เพ็ญสุภา สุขคตะ : จารึกเวียงมโน ที่ไม่มโน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหริภุญไชยมักตั้งคำถามกันอยู่เสมอว่า “เวียงมโน” (ตั้งอยู่ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่) มีจริงหรือไม่ หรือเกิดจากการนึกมโนขึ้นมาเองของใคร?

เหตุเพราะเวียงโบราณแห่งนี้ค่อนข้างคลุมเครือ ด้านรูปธรรมก็ยังไม่พบขอบเขตคูน้ำคันดินที่แน่ชัด ซ้ำไม่มีสถูปสถานโผล่พ้นดินให้เห็นกันจะจะ ผิดกับเวียงบริวารอื่นๆ ของหริภุญไชย

ส่วนด้านนามธรรมนั้นยิ่งแล้วใหญ่ หลายคนสงสัยว่า ชื่อที่เรียกกันว่า “เวียงมโน” นั้นเป็นชื่อเก่าดั้งเดิมจริงๆ ล่ะหรือ มีอยู่ในจารึกหลักใดไหม ได้มาจากไหน ใครมโนให้หรือเปล่า?

 

เวียงมโน เวียงบริวารที่อาภัพ

เมื่อเราเอาเมืองลำพูนหรือหริภุญไชยนครเป็นตัวตั้ง ซึ่งอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำปิงสายปัจจุบัน จะพบว่า เวียงบริวารหรือเวียงหน้าด่านนั้นล้วนตั้งเรียงรายทางฟากตะวันตกของน้ำแม่ปิงทั้งสิ้น นับจากใต้สุดมาได้แก่เวียงฮอด (ภายหลังหลวงปู่ทองเปลี่ยนชื่อให้เป็น “เวียงพิสดารนคร”) เวียงเถาะ (อยู่ที่ดอยหล่อ) เวียงท่ากาน (สันป่าตอง) และเวียงมโน (หางดง)

เวียงมโนอยู่ในเขตตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองลำพูน ห่างกันราว 8 กิโลเมตร ที่ตั้งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีร่องรอยของแม่น้ำปิงเก่าไหลผ่านลงไปทางด้านใต้ ตัวเมืองถูกทำลายจนเกือบหมด แทบไม่เหลือร่องรอยคูน้ำและคันดิน

เวียงมโนในอดีตเมื่อ 50-60 ปีก่อน ยุคที่กรมศิลปากรยังไหวตัวไม่ทัน ถือเป็นสวรรค์ของนักขุดนักล่าสมบัติ ต่างแย่งชิงกันกอบโกยพระพุทธรูป พระพิมพ์ ภาชนะดินเผายุคหริภุญไชยแบบไม่เคลือบชิ้นงามส่งส่วยนักสะสม หลายคันรถไปจนหมดเกลี้ยงไม่เหลือหรอ

ทิ้งไว้เพียงซากเศษอิฐแตกๆ หักๆ 5-6 แห่งคือ

1. ด้านหลังวัดพระเจ้าเหลื้อม (พระเจ้าเหลี้ยม)

2. มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงใต้

3. ในบริเวณบ้านนายแก้วดี หลวงอินตาทางทิศเหนือ

4. เนินดินกลางทุ่งนานอกคูเมืองด้านตะวันออก

5. บริเวณวัดร้างสะดือเมือง กับกระจายอยู่ตามสวนลำไยชาวบ้าน

 

“หลวงมโน” VS “มโนห์รา”

การศึกษาเรื่องราวของเวียงมโนมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากไม่มีการกล่าวถึงเมืองแห่งนี้เลยทั้งในตำนาน หรือประวัติพงศาวดารท้องถิ่น

ส่วนชื่อเวียงมโน ผู้นำมาเผยแพร่ในวงกว้างเป็นบุคคลแรกคือ ดร.ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน โดยท่านย้ำว่า “เวียงมโนไม่ใช่ชื่อเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย”

เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 2510 ดร.ฮันส์ เพนธ์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวบ้าน ได้ความว่าราว 200 ปีมาแล้วบริเวณตำบลหนองตองนี้เคยมีผู้ปกครองท่านหนึ่งชื่อ “หลวงมโน” มีอายุร่วมสมัยกับพระญากาวิละในช่วงที่ขับไล่พม่าออกจากล้านนา เมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้วชาวบ้านยังคงให้ความเคารพนับถือ จึงอัญเชิญดวงวิญญาณท่านมาเป็นเสื้อบ้านและนับถือกันสืบมา จึงเรียกเวียงเก่าแห่งนี้ว่า เวียงมโน ตามชื่อของท่าน

แต่บางกระแสอธิบายว่า ชื่อเวียงมโน ย่อมาจาก “เวียงมโนห์รา” อันเกี่ยวข้องกับนิทานชาดกเรื่องพระสุธน-มโนห์รา วรรณคดีพื้นบ้านที่ตกค้างหลงเหลืออยู่ในละแวกนี้

ในขณะเดียวกันก็มีผู้สันนิษฐานว่า “มโน” แปลว่า “หัวใจ” อาจเป็นเพราะทำเลที่ตั้งของเวียงมโนนั้น อยู่ใจกลางคือกึ่งกลางพอดีระหว่างเวียงต่างๆ ได้แก่ หริภุญไชย เวียงกุมกาม เวียงแม เวียงท่ากาน มากกว่า

กล่าวโดยสรุปก็คือ ชื่อเวียงมโนที่ ดร.ฮันส์ เพนธ์ พยายามสืบค้นนั้นยังมีข้อถกเถียงหาข้อสรุปไม่ได้ ชื่อที่แท้จริงของเวียงในสมัยหริภุญไชยยังไม่มีใครทราบ เพราะไม่พบหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึง (ผิดกับเวียงเถาะ ที่ในจารึกกล่าวว่าเมืองชื่อ “วสวัตนคร”)

 

จารึกเวียงมโนกับการปริวรรต 3 ครั้ง

หลักฐานด้านลายลักษณ์ที่พบในบริเวณเวียงมโนมีเพียงสิ่งเดียวคือ “ศิลาจารึก” ค้นพบโดยนายเรือง คันธวัง ชาวบ้านในละแวกนั้น ได้มาแถวบริเวณคันดินนอกเมืองโบราณด้านทิศตะวันตก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2511

ต่อมาได้มอบให้คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้น ดร.ฮันส์ เพนธ์ ทำงานให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้แจ้งให้กรมศิลปากรทราบ

จากนั้นเจ้าหน้าที่สำรวจเอกสารโบราณและจารึก งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จึงได้ออกสำรวจพื้นที่ร่วมกับ ดร.ฮันส์ เพนธ์ และทำสำเนาจารึกเวียงมโนไว้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2519

ดร.ฮันส์ เพนธ์ เรียกจารึกนี้ว่า “จารึกแม่หินบดเวียงมโน” เลขทะเบียน ชม. 45 เป็นศิลาจารึกหินชนวน ลักษณะคล้ายแม่หินบดยา ขนาดสูง 37 เซนติเมตร กว้าง 21 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร จารึกด้วยตัวอักษรมอญโบราณ ใช้ภาษามอญและพม่าโบราณปะปนกัน ไม่บอกปีที่จารึก มีอักษรด้านเดียว 9 บรรทัด

เนื้อความในจารึกกล่าวถึงการสร้างโบราณวัตถุสถานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาเพื่อการบูชา โดยปรากฏชื่อบุคคล 5 คน การแปลความมีหลายสำนวน

ดังนี้

 

1.สำนวนของนายเทิม มีเต็ม อ่าน และนายจำปา เยื้องเจริญ แปล (ในนามกรมศิลปากร) เรียบเรียงไว้ในจารึกในประเทศไทย เล่ม 2

