คำ ผกา | อย่าหลงประเด็น

คำ ผกา

เข้าใจว่าตอนนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังส่ายหัวเอือมระอากับพฤติกรรมของ ส.ส.แบบมงคลกิตติ์ หรือปารีณา รวมถึงตัวของฉันเองด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ฉันก็ไม่แน่ใจว่า ลำพังมงคลกิตติ์เองถ้าไม่ใช่เพราะคุณูปการการปัดเศษของสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เขาจะได้เข้าไปนั่งในสภาหรือไม่

ส่วนปารีณานั้น ณ จุดที่คำว่า “อีช่อ” ของเธอกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในทางลบ

ฉันไม่แน่ใจเลยว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเธอยังจะได้รับความไว้วางใจจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในเขตที่เธอลงสมัครแล้วได้กลับมาเป็น ส.ส.อีกครั้งหรือไม่ หรือต่อให้เธอได้กลับมาเป็น ส.ส.อีก ฉันก็คิดว่า เราก็ต้องยอมรับ และเคารพเสียงที่เลือกเธอเข้ามา

หลายคนอาจจะมองบน แล้วเหยียดมุมปากลงนิดๆ พร้อมทั้งบอกว่า ประชาชนเป็นอย่างไร ตัวแทนของเขาก็เป็นอย่างนั้น

อันมีความหมายไม่ต่างจากวาทกรรมที่บอกว่า ชาวบ้านโง่ ชาวบ้านคิดสั้น เลยเลือก ส.ส.คุณภาพห่วยๆ เข้าสภา

อันเป็นวาทกรรมที่บรรดาผู้ดี มีการศึกษาพูดแล้วพูดอีก ทั้งบนเวทีพันธมิตร ทั้งบนเวที กปปส. และเราก็พยายามแทบตายที่ยืนยันว่า จะโง่ หรือจะฉลาด จะดี จะชั่ว ประชาชนเลือกตัวแทนของเขาเข้ามาแล้ว เราต้องเคารพการตัดสินใจของเขา และผู้ที่เลือกเขาก็ต้องรับผิดชอบต่อผลการเลือกของเขา

ถามว่า คนที่เลือก ส.ส.ปารีณาเข้าสภา จำเป็นต้องมีพฤติกรรมหยาบคาย แถข้างๆ คูๆ ฟังไม่ขึ้นแบบปารีณาไหม?

คำตอบคือไม่ แต่เหตุผลที่คนคนหนึ่งจะเลือกลงคะแนนให้ใคร มันคงประกอบไปด้วยหลายเหตุผล หลายปัจจัย เช่น ความสนิทสนม คุ้นเคย หรืออาจจะมาด้วยเหตุผลว่า คนคนนี้ทำประโยชน์ให้คนในพื้นที่ ส่วนพฤติกรรม นิสัย จะไปท้าตีท้าต่อยใคร ตราบเท่าที่มันไม่มีผลกระทบต่อเรา เราก็อาจจะไม่แคร์ก็ได้

ดังนั้น การที่เราเอาพฤติกรรมของปารีณาไปตัดสินคนราชบุรีทั้งจังหวัดว่า “แย่จัง คิดอะไรอยู่ถึงเลือก ส.ส.แบบนี้เข้ามาในสภา” จึงเป็นการตีขลุม เหมารวมที่ไม่ค่อยเป็นธรรมกับคนราชบุรี

อีกด้านหนึ่งฉันก็เห็นใจพรรคอนาคตใหม่และคนที่เอาใจช่วยพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขาอยากเห็น “การเมืองใหม่” อยากเห็นประชาธิปไตยใสปิ๊ง เราแสนจะมีความหวังกับคนแบบธนาธร ปิยบุตร และคนอื่นๆ ในพรรค ที่มีหัวก้าวหน้า พูดภาษาเสรีนิยม ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ ต้องการทลายความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเสมอภาค พรรคอนาคตใหม่คือแหล่งรวมคนรุ่นใหม่ที่มีไฟและคนรุ่นเก่าที่ไม่เป็นพวกอนุรักษนิยม

กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ มีทั้งที่มาจากกลุ่มคนที่ไม่เอารัฐประหาร ต้องการให้สังคมไทยกลับไปอยู่บนถนนประชาธิปไตยและเบื่อหน่ายพรรคเพื่อไทย

โดยมองว่า พรรคเพื่อไทยยังเป็น “การเมืองเก่า” ยังไม่อาจสลัดพ้นการเป็นพรรคนายทุนสีเทาๆ เอาผลประโยชน์ของพวกพ้องเป็นที่ตั้ง ยังอยู่บนฐานของการเมืองระบบอุปถัมภ์

เราต้องการการเมืองที่ใสสะอาด โปร่งใส ตรวจสอบได้ วัดกันที่ฝีมือ หาเสียงไม่ต้องใช้เงิน ฯลฯ

ไม่เพียงแต่ฝ่ายหนุนประชาธิปไตยที่เบื่อ “เพื่อไทย” ฝ่ายที่เคยสนับสนุนประชาธิปัตย์ ฝ่ายที่เคยเข้าร่วมกับพันธมิตร ฝ่ายที่เคยเป่านกหวีดจำนวนไม่น้อยที่ตอนนี้รู้สึกเบื่อหน่ายรัฐบาล คสช. จากผลงาน 5 ปีที่ผ่านมา

คนกลุ่มนี้คือ เสรีนิยมจำนวนหนึ่งที่เกลียดทักษิณ เกลียดนักการเมืองบ้านนอก สมาทานอุดมการณ์เสรีนิยม ในประเด็นเพศ, คนกลุ่มน้อย, คนชายขอบ, สิ่งแวดล้อม, สุขภาพ, ธรรมาภิบาล, ความเป็นสากลในทางศิลปะ วัฒนธรรม สนับสนุนการกระจายอำนาจ

ที่ฉันเรียกว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้าทางวัฒนธรรมแต่ล้าหลังในทางการเมือง ซึ่งในการรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้นึกว่าจะยืมมือทหารมาไล่ทักษิณ แล้วตัวเองจะเอาทหารออก หันมาผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จเหมือนครั้งที่หลังจากปี 2535 แล้วได้รัฐธรรมนูญปี 2540

แต่เหตุการณ์กลับโอละพ่อ เพราะครั้งนี้เราได้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาแทน แถมรัฐบาล คสช.ยังอยู่ยาวถึงห้าปี และมีแนวโน้มจะมีรัฐบาลประยุทธ์ 2

คนกลุ่มนี้จึงหันมาสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เพราะมาพรรคนี้ไม่มีผีทักษิณหลอก

และมี “ภาษา” แห่งความเป็นเสรีนิยมที่สอดคล้องกันโดยเฉพาะเรื่องการสร้างการเมืองใหม่ที่เน้นเรื่องการไม่ใช้ “เงิน” การเมืองใหม่ที่ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ของเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นเขี้ยวลากดินอันนำมาซึ่งการคอร์รัปชั่น

และท้ายที่สุด พวกเขาสามารถพูดได้แม้กระทั่งเรื่องเหตุแห่งการรัฐประหารนั้นเกิดขึ้นมาได้เพราะนักการเมืองคอร์รัปชั่น นักการเมืองมันห่วย อย่ามาโทษแต่ทหาร หรือ “สลิ่ม” เลย

ณวันนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เรามี ส.ส.จากการปัดเศษทศนิยม ที่เรามี ส.ว.อันมาจากการแต่งตั้งของ คสช. อันจะมีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี ที่หนึ่งในแคนดิเดตคือหัวหน้า คสช.

ฉันอยากจะทบทวนความทรงจำกันสักนิดว่า วิกฤตการเมืองไทยหลังปี 2549 นั้นมีแรงส่งทางอุดมการณ์ที่ขอเรียกอย่างหยาบว่า “อุดมการณ์คนดี”

อุดมการณ์คนดีไม่ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในชั่วข้ามวันข้ามคืน

แต่บ่มเพาะอยู่ในสังคมไทยมาหลายทศวรรษ ในยามที่สังคมไทยมีความเชื่อมั่นในเทคโนแครตมากกว่านักการเมือง

ในยามที่สังคมไทยมองว่า ชื่นชมนักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์ อย่างสุรินทร์ พิศสุวรรณ อย่างธารินทร์ นิมมานเหมินท์ แล้ววางนักการเมืองดีกรีนักเรียนนอก ผู้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ไพเราะเพราะพริ้ง ว่าคือความหวังของการเมืองไทย แล้วเรียกนักการเมืองแบบบรรหารว่า “หลงจู๊” ล้อเลียนรูปร่าง ความสูงของบรรหาร ล้อเรื่องการพูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่แค่ล้อ ถึงขั้นไปถามหาสัญชาติไทยในสภาก็ทำมาแล้ว

อาการรังเกียจ ส.ส. “บ้านนอก” หนักถึงขั้นผลักดันในรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ให้จบปริญญาตรีขึ้นไปด้วยซ้ำ ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นอาการดัดจริตของคนที่คิดว่า วุฒิการศึกษามาพร้อมกับความรู้ ความสามารถ จริยธรรม ศีลธรรม และทำราวกับว่า คนการศึกษาต่ำเท่ากับ “ไร้ความสามารถ” หรือ “ดีไม่พอ”

จากจุดที่เราไม่พยายามจะเข้าใจพลวัตและความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับฐานเสียงของพวกเขา และไม่มองว่า ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับคุณภาพของ ส.ส. พรรคการเมือง นักการเมือง อำนาจการต่อรองของประชาชน เราก็จะไปติดกับดัก คิดได้แต่เพียงว่าประชาธิปไตยไม่แข็งแรงเพราะนักการเมืองขี้โกง ประชาชนถูกหลอก

จบ ฟูลสต็อป

ตัวอย่างที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้พรรคการเมืองที่ขายนโยบายสำเร็จ สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพ ผลักดันนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน และทำให้บรรลุเป้าหมายได้

สิ่งที่เราควรจะยอมรับได้แล้วว่า ท่ามกลางนักการเมืองที่ “ไม่ดี” ล้าหลัง บ้านนอก ไร้อุดมการณ์ คอร์รัปชั่น เอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้อง

แต่ผลพวงของมันที่มาจากการกระจายอำนาจ, การทำโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จ, ทำระบบประกันสังคมสำเร็จ, กระจายความมั่งคั่งสู่รากหญ้าสำเร็จผ่านกองทุนหมู่บ้าน, SMEs, การกระชับปฏิรูประบบราชการให้เล็กและเร็ว – ทั้งหมดนี้นักการเมืองและรัฐบาลไทยรักไทยขณะนั้นอาจจะทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองก็เป็นได้

แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จะเห็นผลประโยชน์ของตนเองขนาดไหน

พวกเขาก็ไม่อาจละเลยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

เพราะเขาจะอยู่ในอำนาจได้ก็ต่อเมื่อประชาชนยังสนับสนุนพวกเขาเท่านั้น

ในแง่นี้ประชาชนจึงต้องได้รับส่วนแบ่งของผลประโยชน์เหล่านั้นอย่างมากพอด้วย เขาถึงจะอยู่ในอำนาจได้ ไม่นับว่ายังมีกลไกของรัฐสภา, สื่อ และสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่คอยขนาบพวกเขาเอาไว้อยู่

ผลพวงที่แม้แต่พรรคไทยรักไทยขณะนั้นก็ไม่ได้คาดหวังให้มันเกิดคือ ความเข้มแข็งของพลเมือง และการตระหนักในสิทธิของพลเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

