“เทียนอันเหมิน” ประวัติศาสตร์ที่จีนต้องการลบ

4 มิถุนายน 1989 คือวันเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เหตุการณ์ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมจำนวนหลายร้อยหรืออาจถึงหลักพันคน เวียนกลับมาครบรอบปีที่ 30 อีกครั้งในสัปดาห์นี้

เหตุการณ์ที่ “เทียนอันเหมิน” ถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่ “ความหวัง” ของประชาชนถูกบดขยี้โดยรถถัง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เส้นทางสู่เสรีภาพ กลับกลายเป็นการปกครองแบบเผด็จกดขี่

และเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งรัฐบาลจีนต้องการลบออกจากความทรงจำของประชาชน

 

เหตุการณ์ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เริ่มต้นขึ้นจากความนิยมในตัวของ “หู เย่า ปัง” ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์หัวก้าวหน้าที่ถูกปลดจากตำแหน่งในปี 1987 ผลจากการผ่อนคลายความเข้มงวดกับการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา

การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นที่ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” ลานกว้างติดกับ “พระราชวังต้องห้าม” 2 วันหลังการเสียชีวิตของนายหู ผู้ที่ได้รับการยกย่องในฐานะนักปฏิรูปเสรีนิยม ในวันที่ 15 เมษายน บวกกับชนวนความไม่พอใจจากปัญหาเศรษฐกิจ การทุจริตคอร์รัปชั่น

ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยมากขึ้นในจีน

25 เมษายน เติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานั้น กล่าวหากลุ่มนักศึกษาและชนชั้นแรงงานที่ออกมารวมตัวกันว่ามีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนข่าวจะถูกตีแผ่ผ่านสื่อกระบอกเสียงของรัฐในวันถัดมา

ทว่านั่นกลับดึงดูดฝูงชนที่ไม่พอใจรัฐบาลสู่ท้องถนนมากขึ้น จากศูนย์กลางการชุมนุมในกรุงปักกิ่ง ลุกลามไปทั่วประเทศ เพิ่มจำนวนขึ้น จากหลักหมื่นไปถึงหลักล้านคน

กลุ่มนักศึกษาเริ่มต้นอดอาหารประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 13 พฤษภาคม ขณะที่นายหลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศในวันที่ 18 พฤษภาคม

ทว่าก็ไม่ได้ข้อสรุป

 

จ้าว จื่อ หยาง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ ขอร้องให้นักศึกษาผู้ประท้วงออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งนับเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งสุดท้ายก่อนที่จ้าว จื่อ หยาง จะถูกปลดจากตำแหน่งและถูกกักบริเวณเป็นเวลานานถึง 16 ปี จนกระทั่งวาระสุดท้าย

ผลจากการที่จ้าว จื่อ หยาง ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม

นายกรัฐมนตรีหลี่ประกาศ “กฎอัยการศึก” ในพื้นที่บางส่วนของกรุงปักกิ่งในวันที่ 20 พฤษภาคม เพื่อกดดันให้ผู้ประท้วงสลายตัว ทว่ากลุ่มนักศึกษายังคงปักหลักต่อไป และยังสร้างอนุสาวรีย์ “เทพีประชาธิปไตย” หันหน้าประจันกับภาพ “เหมา เจ๋อ ตุง” บนกำแพงของ “พระราชวังต้องห้าม”

คืนวันที่ 3 มิถุนายน ย่างเข้าเช้าวันที่ 4 มิถุนายน รถถังพุ่งชนทลายกำแพงรถบัสเข้ามายังใจกลางพื้นที่ชุมนุม ขณะที่ทหารตบเท้าเข้าสู่พื้นที่และยิงใส่ผู้ชุมนุมไม่เลือกหน้า

มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนนอกจัตุรัส ขณะที่รัฐบาลจีนไม่เคยเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ

 

วันที่ 5 มิถุนายน ภาพ “แทงก์แมน” หรือชายชาวจีนยืนขวางขบวนรถถังถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยภาพดังกล่าวกลายเป็นภาพที่โด่งดังมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ทว่าตัวตนและชะตากรรมของชายคนดังกล่าวนั้นไม่มีใครรู้

เรื่องราวดังกล่าวถูกบอกเล่าและถ่ายทอดผ่านสื่อ โดยเฉพาะในโลกอินเตอร์เน็ตได้เฉพาะภายนอกประเทศจีนเท่านั้น เนื่องจากเหตุการณ์ “เทียนอันเหมิน” เป็นหนึ่งในเรื่องละเอียดอ่อนที่จะถูกเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด

ผู้ที่พยายามละเมิดด้วยการรวมตัวชุมนุม โพสต์ข้อความ แม้แต่การจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจะถูกจับกุมคุมขังด้วยคดีความมั่นคง

 

นายเว่ย เฟิ่ง เหอ รัฐมนตรีกลาโหมจีน ระบุในที่ประชุมความมั่นคงในภูมิภาคที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ถึงเหตุสลายชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ยังคงยืนยันว่าการดำเนินนโยบายสลายการชุมนุมเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น เป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกต้องแล้ว

“เหตุการณ์นั้นเป็นความวุ่นวายทางการเมือง รัฐบาลกลางใช้มาตรการเพื่อหยุดความวุ่นวายซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว” นายเว่ยระบุ

และว่า 30 ปีผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงของจีนไปสู่ความมีเสถียรภาพและการพัฒนา พิสูจน์แล้วว่าการตัดสินใจของรัฐบาลจีนในครั้งนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง

 

ความเข้มข้นในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร กลายเป็นความหวาดกลัว แม้แต่กับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่กล้าแม้แต่จะเล่าเรื่องราวในเหตุการณ์ดังกล่าวให้กับลูกได้รับรู้

ต่ง เซิง คุน ผู้ร่วมชุมนุม วัย 59 ปี ผู้ได้รับการลดโทษประหารชีวิตในข้อหาวางเพลิง ก่อนเข้ารับโทษจำคุก 17 ปี มีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ช่วงที่ต่งอยู่ในคุก พ่อของต่งเสียชีวิตลง ส่วนภรรยาขอแยกทาง ขณะที่ลูกมีอายุได้เพียง 3 ปีในเวลานั้น

ต่งเล่าว่า ตนยินดีที่จะให้ลูกมองตนว่าเป็นเพียงอาชญากรธรรมดาคนหนึ่ง อย่างน้อยก็ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองในจีนยังเป็นเช่นนี้อยู่

“มันเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของเขา” ต่งระบุถึงลูกชายที่ในเวลานี้มีอายุ 33 ปีแล้ว และว่า “ผมเกรงว่าผมจะมีอิทธิพลกับความคิดของเขา หากผมเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้ลูกฟัง”

ต่งยอมรับว่า ลูกชายตนเป็นส่วนหนึ่งของเด็กในรุ่นที่ไม่ได้สนใจเรื่องราวในวันที่ 4 มิถุนายนนั้นแล้ว ซึ่งนั่นนับว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลจีนในการปกปิดความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

นอกจากหน้าหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของจีนจะไม่พูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เวลานี้ระบบอัลกอริธึ่มสุดไฮเทค บวกกับทีมสังเกตการณ์ของรัฐก็ยังคงทำงานอย่างหนักเพื่อลบข้อความ รูปภาพออกจากโลกออนไลน์ในจีนอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อแน่ว่าความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดของผู้ผ่านประสบการณ์จะถูกเล่าต่อไปไม่สิ้นสุด

ตราบเท่าที่เสรีภาพอันสวยงามยังคงเติบโตต่อไปทั่วทุกมุมโลก