รัฐบาลประยุทธ์ 2 เปลี่ยนเผด็จการทหารเป็นเผด็จการรัฐสภาใต้ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

หลังจากความอึมครึมทางการเมืองที่ปกคลุมประเทศหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมผ่านไป คนไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่ใต้นายกฯ หน้าเดิมซึ่งปกครองประเทศมาห้าปีแล้วต่อไปอีก

นั่นหมายความว่า ความขัดแย้งในสังคมเรื่อง “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” คงยังไม่ยุติอย่างที่ควรจะเป็น ต่อให้มีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ด้วยตัวนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้วได้เป็นนายกฯ ต่อเพราะวุฒิสมาชิกซึ่งตัวเองตั้งเอง

รัฐบาลชุดใหม่จะเผชิญข้อกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาล “สืบทอดอำนาจ” ต่อไปแน่ๆ

ยิ่งกว่านั้นคือ คณะรัฐมนตรีที่คนสำคัญของ คสช.อยู่ในตำแหน่งเดิมก็จะยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลนี้เป็นภาคต่อของรัฐบาล คสช.โดยปริยาย

แม้คุณประยุทธ์จะสืบทอดอำนาจโดยมีพรรคการเมืองสนับสนุนเกือบยี่สิบราย แต่ด้วยเหตุที่ทุกพรรคมี ส.ส.รวมกันราว 250 คน เกือบเท่าวุฒิสภาที่คุณประยุทธ์ตั้งให้เลือกตัวเองเป็นนายกฯ พรรคการเมืองจึงมีอำนาจต่อรองกับคุณประยุทธ์น้อยมาก เว้นแต่ในเวลาที่คุณประยุทธ์โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ต่อให้พรรคการเมืองสามัคคีต่อรองเรื่องต่างๆ จำนวน ส.ส.ของทุกพรรคก็ไม่ทำให้คุณประยุทธ์จำเป็นต้องฟังพรรคการเมืองกับ ส.ส.มากนัก

ซ้ำเมื่อคำนึงว่าพรรคฝ่ายหนุนคุณประยุทธ์มีความไม่ลงรอยระหว่างพรรคและระหว่างมุ้งต่างๆ เต็มไปหมด “อำนาจต่อรอง” ที่ ส.ส.มีต่อคุณประยุทธ์ก็ยิ่งถอยลงทันที

คนที่ติดตามการเมืองรู้ว่าประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยทำทุกอย่างเพื่อ “ต่อรอง” กับพลังประชารัฐช่วงเจรจาจัดตั้งรัฐบาล แต่สถานการณ์ที่ลุกลามถึงขั้นปล่อยข่าวยุบสภาและยุบพรรคการเมืองเพื่อกดดันทั้งสองพรรคเป็นการเมืองที่ผิดปกติ โดยเฉพาะการข่มขู่ว่าพลังประชารัฐจะตั้งรัฐบาลโดยไม่รอสองพรรคเลย

ความไม่ลงรอยของพลังประชารัฐ/ประชาธิปัตย์/ภูมิใจไทย ทำให้แต่ละพรรคต้องเข้าหาอำนาจที่ใหญ่กว่าอย่างคุณประยุทธ์และกลุ่ม คสช.ที่ผูกขาดเป็นรัฐมนตรีมาแล้วครึ่งทศวรรษ ก๊วนยึดอำนาจจะมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลเหมือนมาเฟียในภาพยนตร์ The Godfather ส่วนพรรคการเมืองจะเป็นได้แค่จิ๊กโก๋ปากซอย

ถึงพลังประชารัฐจะเป็นพรรคใหญ่สุดในรัฐบาลและเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ วิธีสร้างพรรคทำให้พรรคมีอำนาจต่อรองกับคุณประยุทธ์ต่ำมาก รากฐานที่ดูดนักการเมืองแบบ “ร้อยพ่อพันแม่” ทั้งที่เคยชนะเลือกตั้ง, ไม่เคยชนะ และพรรคเก่าไม่ส่งลง ส.ส.ทำให้พรรคไม่เป็นพรรคในความหมายที่แท้จริง

ทุกคนในวงการการเมืองรู้ว่าพลังประชารัฐมีหลายมุ้ง แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมุ้งกับมุ้งบางกรณีถึงขั้นแทบไม่คุยกันด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้นคือแต่ละมุ้งต้องเพิ่มอำนาจต่อรองโดยทำให้ผู้มีอำนาจเหนือพรรคเห็นความสำคัญขึ้นโดยดูด ส.ส.ข้ามมุ้ง หรือสร้างภาพว่าพรรคอื่นเป็นเครือข่ายมุ้งตัวเอง

