กรองกระแส / คำประกาศ การเมือง คำประกาศ ประชาธิปัตย์ คือสัญญา ประชาคม

กรองกระแส

 

คำประกาศ การเมือง

คำประกาศ ประชาธิปัตย์

คือสัญญา ประชาคม

 

มติของที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 61 ต่อ 16 เห็นชอบในการเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

มิได้เป็นครั้งแรก มิได้เป็นครั้งเดียวที่เกิดขึ้น

ไม่ว่ามองโดยพรรค ไม่ว่ามองโดยการเคยเป็นชาวพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน หากศึกษาเหตุผลที่ออกมาโดยมติพรรค ออกมาโดยคนของพรรคประชาธิปัตย์บางคน และย้อนไปยังสถานการณ์ในอดีตก็จะรับรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์และนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์เคยตัดสินใจเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง

นั่นก็คือ การเข้าจัดรัฐบาลตามข้อเสนอของคณะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

นั่นก็คือ การเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

เหตุผล 1 ก็แทบไม่แตกต่างไปจากคำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า เพื่อที่จะให้นโยบายของพรรคได้รับการปฏิบัติ เพื่อที่จะ “ปิดสวิตช์ คสช.” ทำให้มาตรา 44 พ้นไป และเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแปรเปลี่ยน “ประชาธิปไตยวิปริต”

เหตุผล 1 ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเผยความในใจก็คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เป็นเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตย ต้องการทำลายรัฐบาลโดยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เหตุผลในอดีตของพรรคประชาธิปัตย์กับเหตุผลในปัจจุบันจึงแทบไม่แตกต่างกัน

 

การยอมรับ ประยุทธ์

การยอมรับ รัฐประหาร

 

ความเป็นจริงที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐก็คือ การยอมรับต่อรัฐบาลที่มีพื้นฐานมาจากการรัฐประหาร

เพราะพรรคพลังประชารัฐ คือพรรคของ คสช.

เพราะบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อและต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือหัวหน้า คสช.

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเคยแถลงทั้งโดยพรรคและโดยส่วนตัวว่าไม่เคยเห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่มติของพรรคครั้งนี้ก็เดินไปในรอยเดียวกันกับยุคนายควง อภัยวงศ์ ที่ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาลภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเข้าไปแสดงบทบาทแยกทหารออกจากการเมืองโดยผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492

แต่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ บริหารราชการแผ่นดินได้ไม่นาน ในเดือนเมษายน 2491 คณะรัฐประหารก็มาจี้บังคับให้ลาออก และจากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับเมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศและบังคับใช้ในปี 2492 แต่พอถึงเดือนพฤศจิกายน 2494 ก็มีรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 เสีย

นั่นคือ บทเรียนในทางประวัติศาสตร์

 

ประชาธิปไตย สุจริต

ประชาธิปไตย วิปริต

 

มาถึงสถานการณ์ในเดือนมิถุนายน 2562 พรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับข้อเรียกร้องไม่ว่าในเรื่องนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ไม่ว่าในเรื่องนโยบายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นที่จะทำให้เปิดช่องได้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

ความหวังของพรรคประชาธิปัตย์คือ การแก้ไข “ประชาธิปไตยวิปริต” อันมาจากรัฐประหาร อันมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะนำ “ประชาธิปไตยสุจริต” เข้าไปแทนที่

เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ยุค 2562 รู้อยู่เป็นอย่างดีว่าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2490 ว่าคณะรัฐประหารที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอย่างไร คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร

แต่ก็เชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถ “ปิดสวิตช์ คสช.” พรรคประชาธิปัตย์สามารถทำลาย “ประชาธิปไตยวิปริต” ได้ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับพรรคพลังประชารัฐ

นี่จึงเท่ากับเป็น “สัญญา” ที่พรรคประชาธิปัตย์ให้กับ “ประชาชน”

 

สัญญา ประชาคม

สัญญา ประชาธิปัตย์

 

คําประกาศของพรรคประชาธิปัตย์ในเดือนมิถุนายน 2562 จึงเหมือนกับคำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือนมีนาคม 2562

เพียงแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2562 คือความชัดเจนว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพียงแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 คือเอาด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ และเอาด้วยกับการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยความหวังว่าจะปิดสวิตช์ คสช. ด้วยความหวังว่าจะแปรเปลี่ยน “ประชาธิปไตยวิปริต” ให้กลายเป็น “ประชาธิปไตยสุจริต”

ดาบที่พรรคประชาธิปัตย์ถืออยู่ในมือแม้ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อส่งผลสะเทือนถึง คสช.และพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็สามารถย้อนกลับมาปาดคอพรรคประชาธิปัตย์ได้ หากไม่เป็นไปตามคำประกาศ

เมื่อท่านพูด ประชาชนจะรับฟัง เมื่อท่านลงมือทำตามที่พูด ประชาชนจะเชื่อมั่นและศรัทธา