ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘ทุ่งไหหิน’ โกศในศาสนาผี สุวรรณภูมิ ยุคดึกดำบรรพ์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพการขุดค้นที่ทุ่งไหหินโดยทีมของ Dr. Dougald O’Reiley จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ที่มาภาพ: www.anu.edu.au)

ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย นำโดย Dr.Dougald O”Reiley ได้ประกาศข่าวการขุดค้นแหล่งโบราณคดีทุ่งไหหิน ที่เมืองโพนสะหวัน บนที่ราบสูงเชียงขวาง ทางตอนกลางของประเทศลาว เพื่อทำการไขปริศนาว่า ไหหินเหล่านี้มีไว้ทำไม?

แต่กว่าที่เราจะรับรู้ผลการขุดค้นทั้งหมดได้ก็ต้องรอจนกว่าจะจบโปรเจ็กต์ ซึ่งกินเวลาถึง 5 ปีเลยนะครับ

“ไหหิน” มีกระจายอยู่ทั่วท้องทุ่งโดยรอบเมืองเชียงขวาง ทางการลาวเขาจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีเฉพาะทุ่งไหหิน 1 บริเวณเมืองโพนสวรรค์ ที่มีขนาดใหญ่ กินอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าที่อื่นๆ

ส่วนทุ่งไหหิน 2 และ 3 ที่อยู่ไกลออกไปกว่า 12 กิโลเมตร มีขนาดอาณาบริเวณไม่กว้างขวาง และมีไหหินอยู่จำนวนไม่มากนัก แต่ก็ถือได้ว่ากระจายตัวอยู่ไปทั่ว

ที่เรียกว่าไหหินเป็นเพราะว่า หินก้อนมหึมาเหล่านี้คว้านหินเนื้อในออกจนกลวงเหมือนโอ่ง เหมือนไห บางชิ้นมีร่องรอยว่าเคยมีฝาปิดอยู่ด้วย

เป็นไปได้ว่า เมื่ออยู่สมบูรณ์ครบทุกไหคงจะเคยมีฝาปิดอยู่เหมือนกันนั่นแหละ

บางไหมีร่องรอยสลักรูปคนเลียนท่าทางคล้ายกบ เหมือนอย่างที่พบในพิธีการขอฝนของพวกจ้วงกวางสีอย่างหยาบๆ

ส่วนที่ฝาไหมีบันทึกว่า บางฝามีร่องรอยการสลักรูปลิง รูปเสือ (หรือแมว?) และรูปสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดอย่างหยาบๆ อยู่เช่นกัน

มีตำนานเล่าว่า ท้าวฮุ่ง หรือขุนเจือง เป็นผู้ที่สั่งให้ทำขึ้นเป็นเหล้าไห สำหรับฉลองชัยที่สามารถชนะศึกที่เมืองปะกันหลังจากที่ล้อมปราบอยู่ 7 เดือน ชาวลาวจึงมักจะเรียกไหหินเหล่านี้ว่า “ไหเหล้าเจือง”

แน่นอนว่านี่เป็นแค่ความเชื่อ และเป็นไปไม่ได้ที่จะยึดถือเป็นจริงเป็นจัง แต่ตำนานที่ว่าก็ช่วยสืบย้อนร่องรอยให้เห็นว่า น่าจะแรกมีมาก่อนโดยพวกขมุ ที่นับถือขุนเจือง

นักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยอธิบายเรื่องไหหินเหล่านี้ว่า อาจจะเกี่ยวข้องกับพวกขมุได้มากที่สุด โดยยกหลักฐานแวดล้อมบริเวณเมืองเชียงขวาง ทั้งงานสำรวจของ พระวิภาคภูวดล (James Fitzroy McCarthy) เจ้ากรมแผนที่คนแรกของสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 และในกลอนนิราศเมืองหลวงพระบาง เป็นต้น

ในรายงานการสำรวจทั้งสองครั้งของพระวิภาคภูวดลเมื่อเรือน พ.ศ.2427 และ พ.ศ.2436 มีข้อมูลระบุว่า ท่านได้ลองขุดตรวจดูข้างใต้ไหหินบางชิ้น พบว่าบริเวณโดยรอบของไหหินเหล่านี้ มีร่องรอยกิจกรรมบางอย่างเนื่องจากมีการฝังวัตถุมีค่าอย่าง ภาชนะที่บรรจุดินเหนียว และลูกปัดอำพัน กระพรวน

ที่น่าสนใจคือ พบโกศบรรจุกระดูกด้วย ในรายงานสำรวจที่ว่ายังระบุอีกด้วยว่า บริเวณไหหินเหล่านี้มีร่องรอยการถูกขุดมาก่อนสมัยของท่านแล้ว

พ.ศ.2473 Madeleine Golani นักสำรวจสาว (ในสมัยนั้น) ชาวฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษา และมีขุดตรวจบริเวณทุ่งไหหิน จนได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ Megalithes du Haut-Laos ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2478 ได้สรุปว่า

ไหหินเหล่านี้คงจะสร้างขึ้นมาเมื่อสมัยก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว โดยน่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ หรือความตาย เพราะได้มีการค้นพบ โครงกระดูกมนุษย์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้อยู่ในบริเวณโดยรอบ ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับไหหินเหล่านี้

ไหหินเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเรื่องความตายอย่างที่ Golani เสนออย่างไม่ต้องสงสัย เพราะหลักฐานจากการสำรวจข้อมูลโดยละเอียดของ O”Reiley ระบุว่า ไหหินเหล่านี้เกี่ยวข้องกับประเพณีการฝังศพครั้งที่สองถึง 3 รูปแบบ ได้แก่

