ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘แม่มด’ ที่ไม่ยอมตัดเท้าให้เข้ากับเกือกแก้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ที่มาภาพประกอบ : เว็บไซต์ประชาไท

ทางตอนใต้ของเยอรมนี ในเรือน พ.ศ.2130 นางวัลพูก้า เฮาสมานิน (Walpurga Hausmanin) หญิงหม้ายคนหนึ่งที่เลี้ยงชีวิตตนเองเพียงลำพัง ถูกสงสัยว่าเป็น “แม่มด” เพียงเพราะความที่เธอไม่ใคร่จะสุงสิงกับใคร

สุดท้ายเธอก็ถูกนำตัวขึ้นมาไต่สวนในปีพุทธศักราชดังกล่าว หลังจากที่มีการกล่าวหาว่าเธอเกี่ยวข้องกับการตายอย่างผิดปกติของทารกแรกเกิดในหญิงสาวหลายคนในหมู่บ้าน ในวัว ในม้า ในห่าน หรือแม้แต่ในสุกร โดยมีเพื่อนบ้านที่เกลียดชังเธอเป็นพยานในกรณีเหล่านี้

แน่นอนว่าเธอถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแม่มด

สุดท้ายเธอถูกตัดสินโทษให้เผาทั้งเป็น หลังจากที่เธอสารภาพว่าเธอพบปะกับปีศาจ มีเพศสัมพันธ์กับพวกมัน และกระทั่งยอมยกตนเองเป็นทาสของพวกมันด้วย

คำถามก็คือ ทำไมเธอจึงยอมรับสารภาพในสิ่งที่ไม่เป็นจริง และดูจะเป็นเรื่องเพ้อเจ้อเอามากๆ โดยเฉพาะเมื่อมองจากสายตาของพวกเราในปัจจุบัน ที่รู้แน่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง? (อย่างน้อยเหตุผลทำนองนี้ก็คงนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันไม่ได้)

คำตอบก็คือเธอโดนทรมานครับ

ยุคนั้น ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดถูกคุมขัง การทรมานจะเป็นกิจกรรมที่มีควบคู่กันไปด้วยอยู่เสมอ

ดังนั้น แม้ว่าจะดูฝันเฟื่องขนาดไหนก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาจะรับสารภาพว่าตนเองเป็นแม่มดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงเฉพาะกรณีของนางเฮาสมานินเท่านั้น

ยิ่งเมื่อคำสารภาพที่ว่าก็คือสิ่งที่คณะลูกขุนอยากได้ยินด้วยเช่นกัน

ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวถึงมาข้างต้น ผมนำมาจากตอนหนึ่งในหนังสือเล่มน้อยที่ชื่อ “ล่าแม่มด” ซึ่งอ่านสนุก (แม้จะชวนให้สังเวชต่อสิ่งที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันเอง) และเต็มไปด้วยสาระประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ของ “อาจารย์ต้น” อนุสรณ์ ติปยานนท์

ต่อกรณีนี้ อ.ต้น ได้แสดงความเห็นอย่างน่าสนใจไว้ด้วยว่า

“การพูดถึงปีศาจ (ของนางเฮาสมานิน) มีนัยความหมายที่ซับซ้อนกว่าปีศาจที่มีตัวตนจริง หากแต่เป็นปีศาจในจินตนาการ ปีศาจในความรู้สึกของการถูกผลักให้เป็นคนนอก”

น่าสนใจนะครับว่าในเมื่อนางเฮาสมานินเป็นคนนอกแล้ว ใครบ้างที่เป็นคนใน?

แน่นอนว่า ทั้งเพื่อนบ้านผู้เป็นพยาน ผู้พิพากษา และคณะลูกขุนนั่นก็เป็นคนใน บิชอปประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะลูกขุน ที่ยึดที่ดินของนางเฮาสมานินมาเป็นของตนเอง หลังจากที่ผลักให้เธอต้องถูกเผาทั้งเป็นนั่นก็ยิ่งเป็นคนใน

ในกรณีนี้ “คนใน” นอกเหนือจากที่จะเป็นฝ่ายที่อ้างว่ายืนอยู่ใต้ร่มบารมีของพระเจ้าแล้ว ยังเป็นผู้ที่สมยอมต่ออำนาจรัฐ ที่ดูจะไม่เป็นธรรมเท่าไหร่นักอีกด้วย

และแม้ว่าดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดทั้งหมดในชุมชนทางตอนใต้ของเยอรมนี ที่นางเฮาสมานินอาศัยอยู่ในยุคนั้น ก็คงต้องถูกนับเป็นคนใน

อย่างน้อยก็ไม่ถูกนับเป็น “คนนอก” อย่างนางเฮาสมานิน?

บทลงโทษที่นางเฮาสมานินได้รับโหดร้ายยิ่งกว่าที่จะถูกเผาทั้งเป็นไปเฉยๆ อยู่มาก ก่อนที่เธอจะถูกพระเพลิงประหารชีวิตในครั้งนั้น เธอต้องถูกตัดร่างกายออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ อันมีหน้าอก แขน และมือเป็นหลัก ก่อนจะเผาร่างกายส่วนที่เหลือ แล้วนำเถ้าถ่านของเธอไปโปรยลงในแม่น้ำ

ผมไม่แน่ใจว่า ทำไมคนในร่มบารมีของพระเจ้า และอำนาจรัฐเหล่านั้น จึงต้องตัดร่างกายของเธอ ในฐานะ “คนนอก” หรือ “แม่มด” ออกเป็นชิ้นๆ?

แต่นั่นก็ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวในนิทานยุโรปบางเรื่องซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี

“ซินเดอเรลล่า” ไม่ได้เป็นเรื่องที่ชวนฝันไปเสียทั้งหมด อย่างที่วอลต์ดิสนีย์ นำเสนอให้เราเข้าใจผิดไปอย่างนั้น นิทานโบราณเรื่องนี้มีอยู่หลายสำนวนที่บอกให้เรารู้ว่า เมื่อนางซินได้ทำเกือกแก้วหล่นทิ้งไว้ หลังหนีกลับมาจากงานเลี้ยงเต้นรำภายในปราสาทของเจ้าชาย เจ้าชายก็ได้นำรองเท้าแก้วคู่นั้นออกเร่หาสาวเจ้าที่สามารถสวมเกือกแก้วได้อย่างพอดิบพอดี อย่างที่เราส่วนใหญ่ต่างก็รู้กัน

แต่สิ่งที่วอลต์ดิสนีย์ ชำระออกไป ด้วยคงไม่ให้เราเห็นภาพที่น่าทนทุกข์ก็คือ การที่หญิงสาวหลายคน (บางสำนวนระบุว่าเป็นพี่เลี้ยงของนางซินเองนั่นแหละ) ตัดแต่งเท้าของตนเองเพื่อให้สวมใส่เกือกแก้วคู่นั้นได้อย่างพอเหมาะ

แน่นอนว่าก็เพื่อที่จะได้เป็นคู่สมรสกับเจ้าชายรูปงาม

แต่การตัดแต่งที่ว่า ผมหมายถึงการเฉือนเท้าของตัวเองด้วยของมีคมกันสดๆ เพื่อให้เท้าของพวกเธอไม่โผล่ล้ำออกไปจากเกือกนะครับ ไม่ใช่การทำเล็บเท้าสวยๆ เหมือนในสปา

ถ้า “เจ้าชาย” หมายถึง “รัฐ” เกือกแก้วที่เจ้าชายเร่หาเจ้าของก็คือ ความคาดหวังที่รัฐมีต่อประชาชนของเขา รัฐของเจ้าชายรูปงามพระองค์นี้ไม่ได้สนใจถึงความเป็นจริงว่า ประชาชนของพระองค์มีรูปร่างอย่างไร? พระองค์สนเพียงแต่ว่า ประชาชนจะสามารถสวมใส่เกือกที่พระองค์เห็นว่าดีงามได้หรือไม่ เพียงเท่านั้น

บางทีร่างกายของนางเฮาสมานิน อาจจะไม่ต่างไปจากรูปเท้าหญิงสาวทั้งหลายในรัฐของเจ้าชายพระองค์นี้ ความจริงที่เธอเป็นไม่ใช่สิ่งที่รัฐของพวกเธอคาดหวัง แต่รัฐที่ดีสมควรที่จะบอกว่า หญิงสาวที่มีรูปเท้าผิดไปจาก “เกือกแก้ว” ของพวกเขาคือ “แม่มด” อย่างนั้นหรือ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ความตอนหนึ่งจากคำนำของ อ.ต้น ในหนังสือเรื่อง ล่าแม่มด ให้คำตอบกับเราเอาไว้ว่า

“สังคมเผด็จการนั้นก่อให้เกิดการล่าแม่มดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการจากชายหรือเผด็จการจากเงื่อนไขอื่นก็ตาม การต้องจัดระเบียบให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย ทำให้สิ่งแปลกปลอมจำเป็นต้องมีข้อหาอันสมควรต่อการถูกขจัด ด้วยเหตุนี้ จึงพึงเข้าใจว่าบุคคลที่ถูกลงโทษลงทัณฑ์ในสถานการณ์แบบนั้น อาจไม่มีความผิดใดเลยในความจริง ความผิดข้อเดียวของเขาคือการที่ไม่ยอมจำนนต่อความเชื่อหรืออุดมการณ์หลักในสังคมเท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แม่มด” ทุกคนจะต้องจำยอมสารภาพว่าตนเองเป็นแม่มดเสมอไป

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ของ อ.ต้น ได้กล่าวถึง ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดอีกคนหนึ่งคือ มาร์กูเรต คาร์เลียร์ (Marguerite Carlier) แม่ของเด็กน้อยสามคน ที่ถูกตั้งข้อหาว่าเธอเกี่ยวข้องกับการตายของสัตว์จำนวนมากในชุมชน

การขึ้นศาลของเธอต่อหน้าสภาประชาชนแฮปสเบิร์กนั้น มีผู้ชายจำนวนมากเป็นฝ่ายตรงข้าม เหตุผลของผู้ชายเหล่านั้นอยู่ที่ว่า พวกเขาเกรงกลัวว่าวันหนึ่งจะถูกเธอทำร้าย เพราะสำหรับพวกเขาแล้วเธอนั้นเต็มไปด้วยอำนาจอันชั่วร้ายนั่นเอง

และไม่ว่าพวกเขาจะทรมานเธอเพียงไร นางคาร์เลียร์ก็ไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นแม่มด จนเมื่อเธอได้รับการปล่อยตัวในฐานะผู้บริสุทธิ์ เธอก็ฟ้องร้องผู้ชายเหล่านั้นกลับเป็นการตอบแทน

การตอบโต้เช่นนี้ทำให้เธอกลายเป็นที่เกลียดชังจากผู้ชายในชุมชนมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็มีการผลักดันให้เนรเทศเธอออกจากพื้นที่ชุมชน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.ต้น ได้ให้ข้อมูลพร้อมแสดงความเห็นเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า คดีจำนวนมากที่ขึ้นศาลในประเทศอังกฤษ โจทก์ที่เป็นฝ่ายชายจะอ้างต่อศาลว่าเขาถูกคำสาปชั่วร้ายจากหญิงที่เป็นแม่มด ทั้งที่มันอาจเป็นเพียงการติติงหรือการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น การล่าแม่มดจากถ้อยคำในยุคนั้นอีกด้านหนึ่งจึงเป็นการจำกัดการพูดอย่างเสรีของเพศหญิงในสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่

ในกรณีของนางคาร์เลียร์ถึงแม้ว่า เจ็ดปีให้หลังเธอจะถูกยกโทษและสามารถกลับไปยัง “บ้าน” ของเธอเองได้ แต่คดีของเธอก็แสดงให้เห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าหากมีการเรียกร้องสิทธิ และปกป้องความบริสุทธิ์ของตนเองในรัฐของเจ้าชายที่คลั่งไคล้ใน “เกือกแก้ว” ของตนเองว่าเป็นของวิเศษอย่างหน้ามืดตามัวแบบนี้