เศรษฐกิจย่ำแย่ คนแห่กู้หนี้ รู้จัก “พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย” หัวหน้าทีมปราบนายทุนดอกโหด

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน (ศปฉช.ตร.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 แทน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ที่โดนคำสั่งมาตรา 44 ย้ายฟ้าผ่าเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ต้องยอมรับว่าผลงานศูนย์นี้ขณะ “บิ๊กโจ๊ก” รับผิดชอบนั้นได้รับการกล่าวถึง สื่อมวลชนนำเสนอข่าวตลอด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแรงกดดันต่อ พล.ต.ท.ปิยะ ในฐานะหัวหน้าศูนย์คนใหม่ที่จะรับไม้ต่อ

แต่ด้วยประสบการณ์ตำรวจ “สายบุ๋น” ดีกรีระดับด๊อกเตอร์ผ่านประสบการณ์ในตำแหน่งต่างๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับทีมงานดั้งเดิม ผลงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์

ประกอบกับเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คนไทยต้องหันหน้ามาพึ่งหนี้นอกระบบกันมากขึ้น โดยเฉพาะรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำ ยิ่งพี่น้องภาคอีสาน ภาคเหนือ มักตกเป็นเหยื่อนายทุนหนี้นอกระบบจนสูญเสียที่ดินทำกิน

ปัญหาหนี้นอกระบบจึงเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในสังคมตามมา

ภายใต้การรับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ของ พล.ต.ท.ปิยะ ได้รับนโยบายการบูรณาการอย่างยั่งยืนให้กับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบครบวงจร

แบ่งเป็น 5 มิติด้วยกัน คือ

– การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย

– การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป

– การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้

– การเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ

– การร่วมมือกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

นอกจากจะเน้นหนักในการปราบปรามเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังช่วยเสริมการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในมิติอื่นๆ อีกด้วย เช่น การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แนะนำ และเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย

รวมถึงเสริมสร้างค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วย

พล.ต.ท.ปิยะบอกว่า ภายใต้นโยบายดังกล่าวอยากมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งกับศูนย์ย่อยของแต่ละภูธรภาค เพื่อจะสามารถทำหน้าที่ได้เหมือนกับศูนย์ปฏิบัติการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในระยะต่อไป ศูนย์ใหญ่จะเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่กระจายออกไปช่วยดูแล ทั้งเรื่องการให้คำแนะนำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเงินของภาครัฐและเอกชน และไม่ใช่ว่าพอชาวบ้านร้องเรียนก็ส่งชุดใหญ่ลงทำงานอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ชุดปฏิบัติการของภูมิภาคมีประสิทธิภาพลุยงานได้ในทุกมิติตามนโยบาย เพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือประชาชน นั่นรวมไปถึงการแจกโฉนดที่ดินคืนที่อาจต้องทำให้เกิดขึ้นได้ทุกเดือน และทำได้ทั่วประเทศ

“การเข้าช่วยเหลือไม่ใช่การกดดันอย่างเดียว แต่ต้องหาทางออกให้ทั้งสองฝ่ายได้ ลำพังตำรวจไปบังคับใช้กฎหมายจับเจ้าหนี้ที่เอาเปรียบอย่างเดียวยังไม่ครบวงจร เป็นแค่ต้นทาง แต่ปลายทางคือการทำให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายและสะดวก เปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกที่ดีที่สุด เป็นส่วนสำคัญว่าทำไมกระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมหรือภาครัฐและเอกชนต้องมีส่วนร่วม เพราะจะได้ช่วยแนะนำประชาชนในเรื่องการเงิน และการกู้ยืมที่ถูกต้อง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความรู้ และไม่รู้จะหาแหล่งเงินทุนจากไหน”

“ดังนั้น การหาแหล่งเงินทุนถูกกฎหมายให้กับประชาชนและสามารถเข้าถึงได้ง่ายคือสิ่งสำคัญที่รัฐบาลพยายามมองหาทางแก้ไข บางทีประชาชนไม่ได้ต้องการกู้เงินล้าน แต่แค่ต้องการเงินมาใช้เล็กน้อยในช่วงที่บุตร-หลานเปิดเทอม หรือต้องการเงินทุนทำการค้าขาย ซึ่งถ้าไม่มีแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมายให้กู้ เขาก็ไปมองหาเงินกู้นอกระบบ”

พล.ต.ท.ปิยะกล่าวอีกว่า ประชาชนจำเป็นต้องรู้เท่าทันถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดกับตัวเอง เหมือนคำว่า “ชัวร์ก่อนแชร์” ในโลกออนไลน์ ที่คล้ายกับใบปลิวที่ติดตามเสาไฟฟ้าพร้อมข้อความว่ากู้ด่วนภายใน 24 ชั่วโมง ดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราควรตรึกตรองดูก่อนจะทำอะไรลงไป สอบถามคนใกล้ตัวหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ ศูนย์ดำรงธรรม หรือตำรวจเองก็ให้คำแนะนำได้ จงอย่าเชื่อในสิ่งที่ไม่มั่นใจ และตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน เพราะบนโลกนี้ไม่มีของฟรีที่ได้มาง่ายๆ อยู่แล้ว ส่วนเจ้าหนี้หรือผู้ปล่อยเงินกู้นั้นไม่ได้มองว่าเขาเป็นผู้ร้าย ในหลายกรณีถ้าทำถูกต้อง เช่น การทวงหนี้ต้องไม่รุนแรง ดอกเบี้ยเหมาะสม หรือถ้าอยากทำอาชีพปล่อยเงินกู้ ทางกระทรวงการคลังก็เปิดโอกาสให้เข้าไปลงทะเบียนขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง และปัจจุบันมีคนมากมายที่เข้าไปทำแล้ว

“นอกจากนี้ อีกเรื่องที่กังวลคือการทำสัญญากู้ยืมเงินนอกระบบยังเป็นความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย และทำให้ทัศนคติต่อปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น เราจึงต้องพยายามทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาหนี้นอกระบบ ไม่ว่าเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ให้เข้ามาช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ กระบวนทัศน์ พร้อมประสานความร่วมมือเพื่อวางแผนแก้ไข และช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและทั่วถึงระยะยาว ทำให้สังคมได้ตระหนักว่าปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ตามมา และส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง” หัวหน้า ศปฉช.ตร.กล่าว

ถือเป็นจุดมุ่งหมายที่เป็นวาทะสำคัญของผู้ที่เข้ามารับหน้าที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