เจาะกลยุทธ์พิชิตใจ “คนรุ่นใหม่” เปิดแนวรบ “โซเชียล” สงครามที่กองทัพไม่เคย “ชนะ”

สําหรับกองทัพไทย พลังของโซเชียลมีเดียถือเป็นอีกภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงพลัง ด้วยความเร็วแรง และไร้การควบคุม จึงยากจะสกัดกั้น รวมทั้งมีผู้ได้รับผลดีและผลเสียจากข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมา

แม้จะมีกฎหมายในการควบคุม เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้การกระทำผิดหรือท้าทายตัวกฎหมายลดลง

ด้วยเหตุผลสำคัญคือโลกโซเชียลมีบุคคลและกลุ่มที่เป็น “ร่างอวตาร” อยู่ไม่น้อย ยากจะติดตามว่าเป็นบุคคลใด

ในช่วงที่โซเชียลมีเดียเติบโตก้าวกระโดดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กองทัพได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบผ่านสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น

และตกเป็นเป้ามากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ คสช.เข้ามาควบคุมอำนาจ

แม้กองทัพจะพยายามชี้แจงและมีกระบวนสร้างข่าวตอบโต้กลับก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถทานพลังโซเชียลนี้ได้

แม้แต่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็ยอมรับว่าพลังโซเชียลถือเป็นอาวุธที่ร้ายแรง

“กองทัพยอมรับว่ามีจุดอ่อนเรื่องการใช้โซเชียล ขณะที่สื่อบางชนิดบางแบบเข้าถึงจิตใจคนยุคใหม่ อยากให้รับทราบข้อมูลยาวๆ ที่ผมพูด ไม่ใช่ตัดทอนสั้นๆ แค่เพียงวาทกรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อโซเชียลนั้นทรงอานุภาพกว่าอาวุธที่กองทัพมีอยู่” พล.อ.อภิรัชต์กล่าว

กองทัพจึงสร้างเพจเฟซบุ๊กของตนเองขึ้นมาเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์และชี้แจงการทำงานต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพบก (ทบ.) ซึ่งเป็นเหล่าทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองมาตลอด ได้มีการเปิดเพจทางการของ ทบ.ส่วนกลางขึ้น

ทั้งยังมีหลายเพจที่สนับสนุนการทำงานของ ทบ.-คสช. แต่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของ ทบ. หรือกลุ่มบุคคล-องค์กรใดอย่างชัดเจน

ในส่วนเพจที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของ ทบ.ส่วนกลาง ได้แก่ เพจศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพบก army pr center ผู้ติดตาม 5.1 หมื่นแอ็กเคาต์, เพจกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) มีผู้ติดตาม 3.9 แสนแอ็กเคาต์, เพจ smart man smart soldier ที่มีผู้ติดตามกว่า 3.7 หมื่นแอ็กเคาต์

เพจของ ทบ. แต่ละเพจจะมีลักษณะเฉพาะในการนำเสนอ เช่น เพจ smart man smart soldier จะมีรูปแบบที่ลดความเป็นทางการลงและมีความทันสมัย รวมทั้งมีโลโก้ประจำเพจด้วย โดยเน้นลงภาพอินโฟกราฟิก จนถูกมองว่าเป็น “อเมริกันสไตล์” และอ้างอิงกับข้อความ “S.M.A.R.T. Soldiers Strong ARMY” ม็อตโต้ของ พล.อ.อภิรัชต์

สำหรับเพจอื่นๆ ที่สนับสนุนการทำงานของ ทบ. หรือเหล่าทัพต่างๆ ที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใด ก็มีจำนวนมากและมีผู้ติดตามไม่น้อย

ที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่แค่เพจสนับสนุน ทบ.เท่านั้นที่ถูกสร้างขึ้น แต่ยังมีเพจที่เป็นกลุ่มสนับสนุน “บิ๊กแดง” ด้วย ได้แก่ เพจ “บิ๊กแดงแฟนเพจ” ที่มีผู้ติดตามกว่า 4.3 หมื่นแอ็กเคาต์

แม้จะมีเพจทางการของ ทบ.เพียง 3 เพจ แต่เพจนิรนามอื่นๆ ที่สนับสนุนการทำงานของ ทบ.-คสช. ก็มักนำข้อมูลข่าวสารของกองทัพมาเผยแพร่ต่อ

แม้ผู้คนในโลกโซเชียลจะไม่ได้กดติดตามเพจหลักของ ทบ. แต่ก็สามารถเห็นโพสต์จากเพจอื่นๆ แทน หากไปกดติดตามหรือมีคนที่เป็นเพื่อนกดแชร์เนื้อหาเหล่านั้น ตรงกับ “ยุทธศาสตร์การทำเพจ” ในยุคปัจจุบัน ที่มีการสร้าง “เครือข่าย” จำนวนมาก

พล.อ.อภิรัชต์หวังใช้พลังโซเชียลในการดึง “คนรุ่นใหม่” ให้เข้าใจบทบาทกองทัพ เพราะกลุ่มผู้ใช้สื่อประเภทนี้มากที่สุด คือ “คนรุ่นใหม่” ที่กระตือรือร้นการเมืองเป็นอย่างมาก รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์กองทัพอย่างตรงไปตรงมาในโลกนิวมีเดีย ทั้งด้วยชื่อจริงและร่างอวตาร

