วิเคราะห์ | อนาคตของประชาธิปัตย์ หลังตัดสินใจโดดร่วมวง พปชร. ไม่แคร์ 3.9 ล้านเสียง ?

สัจจัง เว อมตา วาจา “อภิสิทธิ์” ทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ปชป.โดดร่วมวง พปชร. ไม่แคร์ 3.9 ล้านเสียง

ใครที่ติดตามบทบาทพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่หลังปี 2535

ก็จะไม่แปลกใจต่อมติพรรคเสียงข้างมาก 61 ต่อ 16 ในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ

มิติดังกล่าวนอกจากส่งผลกระทบต่อทิศทางการเมืองไทย ยังส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนภายในพรรคอย่างสูง

ไม่เพียงสมาชิกคนรุ่นใหม่กลุ่ม “นิวเดม” ที่ทยอยลาออกเพราะรับไม่ได้กับ “จุดยืน” ของพรรค เมื่อแนวทางอุดมการณ์แตกต่างกัน แม้แต่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ยังขออนุญาตลาออกจากสมาชิกพรรค

แต่ที่เขย่าแรงหลายแม็กนิจูด คือการลาออกจาก ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในการประชุมพรรค 4 มิถุนายน เพื่อรับทราบผลประสานงานข้อตกลงเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ตามที่พรรคมอบหมายนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคไปเจรจา

นายอภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วยที่จะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และพรรคควรยึดอุดมการณ์มากกว่าเลือกเผด็จการสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ในโลกโซเชียล นำคลิปจากเพจ Abhisit Vejjajiva ในสมัยเป็นหัวหน้าพรรคช่วงหาเสียงเลือกตั้งมาเผยแพร่ กดดัน

“ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่”

เมื่อมติพรรคสวนทางกับจุดยืนและอุดมการณ์ เพื่อรักษาเกียรติภูมิของตนเอง นายอภิสิทธิ์ไม่มีทางอื่นให้เลือก นอกจากลาออกจาก ส.ส. และขอโทษประชาชนที่ลงคะแนนให้พรรคในการเลือกตั้ง

“วันนี้ผมเหลือเพียงเส้นทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิของตัวเอง และเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมีคำขวัญว่า สัจจัง เว อมตา วาจา ที่ต้องรักษาคำพูดและรับผิดชอบคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน เพราะการทำงานของผมยึดถืออุดมการณ์และหลักการเป็นที่ตั้ง”

“คานธีเคยส่งจดหมายให้กับหลาน พูดถึงบาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ จึงจำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส.ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” นายอภิสิทธิ์ระบุ

อ้างถึงคำขวัญ อุดมการณ์ และคานธี

อย่างไรก็ตาม การลาออกจาก ส.ส. แต่ไม่ลาออกจากพรรค ทำให้มีเสียงวิจารณ์เช่นกันว่า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนจับจังหวะการเมืองแม่นยำ รู้ดีเวลาไหนควรทำอย่างไร ถึงจะพลิกบทจากผู้ร้ายให้กลายเป็นพระเอก

สืบเนื่องจากประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ ส่วนหนึ่งอาจเป็นอุดมการณ์ที่แตกต่าง อีกส่วนอาจเป็นเพราะนายอภิสิทธิ์อ่านเกมออกว่ารัฐบาลใหม่จะอายุไม่ยืน จึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปล่อย ส.ส.และแกนนำคนอื่นๆ โดนสังคมประณามโจมตี

ส่วนตัวเองหยุดพักฟื้น รอกลับมาใหม่เลือกตั้งรอบหน้า แบบหล่อๆ

อุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ บัญญัติไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 จำนวน 10 ข้อ ข้อ 1-4 ระบุ พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีอันบริสุทธิ์ ดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน

ดำเนินการเมืองโดยอาศัยหลักกฎหมายและเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังให้มีความนับถือ และนิยมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และข้อ 4 พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ

สำหรับบาป 7 ประการของ “คานธี” ตามที่นายอภิสิทธิ์อ้างถึง ข้อแรก เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ (Politics without principles)

ยังมีจุดยืนอดีตสมาชิกกลุ่มนิวเดม ที่น่าสนใจและผู้ใหญ่ในประชาธิปัตย์ไม่ควรมองข้าม

ไม่ว่าเหตุผลการลาออกของ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่พูดไว้กับประชาชน

กล่าวขอโทษ 3.9 ล้านเสียงที่เลือกประชาธิปัตย์ เพราะหวังว่าพรรคจะรักษาคำพูดของหัวหน้าพรรคในช่วงเลือกตั้ง หวังว่าพรรคจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการหยุดการสืบทอดอำนาจ และหวังการต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ

“ผมขอโทษที่สิ่งที่ท่านได้ ไม่ใช่สิ่งที่ท่านเลือก”

