เปิดใจ “อุดมเดช รัตนเสถียร” หลังถูกถอดถอน-ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี กับบทบาทใหม่ กุนซือเลือกตั้ง

ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 206 ต่อ 15 คะแนน ถอดถอนและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากกรณีสลับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) “อุดมเดช รัตนเสถียร” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.) นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองเกือบ 30 ปี ถึงกับปลงตก แม้จะเชื่อมั่นโดยตลอด ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องสมบูรณ์ ตามกระบวนการ

เขาเริ่มต้นชีวิตการเมืองเมื่อปี 2531 ด้วยการขัดใจพ่อ ร.ต.อ.ชโลม รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี หลายสมัย เพราะผู้เป็นพ่อเห็นว่าการทำงานด้านการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ต้องรับภาระทุกข์สุขของประชาชน จึงไม่อยากเข้ามารับภาระดังกล่าวนี้

คำเตือนของพ่อหาได้เป็นผลไม่ เพราะหลังการสอบตกในการรับเลือกตั้งครั้งแรก ต่อมา “อุดมเดช” ในนามของผู้สมัครพรรคพลังธรรม มี “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” เป็นหัวหน้า ก็ได้รับโอกาสจากชาวนนทบุรี ชนะการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 แต่ไม่นานสภาเป็นอันต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

แต่ต่อมาเขาก็ได้รับเลือกในนามของพรรคพลังธรรมอย่างต่อเนื่อง จนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ตั้งพรรคไทยรักไทย “อุดมเดช” จึงติดสอยห้อยตามกันมาและได้รับเลือกตั้งมาโดยตลอด ทั้งในนามพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายอุดมเดช รัตนเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)
นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี พรรคเพื่อไทย และอดึตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

ในวันที่หมดสิทธิ์ทางการเมือง “อุดมเดช รัตนเสถียร” เปิดใจกับ “มติชนสุดสัปดาห์” ว่า นักการเมืองเสียเครดิตอย่างต่อเนื่องในห้วง 10 ที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะมีบางอย่างต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น หากต้องการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง คงต้องกลับไปศึกษาความเป็นมาและประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพื่อที่จะรู้ว่ามีคนกลุ่มใดบ้างที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เขาอยากให้คนไทยย้อนกลับไปมองอดีต แล้วลำดับเหตุการณ์ต่างๆ เรียนรู้ตัวละครในประวัติศาสตร์ ทั้งการกอบกู้และทำลายประชาธิปไตย เพื่อจะได้รู้ว่า รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยมีจุดบกพร่องอย่างไร ฝ่ายใดสนับสนุน ฝ่ายใดอยู่ฝั่งตรงข้างกับระบบการปกครอง

“ถ้าบอกว่าคนไทยยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่พร้อม แสดงว่าระบบการศึกษาของเรามีปัญหาหรือเปล่า แต่ผมว่าวันนี้เลิกพูดได้แล้วว่าประชาชนไม่มีความรู้ เพราะเขาเข้าใจ มีเพียงคนบางส่วนที่มักดูแคลนการตัดสินใจของคนไทยด้วยกัน ยิ่งทุกวันนี้มีสื่อหลากหลาย ทำให้คนในชนบทรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้จะพยายามปิดบังข่าวสารอะไรก็แล้วแต่ มันไม่มีผล อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพการเมืองเปลี่ยนไป นักการเมืองเองก็ต้องปรับตัว ยอมรับสภาพความเป็นไป ทำความเข้าใจและยอมรับวิธีคิดของประชาชน”

“วิธีคิดของคนไทยไม่ได้ช้า ที่ประชาธิปไตยไทยเดินไม่ถึงไหน เพราะมีคนต้องการให้การเมืองเราหยุดนิ่งอยู่แบบเดิมให้นานที่สุด มีการสร้างข่าว สร้างกระแส ไม่ยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น อาจเป็นเพราะยิ่งดึงไว้นานเท่าไหร่ ตัวเองก็จะอยู่ในอำนาจนานเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าประชาชนมีความเข้าใจการเมืองมากขึ้น”

