การศึกษา / ผ่าสรรหา ‘เลขาธิการ สกสค.’ ได้เวลา ‘บิ๊ก ศธ.’ เอาคืน ‘อรรถพล’??

การศึกษา

 

ผ่าสรรหา ‘เลขาธิการ สกสค.’

ได้เวลา ‘บิ๊ก ศธ.’ เอาคืน ‘อรรถพล’??

 

ล่มไม่เป็นท่า สำหรับการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เลขาธิการคุรุสภา และผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ภายหลังคณะกรรมการสรรหาที่มี น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ได้เสนอรายชื่อผู้เหมาะสมเข้ารับการสรรหาตำแหน่งละ 2 คน โดยคณะกรรมการแต่ละชุดจะต้องคัดเลือกให้เหลือ 1 คน เพื่อแต่งตั้งต่อไป

ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ สกสค. และการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ในวันเดียวกันนั้น นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้มอบหมายให้ปลัด ศธ.ทำหน้าที่แทน

โดยในส่วนของการสรรหาเลขาธิการ สกสค.ปรากฏว่า นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ชนะนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ.และปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 จากการโหวตลับ

ส่วนการสรรหาผู้อำนวยการองค์การค้าฯ คณะกรรมการองค์การค้าฯ มีมติเลือกนายอดุลย์ บุสสา อดีตรองผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ชนะนายสมมาตร์ มีศิลป์ อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ไปด้วยคะแนน 6 ต่อ 2

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการคุรุสภาเพื่อสรรหาเลขาธิการคุรุสภาในวันเดียวกันนั้นต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะแม้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการคุรุสภาคือ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา และนายสุรพงษ์ จำจด อดีตผู้ตรวจราชการ ศธ. แต่ที่ประชุมไม่เปิดซองนับคะแนน เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนนายสมคิดว่ากระบวนการสรรหาไม่เป็นไปตามกฎหมาย นายสมคิดจึงสั่งชะลอการประชุมออกไป

ซึ่งการประชุมในวันนั้น จบลงท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวาย เมื่อประธานการประชุมอย่างนายการุณปิดปากเงียบสนิท ก่อนชิ่งหนีสื่อ โดยไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่นายอรรถพลจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม

โดยอ้างว่านายการุณไม่มีสิทธิทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการแต่ละชุดแทนรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพราะมีหน้าที่แค่นัดประชุม และให้ที่ประชุมทำหน้าที่เลือกประธานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแต่ละชุดเท่านั้น

รวมถึงการใช้สิทธิลงคะแนนซ้ำซ้อนถึง 3 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังอ้างว่ามีไฟล์เสียงของผู้บริหาร ศธ.รายหนึ่ง ที่โทรศัพท์สั่งการไปยังกรรมการบางคนให้ลงคะแนนเลือกนายณรงค์อีกด้วย!!

 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการ สกสค.เพื่อเลือกเลขาธิการ สกสค. ซึ่งนับว่าปั่นป่วนที่สุดนั้น มีองค์ประชุมที่ประกอบด้วย ประธาน และกรรมการ รวม 9 ราย แต่ในการประชุมดังกล่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มอบหมายให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ทำหน้าที่ประธานแทน

ส่วนกรรมการ 8 ราย ได้แก่ นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัด ศธ.เข้าประชุมในฐานะตัวแทนของนายการุณ, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เข้าประชุมแทนนายสุเทพ ชิตยวงศ์ เลขาธิการ กพฐ., นายสัมพันธ์ ฤทธิเดช อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.), นายวิมล จำนงบุตร รองเลขาธิการ สกสค.เข้าประชุมแทนนายอรรถพล และนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา ไม่ได้เข้าประชุม

โดยผู้ที่ลงคะแนนให้นายณรงค์ 4 เสียง ได้แก่ นายการุณ, นายประเสริฐ, นายบุญรักษ์ และ น.ส.อุษณีย์ ส่วนอีก 4 เสียงที่เทคะแนนให้นายอรรถพล คือ นายสัมพันธ์, นายสนิท, นางวัฒนาพร และนายวิมล

เป็นผลให้นายณรงค์และนายอรรถพลได้เสียง 4 ต่อ 4 เท่ากัน

นายการุณซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ สกสค.จึงอาศัยมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ที่กำหนดไว้ว่า หากคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียง เป็นเสียงชี้ขาด โดยได้ออกเสียงเลือกนายณรงค์

