ต่างประเทศอินโดจีน : เวียดนามกับเฟซบุ๊ก

เคยบอกกล่าวสู่กันฟังมาแล้วครั้งหนึ่งว่า ตั้งแต่ต้นมกราคมปีนี้ เวียดนามบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงในโลกไซเบอร์ฉบับใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิมมาก

กฎหมายที่ว่าผ่านสภาออกมาแล้วมีการเผยแพร่ให้วิพากษ์วิจารณ์กันตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา มีความเห็นต่อต้านไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะจากกิจการออนไลน์ที่ให้บริการทั่วโลกอย่างกูเกิล และเฟซบุ๊ก เป็นต้น

ที่ค้านกันมากที่สุดเป็นเรื่องการกำหนดให้ทุกบริษัทต้องมีสำนักงานในเวียดนาม ต้องตั้งเซิร์ฟเวอร์ในเวียดนาม และมีเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

มีทั้งร่องรอยให้สืบค้นหาย้อนหลัง มีทั้งตัวบุคคลให้จับกุมมาลงโทษหากกระทำผิด อยู่ในเวียดนามเอง

ถึงที่สุดแล้วกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้โดยไม่มีการแก้ไขใดๆ

 

ผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้ถูกจับตามองมากที่สุดว่าจะเกิดขึ้นกับสื่อโซเชียลมีเดียทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟซบุ๊ก

เพราะชาวเวียดนามใช้งานเฟซบุ๊กกันมากที่สุด ทั้งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการค้าออนไลน์ และเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง คัดค้าน แนวนโยบายของทางการ

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นว่า มาตรการใหม่ของรัฐบาลเวียดนามครั้งนี้จะใช้ได้ผล อย่างน้อยก็ในกรณีของเฟซบุ๊ก

รายงานเพื่อความโปร่งใส หรือทรานส์แพแรนซี รีพอร์ต (ทีอาร์) ของเฟซบุ๊กที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 24 พฤษภาคมนี้ แสดงให้เห็นเช่นนั้น

เฟซบุ๊กบอกว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เรื่อยมาจนถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ทางบริษัทจำเป็นต้อง “จำกัดการเข้าถึง” เนื้อหาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บเพจของตนเองถึง 1,553 โพสต์ บวกกับการเข้าถึงโปรไฟล์อีก 3 โปรไฟล์เฉพาะในเวียดนามประเทศเดียว

ทั้งๆ ที่ในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านั้น เฟซบุ๊กต้อง “จำกัดการเข้าถึง” แบบเดียวกันนี้กับเนื้อหาเพียง 265 โพสต์เท่านั้นเอง

นั่นเท่ากับเฟซบุ๊กเซ็นเซอร์เนื้อหาบนแฟนเพจของตัวเองเพิ่มขึ้นมากถึง 500 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น

 

การ “จำกัดการเข้าถึง” นี้ คือการทำให้เนื้อหาของโพสต์บางโพสต์ไม่สามารถ “มองเห็น” หรือ “อ่านได้” ในประเทศหนึ่งๆ เพราะเฟซบุ๊ก “เชื่อว่า” เข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายของประเทศนั้นๆ

ทั้งยังระบุเอาไว้ด้วยว่า การจำกัดการเข้าถึงดังกล่าวเป็นไปตาม “รายงาน” จากกระทรวงสารนิเทศฯ และกระทรวงเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้นี่เอง องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) เปิดเผยเอาไว้ว่า เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของนักโทษทางความคิดเห็นที่ถูกจับกุมในช่วงปีที่ผ่านมาเพราะแสดงทัศนะที่ไม่ลงรอยกับทางการ 128 คนนั้น ถูกคุมขังเพราะโพสต์ความเห็นต่อต้านของตนเองลงในแพลตฟอร์มมีเดียอย่างเฟซบุ๊กนี่เอง

นอกจากจะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว ตั้งแต่ต้นปีนี้เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม เว็บไซต์ของทางการเวียดนามระบุว่าเฟซบุ๊ก “ลบ” ข้อความโพสต์ที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐในเวียดนามออกไปแล้วกว่า 200 โพสต์

เป็นการลบทันทีตามคำร้องขอของรัฐบาลเวียดนาม

 

รายงานของทางการเวียดนามระบุเอาไว้ด้วยว่า เฟซบุ๊กยังร่วมมือกับทางการผ่านกระทรวงสารนิเทศและการสื่อสาร, ธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม, กรมการภาษี และกระทรวงเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อ “แก้ปัญหาใหญ่ๆ” ร่วมกันอีกด้วย

เมื่อถูกถามถึงเหตุผลเรื่องการเซ็นเซอร์ในเวียดนาม โฆษกของเฟซบุ๊กตอบเอาไว้ว่า

“บางครั้งเราจำเป็นต้องจำกัดการเข้าถึงเนื้อหา เพราะเนื้อหาดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายในบางประเทศ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการละเมิดมาตรฐานของสังคมเฟซบุ๊กของเราก็ตาม”

ดูเหมือนวิธีของเวียดนาม จะจัดการกับเฟซบุ๊กได้ผล…อย่างน้อยก็จนถึงขณะนี้!