ตู่ พบ ธร | คู่ ‘กำ’ 2019

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าป้าย “นายกรัฐมนตรี” ตามที่คาดหมาย

แต่การที่ 7 พรรคการเมืองฟากประชาธิปไตยมีมติเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น

เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

นั่นคือ ถึงแม้นายธนาธรจะพ่ายแพ้

แต่ก็เป็นการแพ้อย่างมีการบริหารจัดการ “ทางการเมือง”

ซึ่งก็เป็นอย่างที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ประเมิน

นั่นคือ หากพรรคเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรค ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หรือนายชัยเกษม นิติสิริ ไปแข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ โอกาสที่จะชนะมีน้อย

และส่งผลสะเทือนทางการเมืองจะมีน้อย

ต่างจากนายธนาธร แม้จะแพ้ แต่มีผลสะเทือนกว่า

 

ทั้งนี้ เพราะนายธนาธรได้ประกาศตัวอย่างชัดเจน เด็ดขาด ว่าจะขัดขวางการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การนำทหารกลับเข้ากรมกอง และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

โดยนำเสนอประเด็นนี้เข้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีการตอบสนองอย่างกว้างขวาง

นำมาสู่การได้เสียงสนับสนุนเกินความคาดหมาย

ถือเป็นธงแห่งอนาคตใหม่ ที่เหมาะสมกับการที่จะอยู่ภายใต้การนำของนายธนาธร

ซึ่งการนำเสนอนี้ ทั้ง 7 พรรครู้ดีว่านายธนาธรมีจุดอ่อน

นั่นคือ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส.ระหว่างรอการวินิจฉัย กรณีถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นในบริษัทสื่อ

อันจะเป็นประเด็นให้ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หยิบขึ้นมาโจมตีและสกัดกั้นนายธนาธรไม่ให้เป็นคู่แข่งชิงนายกฯ อย่างแน่นอน

แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นเกมที่พรรคอนาคตใหม่รอ

และต้องการให้ประเด็นคุณสมบัตินี้ระเบิดขึ้นก่อนถึงวาระเลือกนายกรัฐมนตรี

เพื่อที่จะย้อนเกล็ด พล.อ.ประยุทธ์

รวมถึงต้องการแสดงให้เห็นว่า มีการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันในเรื่องคุณสมบัติ ส.ส.อย่างไร

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า สองวันก่อนที่จะถึงวันโหวตนายกฯ 5 มิถุนายน

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ทั้ง 80 คน

ยื่นเอกสารคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส. เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

เพราะได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มี ส.ส.จากพรรคต่างๆ เข้าข่ายต้องห้ามนี้จำนวน 30 คน

จึงยื่นหนังสือเสนอญัตติขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เข้าชื่อ ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ขึ้นไป ร้องขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ามี ส.ส.ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าว

โดยรายชื่อของ ส.ส. 30 คนนั้น

ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 27 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน และพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 1 คน

“ตามกระบวนการแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะไม่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจใดๆ ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ถ้ารายชื่อ ส.ส.ที่ลงชื่อนั้นครบ 1 ใน 10 และถ้าหากใช้มาตรฐานที่เท่าเทียมกันกับกรณีของนายธนาธร ซึ่ง กกต.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งรับคำร้องและสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกัน น่าจะเชื่อได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องภายใน 7 วัน และมีคำสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกันสำหรับ ส.ส.ทั้ง 30 คน” นายปิยบุตรระบุ

แน่นอน หากใช้บรรทัดฐานเดียวกันคือ สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ย่อมส่งผลสะเทือนต่อเสียงของฝ่ายรัฐบาล ที่ปริ่มน้ำในทันที

นอกจากนี้ ยังยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรมีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนลงมติให้ความเห็นชอบ

ซึ่งกรณีนี้พุ่งเป้าไปยัง พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง

เพราะมีประเด็นหลายอย่างที่ถูกมองว่า อาจมีลักษณะต้องห้าม

เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ

ถือเป็นประเด็นร้อนที่พรรคอนาคตใหม่จัดเตรียมไว้ในการประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ยืดเยื้อออกไป

ยิ่งไปกว่านั้น นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ยังวางเกม “การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ” อีกด้วย

โดยเน้นให้ พล.อ.ประยุทธ์ปรากฏตัวและแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา และประชาชนที่เฝ้าดูการถ่ายทอดโทรทัศน์

ทั้งนี้ นายธนาธรจะเดินทางไปที่รัฐสภาในวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อรับฟังการประชุมที่ห้องประชุมของพรรคภายในอาคาร

และถ้าได้รับอนุญาตให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ นายธนาธรจะสามารถเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ทันทีในฐานะแคนดิเดตนายกฯ

โดยคาดหวังว่า การอยู่ในปีกประชาธิปไตย จะเสนอวิสัยทัศน์ได้เหนือกว่าฝ่ายอดีต คสช. ที่ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจ

