กลายเป็นว่า ยิ่งอยู่ ประชาชนยิ่งรู้สึก “ไม่มีความสุข” ?

“ความสุข” ที่ยิ่งหายไป

หลังจากผลการโหวตเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และท่าทีต่อการเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร

แต่ที่สุดแล้วทุกคนย่อมรับรู้ว่าเป็นไปตามแผนทั้งหมดที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้านานแล้ว

รัฐบาลชุดหน้าต้องเป็นการสานต่ออำนาจ “คสช.” เท่านั้น

การรัฐประหารครั้งล่าสุดจะต้อง “ไม่เสียของ” เหมือนที่ผ่านๆ มา

ในความหมายที่ว่า “ยึดอำนาจมาแล้วปล่อยให้หลุดมือไปอีกหลังการเลือกตั้ง”

คำตอบไม่มีอื่นจากนั้น ที่กลับไป “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” อีกครั้ง หลังที่เคยทำมาแล้วก่อนหน้านั้น

เพียงแต่ครั้งนั้น ให้ “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ “กลุ่มผู้จัดการตั้งรัฐบาล” ส่งคนของตัวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง

คนจากพรรคการเมืองถูกลดชั้นมาเป็นแค่ “เครื่องตกแต่งให้ ครม.ดูเป็นประชาธิปไตย” ขึ้นมาหน่อยเท่านั้น

ตำแหน่งแห่งหนที่เอื้อผลประโยชน์ให้ ต้องแลกกับความตกต่ำของอาชีพนักการเมือง

แม้นักการเมืองเหล่านั้นจะตีหน้าเศร้า แต่ย่อมรู้กันอยู่ว่าหัวใจพองโตด้วยความดีอกดีใจที่โอกาสของอำนาจ และการแสวงประโยชน์กลับมาอยู่ในมืออีกครั้ง

นักการเมืองที่กลับคำที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง เป็นธรรมดาที่จะต้องมีเหตุผลมาประกอบมากมาย และแน่นอนว่าย่อมเป็นการอ้างถึงเรื่องที่จะเข้าไปมีส่วนใช้อำนาจให้ประชาชนมีความสุขมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแก้ปัญหาเรื่องที่ทำให้ประชาชนอึดอัด หรือเข้าไปทำให้นโยบายซึ่งเคยประกาศไว้ว่าจะทำเพื่อประชาชนเดินหน้าไปได้

เพียงแต่นั่นเป็นความหวัง ยังไม่มีอะไรที่ยืนยันว่าจะเป็นจริง จะเกิดขึ้นตามนั้นหรือไม่

ทว่าหากตัดความหวังนั้นทิ้งไป แล้วมาดูความสุขของประชาชนที่สะท้อนจากการสำรวจจริง

มีข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว

“นิด้าโพล” ล่าสุด มีคำถามว่า “ในโอกาสครบ 5 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ” ท่านคิดว่าระดับความสุขของท่านอยู่ในระดับใด เปรียบเทียบกับก่อนการเข้ามาของ คสช.ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ความหมายง่ายๆ คือ หากก่อนรัฐประหารมีความสุข 100 วันที่ตอบคำถาม เหลือความสุขเท่าไร

เพราะการสำรวจด้วยคำถามนี้มีขึ้นทุก 6 เดือน จึงสะท้อนแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นและลดลงของความสุขได้

คำตอบที่ว่ามีความสุขเพิ่มขึ้น 6 เดือนแรกคือ พฤศจิกายน 2557 จากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงจนล่าสุด 5 ปีคือ พฤษภาคม 2562 เหลือแค่ร้อยละ 21.64

ที่ตอบว่ามีความสุขเท่าเดิม 6 เดือนแรก พฤศจิกายน 2557 ร้อยละ 41.69 เฉลี่ยในแต่ละ 6 เดือนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ถึง 5 ปีคือ พฤษภาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 44.63 มากขึ้นจากตอนเริ่มนิดหน่อย

น่าสนใจตรงคนที่บอกว่ามีความสุขลดลง จากพฤษภาคม 2557 ที่มีแค่ร้อยละ 8.79 มาวันนี้ 5 ปี คสช.คือ พฤษภาคม 2562 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33.73

ทั้งคีย์เวิร์ดของการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือ “คืนความสุขให้ประชาชน”

แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งอยู่ ประชาชนยิ่งรู้สึก “ไม่มีความสุข”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ข้ออ้างของพรรคการเมืองต่างๆ ในการตัดสินใจสานต่ออำนาจของ คสช.ในทำนองที่ว่าต้องการเข้าไปใช้อำนาจทำให้ประชาชนมีความสุขนั้น

จะทำให้ประชาชนเห็นคล้อยตามได้อย่างไร

เพราะสภาวการณ์ที่เกิดกับ 5 ปี คสช.คือ “ความสุขของประชาชนน้อยลง”

ตรงนี้จะทำให้เกิดคำถามว่า เหตุผลที่แท้จริงในการไขว่คว้าอำนาจของพรรคการเมืองโดยเลือกที่จะร่วมมือกับการสานต่ออำนาจ คสช.นั้น

เพื่อความสุขของประชาชน หรือเพื่อผลประโยชน์ของคนในพรรคการเมืองเหล่านั้น