์เน้นย้ำอย่างมั่นใจเช่นนี้”

แต่หมอวรงค์โดนตอบโต้จากนายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรค โดยชี้ว่าผลการเลือกตั้งที่ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้นั้นมีหลายปัจจัย

“ขณะที่ นพ.วรงค์ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ยังพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งให้กับพรรคอนาคตใหม่ที่ประกาศชัดเจนว่าอยู่ตรงกันข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าผลเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีปัจจัยหลายอย่างในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป” นับว่าเป็นการตอบโต้ที่อธิบายข้อเท็จจริงได้อย่างน่าสนใจ”

ดังนั้น จะใช้บทสรุปว่า เพราะประชาธิปัตย์ชูแนวทางไม่เอาประยุทธ์เลยพ่ายแพ้นั้น น่าจะเป็นมุมมองที่ไม่รอบด้าน

ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองหลายรายมองว่า ประชาธิปัตย์พลาดมาตั้งแต่ปล่อยให้แกนนำกลุ่มหนึ่งนำพรรคไปร่วมนำม็อบนกหวีด ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ขัดกับแนวทางประชาธิปไตยอย่างรุนแรง

รวมทั้งมองย้อนไปถึงการเข้าร่วมรัฐบาล ที่ตกลงกันในค่ายทหาร น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งด้วย

ต้องไม่ลืมว่า การเป็นรัฐบาลครั้งนั้น ทำให้ประชาธิปัตย์กลายเป็นคู่กรณีใหญ่กับมวลชนฝ่ายอื่น จากเหตุการณ์ 99 ศพ

ความจริงแล้ว ในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังนายอภิสิทธิ์ลาออก ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างซีกนายชวน นายบัญญัติ ที่สนับสนุนนายจุรินทร์ กับซีก กปปส. ที่มีพลังสนับสนุนมากมาย จนนายชวนต้องออกโรงเตือนว่า น่าเป็นห่วงการถูกแทรกแซงจากภายนอก

สุดท้ายนายจุรินทร์ชนะ ได้เป็นหัวหน้าพรรค กุมการนำประชาธิปัตย์ ทำให้เกิดข้อวิเคราะห์ว่า ในเมื่อต้องชนกับปีกนกหวีด ซึ่งเป็นปีกที่ต้องการให้ประชาธิปัตย์เข้าซบขั้วพลังประชารัฐแบบสุดตัว

จึงเชื่อกันว่า ท่าทีของนายจุรินทร์ไม่ควรเดินไปตามแนวของ กปปส.

แต่ในทันทีที่นายชวน หลีกภัย ได้เป็นประธานสภา โดยได้รับการโหวตอย่างท่วมท้นจากพรรคพลังประชารัฐและเครือข่ายทั้งหมด ขณะที่คู่แข่งของนายชวนก็คือซีกพรรคเพื่อไทยและพันธมิตร 7 พรรค

“ก็เป็นอันชัดเจนตั้งแต่นาทีนั้นแล้วว่า ประชาธิปัตย์ตกลงกับขั้วพลังประชารัฐได้แล้วแน่นอน!”

เพียงแต่จากนั้น อาจจะยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน นั่นเป็นเพราะข้อตกลงเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี ทำท่าจะแปรเปลี่ยน

เป้าหมายของประชาธิปัตย์ในการร่วมรัฐบาลก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ และได้รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“จุดหลักที่ต้องการคือ เกษตรฯ ควบคู่กับพาณิชย์ เพราะต้องการแก้ปัญหาราคายางพารา ราคาปาล์ม ราคามะพร้าว เพื่อกอบกู้ความนิยมจากมวลชนปักษ์ใต้ฐานดั้งเดิมกลับคืนมาให้ได้”

นี่เป็นจุดสำคัญที่ประชาธิปัตย์ตัดสินใจ ฝ่ามรสุมข้อโจมตีจากสังคมว่าไปหนุน คสช.

“โดยเดิมพันด้วยการเข้าไปมีอำนาจเพื่อแก้ราคาพืชผลของมวลชนตนเอง!”

แน่นอนว่า สิ่งที่จะต้องสูญเสียตามมาในทันที ก็คือ รอยร้าวกับซีกของนายอภิสิทธิ์ ทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องลาออกทั้งหัวหน้าพรรคและ ส.ส. ไปจนถึงการโบกมือลาของกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่ง

ไปจนถึงเสียงวิจารณ์อย่างผิดหวังของทั่วสังคม ซึ่งเป็นไปตามกระแสขาลงของ คสช.

“อีกไม่นานจะรู้กันว่า การตัดสินใจครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่!?”

เพราะคาดได้ว่า สภาพรัฐบาลชุดใหม่ มีเสียงในสภาผู้แทนฯ ที่เหนือกว่าฝ่ายค้านไม่มากมายเลย

จะมีเวลาบริหารงานในฐานะรัฐบาลเพื่อเรียกคะแนนนิยมคืนมาได้เพียงพอหรือไม่!