พลังประชารัฐเป็นพรรคซึ่งทุกมุ้งต้อง “ช่วงชิงการนำ” การเจรจาตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่นซึ่งเคยมีแต่ทีมสี่รัฐมนตรีจึงต้องมีทีมสามมิตรประกบในช่วงหลัง เหตุผลง่ายๆ คือสื่อสารให้ “ผู้ใหญ่” เห็นว่าฝ่ายตัวเองกุมการนำ

ส่วนเหตุผลที่ยุ่งขึ้นอีกนิดคือ ต่างฝ่ายต่างระแวงว่าจะเสียเก้าอี้สำคัญ หากปล่อยให้อีกฝ่ายไปเจรจา

ด้วยการเมืองภายในพลังประชารัฐที่ทุกฝ่ายต้องการสร้างอำนาจต่อรองให้ตัวเอง หนึ่งวันก่อนที่รัฐสภาจะประชุมเลือกนายกฯ จู่ๆ พลังประชารัฐก็นัดสื่อฟังการแถลงตั้งรัฐบาลกับพรรคคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ, พรรคคุณไพบูลย์ นิติตะวัน, พรรคคุณชัช เตาปูน, พรรคคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และพรรคคุณดำรงค์ พิเดช โดยไม่มีชื่อพรรคใหญ่อื่นๆ เกี่ยวข้องเลย

จากภาพการแถลงข่าววันนั้น การช่วงชิงอำนาจระหว่างมุ้งต่างๆ ในพลังประชารัฐรุนแรงถึงจุดที่มีการแบ่งขั้วเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ โดยสมบูรณ์แล้ว สี่รัฐมนตรีซึ่งมีตำแหน่งบริหารแต่ไม่มี ส.ส.พยายามสร้างอำนาจต่อรองโดยดึงพรรคกลุ่มนี้เป็นพวกเพื่อ “สร้างดุลอำนาจ” กับนักการเมืองกลุ่มที่มี ส.ส.ในสังกัดชัดเจน

ภายใต้ความไม่ลงรอยระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล วิถีทางการเมืองที่แต่ละพรรคต้องทำเหมือนกันคือ “สายตรง” ผู้มีอำนาจตัวจริงเท่านั้น ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันก็คือการช่วงชิงการนำระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐก็ส่งผลให้แต่ละกลุ่มต้องเข้าหาผู้มีอำนาจตัวจริงเหมือนพรรคอื่นด้วยเช่นเดียวกัน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาล ทั้งที่ชนะเลือกตั้ง แต่ผลทางการเมืองที่ลุกลามไปมากกว่านั้นคือการเกิดระบอบการเมืองที่ทุกพรรคถูกบีบให้เป็นเด็กในสังกัดคณะรัฐประหาร รัฐบาลหลังเลือกตั้งจึงมีพรรคการเมืองเป็นตัวประกอบที่อำนาจต่อรองน้อยเมื่อเทียบกับรัฐมนตรีขาประจำ

แน่นอนว่าคุณประยุทธ์ที่ปราศจาก ม.44 เป็นภัยต่อสังคมน้อยกว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่ใหญ่คับฟ้ายุค คสช. แต่ด้วยกลไกทางกฎหมายและการเมืองที่เป็นรากฐานในการสืบทอดอำนาจ ทิศทางการเมืองของประเทศหลังปี 2562 จะเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วทำให้คุณประยุทธ์ยิ่งใหญ่น้อยลงกว่ายุค คสช.นิดเดียว

การดำเนินงานทางการเมืองที่เป็นไปตามแผนส่งผลให้ผู้ก่อรัฐประหารมี “อำนาจ” เหนือฝ่ายบริหารต่อไป และความอ่อนแอของพรรคการเมืองก็ทำให้นายกฯ จากหัวหน้า คสช.มี “อิทธิพล” เหนือทุกฝ่ายต่อไปด้วย เช่นเดียวกับ “เครือข่าย” ทั้งในและนอกกองทัพที่จะเสริม “อิทธิพล” ให้คุณประยุทธ์อย่างแน่นอน

โดยปกติแล้วสภาผู้แทนฯ ต้องกำกับรัฐบาลในระบบรัฐสภา และที่จริงจำนวน ส.ส.ฝ่าย “หนุนประยุทธ์” ที่มากกว่าฝ่าย “ไม่หนุนประยุทธ์” แค่สิบกว่าเสียงนั้น แปลว่าสภาผู้แทนฯ ควรควบคุมรัฐบาลได้ง่ายขึ้น

แต่กติกาที่คุณประยุทธ์อำนวยการให้เกิดและตัวตนคุณประยุทธ์นั้นจะทำลายประชาธิปไตยรัฐสภาโดยสิ้นเชิง