ทำให้นายณรงค์ชนะนายอรรถพลด้วยคะแนน 5 ต่อ 4

นายการุณให้เหตุผลที่เลือกนายณรงค์ เพราะมีประสบการณ์บริหารงานด้านการศึกษา มีความนิ่มนวล ประนีประนอม มั่นใจว่าทำงานได้ดี

โดยในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น นายการุณก็ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้นายณรงค์เป็นเลขาธิการ สกสค. และนายอดุลย์เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ

ซึ่งนายการุณยืนยันว่า ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

แต่เนื่องจากนายอรรถพลได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายสมคิด ระบุว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายสมคิดจึงให้ชะลอการเซ็นสัญญาว่าจ้างออกไปก่อน!!

 

สาเหตุที่คณะกรรมการ สกสค.ครึ่งหนึ่งลงคะแนนให้นายณรงค์นั่งเลขาธิการ สกสค. แทนที่จะเป็นนายอรรถพล ซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.

นอกจากนี้ นายอรรถพลยังมีผลงานในการตรวจสอบโครงการทุจริตมากมายใน ศธ. อาทิ การทุจริตโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียมหอยสังข์ ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา, การทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต, การตรวจสอบงบฯ จัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 279 ล้านบาท เป็นต้น

แต่หากพิเคราะห์ให้ลึกถึงสาเหตุที่นายการุณ นายประเสริฐ และนายบุญรักษ์ เทคะแนนให้นายณรงค์แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจ…

เนื่องจากผู้บริหารทั้ง 3 รายล้วนแล้วแต่เคยได้รับ “ผลกระทบ” จากการร้องเรียน หรือการตรวจสอบการทุจริตที่มีนายอรรถพลเป็นประธานทั้งสิ้น แม้ในท้ายที่สุดจะไม่พบว่ามีความผิดตามที่ถูกร้องเรียนกล่าวหา

เริ่มจากนายการุณและนายอรรถพล ซึ่งมีชื่อเป็นแคนดิเดตในการสรรหารองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ในช่วงปี 2556 โดยช่วงนั้นมีข่าวว่านายการุณถูกร้องเรียนกล่าวหาว่ามีเรื่องทุจริตโดยคู่แข่ง

สุดท้ายนายการุณเข้าวิน ได้เก้าอี้รองเลขาธิการ กช. ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่ามีนักการเมืองหญิงของพรรคการเมืองใหญ่ผลักดันเต็มที่

ส่วนกรณีนายประเสริฐ เรื่องเพิ่งจะเกิดสดๆ ร้อนๆ จาdการตรวจสอบการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต หรือกองทุนตกเขียว ที่มีการทุจริตกองทุนครั้งมโหฬาร โดยมีนายอรรถพลเป็นประธานสอบ เนื่องจากนายประเสริฐในฐานะรองปลัด ศธ.ได้รับมอบหมายจากปลัด ศธ.ให้เป็นผู้ดูแล จึงมีชื่อติดร่างแหไปด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง และมีข้อสรุปว่านายประเสริฐมีความผิดวินัยร้ายแรง

ในที่สุด นายประเสริฐก็งัดสารพัดหลักฐานออกมาชี้แจง จนรอดจากคดีทุจริตกองทุนตกเขียวได้อย่างหวุดหวิด

ขณะที่นายบุญรักษ์ ช่วงที่เป็นเลขาธิการ กพฐ. และนายณรงค์เป็นรองเลขาธิการ กพฐ. ก็เคยโดนตั้งคณะกรรมการสอบ เรื่องงบฯ จัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น 279 ล้านบาท ซึ่งมีนายอรรถพลเป็นประธานสอบเช่นกัน

ผลสรุปของการสอบทุจริตครั้งนี้ นายบุญรักษ์พ้นข้อกล่าวหา

ส่วนนายณรงค์ถูกโยกไปเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ.

ว่ากันว่าการลงคะแนนให้นายณรงค์ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการตอบแทนที่นายณรงค์รับหน้าเสื่อแทนแล้ว

    ผู้บริหาร ศธ.ยังพร้อมใจกัน “เอาคืน” นายอรรถพลอีกด้วย!!