ซึ่งประเด็นนี้ ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ทราบดี

จึงออกตัวว่า เรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ ได้พิสูจน์โดยการทำมาตลอด 5 ปี ทำให้ดีที่สุด พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ มากมาย

“วิสัยทัศน์ของผมคือมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายในหลักการสามัญคือการมองอนาคตไปข้างหน้า นั่นคือวิสัยทัศน์ และเราได้มีแผนปฏิบัติราชการมาโดยตลอด” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

และย้อนว่า นี่ไม่ใช่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันนี้คนไทยทุกคน มุ่งหวัง คาดหวัง และรอเฝ้าฟังการประชุมร่วมรัฐสภาที่จะทำตามขั้นตอน ตามความเหมาะสม ตามสถานการณ์ ถ้ายังเป็นแบบเดิมๆ ประเทศไทยจะเสียโอกาสอีกมากมาย

ฟังตามนี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ คงไม่ยอมให้มีการแสดงวิสัยทัศน์อย่างแน่นอน

และอาจย้อนเอากรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาตอกกลับว่าไม่ยอมแสดงวิสัยทัศน์เช่นกัน

 

รวมถึงกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประเด็นนี้ พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการต่อรองเข้าร่วมรัฐบาล

โดยพยายามให้ พล.อ.ประยุทธ์รับปากว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้

แต่ก็ไม่เป็นผล มีเพียงคำรับปากจากพรรคพลังประชารัฐว่าจะทำตามข้อเสนอนี้ให้

พรรคอนาคตใหม่จึงแทบไม่ต้องเปิดประเด็น หากแต่คอยเล่นตามน้ำ

ด้วยอย่างไรเสีย พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่ขานรับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง โดย พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าไม่มีจุดยืนในเรื่องนี้ นอกจากปล่อยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ก็เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ริเริ่มในเรื่องนี้ และใครก็ริเริ่มยาก เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนป้องกันการแก้ไขเอาไว้ยากมาก

ยิ่งรัฐบาลมีวุฒิสภาอยู่ในมือ ทำให้โอกาสยิ่งน้อย

ซึ่งฝ่ายพรรคอนาคตใหม่และพรรคพันธมิตร โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยทราบดี จึงมีเป้าหมายที่จะทะลวงเข้าไปยังวุฒิสภา

โดยตัวแทน 7 พรรคการเมือง

ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาและกระบวนการสรรหา ส.ว. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

เพื่อจะได้ตรวจสอบว่ามีการดำเนินการที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพราะผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหา ส.ว.นั้น เข้าข่ายเป็นบุคคลใน คสช.และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลด้วย

หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อมูลนี้ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 269 (1) เพราะถือว่า ส.ว.ที่ได้รับการสรรหา ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่อยู่ในองคาพยพเดียวกับ คสช. และยังมีอำนาจเลือกนายกฯ ด้วย ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน

ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นเผือกร้อนอีกเรื่อง

จนทำให้ พล.อ.ประวิตรต้องออกมาปัดว่า ยังไม่ทราบว่าจะเปิดเผยได้เมื่อใด

และบอกเพียงว่า เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน

ในประเด็นผลประโยชน์ มิใช่จะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณี “ส.ว.” เท่านั้น

พรรคอนาคต ภายใต้การนำของนายธนาธร ยังเป็นหัวหอกการเปิดโปงเสนอเงินให้กับ ส.ส. เพื่อเป็น “งูเห่า” แปรพักตร์ไปสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล

โดยใช้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 11 คนเป็นใบเสร็จ

ว่ามีการเสนอผลประโยชน์ให้ ตั้งแต่ 25 ล้านบาท ถึง 120 ล้านบาท

ทั้งนี้ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าเงินจำนวนนี้ยังเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่นอนเตียงเดียวกับฝ่ายที่ทำรัฐประหารด้วย

กระนั้น น.ส.พรรณิการ์ “ยืนยันว่าจะไม่เปิดเผยตัวแทนที่ติดต่อเรื่องงูเห่า เพราะเราคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สมัครของเรา”

ถือเป็นเรื่องร้อนและมุ่งดิสเครดิตการโหวตนายกฯ ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ขาดความชอบธรรม

และคงจะดำรงสภาพ “เดือด” และ “เปิดโปง” เช่นนี้เรื่อยไป

ดังนั้น สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์และนายธนาธรแล้วคงไม่ได้จบลงแค่การชิงตำแหน่งนายกฯ เท่านั้น

หากแต่จะดำรง “คู่กรรมคู่เวร” ไปโดยตลอดของเส้นทางการเมือง

จนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ไป

แน่นอน ย่อมต้องปะ “กำ” ปั้นเข้าใส่กัน

ทั้งประเด็นร้อนในเบื้องหน้า

และร้าวลึกไปถึงการปะทะในแนวรบความคิดระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่

    อนุรักษ์ กับเสรีนิยม!