สมาชิกกลุ่มนิวเดมที่ลาออก ยังมีนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือไฮโซลูกนัท นายพริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ น.ส.นัฏฐิกา โล่ห์วีระ รวมถึงนายทัดชนม์ กลิ่นชำนิ ที่โพสต์ทิ้งบอมบ์ไว้ดุเดือด

“วันนี้คณะกรรมบริหารและ ส.ส.มีมติเสียงข้างมากถึง 61:16 เสียง ในการตัดสินใจทางการเมืองที่ขัดต่ออุดมการณ์พรรคชัดเจน และไม่เห็นความสำคัญต่อคะแนนเสียง 3.9 ล้านเสียง ที่ลงคะแนนด้วยความยึดมั่นในอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค

ผมไม่มั่นใจว่าก่อนการลงมติดังกล่าว ที่ประชุมได้ขอมติเพื่องดเว้นการบังคับใช้อุดมการณ์พรรคข้อที่ 4 และจุดธูปขอขมาดวงวิญญาณผู้ก่อตั้งและอดีตสมาชิกพรรคก่อนหรือไม่ ว่าวันนี้จะมีมติที่อัปยศที่สุดต่อการดำรงอยู่ของพรรคประชาธิปัตย์”

เกี่ยวกับ 3.9 ล้านเสียงของประชาธิปัตย์นั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แห่งพรรคเพื่อไทย เคยระบุถึงการรวมเสียงพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลตอนหนึ่งว่า

ก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน หัวหน้าประชาธิปัตย์ประกาศคำมั่นสัญญากึกก้องว่า “พรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ” ปรากฏมีเสียงปรบมือจากกองเชียร์ดังสนั่น

นั่นคือสิ่งยืนยันว่า 3.9 ล้านคะแนนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ คือเสียงของคนที่ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป

การที่พรรคการเมืองได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนอย่างหนึ่ง แล้วจะไปยกมือโหวตลงมติสวนทางกับฉันทานุมัตินั้น

เป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมทางการเมืองและขัดต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึงการที่ประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลที่มีพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ

คือผลพวงการเจรจา “ต่างตอบแทน” จากการที่พลังประชารัฐเทเสียงสนับสนุนให้นายชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา

ไม่ว่าคำแถลงของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

“เมื่อพิจารณาแล้ว พรรคจึงมีมติเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเข้าร่วมแล้ว จึงเห็นควรสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมติพรรคพลังประชารัฐด้วย เสมือนการเสนอนายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา”

หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ยืนยันว่าภูมิใจไทยมีมติร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามข้อตกลงของทุกพรรคที่ลงมติเลือกนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา

เท่ากับเปิดเผยร่องรอยการเจรจาร่วมตั้งรัฐบาลระหว่าง 3 พรรค พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ได้ข้อยุติเบื้องต้นอย่างน้อยก็ตั้งแต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกเพื่อเลือกประธานสภา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม

ก่อนจะมีการ “ต่อยอด” เจรจาจัดสรรโควต้าแต่ละกระทรวง จนลงตัวทั้งหมดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน จากนั้นวันที่ 4 มิถุนายน ประชาธิปัตย์ก็แถลงเข้าร่วมตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ โดยรายงานข่าวระบุ

ประชาธิปัตย์ได้โควต้า 8 ที่นั่ง 7 คน ประกอบด้วย

1 รองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการ 3 รัฐมนตรีว่าการ คือ พาณิชย์ เกษตรฯ และการพัฒนาสังคมฯ กับอีก 4 รัฐมนตรีช่วยว่าการ ได้แก่ คมนาคม มหาดไทย ศึกษาธิการ และสาธารณสุข

ตรงนี้อาจเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมมติพรรคถึงได้เย็นชาต่อความเห็นของนายอภิสิทธิ์ เมินเฉยต่ออุดมการณ์ของพรรคข้อ 1-4

ถึงหลายคนในประชาธิปัตย์จะมองว่าการเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐคือโอกาสทองฝังเพชร ทำให้พรรคสามารถสร้างผลงานให้ประชาชนได้เห็น อันจะเป็นตัวช่วยกอบกู้ฟื้นฟูศรัทธาของพรรค

เพราะลำพังประชาธิปัตย์ไม่มีวันได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง ต้องรอแต่เทียบเชิญ

แต่ปัญหาก็คือ ประชาธิปัตย์จะตอบคำถามประชาชน 3.9 ล้านคะแนนเสียงที่เลือกพรรคอย่างไร ว่าทำไมพรรคถึงไม่กล้าตัดสินใจ หรือกระทำการใดๆ ที่ผิดข้อตกลงกับพลังประชารัฐ ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างตำแหน่งประธานรัฐสภากับนายกรัฐมนตรี

แต่กลับเลือกตัดสินใจไม่ปฏิบัติตามอุดมการณ์ของพรรค

ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน