จิตต์สุภา ฉิน : ขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารผ่านแอพพ์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ตั้งแต่ย้ายสำนักงานไปอยู่ในย่านที่บริเวณรอบข้างไม่มีร้านอาหารอร่อยๆ ที่ฉันโปรดปรานสักเท่าไหร่ ฉันก็หันไปพึ่งบริการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ทั้งมื้อเที่ยง มื้อบ่าย (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่พ้นขนมหวาน ชานมไข่มุก หรือโกโก้เย็น ที่ฉันพยายามไม่ตามใจปากมากเกินไปแต่ก็มักจะไม่ประสบความสำเร็จ) และมื้อเย็น

เนื่องจากบริการสั่งอาหารผ่านแอพพ์นั้นค่าส่งช่างถูกแสนถูก ถึงราคาบางเมนูจะถูกบวกเพิ่มจากหน้าร้านไปบ้าง แต่คิดแล้วก็ยังคุ้มกว่าจะลุกขึ้นมาขับรถออกไปต่อแถวซื้อด้วยตัวเองเป็นไหนๆ

เย็นวันหนึ่งฉันกับเพื่อนร่วมงานตกลงกันว่าเราจะสั่งอาหารญี่ปุ่นมากินเป็นมื้อเย็น

เราต่างก็เลือกเซ็ตอาหารที่ตัวเองชอบและสั่งให้มาส่งพร้อมๆ กันทั้งหมด 6 เซ็ต

เมื่อเมสเสนเจอร์ขับรถมาถึงเราก็ต้องตกตะลึงกับถุงพลาสติกสองถุงใหญ่ๆ ที่ข้างในบรรจุกล่องพลาสติกขนาดยิบย่อยเต็มไปหมด

พอลองแกะถุงและหยิบของทุกอย่างมาวางเรียงกันก็พบว่าหนึ่งเซ็ตที่สั่งไปประกอบด้วยพลาสติกอย่างน้อย 6 ชิ้น ทั้งกล่องใส่ข้าว กับข้าว สลัด ซุป ซูชิที่แถมมาด้วยกัน น้ำสลัด น้ำจิ้มอีกอย่างน้อย 2 ประเภท ยังไม่นับช้อนส้อมพลาสติกอีก

หลังจากกินเสร็จพวกเรารู้สึกผิดที่สร้างขยะพลาสติกจำนวนมากขนาดนี้จากอาหารแค่หนึ่งมื้อ ก็เลยเก็บกลับไปล้างที่บ้านแล้วหาโอกาสนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง

 

แอพพลิเคชั่นสั่งอาหารให้มาส่งถึงบ้านกลายเป็นบริการที่ชีวิตคนรุ่นใหม่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ที่ต้องฝ่าการจราจรอันแสนติดขัดวันละหลายชั่วโมง ตั้งแต่ต้นปี

จนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา Grab Food ทำสถิติส่งอาหารให้ลูกค้าแล้วมากกว่า 4 ล้านครั้ง โดยคาดการณ์ว่ายอดการสั่งอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นไปแตะ 20 ล้านครั้งภายในปีนี้

นับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านครั้งในปีที่แล้วชนิดก้าวกระโดด

เช่นเดียวกับบริการสั่งอาหารผ่านแอพพ์อื่นๆ ที่ให้บริการอยู่ในเมืองใหญ่ อย่าง Food Panda, Line Man และ GET ที่ก็คงมียอดการสั่งอาหารซึ่งเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน

ลองนึกภาพว่าทุกๆ การสั่งอาหารมากินที่บ้านหรือที่ทำงานในแต่ละครั้งจะต้องมีขยะพลาสติกแล้วอย่างน้อยๆ 3 ชิ้น

แล้วการสั่งอาหารคนหนึ่งวันละหลายครั้ง สั่งทุกวัน รวมๆ กันทุกออเดอร์ จะสร้างปริมาณขยะพลาสติกให้เพิ่มขึ้นจากเดิมได้มากแค่ไหน

จริงอยู่ที่ก่อนหน้านี้การซื้ออาหารกลับบ้านก็ก่อให้เกิดพลาสติกอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้ง่าย แพร่หลาย และย่อมเยาเหมือนทุกวันนี้

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น บริการสั่งอาหารผ่านแอพพ์ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย จีนประสบปัญหาแบบเดียวกับเราแต่เป็นปัญหาในระดับที่ใหญ่กว่าเพราะประชากรมีจำนวนมาก

เว็บไซต์ The New York Times รายงานถึงวิกฤตขยะพลาสติกในประเทศจีนอันเนื่องมาจากการที่ประชาชนหันมาใช้บริการสั่งอาหารกันมากขึ้น โดยได้อ้างถึงสถิติว่าบริการสั่งอาหารออนไลน์ในจีนทำให้เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มากถึง 1.6 ล้านตันในปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสองปีก่อนหน้าถึง 9 เท่า

จากปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร 1.2 ล้านตัน ตะเกียบใช้แล้วทิ้ง 175,000 ตัน ถุงพลาสติก 164,000 ตัน และช้อนพลาสติก 44,000 ตัน

ถึงแม้ว่าประชากรในประเทศจีนจะทิ้งขยะพลาสติกต่อหัวน้อยกว่าคนอเมริกัน แต่นักวิจัยก็คาดประมาณว่าเกือบ 3 ใน 4 ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่คนจีนทิ้งมีจุดจบที่หลุมฝังกลบขยะหรือทิ้งในที่เปิดซึ่งอาจจะไหลลงสู่ทะเลได้ทุกเมื่อ พลาสติกเหล่านี้ใช้เวลานานหลายศตวรรษกว่าจะย่อยสลายใต้ท้องทะเล

 

