ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
แม้จะประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้งล้นหลาม
แต่ก็ต้องยอมรับว่า วันนี้อนาคตใหม่กำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบากไม่น้อยเหมือนกัน
เพราะระดับหัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกฯ ไม่สามารถเข้าสภาได้ หลังถูกสั่งงดปฏิบัติหน้าที่ เรียกได้ว่าส่วนหัวได้หายไปแล้ว ไม่มีแม้แต่สิทธิ์การยกมือโหวตประธานสภา
เนื่องมาจากคดีถือหุ้นสื่อ จุดเริ่มต้นเกิดจากเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่ง มองว่านายธนาธรขาดคุณสมบัติการสมัคร ส.ส. การถือครองหุ้นสื่อขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ต่อมามีการชี้แจงว่าโอนให้มารดาตั้งแต่ 8 มกราคม 2562 พร้อมยืนยันหลักฐาน
ลามไปจนถึงการตรวจสอบที่อยู่กัน กระทั่งมีผู้ยื่นเรื่องต่อ กกต. และ กกต.มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา กระทั่งศาลสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ ก่อนวันเลือกตั้ง ศาลฎีกาได้พิพากษาเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. จ.สกลนคร เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ และนายคมสันต์ ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ เพราะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(3)
โดยทั้งสองกรณีนี้ ศาลพิจารณาจากหนังสือวัตถุประสงค์ของบริษัทที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ มือกฎหมายของพรรค ยืนยันชัดเจนมาตลอดว่า หากใช้บรรทัดฐานจากกรณีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด และนายคมสันต์ ศรีวนิชย์ จะพบว่ามี ส.ส.จำนวนมากที่ถือหุ้นหรือประกอบกิจการในบริษัทหรือ หจก. ที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบกิจการสื่อ ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามของการเป็น ส.ส. และมีบุคคลไปยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ส.ส.เหล่านี้ แต่ยังไม่มีเรื่องใดที่ กกต.ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเลย เว้นกรณีเดียวคือกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
อนาคตใหม่จึงเดินเกมครั้งนี้ใหม่ ทีม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เดินทางมายื่นเอกสารต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เข้าชื่อ ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ขึ้นไป ร้องขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
เพื่อวินิจฉัยว่ามี ส.ส.ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามกรณีถือครองหุ้นสื่อ
เป็นยุทธการหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง หัวหน้าพรรคถูกเล่นงานเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม ส.ส. ก็ใช้เรื่องนี้สู้กลับ ที่น่าลุ้นระทึกก็คือ จากการตรวจสอบ มี ส.ส.หลายคนที่ถือครองหุ้นในลักษณะเดียวกับนายธนาธร นั่นคือถือหุ้นบริษัทที่วัตถุประสงค์ของบริษัทมีเรื่องการประกอบกิจการสื่ออยู่ เบื้องต้นรายชื่อที่ยื่นต่อประธานสภามีกว่า 30 คน ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ 27 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน และพรรคชาติพัฒนา 1 คน
ที่สำคัญคือหลักฐานชัดเจน โดยพรรคอนาคตใหม่นำข้อมูลรายชื่อของทั้ง 30 คนเผยแพร่ลงในอินเตอร์เน็ต พร้อมหนังสือรับรองจากกรมธุรกิจการค้า ขีดเส้นใต้ เน้นย้ำวัตถุประสงค์ของบริษัท เรื่องการทำสื่อทั้งหมด อันนี้เรียกได้ว่าหลักฐานชัดเจนไม่ต่างกับกรณีที่ศาลฎีกาตัดสินฟัน 2 ผู้สมัคร
“ตามกระบวนการแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะไม่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจใดๆ ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ถ้ารายชื่อ ส.ส.ที่ลงชื่อครบ 1 ใน 10 และถ้าหากใช้มาตรฐานที่เท่าเทียมกันกับกรณีของนายธนาธร ซึ่ง กกต.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งรับคำร้องและสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกัน น่าจะเชื่อได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องภายใน 7 วัน และมีคำสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกันสำหรับ ส.ส.ทั้ง 30 คน”
นายปิยบุตรกล่าวยืนยัน
นี่คือสิ่งที่ไม่ได้เกินจากความคาดหมาย อดีตขุนคลังอย่างนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ไว้นานแล้วว่า ถ้า กกต.เดินเกมนี้ สุดท้ายแล้วมันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ต่อสู้ร้องเรียนกันไปมา เพราะอาจจะเอาผิดคดีอาญา ก็ต้องดูเจตนาเป็นหลัก ว่าผู้ถูกร้องได้ใช้บริษัทดังกล่าวในการหาเสียงหรือโจมตีฝ่ายตรงข้ามหรือไม่