พล.อ.ประยุทธ์แสดงพฤติกรรมไม่เคารพสภาตลอดครึ่งทศวรรษที่อุปโลกน์ตัวเองเป็นนายกฯ ต่อให้เป็นสภานิติบัญญัติหรือสภาขับเคลื่อนที่ท่านตั้งสมาชิกเอง คุณประยุทธ์ก็ไปสภาเท่าที่ต้องทำเพื่อประกอบพิธีกรรมให้ครบถ้วน จึงไม่ต้องคิดเลยว่าคนแบบนี้จะเห็นความสำคัญของสภาผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือกมาจริงๆ

พล.อ.ประยุทธ์ประกาศก่อนวันเลือกนายกฯ ว่าไม่ไปแสดงวิสัยทัศน์ในสภา ท่าทีที่แข็งกร้าวแบบนี้เป็นสัญญาณว่าเรากำลังจะมีนายกฯ ที่ไม่เหยียบสภาเลยก็ได้ โอกาสที่พรรคการเมืองและสภาจะกำกับฝ่ายบริหารจึงมีต่ำมาก ไม่ต้องพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการดำเนินการต่างๆ จนสภาควบคุมคุณประยุทธ์ไม่ได้เลย

กลไกที่สภาจะควบคุมนายกฯ คือญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือลงมติไม่บสนับสนุนกฎหมายฉบับต่างๆ และถึงแม้จำนวน ส.ส.ฝ่ายหนุนคุณประยุทธ์จะมากกว่าฝ่ายอื่นแค่นิดเดียว สภาเต็มไปด้วย “งูเห่า” ย่อมไม่มี ส.ส.พอจะคว่ำนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

ซ้ำ “งูเห่า” ยังโผล่สนับสนุนกฎหมายรัฐบาลได้ตลอดเวลา

พรรคฝ่ายค้านมี ส.ส.มากพอจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคุณประยุทธ์ได้ก็จริง แต่โอกาสที่พรรคฝ่ายหนุนคุณประยุทธ์จะเกิดเหตุ “คว่ำกลางสภา” มีน้อยมาก ต่อให้ไม่คำนึงถึงบทบาทของกองทัพหรือผู้บัญชาการทหารที่อาจจะข่มขู่หรือให้ผลประโยชน์ต่างๆ จน ส.ส.ไม่กล้าตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ในสภาเลยก็ตาม

อันที่จริงสภาผู้แทนฯ ไม่เคยทำให้รัฐบาล “คว่ำกลางสภา” เลย ครั้งสุดท้ายที่ประเทศนี้เกิดเหตุนี้คือปี 2529 ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งกันเองจนไม่ลงมติรับรองกฎหมายที่รัฐบาล พล.อ.เปรมเสนออันนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด ความขัดแย้งในรัฐบาลจึงทำให้เกิดเหตุ “คว่ำกลางสภา” มากกว่าพลังของสภาเอง

ด้วยมาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน สภาผู้แทนฯ สามารถอภิปรายไม่ไว้ใจนายกฯ ได้เพียงปีละครั้ง ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับอื่นเปิดทางให้สภาผู้แทนฯ กำกับรัฐบาลได้มากกว่านี้ และถึงแม้ ส.ส.จะฝ่าข้ามอิทธิพลจนลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้สำเร็จ วุฒิสภาก็สามารถตั้งคุณประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกได้ตลอดเวลา

กระบวนการทางกฎหมายและการเมืองทั้งหมดทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เดินหน้าสู่ระบอบ “เผด็จการรัฐสภา” แต่ขณะที่คำนี้ในอดีตถูกใช้เพื่อโจมตีรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งจนมี ส.ส.ในสภามากถึงขั้นที่ฝ่ายค้านอภิปรายอย่างไรก็แพ้ตลอด “เผด็จการรัฐสภา” รอบนี้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลมีวุฒิสภาเป็นเกราะกำบัง

โดยหลักการแล้วประเทศไทยหลังเลือกตั้งและเลือกนายกฯ ควรเดินหน้าสู่การฟื้นฟูการเมืองแบบปกติผ่านประชาธิปไตยรัฐสภา แต่ด้วยกติกาทางการเมืองและพฤติกรรมของคุณประยุทธ์ โอกาสที่จะเกิดการฟื้นฟูประชาธิปไตยรัฐสภามีน้อยมาก เมื่อเทียบกับการทำให้สภาอ่อนแอจนเป็นเครื่องมือฝ่ายบริหารอย่างเดียว

ไม่มีการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์สำหรับรัฐบาลพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จะมีก็แต่การทำให้การเลือกตั้งและพรรคการเมืองเป็นอะไหล่สืบทอดอำนาจคู่ขนานไปกับกองทัพและกำลังอาวุธ โอกาสในการฟื้นฟูประเทศจึงขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์เองว่าจะบริหารประเทศเหมือนหรือต่างจากที่เป็นมาตลอดห้าปี