ถอดคำจารึกเป็นภาษามอญทีละตัวว่า “โวอ์มญอิมุนน ทิสสทายกยาก โวอ์ยปุกก ตลตชุอทธราช โกนนโมยยหิ โมอ์มาง์ธนนราชโนรทร โกนน กาล ตาวมินนลายย”

คำแปล พระพุทธรูปนี้ โม่นญะอิมุ่น (ได้สร้าง) อุทิศให้ (แก่) ท่านปุกกะ เจ้าพ่อปู่อัทธราช (พระอัยยกาอัทธราช) และพระโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่า “มังธนราชนรทร (มังธนราชนรธร)” อันประสูติเมื่อคราวประทับอยู่ที่ “มิ่นลาย”

2. สำนวนของ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ A.B. Griswold ได้เขียนในบทความชื่อ “An inscription in old Mon from Wieng Ma No in Chieng Mai Province” ใน Epigraphic and Historical studies แปลความใหม่ว่า

“These five person [have] this k?ak as their refuge : the lady Sukkm?la; the lord Addhar?j; a child [of theirs] named M?n Dhannar?j; Noradra the child of K?la; T?va Jinnl?yy”

แปลว่า “มีบุคคล 5 คน ได้สร้างพระพุทธรูปถวาย โดยพระนางสุกกมาละ Sukkm?la กษัตริย์อัทธราช Addhar?j พระโอรสชื่อว่ามังธนราช M?n Dhannar?j Noradra บุตรของ K?la และ T?va Jinnl?yy”

3. ล่าสุด คณะนักวิจัยโครงการตามรอยพระนางจามเทวีขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยดิฉันเป็นหัวหน้าโครงการ ได้ลงสำรวจเวียงมโนพร้อมกับเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย นักจารึกภาษามอญโบราณ ร่วมปริวรรตจารึกแม่หินบดเวียงมโนอีกครั้ง โดยอาจารย์พงศ์เกษมถอดความเนื้อหาใหม่ได้ดังนี้

“เรื่องทั้งหมดแบ่งเป็นสามตอน

ตอนที่ 1 “นี้คือโมญ อิมุนนะสะ มาก่อปูน (สะทาย) สร้างพระไว้”

คำว่า โมญ หรือ มญ เดิมอ่านว่ามอญ แต่อาจตีความได้ว่า เมียเญียะ แปลว่า ท่านชาย สูงศักดิ์ ชื่อชายผู้นี้คือ อิมุน หรือ อิมุนนะสะ มาทำการก่อ (สะทาย) ปูนสร้างพระพุทธรูป

ตอนที่สอง “โยมชื่อ สุกกตะ … ทำบุญแล้ว”

ตอนที่สาม “ปู่เจ้า (กษัตริย์ที่แก่แล้ว จารึกบางหลักเรียก “ตะจุ๊”) อัทธราช และมางก์ (ภาษามอญปัจจุบันอ่านว่า “แมม” แปลว่า ผู้ชาย หมายถึงยุพราช) ธนราช มามอบสถานที่นี้…””

 

ตีความใหม่คำว่า “มินลาย-นรธา”

จะให้เราเชื่อถือสำนวนไหนดี ในเมื่อการปริวรรตจารึกเวียงมโน 3 ครั้ง ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน?

ปัญหาเกิดจากในอดีตมีการตีความศัพท์ปริศนาคลาดเคลื่อนอยู่ 2 คำ

คำแรกคือ “ชินลาย” ส่วนใหญ่ไปตีความเป็น “มินลาย” ทำให้โยงเป็นชื่อพระเจ้ามินลายกษัตริย์ของพม่าไป อาจารย์พงศ์เกษมจึงทบทวนคำนี้ ลองแปลใหม่ ตัวอักขระเขียนคล้ายกับคำว่า “ชินลาย” หรือ “ทนาย” ในภาษามอญโบราณ สามารถแปลได้ว่า การกัลปนา การยกสถานที่ให้

