อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : สื่อยุคใหม่ 12 ยุคสมัยที่ความจริงกับมายาแยกจากกันไม่ขาด

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เหตุการณ์ช็อกโลกในคืนวันที่ 19 ธันวาคม 2016 ที่ อันเดร คาร์ลอฟ (Andrei Karlov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกี ถูกลอบยิงในหอศิลป์แห่งหนึ่งในกรุงอังการา ประเทศตุรกี จนเสียชีวิต โดยคนร้ายซึ่งแต่งกายในชุดสูทสีดำคล้ายกับบอดี้การ์ด ได้ชักปืนออกยิงใส่ร่างทูตรัสเซียขณะกำลังกล่าวสุนทรพจน์ในงานเปิดนิทรรศการศิลปะ จนล้มลงไปนอนกับพื้น

จากนั้นมือปืนก็ถือปืนกวัดแกว่งใส่ผู้ร่วมชมงาน พลางร้องตะโกนสรรเสริญพระเจ้า และร้องตะโกนว่า “อย่าลืมอเลปโป! อย่าลืมซีเรีย!” ก่อนที่จะเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและคนร้ายถูกวิสามัญฯ ไปในที่สุด

ทราบในภายหลังว่าคนร้ายรายนี้มีชื่อว่า เมฟลุต เมิร์ต อัลตินตัส (Mevlut Mert Alt?ntas) ซึ่งเป็นตำรวจปราบจลาจลในอังการาที่ดูเหมือนจะแฝงตัวอยู่ในทีมอารักขานั่นเอง

การก่อการร้ายนองเลือดอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในซีเรียครั้งนี้ ถึงจะเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นตระหนกสะเทือนขวัญ

แต่ด้วยความที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่ของหอศิลป์สีขาวสะอาดตา และมีฉากหลังที่เป็นผนังที่มีงานศิลปะร่วมสมัยแขวนอยู่รายรอบ อีกทั้งคนร้าย ผู้เคราะห์ร้าย และผู้อยู่ในเหตุการณ์ส่วนใหญ่ ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในเครื่องแต่งกายสีดำงามสง่า

อีกทั้งภาพข่าวของเหตุการณ์นี้เองก็ถูกบันทึกด้วยจังหวะ มุมกล้องและการวางองค์ประกอบภาพอันประณีต จนทำให้ภาพดูเหนือจริงจนน่าประหลาด และสวยงามจนน่าเจ็บปวด

ทำให้ภาพข่าวนี้ไม่เหมือนกับภาพข่าวอาชญากรรมทั่วๆ ไป

เพราะดูๆ ไปมันกลับไปเหมือนกับภาพจากละครเวที

หรือถ้ามีใครบอกว่ามันเป็นภาพนิ่งจากหนังแอ๊กชั่นหรือหนังอินดี้เรื่องใหม่ของ เควนติน ทารันติโน่ ก็น่าจะมีบางคนเชื่อด้วยซ้ำไป!

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%b0-1898-3

เบอร์แฮน ออซบิลิชี (Burhan Ozbilici) ช่างภาพจากสำนักข่าว AP เป็นผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ช็อกโลกครั้งนี้เอาไว้ได้

โดยเขาเข้าไปถ่ายภาพในงานเปิดนิทรรศการภาพถ่าย “From Kaliningrad to Kamchatka, from the eyes of travellers” ในหอศิลปะภาพถ่ายในอังการา เหตุเพราะมันเป็นทางผ่านระหว่างออฟฟิศกับบ้านของเขา

โดยหารู้ไม่ว่าตัวเองจะกลายเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้

“วินาทีที่มือปืนก่อเหตุ ผู้ร่วมงานในห้องกรีดร้อง วิ่งหลบหลังเสา ใต้โต๊ะ บ้างก็นอนหมอบลงกับพื้น ผมเองก็กลัวและสับสน แต่ก็พบตำแหน่งที่พอจะหลบได้บ้างหลังกำแพง และผมก็ทำงานของผม นั่นก็คือการถ่ายภาพ”

ภาพข่าวที่เห็นมือสังหารสูทดำในท่วงท่าที่ยืนกวัดแกว่งปืน ชี้นิ้วเหนือศีรษะ โดยมีร่างของทูตผู้เคราะห์ร้ายนอนแน่นิ่งอยู่เบื้องหลัง ดูช่างน่าหวาดผวาและน่าเศร้า

