“ยวน”มาจากไหน? ใครคือ “ไทยวน”


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ไตยวน”

ไตยวน ไทยยวน ยวน ยน โยน โยนก คนเมือง ไทยเหนือ ไทยพายัพ ไทยล้านนา ล้วนเป็นชื่อเรียกชาติพันธุ์ไทที่อยู่ในดินแดนล้านนามาแต่โบราณ

คำว่า “ยวน” พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ได้อธิบายไว้ในพงศาวดารโยนกว่า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ยุนซาง” หรือ “ฮวนชาน” ในภาษาจีนแปลว่า กลุ่มชนอื่นที่อาศัยอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งหมายถึง ชาน หรือสยาม

คำว่า “ไทยวน” จึงหมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งที่พูดภาษาตระกูลไท-กะได หรือที่รู้จักในนามล้านนาไทย / ลาว / ไทยยวน / โยนก เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนตอนใต้ของประเทศจีนมาแต่โบราณ หรือที่ปรากฏชื่อในเอกสารโบราณว่า อาณาจักรโยนกบ้าง อาณาจักรพุกามบ้าง อาณาจักรล้านนาบ้าง

หรือที่คนบางกลุ่มเรียกชื่อว่า “ลาวพุงดำ” เพราะนิยมสักยันต์ตามร่างกาย

ตามตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า สิงหนวัติกุมาร โอรสของท้าวเทวกาล ซึ่งปกครองบ้านเมืองทางยูนนานได้นำผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ คือเชียงราย เชียงแสนในปัจจุบัน และตั้งชื่อเมืองว่า โยนกนคร หรือ โยนกนาคนคร คนทั่วไปเรียกเมืองนี้ว่าโยนก หรือยูน หรือยวน ไทยวนหรือคนยวน

ในปี พ.ศ.2347 ซึ่งขณะนั้นเชียงแสนตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช พร้อมด้วยกองทัพลาว ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน เมื่อตีเมืองเชียงแสนได้แล้วจึงให้รื้อกำแพงเมือง รื้อบ้านเมือง และรวบรวมผู้คนชาวเชียงแสนโดยแบ่งเป็น 5 ส่วน ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่เชียงใหม่ ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ที่ลำปาง ส่วนหนึ่งอยู่ที่น่าน ส่วนหนึ่งอยู่ที่เวียงจันทน์ และอีกส่วนหนึ่งให้เดินทางมายังภาคกลางโดยให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราชบุรี สระบุรี

ปัจจุบันชาวไทยวนนอกจากจะอาศัยอยู่ทางภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ยังกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในราชบุรี สระบุรี นครปฐม นครราชสีมา และในภูมิภาคอื่นๆ เช่น กรุงเทพฯ หาดใหญ่ และภูเก็ต

ชาวไทยวนมีภาษาพูดภาษาเขียนเป็นเอกลักษณ์ของตน อักษรที่ใช้เขียน เรียก “อักษรธัมม์ล้านนา” เรื่องที่บันทึกในสมุดข่อยหรือสมุดไทยมักจะเป็นตำราหมอดู ตำราสมุนไพร เวทมนตร์คาถาต่างๆ สำหรับที่จารลงในใบลานจะเป็นพระธรรมเทศนาเป็นส่วนใหญ่ ด้วยชาวไทยวนนิยมการถวายคัมภีร์เทศน์ เพราะเชื่อว่าได้บุญมาก เช่น เรื่องเวสสันดรชาดก ยอดพระไตรปิฎก

ชาวไทยวนมีภาษาพูดใกล้เคียงกับไทลื้อและไทเขิน มีการร้องเพลง เรียกว่า “จ๊อย” เป็นการพูดที่เป็นทำนอง สื่อสารเพื่อความบันเทิงแก่ผู้ฟัง เป็นค่าวกลอนของภาคเหนือ ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ ไม่มีเวที สะดวกตรงไหนยืนร้องตรงนั้น เนื้อหาในการจ๊อยเกี่ยวกับนิทานชาดก คำสอน ประวัติ หรือการเกี้ยวพาราสี อาจจะเป็นจ๊อยคนเดียว หรือจ๊อยโต้ตอบกันก็ได้

ปัจจุบันนิยมแสดงในที่ชุมนุมชน เช่น งานบวชนาค งานทอดกฐิน งานวัด งานบุญ หรือการลงแขกเกี่ยวข้าว