1) การบรรจุกระดูกไว้ในไห แล้วเอาแผ่นหินปูนวางปิดปากไหไว้

2) บรรจุกระดูกไว้ในภาชนะเคลือบแล้วฝังไว้บริเวณข้างใต้ไห

และ 3) ฝังศพไว้ในพื้นดินบริเวณข้างใต้ไหหิน

ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างไรเลย ในประเทศเวียดนาม และทางภาคอีสานของประเทศไทยมีการขุดค้นทางโบราณคดีพบภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ที่นักโบราณคดีบางท่านเรียกว่า “แคปซูล” ใช้สำหรับเก็บศพอยู่ทั่วไป

ลักษณะอย่างนี้อาจจะมีหน้าที่การใช้งานไม่ต่างจากไหหินนัก จะต่างกันก็แต่เพียงวัสดุ กับขนาดเท่านั้นเอง

แน่นอนว่านี่คือจุดตั้งต้นที่จะพัฒนามาเป็นโกศ อย่างที่คุ้นเคยกันในปัจจุบันนั่นแหละครับ

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ ลักษณะการกระจายตัวของไหหินเหล่านี้ บริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงขวาง ซึ่งหมายรวมถึงปริมณฑลโดยรอบอย่างเมืองโพนสวรรค์ เมืองคูน ฯลฯ ตั้งอยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขาขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก ต้องตรงกันกับลักษณะบรรยายภูมิประเทศในโคลงท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง

ท่ามกลางที่ราบเหล่านี้มีเนินเขาขนาดสูงบ้าง ต่ำบ้าง กระจายตัวอยู่ทั่วไปไม่สม่ำเสมอ แต่เนินเขาเหล่านี้แหละดูจะเป็นจุดสังเกตสำคัญภายในหุบเขา บรรดากลุ่มไหหินก็เรียงรายกระจัดกระจายอยู่ไปทั่วทุ่งหญ้าบริเวณเนินเขา อย่างไม่เป็นระเบียบใดๆ

การที่ไหหินทั้งหลายจัดวางเรียงรายอยู่เฉพาะตามเนินเขา คงเป็นเพราะเนินเขาเหล่านี้ถูกถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า เกี่ยวพันกับลัทธิบูชาผีบรรพบุรุษ เพราะมีร่องรอยของการจัดการเกี่ยวกับศพ ศาสนสถานสำคัญหลายแห่งเมื่อขุดค้นลงไปมักจะพบหลุมศพสมัยก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปอยู่ด้วย โดยเฉพาะศาสนสถานที่ตั้งอยู่กลางเมือง ปราสาทพิมาย ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีดังกล่าว

ทุ่งไหหินแต่ละแห่งจึงน่าจะตั้งอยู่เป็นแกนกลางโดยมีชุมชนกระจายอยู่โดยรอบ เพราะโดยธรรมชาติแล้วเนินเขาเหล่านี้ก็มีลักษณะเป็นจุดสังเกตสำคัญของพื้นที่อยู่ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

เมืองคูน หรือตัวเมืองเชียงขวางเก่า ที่ตั้งอยู่ห่างจากโพนสะหวัน (ซึ่งทุ่งไหหินวางตัวอยู่) ไปยี่สิบกว่ากิโลเมตรก็ไม่มีคูน้ำคันดิน แต่มีเนินเขาสองลูกตั้งอยู่เป็นแกนของเมือง โดยมีชุมชนกระจายอยู่รายรอบ บนยอดของเนินเขาทั้งสองลูกมีพระธาตุ ที่นักวิชาการลาวเชื่อกันว่า สร้างขึ้นในช่วงราว พ.ศ.1950-2000

ลักษณะเช่นนี้ดูจะไม่ต่างไปจากชุมชนที่มีเนินเขาทุ่งไหหินอยู่กลางเมืองเลยแม้แต่น้อย ความศักดิ์สิทธิ์ของเนินเขายังคงอยู่เพียงแต่เปลี่ยนจากไหหินในลิทธิบูชาผีบรรพบุรุษ เป็นพระธาตุในพุทธศาสนาแทนเท่านั้นเอง

ร่องรอยการขุดที่ทุ่งไหหินในบันทึกของพระวิภาคภูวดล จึงอาจจะเป็นร่องรอยของการใช้ไหหินต่อเนื่อง ไม่ใช่หยุดใช้มาแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน เพราะบริเวณพื้นที่แขวงเชียงขวางเพิ่งจะมีร่องรอยการยอมรับนับถือพุทธศาสนาเมื่อราว 600 ปีมาแล้วเท่านั้น

เมืองในแนวคิดของอุษาคเนย์ยุคดั้งเดิมจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในกรอบของเส้นแบ่งพรมแดน เพราะมันไม่เคยมีอยู่ในหัวของคนสมัยนั้น แต่แผ่ขยายออกไปจากแกนกลางที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างหาก

แกนกลางศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้จะขับเคลื่อนให้แผ่ขยายกว้างไกล หรือหดแคบลงได้ ตามแต่บารมีของผู้ที่ปกครองพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า หากเจ้าเมืองมีบารมีมาก อาณาเขตก็ยื่นขยายออกไปไกล พรมแดนในความหมายอย่างนี้จึงเกี่ยวพันกับลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองแบบเครือญาติ มากกว่าลักษณะเชิงภูมิศาสตร์ อย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน

ไม่ต่างอะไรไปจากไหหินที่เคยสร้างเพิ่มเติมอยู่เรื่อยมา (ตราบเท่าที่ผู้คนละแวกนั้นยังนับถือศาสนาผีเป็นหลัก) อยู่รอบเนินเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกนั้นนั่นเอง