ปรากฎการณ์ “ประเทศกูมี” ข้ามทะเล รับรางวัลอินเตอร์ คลื่นใหม่เพลงต่อสู้

สําหรับประเทศไทย “เพลงประท้วง” เคยเฟื่องฟูในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516

กลุ่มศิลปินและนักดนตรีที่ทำเพลงประท้วง ทั้งในลักษณะวงอาชีพและวงนักศึกษาที่เกิดมากับบรรยากาศประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาฯ หนีภัยเข้าป่าหลัง 6 ตุลาฯ 2519

เมื่อคณะทหารปิดสวิตช์ประชาธิปไตย มีการเข่นฆ่านองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กลายเป็นกลุ่มทำเพลงปฏิวัติ ในแนวทางที่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.เป็นองค์กรนำการต่อสู้ ระหว่าง 2519-2523

เพลงในยุคนี้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย หรือ สปท. ที่มีสถานีอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และเผยแพร่ผ่านสายจัดตั้งต่างๆ ไปสู่นักศึกษา ประชาชนและผู้สนใจการต่อสู้ของ พคท.

กระทั่ง “ป่าแตก” เมื่อ พ.ศ.2523-2524 ศิลปินดนตรีจากป่า หลั่งไหลเข้าเมือง ทำให้เกิดเพลงเพื่อชีวิตอีกแนวหนึ่ง เกิด “ผับเพื่อชีวิต” ขึ้นมารองรับ

เนื้อหาดนตรีเปลี่ยนมาเอ่ยถึงการต่อสู้ชีวิตในเมือง และความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า แต่ด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่เบาบางลงไป

หลังพฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ดนตรีเพื่อชีวิตแผ่วลงเรื่อยๆ กระทั่งเกิดรัฐประหารขับไล่ “ทักษิณ” ในปี 2549 สังคมไทยแตกเป็น 2 ขั้ว ในวงการเพลงเพื่อชีวิตก็เช่นเดียวกัน

กลุ่มเสื้อแดงผลิตศิลปินเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวของตนเอง ต่อยอดจากศิลปินเพื่อชีวิตเดิมที่เห็นด้วยกับแนวทางของคนเสื้อแดง เกิดความย้อนแย้งอย่างหนักเมื่อมีการนำเอาเพลงต่อสู้จาก 14 ตุลาฯ ไปใช้ในม็อบขับไล่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย และในม็อบชัตดาวน์ขับไล่รัฐบาลเพื่อไทย

เพลงแสงดาวแห่งศรัทธาของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นอีกเพลงฮิตในการชุมนุมประท้วงดังกล่าว ก่อนจะลงเอยด้วยการรัฐประหารในปี 2557

ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองในรอบ 10 ปี

รัฐประหาร 2557 มีการควบคุมการแสดงออกของประชาชนที่เห็นต่างอย่างเข้มงวด แต่ก็ไม่ง่าย เพราะโลกเข้าสู่ยุคออนไลน์ที่ยากแก่การปิดกั้น

ขณะที่ศิลปินรุ่นเก่าหันไปสนับสนุนระบอบทหาร ชื่นชมเผด็จการ ศิลปินรุ่นใหม่เกิดขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ระบบและเรียกร้องเสรีภาพ นำเสนอในแนวเพลงร่วมสมัย

22 ตุลาคม 2561 กลุ่ม RAD หรือ Rap Against Dictatorship ปล่อยเพลงฮิปฮอป “ประเทศกูมี” ลงในยูทูบ ทางตำรวจแสดงท่าทีขึงขังจะดำเนินการทางกฎหมาย

เนื้อหา “ประเทศกูมี” วิพากษ์สภาพการณ์ในประเทศอย่างตรงไปตรงมา มีมิวสิกวิดีโอที่ทำให้ให้ผู้ฟังเห็นภาพของปัญหา ขณะที่สไตล์เพลงฮิปฮอปที่มีการ “แร็พ” สะท้อนเสียงของคนรุ่นใหม่ออกมาอย่างมีพลัง

ยอดเข้าชมถึงต้นเดือนมิถุนายน 2562 หลังจากปล่อยเพลงมา 7 เดือน อยู่ที่ 64 ล้านวิว

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวแทนวง RAD เดินทางไปรับรางวัล “วาสลาฟ ฮาเวล ไพรซ์ ฟอร์ ครีเอทีฟ ดิสเซนต์” (Vaclav Havel Prize for Creative Dissent) ในงาน Oslo Freedom Forum ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์

สำหรับวาสลาฟ ฮาเวล (1936-2011) เป็นรัฐบุรุษของชาวเช็ก เป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของเชโกสโลวะเกีย ก่อนกลายเป็นสาธารณรัฐเช็ก ในปี 1993 และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเช็ก จาก 1993-2003

เป็นรางวัลที่ Human Rights Foundation มอบให้กับผู้กล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านความไม่ยุติธรรม ตัวแทนของวง คือผู้ใช้ชื่อว่า ลิเบอเรตพี (Liberate P) และจาโคบอย (Jacoboi)

จาโคบอยขึ้นกล่าวบนเวที เล่าถึงการเมืองประเทศไทยที่ใน 13 ปีมีรัฐประหาร 2 ครั้ง ประท้วงใหญ่ 4 ครั้ง ที่จบลงด้วยความตายของประชาชน หลายคนติดคุก บางคนหนีออกนอกประเทศ หลายคนสูญหาย แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจ และต่อสู้มาจนถึงบัดนี้

ปีที่แล้วเราตั้ง RAD และปีนี้เราคือกลุ่มคนที่ยังต่อสู้อยู่ เราไม่คิดว่าจะได้มายืนอยู่ที่นี่ในวันนี้ แด่ทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย ขอบคุณที่นำพารางวัลนี้มาให้เรา จากนั้น ลิเบอเรตพีได้ขึ้นแร็พบนเวที

กลุ่ม RAD คือคลื่นลูกใหม่ของศิลปินผู้รักเสรีภาพที่ก้าวขึ้นมาแทนคนรุ่นเก่าที่ถดถอยหรือหมดบทบาทไป