ปัญหาสำคัญที่กองทัพมองเห็นคือ การสื่อสารที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ สารที่กองทัพผลิตออกไปยังไม่สามารถสื่อให้ “คนรุ่นใหม่” หรือ “วัยรุ่น” เข้าใจหรือพร้อมที่จะรับฟัง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กองทัพตีโจทย์ได้คือการต้องพยายามเข้าถึงกลุ่มบุคคลที่เป็น “ไอคอนคนรุ่นใหม่” แล้วใช้บุคคลเหล่านี้ช่วยสื่อสารให้สังคมเข้าใจการทำงานของกองทัพ รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ แต่ไม่ใช่การปรับทัศนคติ

กองทัพเชื่อว่าผู้ที่เป็นไอคอนคนรุ่นใหม่ จะมีอิทธิพลทางความคิดต่อวัยรุ่นได้ไม่น้อย และอาจทำให้คนรุ่นใหม่เปิดใจและเข้าใจบทบาทของกองทัพมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องมาสนับสนุนหรือเชียร์ทหาร แค่ขอให้เข้าใจการทำงานก็พอ

“กองทัพเป็นของประชาชน ไม่ต้องถามกองทัพจะทำยังไง ซึ่งเป็นวาทกรรมเดิมๆ ถามแล้วถามเล่า ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์น้อย เข้าใจผิด ย้อนถามที่ผ่านมา ใครกันที่ช่วยประชาชนใครเป็นผู้นำระดมสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชน ที่เดือดร้อน” พล.อ.อภิรัชต์กล่าว

แม้ในโลกโซเชียลจะมีผู้สนับสนุนทหาร-คสช. ที่มีฐานแฟนคลับมากอยู่แล้ว แต่คนทำเพจมักเป็นผู้ใหญ่ที่สื่อสารกับกลุ่มคนที่มีแนวคิดคล้ายกัน

สิ่งที่ยังขาดคือ “ภาษา” และ “วิธีการ” นำเสนอ เพื่อเจาะใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ การเข้าหา “ไอคอนคนรุ่นใหม่” จึงเป็นโจทย์สำคัญของ ทบ.

แต่โซเชียลมีเดียเปรียบเป็นดาบสองคมที่ให้ทั้งคุณและโทษ แม้กองทัพจะใช้โซเชียลในการนำเสนอผลงานต่างๆ ทั้งงานช่วยเหลือประชาชน ภารกิจทางทหาร การฝึกต่างๆ แต่โซเชียลก็ถูกใช้ในการตรวจสอบการทำงานของกองทัพไปพร้อมกัน

ดังจะเห็นได้ว่าในกระแสการโจมตีกองทัพนั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ล้วนมาจากสังคมออนไลน์ ทั้งมาจากทหารระดับล่างและประชาชนที่มีหลักฐานกล่าวโทษคนในเครื่องแบบ

นี่ทำให้งานข่าวของกองทัพต้องมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อชี้แจงและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่การสกัดกั้นข่าวปลอมต่างๆ

อีกด้านหนึ่ง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทหารก็ถูกสั่งให้ระมัดระวังเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย ให้มีความเหมาะสม ไม่สร้างความเสื่อมเสียแก่กองทัพ กระทั่งถูกนำไปขยายผลจนผิดข้อเท็จจริง

รวมไปถึงการออกรายการโทรทัศน์ต่างๆ เช่นเมื่อปีที่แล้วมีการตั้งกรรมการสอบ “สิบโท” นายหนึ่งที่ไปออกรายการร้องเพลง โดยแต่งเครื่องแบบสนามลายพรางและทรงผมไม่ถูกระเบียบ ตลอดจนมีการตักเตือนผู้บังคับหน่วยที่ปล่อยปละละเลยหรืออนุญาตให้ไปออกรายการด้วย

ทำให้เกิด “ระเบียบ” ในการไปออกรายการโทรทัศน์ที่ไม่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น โดยจะต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ทั้งหมดนี้ยึดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเข้าสมาคม เข้าศึกษา หรือบอกความในราชการ พ.ศ.2510

เหล่านี้คือข้อจำกัดที่ทหารมีมากกว่านักการเมือง ซึ่งสามารถใช้สื่อต่างๆ ได้อย่างอิสระในระดับหนึ่ง ทว่าในทางกลับกัน กองทัพก็มีเอกภาพอย่างยิ่ง เวลาต้องแสดงจุดยืนบางเรื่อง ณ บางสถานการณ์ เช่น เมื่อคราวเกิดปรากฏการณ์เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ตอบโต้หัวหน้าพรรคการเมืองรายหนึ่ง

ทั้งหมดถือเป็นภาพรวมในการรับมือและใช้ประโยชน์จากพลังโซเชียลของ ทบ. โดยมีสองหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบ

ระหว่างหน่วยงานที่ดูแลภาพลักษณ์ของกองทัพ และหน่วยงานที่คอยป้องกัน-สกัดกั้นการกระทำผิดต่างๆ ในโลกออนไลน์