ส่วนคำว่า “โนรโธ” ที่เคยแปลว่า นรธา ชวนให้คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับกษัตริย์พม่า อาจารย์พงศ์เกษมแปลใหม่ว่า “นรโคร” หมายถึงบุคคลผู้เหมาะสมแล้ว

จึงสรุปคำแปลจารึกเวียงมโนใหม่ได้ดังนี้

“ท่านชายอิมุนนะสะ ได้สร้างพระพุทธรูปปูน พร้อมโยมชื่อ สุกกตะ และปู่เจ้าชื่ออัทธราช พร้อมด้วยยุพราชชื่อธนราช ได้มาถวายที่ดินให้วัด”

หลังจากที่แปลเสร็จ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา หนึ่งในคณะนักวิจัยของโครงการ ผู้เชี่ยวชาญด้านหริภุญไชยศึกษา ได้ศึกษาเพิ่มเติมว่า ชื่อกษัตริย์ “ปู่เจ้าอัทธราช” และ “พระยุพราชธนราช”

จากจารึกหลักนี้ หากนำไปเทียบเคียงกับตำนานจามเทวีวงส์ และมูลศาสนา ในราชวงศ์หริภุญไชยแล้ว พบว่ามีกษัตริย์ที่ชื่อว่า พระญาอัตราส อยู่จริง ซ้ำยังมีพระโอรสพระนามว่า นนทราช อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นชื่อที่มีความใกล้เคียงกัน ข้อความในตำนานกล่าวว่า

“ปี 1465 พระญาอัตราส ได้ยกทัพจากหริภุญไชย พร้อมด้วยพระโอรสนนทราช เพื่อจะไปตีละโว้ ได้พักที่เมืองแห่งหนึ่งแถวลุ่มแม่ระมิงค์ (อาจเป็นแถวเวียงมโนนี้) พร้อมได้กระทำจารึกหินฝังไว้หลักหนึ่งฝั่งปัจจิมทิศของหริภุญไชย (ทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง) เป็นคำประกาศสาปแช่งต่อกองทัพละโว้ที่เป็นศัตรู”

ปัญหาคือ จารึกแม่หินบดเวียงมโนที่พบนี้ เป็นจารึกกัลปนาเพื่อการศาสนา ไม่ใช่คำอธิษฐานสาปแช่งปัจจามิตรแต่อย่างใด แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้เห็นว่า บุคคลในจารึกนี้มีตัวตนจริงตามที่ปรากฏอยู่ในตำนาน

การกำหนดอายุจารึกแม่หินบดเวียงมโน อาจารย์เทิม มีเต็ม และศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เคยกำหนดอายุไว้ว่ามีรูปแบบอักษรที่ใกล้เคียงกับจารึกมอญโบราณหลัก ลพ.7

คือศิลาจารึกวัดแสนข้าวห่อ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

ดังนั้น จารึกหลักนี้จึงน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 ด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย และ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหาของจารึกหลักนี้กับเรื่องราวในตำนาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงที่อยู่ในช่วง พ.ศ.1465

ดังนั้น จารึกเวียงมโนควรมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ตรงตามข้อสันนิษฐานของ ศาสตราจารย์ Gordon H. Luce นักโบราณคดีชาวตะวันตกที่ในปี ค.ศ.1969 เคยกำหนดอายุไว้ว่าจารึกเวียงมโนมีอายุเก่าแก่กว่ากลุ่มจารึกมอญโบราณทุกหลักในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

สรุปแล้วจารึกเวียงมโนมีการกล่าวถึงตัวบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ราชวงศ์หริภุญไชย อันเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์มิอาจมโนขึ้นมาเองได้

แต่ก็นั่นแหละ ในจารึกนั้นก็ไม่พบคำว่า “เวียงมโน” อยู่นั่นเอง ดังนั้น พวกเราก็ต้องนั่งมโนกันต่อไปเรื่อยๆ ว่า คำว่า “เวียงมโน” นี้มาได้อย่างไรกัน