ฉันสังเกตว่าในประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกกันมากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ ร้านชานมไข่มุกชื่อดังที่เพิ่งเปิดสาขาในประเทศไทยไม่นานก็ถูกเล่นงานเสียอ่วมเพราะการโพสต์โฆษณาว่าชานมไข่มุกที่สั่งกลับบ้านจะมีแพ็กเกจอย่างดี โดยชานมไข่มุก 1 แก้ว จะถูกแยกออกมาเป็นพลาสติกทั้งหมด 8 ชิ้น เล่นเอาคนร้องอุทานเอามือทาบอกว่า คุณพระ แค่ซื้อกลับบ้านจำเป็นต้องแยกพลาสติกมาละเอียดขนาดนี้เลยหรือ

และเกิดการรณรงค์เรียกร้องให้แก้ไขผ่านทางโซเชียลมีเดียจนแบรนด์ต้องออกมาตรการใช้แก้วแบบย่อยสลายได้

แต่ก็ดูเหมือนกับว่านี่เป็นเพียงบทเรียนให้กับแบรนด์นี้เท่านั้น เพราะแบรนด์อื่นก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวอะไรกันสักเท่าไหร่

บริการสั่งอาหารผ่านแอพพ์ Grab Food แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าการสั่งอาหารในออเดอร์นั้นๆ ลูกค้าจะรับช้อนส้อมพลาสติกด้วยหรือไม่

ซึ่งก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เกิดการลดการใช้พลาสติกลงทีละนิดๆ

แต่ก็น่าเสียดายที่แม้จะเลือกออปชั่นไม่เอาช้อนส้อมแล้ว บ่อยครั้งที่แพ็กช้อนส้อมพร้อมกระดาษทิชชู่ในห่อพลาสติกก็จะถูกใส่ลงมาในถุงอาหารด้วยอยู่ดี

หรืออย่าง Uber Eats ที่ตอนนี้ไม่ได้ให้บริการในประเทศไทยแล้วเคยเลือกแก้ปัญหานี้ด้วยการให้ถุงกระดาษกับทุกร้าน อาจจะเพราะเพื่อความเรียบร้อยทางด้านภาพลักษณ์ว่าไม่ว่าอาหารจะมาจากร้านไหนแต่ก็จะบรรจุอยู่ในถุงกระดาษที่พิมพ์โลโก้ของแบรนด์เอาไว้อย่างพร้อมเพรียง แต่ก็คล้ายๆ กับกรณีแรก คือเจ้าของร้านก็ใส่อาหารในถุงพลาสติกใบใหญ่ก่อน แล้วค่อยใส่เข้าไปในถุงกระดาษอีกทีอยู่ดี

ทั้งหมดก็คงมาจากความเคยชินของทางร้านนั่นแหละ

แต่ถ้าทุกร้านทำแบบนี้ ออปชั่นที่บริษัทใส่เข้าไปให้เป็นตัวเลือกก็คงไม่มีความหมายอะไร

หวังว่าหลังจากนี้ไป แอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้าสามารถปรับแต่งออเดอร์ของตัวเองให้ลดจำนวนพลาสติกให้ได้มากที่สุด

นอกจากตัวเลือกไม่เอาช้อนส้อมแล้วก็อาจจะตกลงกับทางร้านค้าเพื่อเพิ่มตัวเลือกถุงกระดาษ งดน้ำจิ้ม ซอสถุงต่างๆ ที่ไม่จำเป็น หรือในอนาคตอาจจะพัฒนาโมเดลบางอย่างที่จะทำให้ลูกค้านำถุงหรือกล่องของตัวเองกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย

 

ในต่างประเทศมีโมเดลบางอย่างที่ใช้กันอยู่ อย่างเช่น Go Box บริการสมัครสมาชิกเพื่อใช้บรรจุภัณฑ์แบบนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เริ่มจากการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาติดตั้งไว้ในโทรศัพท์ สแกนโค้ดเพื่อขอใช้บรรจุภัณฑ์ในร้านอาหารที่ร่วมรายการ เมื่อรับประทานอาหารหมดแล้วก็นำกล่องอาหารไปหย่อนไว้ตามกล่องของ Go Box ที่วางอยู่ตามที่ต่างๆ เจ้าหน้าที่จะเก็บกล่องนั้นไปล้างทำความสะอาด และขี่จักรยานเพื่อนำกลับมาส่งให้ร้านอาหารใช้ใหม่อีกครั้ง

โมเดลคล้ายๆ กันนี้ก็อาจจะถูกนำมาปรับใช้กับบริการสั่งอาหารผ่านแอพพ์ได้

แต่ทั้งหมดนี้ก็จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้งานอย่างเราทุกคนด้วย ล่าสุดฉันโพสต์แชร์เรื่องนี้ไปและมีบางคอมเมนต์บอกว่าไม่เห็นด้วยว่านี่คือภาระหน้าที่ของลูกค้า ซึ่งอันนี้ฉันก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน เราต่างก็ต้องทำหน้าที่ของเรา การที่เราจ่ายเงินไปในฐานะลูกค้า ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่แยแสต่อผลกระทบที่เกิดจากการใช้เงินแลกความสบายของเราได้เสียหน่อย อีกส่วนสำคัญคือภาครัฐกับความพยายามผลักดันการลดพลาสติกและกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกให้ได้ประสิทธิภาพที่จะต้องเริ่มทำอย่างจริงจัง

ฉันตั้งใจจะเริ่มต้นที่ตัวเอง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ บางครั้งความขี้เกียจก็ยากแสนยากที่จะเอาชนะ แต่ถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง

ตัวเลขในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจจะทำให้เราสยองจนขนลุกเกรียวยิ่งกว่านี้ก็ได้