เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : เกริ่นนำจากวันนั้นถึงวันนี้ อาชีพที่ใช่ ใช่อาชีพที่อยากทำ?

ชีวิตของคนคนหนึ่ง บางคนผ่านมาหลากหลายอาชีพ บางคนอยู่ในอาชีพเดียวตลอดชีวิต บางคนเรียนมาในอาชีพหนึ่ง แต่ในที่สุดออกไปทำอีกอาชีพหนึ่ง กระทั่งเจริญรุ่งเรืองมีกิจการใหญ่โต

บางคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีอาชีพอะไร แต่ทำอาชีพนั้นมากระทั่งทุกวันนี้

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้ตัวเองมาก่อนว่าจะทำอาชีพอะไร รู้แต่เพียงว่า ชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนบันทึกความคิดของตัวเอง และดูเหมือนว่าไม่ชอบความไม่เป็นธรรม หรือความไม่ถูกต้องทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งที่รู้ว่า การกระทำบางประการอาจเกิดอันตรายกับตัวเองได้

ชีวิตมนุษย์พบกับความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เพราะมีคำกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์”

เมื่อยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ใครที่อยู่กับครอบครัวสมบูรณ์ มีพ่อแม่ มีพี่น้อง เกิดมาได้ห้วงหนึ่งของอายุ พ่อแม่จะนำไปเข้าเรียนหนังสือ นับแต่เรียนอนุบาล ตามอายุที่กำหนด หรืออาจก่อนกำหนด

หลังจากที่ทางราชการกำหนดให้เด็กต้องเข้าโรงเรียนตามเกณฑ์ นับทุกวันนี้ เด็กไทยต้องเรียนในโรงเรียนอนุบาลตามลำดับชั้น ตั้งแต่อนุบาลปีที่ 1 ถึงอนุบาลปีที่ 3 เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 7 จึงเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่ 16 เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาภาคบังคับ

ทุกวันนี้ คนไทยจะเข้าเรียนตามอายุ กระทั่งสำเร็จปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยมีอายุไล่เลี่ยกัน

ไม่เหมือนเมื่อก่อน เด็กบางคนพ่อแม่ให้เข้าเรียนอนุบาลตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่งถึง 3 ขวบ จากนั้นจึงเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ซึ่งอายุอาจยังไม่ย่างเข้าสู่ปีที่ 7 บางคนเรียนหลังจากอายุมากแล้ว ทำให้สำเร็จปริญญาตรีเมื่ออายุมากแล้วเช่นกัน

 

เราจะเริ่มรู้ว่าทำอาชีพอะไรเมื่อเติบโตขึ้นมา ในครอบครัวที่มีพ่อแม่ครบ พ่อหรือแม่ประกอบอาชีพอะไร เด็กมักจะมองตามนั้น แต่เด็กเมื่อก่อนพ่อแม่มีลูกหลายคน อาชีพที่เด็กจะทำตามพ่อหรือแม่จึงไม่แน่นอน เช่น พ่อแม่เป็น “หมอ” เด็กอาจไม่ได้เรียนหมอ เนื่องจากการเรียนในขณะนั้นคะแนนไม่ดีพอ

แต่บางครอบครัว พ่อเป็นทหาร เป็นตำรวจ ลูกชายมักจะเรียนและมีอาชีพตามพ่อ เพราะการแต่งเครื่องแบบทหาร และเป็นทหาร กับการแต่งเครื่องแบบตำรวจและเป็นตำรวจเป็นสิ่งจูงใจให้กับลูกชายได้มาก

อีกพวกหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างจังหวัด มักมุ่งเข็มเรียนวิชารัฐศาสตร์ เพื่อจะได้เป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และที่สุดคือการมีโอกาสเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มิฉะนั้น หันเข็มไปเรียนวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นตลาดวิชา หรือมหาวิทยาลัยเปิดคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ต้องสอบเข้า สมัครเรียนได้ทันที

กลุ่มนี้ มีแนวทางมุ่งตรงไปสู่เส้นทางการเมือง หรืออัยการ ผู้พิพากษา

ส่วนลูกสาว หากแม่มีอาชีพครู มักชอบเป็นครูตาม หรือชอบเป็นครูเลียนแบบคุณครูที่สอนหน้าชั้น

มิฉะนั้น พ่อแม่เองนั่นแหละที่ต้องการให้ลูกมีอาชีพตามแบบของตัวเอง หรือให้มีอาชีพที่ตัวเองชอบ เช่น เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เป็นนักกฎหมาย

ขณะที่ลูกคนจีนทั่วไปที่มีอาชีพค้าขาย มักชอบให้ลูกเป็นพ่อค้า หรือนักธุรกิจ มิฉะนั้น มักส่งเสียให้เรียนวิชาชีพประเภทหมอ (แพทย์) เภสัชกร วิศวกร

ในส่วนที่เป็นความต้องการของตัวเด็กเองมักจะเป็นการเรียนประเภทจินตนาการ เช่น ศิลปกรรม จิตรกรรม อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรม

 

ยุคแรกที่มีมหาวิทยาลัย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาที่ลดความไม่เท่าเทียมลงไปได้มาก แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ลูกท่านหลานเธอมีโอกาสเข้าเรียนได้กว่าลูกอาชีพอื่น โดยเฉพาะลูกชาวนา แต่เมื่อลูกชาวนาที่มีโอกาสเข้าเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ และมีโอกาสเรียนต่อจนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ ม.8 จะพุ่งเป้าเข้าเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กระทั่งมีมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการมืองต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้เข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก ไม่ต้องเข้าเรียน แต่ต้องเข้าสอบตามกำหนด และจ่ายค่าวิชา

วิชาแรกที่เปิดเรียนคือวิชากฎหมาย ผู้ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ส่วนหนึ่งคือผู้เข้ามาทำงานเป็นเสมียนศาล เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อสำเร็จวิชากฎหมาย เป็นธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) แล้ว มีโอกาสสอบเข้าเรียนเนติบัณฑิต สอบเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา สอบเป็นอัยการ เป็นทนายความ และเป็นนักกฎหมาย

 

ยุคสมัยนั้น ยังไม่มีวิชาที่เกี่ยวกับวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน แต่มีนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มาก่อนหน้านั้นแล้ว

ผู้ที่เข้ามาประกอบวิชาชีพนี้ ไม่มีวิชาที่ต้องศึกษาโดยตรง หากแต่เป็นอาชีพที่หลายคนต้องการทำจากลักษณะนิสัยของตัวเอง อย่างน้อย ชอบวิชาการประพันธ์ ชอบเขียนหนังสือ ชอบวิพากษ์วิจารณ์สังคม วิจารณ์รัฐบาล ชอบความยุติธรรม แต่เป็นคนละอย่างกับนักกฎหมาย หรือผู้พิพากษา หรืออัยการ หรือตำรวจ ที่ต้องมีกฎหมายเป็นตัวรองรับในการรักษาความยุติธรรม

นักเขียนเพียงแต่รักความเป็นธรรม ทั้งความเป็นธรรมของตัวบุคคล ความเป็นธรรมในสังคม และความเป็นธรรมที่มีผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้ที่ถูกรังแกจากผู้ได้เปรียบ ถูกเอาเปรียบจากผู้ที่มีโอกาสมากกว่า

อาชีพหนึ่งในขณะนั้นคืออาชีพนักเขียน นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่ทำหน้าที่ในสำนักงานหนังสือพิมพ์

เป็นอาชีพที่เป็นความสุขของผู้เข้ามาสู่อาชีพนี้ โดยเฉพาะนักเขียน แม้จะได้รับการกล่าวขานว่า “นักประพันธ์ไส้แห้ง” หรือ “นักหนังสือพิมพ์ไส้แห้ง”

เพราะอาชีพนี้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งขณะนั้นนักเขียนส่วนหนึ่งมีความเป็นนักหนังสือพิมพ์ในตัวเองด้วย

วิชาการว่าด้วยสื่อสารมวลชนเริ่มมีเข้ามาสู่สถาบันการศึกษา คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดให้นักหนังสือพิมพ์เข้าไปเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์พักหนึ่ง ในที่สุดก็เลิก จะด้วยเหตุใดไม่ทราบ

ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดแผนกอิสระวารสารศาสตร์ ทั้งยังเคยเปิดให้นักข่าวนักหนังสือพิมพ์เข้าเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์หลักสูตรประกาศนียบัตร 3 ปี เพียง 3 รุ่น แล้วกลับให้ไปเรียนในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เปิดเรียนในวิชานี้เป็นคณะนิเทศศาสตร์

สองคณะในสองมหาวิทยาลัยนี้ เคยเป็นคณะ “ยอดฮิต” กระนั้นยังมีผู้ต้องการอยู่ในอาชีพนี้ไม่น้อย