พูดง่ายๆ คือ พวกเขาไป empower ประชาธิปไตยในแบบที่พวกเขาก็ไม่ได้ตั้งใจ และฉันก็ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า หากไม่มีรัฐประหารปี 2549 และพรรคไทยรักไทยไม่ปรับตัว และหากยังเหลิงในอำนาจ พรรคไทยรักไทยจะโดนประชาชนสั่งสอนและแพ้การเลือกตั้งค่อนข้างแน่นอน

และประชาธิปไตยของไทยคงจะลงหลักปักฐานได้น่าสนใจกว่านี้ และน่าเสียดายว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ถ้าพลิกมุมนิดเดียวให้เป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม เป็นกลไกนอกรัฐสภา กดดันให้มีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แทนการรัฐประหาร

การเมืองไทยอาจจะไม่เดินมาสู่จุดตกต่ำอย่างที่เราประสบมาในรอบทศวรรษก็เป็นได้

ทบทวนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า เราเผชิญการรัฐประหารมาสองครั้งในรอบ 10 ปี จากแรงหนุนทางอุดมการณ์ที่สำคัญมากคือ อุดมการณ์เรื่อง “การเมืองสกปรก”, “นักการเมืองเอาแต่แย่งชิงอำนาจผลประโยชน์”, “การเมืองเป็นแค่เรื่องระบบอุปถัมภ์ เอื้อพวกพ้อง” และ “บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะนักการเมือง เปิดสภามาไม่กี่วันก็หางโผล่”

หรือแม้กระทั่งการจะใช้กรณีปารีณา หรือมงคลกิตติ์ เป็นตัวอย่างในการดิสเครดิตภาพนักการเมืองโดยรวมว่า นี่ไงล่ะประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ที่อยากได้กันนักกันหนา

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เราหลงประเด็นไปกับเรื่อง อีช่อ, ปารีณา, มงคลกิตติ์

ฉันอยากจะย้ำว่า ในการเมืองระบบเลือกตั้งและประชาธิปไตย เรายังจะต้องพบเจอ ส.ส.และนักการเมืองเพี้ยนๆ พูดจาบ้าๆ บอๆ เลอะๆ เทอะๆ ออกนอกลู่นอกทาง โง่ๆ บ้าๆ และอีกสารพัดความอีลุ่ยฉุยแฉกอย่างเป็น infinity

แต่พวกเขาไม่ใช่ผู้ร้ายตัวจริงของระบอบประชาธิปไตย

ผู้ร้ายตัวจริงของประชาธิปไตยคือบรรดาบุคคล และกลุ่มบุคคล ที่เฝ้าดิสเครดิตการเลือกตั้ง คือบรรดากลุ่มบุคคลที่สุมหัวกันออกแบบกติกา กฎเกณฑ์ ที่ทำให้แม้จะมีการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยก็ยังไม่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำได้ คือบรรดากลุ่มบุคคลที่สนับสนุนและทำการรัฐประหาร คือกลุ่มบุคคลที่ไปสนับสนุน ให้ท้ายการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ผู้ร้ายตัวจริงคือกลุ่มบุคคลที่กระทำในสิ่งเหล่านี้ อันส่งผลให้ประชาชนอ่อนแอลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง อ่อนแอลงทั้งทางกาย ทางใจ

และแทบจะทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีง่อยเปลี้ยเสียขาอ่อนแรงลงทุกวันจนแทบจะสูญเสียความเป็นคน

และหากมันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานมันอาจจะสักวันเราอาจจะลืมไปจริงๆ ก็ได้ว่าเราเคยมีคนที่มีศักดิ์มีศรีแบบไหนและทำได้แค่ประคองชีวิตให้มีกินมีอยู่ไปวันๆ เท่านั้น

ผู้ร้ายตัวจริงเหล่านี้อาจมาในคราบของคนดี มีการศึกษา แต่งตัวดี มีรสนิยม พูดจาดี สุภาพ เป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว

ดังนั้น เราจึงไม่ควรหลงประเด็นอย่างยิ่งในการเข้าไปทำคู่หรือขั้วตรงข้ามว่าด้วยคุณภาพของนักการเมืองโดยใช้ การศึกษา หน้าตา มารยาท ชั้นเชิงแห่งการเสียดสี แดกดัน โดยใช้ความสุภาพ/ผู้ดี เป็นเกณฑ์

สำหรับฉัน ขั้วของนักการเมืองมีแค่สองขั้วเท่านั้น คือ นักการเมืองในขั้วเผด็จการ กับนักการเมืองในขั้วประชาธิปไตย

ซึ่งนักการเมืองในขั้วของเผด็จการก็มีทั้งที่มีดูดี มีมารยาท หน้าตาดี การศึกษาสูงส่ง ชั้นเชิงดี มนุษยสัมพันธ์เยี่ยม อีคิวเลิศ กับทั้งที่ถ่อย บ้าบอ โง่ เพี้ยน ไม่ต่างอะไรจากนักการเมืองฝั่งเผด็จการ ที่มีทั้งที่ดูดี มีการศึกษา หน้าตาดี โปรไฟล์เยี่ยม รสนิยมเลิศ กับแบบบ้าๆ บอๆ พูดไม่รู้เรื่อง

การมีนักการเมืองบ้าๆ เลวๆ ในฝั่งประชาธิปไตย ไม่ได้แปลว่า ประชาธิปไตยมันแย่ เท่าๆ กับที่การมีคนที่ดูดี มีการศึกษา มารยาทงามอยู่ในฝั่งเผด็จการแล้วแปลว่า ระบอบเผด็จการดี

ขณะเดียวกันถ้าเรามีนักการเมืองฝั่งประชาธิปไตยที่หน้าตาดี การศึกษาดี ฐานะดี จบมหาวิทยาลัยดัง – เราก็อย่าไปหลงประเด็น ไปนั่งยกยอปอปั้นเรื่องหน้าตา การศึกษา โปรไฟล์พวกเขา (แล้วเอาไปเกทับคนอื่น)

แต่ควรโฟกัสว่า ความน่ายกย่องของเขาที่สำคัญที่สุดคือ ความมุ่งมั่นในหลักการประชาธิปไตยของพวกเขาต่างหาก

เพราะท้ายที่สุด ความเข้มแข็งของประชาธิปไตย มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรามี “คนดี” เยอะ หรือมี “คนเก่ง” หรือมี ส.ส.ไฮเอนด์เยอะ แต่สิ่งที่การเมืองไทยต้องการ ณ วันนี้คือ การผนึกกำลังร่วมกันของนักการเมือง

พรรคการเมืองที่จะเข้าไป “เขย่า” สภาและกติกา อันเขียนมาเพื่อให้พรรคการเมืองและนักการเมืองอ่อนแอ เพื่อให้นำมาสู่หนทางที่จะไปแก้ไขกติกา อันนำมาสู่การสร้างระบบการเมืองแบบรัฐสภาให้เข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อประชาธิปไตยกลับมา การเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนกติกาที่ “ปกติ” ระบบรัฐสภาเข้มแข็ง มีสมดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เมื่อนั้นฉันคิดว่า ต่อให้เรามี ส.ส.ปารีณา หรือมงคลกิตติ์ มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะประชาชนจะตัดสินเองว่า อยากมี หรือไม่อยากมีคนแบบนี้ในสภา ด้วยเหตุผลอะไร

ย้ำอีกครั้งว่า ในการเมืองไทยช่วงเปลี่ยนผ่านไปหรือไม่ไปสู่ประชาธิปไตยนี้ สิ่งที่เราควรใส่ใจไม่ใช่นักการเมือง ตลาดบน vs ตลาดล่าง แต่คือนักการเมืองที่ยืนข้างประชาธิปไตย vs ยืนข้างเผด็จการ

ย้ำอีกครั้งว่า อย่าหลงประเด็น