แต่ในขณะเดียวกันมันก็ให้อารมณ์ขรึมขลังและงดงามคล้ายกับภาพวาดโศกนาฏกรรมในเทพปกรณัมกรีกหรือศาสนตำนานของจิตรกรชั้นครู คาราวัจโจ (Caravaggio) หรือ ฌาก-หลุย ดาวิด (Jacques-Louis David)

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%b0-1898-6

ในอีกมุมหนึ่ง รูปลักษณ์ของมือสังหารในชุดสูทและผู้เคราะห์ร้ายในภาพนี้ ดูๆ ไปก็ละม้ายคล้ายคลึงกับภาพวาดลายเส้นขาวดำอันเลื่องชื่อของศิลปินอเมริกันอย่าง โรเบิร์ต ลองโก (Robert Longo) ที่มีชื่อว่า Men in the City, 1979 -1982 อยู่ไม่หยอก

ซึ่งภาพวาดชุดนี้เป็นภาพของชายหญิงในชุดสูทสีดำเรียบหรู คล้ายนักธุรกิจ กำลังยืนบิดตัวอยู่ในท่วงท่าบิดเบี้ยวหมุนคว้างคล้ายกับกำลังเต้นรำและหยุดนิ่งงันในท่วงท่านั้นเอาไว้เหมือนถูกสะกดอยู่บนฉากหลังว่างเปล่าขาวสะอาดราวกับถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก

โดยกระบวนการทำงานชุดนี้ก็คือ ลองโกให้เพื่อนของเขาแต่งตัวในสูทหรูเหมือนนักธุรกิจ และทำท่าทางเซเสียหลัก หรือถลาล้มมาข้างหน้า

หรือทำท่าทางเหมือนกับกำลังนอนแผ่หราเหยียดแขนขาอยู่กลางอากาศ และถ่ายภาพเอาไว้

แล้วนำภาพเหล่านั้นมาขยายผ่านโปรเจ็กเตอร์ลงกระดาษและเขากับผู้ช่วยก็วาดภาพลายเส้นเหมือนจริงขนาดใหญ่กว่าตัวจริงในอัตราส่วน 3:4 ขึ้นมา

ด้วยความที่เขาเรียนจบมาทางด้านประติมากรรม เทคนิคภาพวาดลายเส้นของเขาจึงดูมีมิติสมจริงคล้ายกับงานประติมากรรม

“ผมมักคิดว่าการวาดเส้นคือกระบวนการทำงานประติมากรรม ผมจึงมักคิดว่าผมกำลังแกะสลักมากกว่าวาดภาพ มันเหมือนผมกำลังแกะสลักด้วยยางลบและอุปกรณ์วาดเส้นนั่นแหละ”

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%b0-1898-5

ผลงานชุด Men in the City สร้างชื่อให้กับเขาอย่างมากในช่วงต้นยุค 1980 มันถูกแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์และเทศกาลศิลปะชั้นนำทั่วโลก อาทิ Whitney Biennial ในนิวยอร์ก documenta ในเมืองคาสเซล เยอรมนี Venice Biennale ในอิตาลี

และมันก็เป็นเรื่องบังเอิญอันน่าขำขื่นตรงที่ ภาพวาดลายเส้นชุดนี้ ลองโกได้ไอเดียมาจากภาพของหนังเยอรมัน The American Soldier (1975) ของผู้กำกับฯ ชาวเยอรมัน ไรเนอร์ เวียเนอร์ ฟา สบินเดอร์ (Rainer Werner Fassbinder) ซึ่งเป็นภาพในซีนสุดท้ายของหนัง ในวินาทีที่ตัวละครเอกถูกคู่อริยิงจนหมุนคว้าง ก่อนที่จะล้มลงไปนอนแน่นิ่งกับพื้นนั่นเอง

ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่น่าขัน น่าเศร้า หรือน่าหวาดกลัวดี ที่เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน มันพัฒนาก้าวล้ำนำหน้า และแนบเนียนขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวี่วัน

จนจะทำให้นับวันๆ ผู้เสพข้อมูลข่าวสารอย่างเราๆ ท่านๆ จะแยกความแตกต่างระหว่างความเป็นจริงกับมายาภาพไม่ได้เอา

หรือไม่ก็อาจจะแยกไม่ออกว่า อะไรเป็นศิลปะ หรืออะไรเป็นเหตุการณ์จริงแล้วก็เป็นได้

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%b0-1898-7

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%b0-1898-2