“อย่างเมื่อช่วง 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีการบอกว่าประชาชนยังไม่พร้อม ไม่มีความรู้ เลือกตั้งแล้วจะมีปัญหา จาก 14 ตุลา มาวันนี้ 40 กว่าปีแล้ว ยังคิดว่าประชาชนยังไม่พร้อมอีกหรือ”

 

“อุดมเดช” เล่าความรู้สึกหลังโดนถอดถอนและตัดสิทธิ์ทางการเมืองว่า เป็นเรื่องที่ทำให้เสียใจอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถปกป้องการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐสภาได้ เพราะการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีจุดบกพร่องนั้น เลขาฯ สภายืนยันว่าสามารถทำได้ เนื่องจากประธานสภายังไม่บรรจุระเบียบวาระ แต่ สนช. กลับมีมติถอดถอน จึงเชื่อว่ามีใบสั่ง

“จริงๆ มีคนบอกว่าผมต้องโดนแน่ๆ แต่ผมก็ยังคิดว่า สนช. จะฟังการชี้แจง และคิดว่าส่วนใหญ่ก็เข้าใจ แต่เมื่อถึงวันลงมติ อาจมีกระบวนการบางอย่างทำให้ผลออกมาอย่างนั้น ซึ่งผมก็เข้าใจได้ เหมือนกับที่มีคนเตือนผมว่าจะโดนแน่ๆ นี่เป็นเรื่องที่เสียใจพอสมควรกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

“หลังจากถูกถอดถอนผมก็เหมือนเดิม กิจวัตรประจำวันไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย ยังมีกิจกรรมในพื้นที่ และหลายคนยังพบปะกันสม่ำเสมอ เพียงแต่ถ้าเป็นงานของราชการเราก็ไม่ไปร่วม ทีแรกกังวลว่าพอมีมติออกมา คนจะมองว่าเราทำผิดหรือเปล่า แต่จากการที่ออกไปเดินพบปะประชาชนหรือไปร่วมสภากาแฟ ทุกคนต่างบอกว่าเข้าใจ เห็นใจในสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นแสดงว่าเขารู้ว่าเราถูกกระทำจาก สนช.”

 

เมื่อไม่สามารถลงเล่นการเมืองได้อีก 5 ปี ถึงวันนี้ “อุดมเดช” เริ่มมองหาตัวแทนที่จะลงสนามเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในปลายปี 2560

“ถึงเวลานี้คนที่เคยทำงานการเมืองมาด้วยกันเริ่มมองหาตัวแทนแล้ว ผมเองก็เหมือนกันที่รู้สึกว่า 20 กว่าปีมานี้ อาจทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อไปบ้าง จึงพยายามหาคนใหม่ๆ เข้ามาทดแทน ในช่วงที่เราไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ต้องหาคนมา และเราเองก็รู้ตัวอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ว่าทุกคนที่ทำงานด้านการเมืองย่อมต้องการเจริญก้าวหน้า ดังนั้น หากผมเปิดโอกาสให้คนที่มีความตั้งใจได้เข้ามา ก็จะเป็นช่องทางสร้างความเข้มแข็ง ไม่ใช่ว่าจะเป็นเองคนเดียว เพราะหากเราเป็นคนเดียว คนที่อยู่กับเราก็จะออกไปหาช่องทางอื่น ไปๆ มาๆ กลายเป็นคู่แข็งกันเอง”

มีผู้เสนอตัวขอเป็นตัวแทนของ “อุดมเดช” หลากหลาย เขาพิจารณาคนจากความตั้งใจรวมถึงการเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านและทีมงาน

ส่วน 5 ปีนับจากนี้ เขาบอกว่า นอกจากการเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้สมัครในสังกัดแล้ว ก็จะยังพบปะประชาชนในพื้นที่เหมือนเคย เหมือนกับตอนนี้ที่ไม่มีการเลือกตั้ง ก็ยังไปมาหาสู่ ร่วมกิจกรรมของชาวบ้านในฐานะคนคุ้นเคย ไม่ใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

“ความรู้สึกผูกพันกับประชาชนยังเหมือนเดิม ชาวบ้านเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราไปในฐานะ ส.ส. ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งช่วงที่มีสภาหรือไม่ก็ตาม เราก็ยังไปมาหาสู่กัน ทำให้มีความคุ้นเคย ไม่ได้ไปเพราะอยากได้คะแนนหรือเป็นผู้แทนฯ แต่ไปเพราะได้รับการประสานงานมาว่าอยากพบเจอพูดคุย”

 

“ส่วนอีก 5 ปี ข้างหน้าก็คงต้องดูกันอีกที ว่าจะเข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของสังคมได้ในฐานะใด เพราะการรับรู้ของประชาชนวันนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก และเราไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นผู้แทนไปตลอด วันข้างหน้าอาจมีคนที่มีศักยภาพ ความตั้งใจ เมื่อเขาทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว ผมก็ไม่จำเป็นต้องลงไปทำ แต่ยังพูดคุยเป็นพี่เลี้ยงกันไปได้ เพราะยังไม่มีอะไรยืนยันว่า 5 ปีผ่านไปแล้วยังจะต้องเป็นเรา 5 ปี จากนี้ผมก็คงทำหน้าที่พี่เลี้ยง และในทีมอดีต ส.ส.นนทบุรี หลายคนบอกให้ยังต้องมาพบปะพูดคุยกัน เป็นทีมงานเดียวกัน”

หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด “อุดมเดช” ประเมินบทเรียนที่พรรคเพื่อไทยได้รับ โดยเห็นว่า พรรคเพื่อไทยเดินตามกฎ กติกามาโดยตลอด แม้กติกานั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พรรคก็มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ทั้งนี้ ปัญหาเกิดจากการไม่ยอมรับกติกาของฝ่ายอื่น ที่ไม่ยอมรับผลการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่

ขณะเดียวกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องอย่ามองว่าหากผู้แทนฯ ของตัวเองไม่ชนะถือเป็นเรื่องผิด เพราะนั่นคือต้นเหตุส่งผลให้ระบบเดินหน้าไปไม่ได้ วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาเพราะมีคนที่คิดว่าตัวเองมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่าคนอื่นๆ เมื่อผลเลือกตั้งไม่เป็นไปตามใจต้องการ จึงต้องหาวิธีการอื่นมาล้มล้าง

“มีคนพยายามพูดว่าหลายอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการไล่เช็กบิลพรรคเพื่อไทย เมื่อ สนช. ก็ทำตามหน้าที่ของเขา เพียงแต่อาจมีอะไรบางอย่างมาทำให้การตัดสินใจเป็นเช่นนั้น จึงทำให้คิดได้อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะคนสั่งการอาจมีอคติอะไรอยู่ในใจ ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็ต้องมาดูเหมือนกัน เพราะการที่ชนะเลือกตั้ง 2-3 ครั้ง แล้วทุกครั้งก็โดนวิธีการแปลกๆ จนมีการปฏิวัติ แน่นอนเราจะต้องมีการปรับปรุง ทั้งเรื่องของคนและวิธีการ แต่วันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะปรับอะไรอย่างไร แต่ที่ผ่านมาเรายืนยันว่ามาจากประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำหน้าที่ จะให้ดีต้องดูด้วยว่าการที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาทำหน้าที่นั้น มีอะไรที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่สบายใจ”

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูบทบาทใหม่ในวันที่ว่างเว้นจากการเมือง 5 ปี

ก่อนจบการพูดคุย “อุดมเดช รัตนเสถียร” ทิ้งท้ายเป็นแง่คิด สะท้อนการเป็นผู้ถูกกระทำ โดยไม่ตีโพยตีพาย โวยวายให้ดูวุ่น โดยให้เหตุผลว่า

“อยากให้บ้านเมืองเดินไปได้ และไม่อยากเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง จึงอยากให้ทุกคนคิดว่าการที่บ้านเมืองจะเดินไปได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าตัวฉันจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ต้องตัดสินใจ ขอให้คิดว่าทุกคนเป็นแค่หนึ่งใน 60 กว่าล้านคนของประเทศนี้เท่านั้น”