ส่วนกรณีวัตถุประสงค์ของบริษัทที่มีเรื่องสื่อทั้งที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อจริง ลักษณะการจดทะเบียนบริษัทเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ และมีเป็นหลายแสนบริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ แต่ถูกระบุในวัตถุประสงค์การจัดตั้ง หาก กกต.ทำการสืบสวน และดูที่เจตนาการกระทำผิด หลายกรณีก็อาจยุติโดยที่เรื่องไม่ต้องถึงศาล
แต่ปัญหาคือ กกต.ไม่ได้เลือกทำแบบนี้ การยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรของอนาคตใหม่ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงเป็นช่องทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ในมุมหนึ่ง สิ่งที่อนาคตใหม่ทำ คือการเรียกร้องระบบกฎหมายที่มีมาตรฐานเดียวกัน ถ้าข้อเท็จจริงต่างกัน การปฏิบัติต่างกันก็จะไม่แปลก แต่เพราะข้อเท็จจริงกลับเหมือนกัน มันเป็นการพิสูจน์ว่า แล้วการปฏิบัติจะเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร กรณีนี้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองแล้ว
สังคมจึงจับตาว่า คนอื่นๆ ที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายธนาธร จะได้รับผลเหมือนนายธนาธรหรือไม่
ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่แปลก หากจะมีคนมองเชื่อมโยงกับเหตุการณ์การเมืองปัจจุบัน หรือมองว่าเป็นการเด็ดหัวเพื่อให้หางมีอิสระมากขึ้น เพราะกำลังอยู่ในสถานการณ์ของการต่อรองเจรจาเพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้
มันเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังทราบผลการเลือกตั้ง ว่าสังคมไทยน่าจะเข้าสู่โหมดการเมืองเรื่องงูเห่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นมานานแล้วในอดีต แต่มันกลับมาอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่า เกิดจากโครงสร้างการเมืองและกติกาที่ถูกออกแบบโดยฝั่งผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว
ผลการเลือกตั้ง ทำให้ไม่มีใครชนะเด็ดขาด พรรคที่ได้อันดับ 1 ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นผู้ที่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ชัยชนะเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง เพื่อดึงเสียงของพรรคอื่นมาร่วม
นี่จึงเป็นที่มาของงูเห่า ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธาน
มีกระแสข่าวมาตั้งแต่ช่วงหลังเลือกตั้งเรื่องการดึงงูเห่า ในช่วงแรก เงินในการซื้อผู้แทนฯ ให้เปลี่ยนฝั่ง อยู่ที่ราว 5-10 ล้านเท่านั้น
แต่ล่าสุด ทีม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 13 คนที่อ้างว่าเคยถูกติดต่อขอซื้อตัวให้เป็นงูเห่า ร่วมกันแถลงข่าวเปิดเผยรายละเอียดความพยายามในการซื้องูเห่าจากพรรคอนาคตใหม่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
นายอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี เล่าว่า ได้รับการติดต่อมาสองครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกเสนอให้เงินเป็นจำนวนถึง 30 ล้านบาท โดยจะจ่าย 25 ล้านบาทก่อน แล้วจะจ่ายให้อีก 5 ล้านบาทหลังเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จ แต่ตนก็ได้ปฏิเสธไป จนมีการติดต่อครั้งที่สองมาเสนอเงินเพิ่มให้เป็น 60 ล้านบาท ซึ่งตนก็ได้ปฏิเสธไปเช่นกัน
ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ เล่าว่า มีการเสนอเงินให้ตนครั้งแรก 30 ล้านบาท ผ่านคนสนิทที่รู้จักกันต่อมาเป็นทอดๆ และยังมีความพยายามเสนออีกต่อมาในราคา 50 ล้านบาท ครั้งที่สาม 70 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนมีการเสนอให้สูงถึง 120 ล้านบาท ซึ่งตนได้ปฏิเสธไป
นายฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น ระบุว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะติดต่อมาตลอด เริ่มตั้งวันที่ 25 มีนาคม หลังเลือกตั้งได้เพียงหนึ่งวัน มีโทรศัพท์เข้ามาว่ามีผู้ใหญ่ขอพบ เป็นรองหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ตนได้ตอบไปว่าไม่สะดวก ต่อมาปลายสายจึงได้ถามตนว่าอยากได้เงินนอกบัญชีใช้ 9 หลักไหม ตนก็ตอบว่าอยากได้ แต่เงินนี้ตนขอหามาใช้เอง ไม่ขอรับเงินแบบนี้
ทั้ง 13 คนเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โฆษกของพรรรคยืนยันว่ายังมีอีกหลายคน แน่นอนว่าการซื้องูเห่าจากฝั่งประชาธิปไตยสำเร็จแล้วบางส่วน สังเกตจากการเลือกประธานและรองประธานสภา แต่เป็นการลงมติลับ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นใคร
เรื่องจริงเท็จ สังคมยังไม่อาจรู้ได้ ทั้งหมดเป็นเพียงคำบอกเล่า ยังไม่ได้รับการพิสูจน์
ต้องจับตาดูว่า คดีความที่ใช้จัดการนายธนาธร เรื่อยมาจนถึงเรื่องการใช้วัฒนธรรมซื้องูเห่าแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจนเป็นตราบาปสภาไทย เข้าตำรา เผาบ้านทั้งหลัง ยอมทำทุกอย่าง เพื่อฆ่าหนูตัวเดียวหรือไม่